ภายใต้สถานการณ์ที่มีผู้ต้องเข้าเรือนจำเพิ่มขึ้นในทุกๆ เดือนจากข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ กลไกภายในประเทศอย่างศาลและองค์กรในกระบวนการยุติธรรมก็ทำอะไรไม่ได้มากกว่า “บังคับใช้” กฎหมายที่เขียนอยู่ ขณะที่สภาผู้แทนราษฎรที่พยายามเสนอแก้ไขกฎหมายก็ถูกสั่งห้ามโดยศาลรัฐธรรมนูญ กลไกสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศยังเป็นที่พึ่งพาของผู้ที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองในประเทศไทยได้อยู่บ้างหรือไม่
19 ตุลาคม 2567 iLaw จัดกิจกรรมเสวนาในหัวข้อ “กลไกสหประชาชาติ เป็นช่องทางสู่ความยุติธรรมได้หรือไม่” ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงประเด็นกลไกทางการส่งจดหมายไปยังผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ (Special Rapporteur) จะยังคงมีประโยชน์ต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยหรือไม่ คนไทยจะเข้าถึงและใช้ประโยชน์กลไกเหล่านี้ได้อย่างไร กับอันนา อันนานนท์ นักกิจกรรม-นักศึกษา อัครชัย ชัยมณีการเกษ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการ iLaw ดำเนินรายการโดย ชยพล ดโนทัย iLaw
ประชาชนพบสถานการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชน ใช้กลไกพิเศษ UN ส่งเรื่องได้
อัครชัย ชัยมณีการเกษ จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน อธิบายว่า กลไกพิเศษแห่งสหประชาชาติ (Special Procedures) ที่ดำเนินงานโดยผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ (Special Rapporteurs) มีวัตถุประสงค์เพื่อดูแลปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยมีวิธีการทำงานหลักๆ สองรูปแบบ คือ
1) ติดต่อสื่อสารกับรัฐบาลไทย (Communications) เช่น ส่งหนังสือมายังกระทรวงต่างประเทศเพื่อสอบถามข้อเท็จจริง และส่งข้อแนะนำให้ปฏิบัติตาม
2) ตรวจเยี่ยม (Country Visit) เพื่อศึกษารายละเอียดข้อเท็จจริงการละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้นได้
โดยประชาชนทั่วไปสามารถรายงานสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนผ่านกลไกพิเศษ เพื่อให้ทางผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ สื่อสารกับรัฐบาลไทยได้ โดยมีขั้นตอน คือ
1) เขียนคำร้อง บรรยายสถานการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น วัน เวลา สถานที่เกิดเหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชน ลำดับเหตุการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งในเว็บไซต์ https://spsubmission.ohchr.org/ มีแบบสำหรับคำร้องไว้ว่าต้องระบุข้อมูลใดบ้าง
2) ส่งคำร้อง สามารถส่งได้ผ่านทางเว็บไซต์ https://spsubmission.ohchr.org/
3) หลังจากส่งคำร้องไปแล้ว ก็จะมีการเผยแพร่เอกสาร Communications
เมื่อทางผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ ได้รับรายงานแล้ว ก็อาจจะทำหนังสือเพื่อสอบถามมายังรัฐบาลไทยเพื่อสอบถามข้อเท็จจริง และส่งข้อแนะนำให้ปฏิบัติตาม
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการ iLaw เสริมว่า สหประชาชาติ (United Nations : UN) ไม่ได้มีอำนาจในการออกคำสั่งให้ประเทศใดประเทศหนึ่งปฏิบัติตามได้ ไม่สามารถแทรกแซงกิจการภายในของแต่ละประเทศได้ แต่กลไกของสหประชาชาติเป็นอีกช่องทางหนึ่งส่งเรื่องรายงานการละเมิดสถานการณ์สิทธิมนุษยชน เมื่อผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติทำหนังสือสอบถามมายังกระทรวงการต่างประเทศของไทยแล้ว กระทรวงการต่างประเทศก็จะสอบถามข้อเท็จจริงจากหน่วยงานรัฐไทยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงหรือรายงานข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานการณ์ดังกล่าว และทำให้หน่วยงานรัฐระมัดระวังมากขึ้น
ยิ่งชีพยกหนึ่งตัวอย่างของกรณีที่ใช้กลไกนี้ ปี 2557 มีนักโทษคดีมาตรา 112 คือ สิรภพ กรณ์อรุษ ถูกจับขึ้นศาลทหารและปฏิเสธไม่รับสารภาพมาตลอด จนทาง UN ส่งจดหมายมาสอบถามรัฐบาลไทยว่าการคุมขังกรณีนี้ถูกต้องหรือไม่ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ทางเจ้าหน้าที่ศาลทหารโทรมาแจ้งทนายความให้มายื่นประกัน และจากนั้นสิรภพก็ได้รับการประกันตัวทั้งที่ก่อนหน้านั้นเคยยื่นไปแต่ไม่ได้ นี่ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่กลไกพิเศษของ UN แก้ไขปัญหาสถานการณ์สิทธิมนุษยชนได้
อัครชัย ยกข้อดีของกระบวนการนี้ คือ หนึ่ง กระตุ้นให้รัฐบาลใส่ใจ ไม่เพิกเฉยต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชน สอง ทางผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติสามารถทำข้อเสนอแนะให้เลิกละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ และสาม เป็นการบันทึกว่ามีสถานการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้น
จากข้อมูลสถิติ นับแต่ช่วงการรัฐประหาร 2549 จนถึง 1 มกราคม 2567 ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติส่งหนังสือกลับมาถามรัฐบาลไทยทั้งหมด 111 ครั้ง ในจำนวนดังกล่าวมี 104 ครั้งที่เป็นประเด็นเรื่องเสรีภาพในการแสดงออก หรือคิดเป็น 93.7% โดยในจำนวนดังกล่าว มี 23 จากทั้งหมด 111 เรื่อง หรือคิดเป็น 20.7% ที่มีเนื้อหาสอบถามมายังรัฐบาลไทยเกี่ยวกับการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
เสียงจากนักกิจกรรมที่เคยใช้กลไกพิเศษ UN
อันนา อันนานนท์ นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนและนักศึกษา ซึ่งเคยถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการถูกจับกุมขณะนั่งรับประทานอาหารที่ร้านแมคโดนัลด์ สาขาอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อันนาเล่าในฐานะผู้เคยใช้กลไกพิเศษนี้ว่า ตอนที่ตนใช้กลไกพิเศษนี้ส่งคำร้องไป ยังเป็นเยาวชนอายุไม่ถึง 18 ปี รู้สึกว่าการใช้กลไกส่งคำร้องใช้ค่อนข้างยาก แต่หลังจากส่งไปแล้วและได้รับการตอบรับ ก็รู้สึกมีความหวังขึ้นมานิดหนึ่งและอยากเห็นคำตอบจากทางรัฐบาลไทย เพราะก่อนหน้านั้น เวลาไปยื่นหนังสือทวงถามถึงหน่วยงานรัฐไทยเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ตนถูกละเมิดสิทธิ เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ คำตอบที่ได้รับมาไม่ได้อิงอยู่บนหลักการสิทธิมนุษยชนเลย
สำหรับคำตอบที่ได้รับจากผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ อันนารู้สึกว่าคำตอบที่ได้รับค่อนข้างโอเคและได้เห็นการ take action และหลังจากนั้นก็ได้รับการติดต่อจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่เคยไปยื่นหนังสือไว้ ทั้งๆ ที่ส่งไปนานมากจนลืมไปแล้วว่าเคยยื่นหนังสือ ในแง่ดีคือเห็นว่าหน่วยงานภาครัฐพยายามตอบกลับโดยนำหลักการสิทธิมนุษยชนเข้ามาใส่อยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้ตอบตามที่ทางสหประชาชนถามโดยตรง โดยทางหน่วยงานรัฐไทย ตอบกลับไปว่า เจ้าหน้าที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กระทำการไปด้วยความหวังดี (good intention) จนทางผู้รายงานพิเศษออกแถลงว่าน่าเสียดายที่รัฐบาลไทยตอบไม่ตรงคำถาม
ภาคประชาชนเตรียมส่งเรื่องภาคกลไกพิเศษ UN เล่าการดำเนินนโยบายที่ละเมิดสิทธิ-ละเมิดต่อบุคคล
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการ iLaw ยกตัวอย่างกรณีที่ผู้รายงานพิเศษสหประชาชนตอบกลับมายังรัฐบาลไทยเกี่ยวกับประเด็น มาตรา 112 เช่น
ปี | เนื้อหา | ข้อกังวล | ข้อเสนอ |
2554 | สอบถามกรณีเจ้าหน้าที่รัฐข่มขู่สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และการดำเนินคดีตามมาตรา 112 กับ ธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล สมยศ พฤกษาเกษมสุข และชนินทร์ คล้ายคลึง | นิยามของ “ดูหมิ่น” ไม่ชัดเจนไม่สอดคล้องกับ ICCPR ที่ไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีในหลักความจำเป็นอย่างยิ่งยวด ได้สัดส่วน | แนะนำให้รัฐบาลไทย พิจารณายกเลิกมาตรา 112 |
แสดงความกังวลกับการดำเนินคดีกับสมยศในข้อหามาตรา 112 ที่อาจจะมาจากการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนของสมยศ ซึ่งรวมถึงการรณรงค์ในยกเลิกมาตรา 112 ด้วย | ให้รัฐบาลไทยให้การรับรองเสรีภาพในการแสดงออก ตามหลักสากล และสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ของสมยศให้ครบถ้วน | ||
2555 | สอบถามกรณีการใช้กฎหมายมาตรา 112 ตัดสินจำคุก อำพล ตั้งนพกุล “อากง” เป็นเวลา 20 ปี ด้วยเหตุจากการส่งข้อความไปหาเลขานุการของนายกรัฐมนตรี และการคุมขัง ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล “ดา ตอร์ปิโด” จากมาตรา 112 เช่นเดียวกัน | การใช้กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ที่ไม่ได้สัดส่วน และขาดความชัดเจนในการตีความ รวมถึงการ ละเลยปัญหาสุขภาพของผู้ต้องหา หลักสากลและ ข้อตกลงระหว่างประเทศให้การรับรองการปฏิบัติต่อ ผู้ป่วยที่แม้จะเป็นผู้กระทำความผิดในเรือนจำ รัฐมีหน้าที่ต้องให้การรักษาอย่างถูกต้อง ผู้ป่วยที่ต้องการการดูแลจากผู้เชี่ยวชาญ ก็ควรถูกส่งออกไปรักษานอกเรือนจำ | |
สอบถามกรณีการใช้กฎหมายมาตรา 112 ดำเนินคดีกับประชาชน 58 คนในช่วงที่ผ่านมา | การบังคับใช้และความถี่ของการใช้กฎหมาย บทลงโทษที่รุนแรง และแรงกดดันที่ตุลาการมีต่อ คดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ การฟ้องร้องที่ริเริ่มโดยใครก็ได้ | ปรับแก้ไขโทษทางอาญาเป็นโทษทางแพ่งให้สอดคล้องกับ มาตรฐานสากล เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ควรจะฟ้องร้องหมิ่นประมาทกฎหมายใดก็ตามที่ให้การปกป้องบุคคลสาธารณะเป็นพิเศษก็ควรถูกยกเลิก | |
2557 | ส่งจดหมายถึงรัฐบาลไทยสอบถามกรณีการดำเนินคดี กฎหมายมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กับชาวซาอุดิอาระเบียที่โพสต์ข้อความเกี่ยวกับ สุขภาพของกษัตริย์ไทย ทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวลง | การใช้กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ที่ควรสอดคล้อง กับหลักสากล และการเนรเทศชาวซาอุฯ ที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดออกจากประเทศ มีปัญหากับหลักการ ได้สัดส่วนของโทษ ร้องขอข้อมูลการดำเนินคดีตามมาตรา 112 และ คำอธิบายว่ากฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์นั้น สอดคล้องกับหลักสากลอย่างไร | |
สอบถามกรณีการดำเนินคดีและคุมขังตามมาตรา 112 กับประชาชนทั้งหมด 21 คน ซึ่งมีสี่คนที่คดีอยู่ในการพิจารณาของศาลทหารด้วย โดยการดำเนินคดีนี้อยู่ภายใต้บริบทของการรัฐประหารที่เกิดขึ้นเมื่อกลางปี 2557 ของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีคำสั่งให้ศาลทหาร พิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ | กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์นั้นไม่สอดคล้องกับ หลักสากลที่วางไว้ในข้อตกลงระหว่างประเทศ รวมถึงปริมาณของโทษที่หนักเกินไป จนอาจก่อให้เกิด Chilling effect หรือเหตุการณ์ที่รัฐสร้างความหวาดกลัวจนประชาชนไม่กล้าออกมาใช้สิทธิเสรีภาพของตนเอง ขอข้อมูลและคำอธิบายว่าการดำเนินคดีนั้นสอดคล้องกับหลักสากลอย่างไร |
หากดูจากคำตอบที่รัฐบาลไทยตอบกลับ พอสรุปได้ว่าคำตอบ “วน” อยู่ในคำอธิบายเดิมๆ เช่น เป็นกฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์
ยิ่งชีพระบุต่อว่า ในปี 2567 iLaw เป็นส่วนหนึ่งในการจัดกิจกรรมเวิร์คชอปชวนนักกิจกรรม ผู้ถูกละเมิดสิทธิ ถูกจับกุมคุมขัง มาเรียนรู้กลไกพิเศษสหประชาชน ร่วมเขียนคำร้องเพื่อส่งเข้าสู่กระบวนการต่อไป โดยมีคำร้องที่จะส่งผ่านกลไกพิเศษแห่งสหประชาชาติ ดังนี้
กรณีการดำเนินนโยบายที่ละเมิดสิทธิ
- การเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่จงใจเลือกปฏิบัติ ไม่รวมคดีมาตรา 112
- การออกมติคณะรัฐมนตรีให้ทำประชามติที่ตั้งคำถามให้ประชาชนไม่มีสิทธิเลือก
- การบังคับใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กับการแสดงออกทางการเมือง
กรณีการละเมิดต่อบุคคล
- การบังคับใส่กำไลอิเล็กทรอนิกส์ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ กรณีศึกษา บิ๊ก-เกียรติชัย ตั้งภรณ์พรรณ
- การจับกุมเยาวชนโดยไม่ปฏิบัติตามขั้นตอน กรณีศึกษา อ็อกซ์ฟอร์ด ชาญชัย
- การใช้กระบวนการของตำรวจจับกุม อายัดตัว คัดค้านการประกันตัว จงใจขัดขวางการทำกิจกรรม กรณีศึกษา รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล
- การทรมานและล่วงละเมิดทางเพศระหว่างคุมขังในค่ายทหาร กรณีศึกษา แหวน-ณัฏฐธิดา มีวังปลา
- การคุกคามครอบครัวและการเข้าถึงที่อยู่อาศัยส่วนตัว กรณีศึกษา นิว-จตุพร
- การดำเนินคดีเพื่อตอบโต้ที่นักกิจกรรมเข้าร่วมกระบวนการของยูเอ็น กรณีศึกษา บี๋-นิราภรณ์ อ่อนขาว
- การปฏิบัติต่อผู้ถูกคุมขังที่ไม่ถูกต้องและสภาพความเป็นอยู่ในเรือนจำ กรณีศึกษา ใบปอ-ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์
- ผลกระทบจากคดีมาตรา 112 ต่อการใช้ชีวิตและการทำงาน กรณีศึกษา “โจเซฟ”
- การปฏิเสธสิทธิของจำเลย ในการนำเสนอพยานหลักฐานเพื่อต่อสู้คดี มาตรา 112 กรณีศึกษา มายด์-ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล