หลัง 250 สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พ้นตำแหน่งไป สว. ชุดใหม่ที่มาจากระบบ “แบ่งกลุ่ม” – “เลือกกันเอง” จำนวน 200 คน ก็เข้าปฏิบัติหน้าที่แทน ด้วยรูปแบบที่คนเขียนรัฐธรรมนูญออกแบบกติกาให้การได้มาซึ่ง สว. ชุดหลักตามรัฐธรรมนูญ 2560 นั้นซับซ้อน และมีเงื่อนไขเรื่องคุณสมบัติรวมถึงลักษณะต้องห้ามหลายข้อ ส่งผลให้ สว. ชุดแรกจากระบบ “เลือกกันเอง” มีหน้าตาที่แตกต่างออกไป โดยภาพรวมไม่ใช่ “นักการเมือง” มืออาชีพที่ผ่านสนามการเมืองมาอย่างโชกโชน แต่ก็มีบางส่วนที่เคยลงสนามการเมืองอยู่บ้าง ไม่ว่าจะเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) หรือ สว. ตามรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ
ผู้ที่จะได้เป็น สว. นอกจากจะต้องผ่านด่านกระบวนการเลือกสามด่าน ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด ระดับประเทศ แต่ก่อนจะผ่านเข้าสู่ด่านดังกล่าวได้ ปราการแรกที่ผู้อยากนั่งเก้าอี้สภาสูงจะต้องเผชิญ คือ สารพัดเงื่อนไขคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามที่คนเขียนรัฐธรรมนูญออกแบบระบบพยายามวางให้วุฒิสภาต้องมีความ “เป็นกลางทางการเมือง” เพื่อทำหน้าที่ถ่วงดุลฝ่ายนิติบัญญัติ เช่น ต้องไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง หรือหากเคยดำรงตำแหน่งทางการเมือง เช่น สส. หรือรัฐมนตรี ต้อง “เว้นวรรค” มาก่อนห้าปี รวมถึงเงื่อนไขประสบการณ์ทำงาน ประสบการณ์ในกลุ่มอาชีพ ไม่น้อยกว่า 10 ปี เพื่อให้ สว. เป็นตัวแทนของกลุ่มอาชีพตามที่คนออกแบบระบบวาดฝันไว้
เงื่อนไขดังกล่าวไม่ใช่แค่สิ่งที่ สว. ต้องระมัดระวังในขั้นตอนสมัคร แต่ยังส่งผลต่อสถานะ สว. หากทำสิ่งใดขัดหรือแย้งเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด อาจพ้นจากตำแหน่งได้
เปิดเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ 2560 สว. พ้นตำแหน่งได้กรณีใดบ้าง?
ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 111 (1) ถึง (8) กำหนดกรณีที่สมาชิกวุฒิสภา (สว.) จะสิ้นสมาชิกภาพลง แบ่งย่อยออกได้เป็น 10 กรณี ได้แก่
1) อยู่ครบวาระห้าปี
วุฒิสภาตามระบบ “เลือกกันเอง” ของรัฐธรรมนูญ 2560 มีวาระห้าปี โดยสมาชิกภาพของ สว. จะเริ่มนับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศผลการเลือก (รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 109) โดยหลังอยู่ครบวาระห้าปีแล้ว สว. จะต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมี สว. ชุดใหม่
2) ตาย
3) ลาออก
4) ขาดประชุมเกินจำนวนหนึ่งในสี่ของจำนวนวันประชุมในสมัยประชุมที่มีกำหนดเวลาไม่น้อยกว่า 120 วันโดยไม่ได้รับอนุญาตจากประธานวุฒิสภา
หมายความว่า สว. แต่ละคนมีโควตาในการ “ขาดประชุม” โดยไม่ได้รับอนุญาตจากประธานวุฒิสภาได้ไม่เกิน 30 วันต่อหนึ่งสมัยประชุม หากขาดประชุมตั้งแต่ 31 วันขึ้นไปต่อหนึ่งสมัยประชุม สว. คนนั้นก็จะสิ้นสถานะความเป็น สว.
5) ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก แม้จะมีการรอการลงโทษเว้นแต่เป็นการรอการลงโทษในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท
6) ฝักใฝ่หรือยอมอยู่ใต้อาณัติพรรคการเมือง ซึ่งต้องห้ามตามมาตรา 113
7) มีผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งต้องห้ามตามมาตรา 184 และมาตรา 185
มาตรา 184 กำหนดว่า สส. และ สว. ต้องไม่กระทำการที่มีลักษณะผลประโยชน์ทับซ้อน ดังนี้
(1) ไม่ดำรงตำแหน่งหรือหน้าที่ใดในหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจหรือตำแหน่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
(2) ไม่รับหรือแทรกแซงหรือก้าวก่ายการเข้ารับสัมปทานจากรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจอันมีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอน หรือเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญาในลักษณะดังกล่าว ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
(3) ไม่รับเงินหรือประโยชน์ใดๆ จากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเป็นพิเศษ นอกเหนือไปจากที่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจปฏิบัติต่อบุคคลอื่นๆ ในธุรกิจการงานปกติ
(4) ไม่กระทำการใดๆ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม อันเป็นการขัดขวางหรือแทรกแซงการใช้สิทธิหรือเสรีภาพของหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนโดยมิชอบ
มาตรา 185 กำหนดว่า สส. หรือ สว. ต้องไม่ใช้สถานะหรือตำแหน่ง กระทำการใดๆ ที่มีลักษณะก้าวก่ายหรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมือง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ในเรื่องดังต่อไปนี้
(1) การปฏิบัติราชการหรือการดำเนินงานในหน้าที่ประจำของข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือราชการส่วนท้องถิ่น
(2) กระทำการในลักษณะที่ทำให้ตนมีส่วนร่วมในการใช้จ่ายเงินงบประมาณหรือให้ความเห็นชอบในการจัดทำโครงการใด ๆ ของหน่วยงานของรัฐ เว้นแต่เป็นการดำเนินการในกิจการของรัฐสภา
(3) การบรรจุ แต่งตั้ง โยกย้าย โอน เลื่อนตำแหน่ง เลื่อนเงินเดือนหรือการให้พ้นจากตำแหน่งของข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำและมิใช่ข้าราชการการเมือง พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือราชการส่วนท้องถิ่น
8) พ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุแปรญัตติงบประมาณให้ สส. สว. กมธ. มีส่วนในการใช้งบประมาณรายจ่ายไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ตามมาตรา 144
มาตรา 144 วรรคสอง กำหนดข้อห้ามในกรณีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม และร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย ไม่ว่าจะอยู่ในชั้นสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือคณะกรรมาธิการ ห้ามเสนอ แปรญัตติ หรือกระทำการใดๆ ที่มีผลให้ สส. สว. หรือกรรมาธิการมีส่วนในการใช้งบประมาณรายจ่ายไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม
โดยหลักคิดของมาตรา 144 คือ ฝ่ายบริหารมีหน้าที่ในการจัดเก็บรายได้และจัดทำงบประมาณ หากฝ่ายนิติบัญญัติแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพิ่มงบประมาณขึ้นมา ก็จะกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติจึงต้องอยู่ภายใต้ “หลักการห้ามฝ่ายนิติบัญญัติในการริเริ่มการจ่ายเงินแผ่นดิน” ซึ่งป้องกันไม่ให้สมาชิกรัฐสภาเข้าไปมีส่วนไม่ว่าจะในทางตรงหรือในทางอ้อมต่องบประมาณรายจ่ายประจำปี ฝ่ายนิติบัญญัติมีหน้าที่ในการพิจารณาและอนุมัติร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายที่ฝ่ายบริหารเสนอมาเท่านั้น
นอกจากนี้ มาตรา 144 วรรคสาม ระบุว่า กรณีที่สส. หรือ สว. จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา เห็นว่ามีการกระทำที่ฝ่าฝืนมาตรา 144 ให้เสนอความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณา และศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับความเห็นดังกล่าว ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีการกระทำที่ฝ่าฝืนมาตา 144 ให้การเสนอ การแปรญัตติ หรือการกระทำดังกล่าวเป็นอันสิ้นผล ถ้าผู้กระทำการดังกล่าวเป็นสส. หรือ สว. ให้ผู้นั้นสิ้นสุดสมาชิกภาพนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งด้วย
9) พ้นตำแหน่งเพราะเหตุพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ จงใจปฏิบัติหน้าที่ขัดต่อกฎหมาย ฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม ตามมาตรา 235 วรรคสาม
ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 235 กำหนดว่าหากมีเหตุควรสงสัยหรือมีการกล่าวหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สส. สว. ข้าราชการการเมือง ข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ หรือผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ว่ามีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต้องดำเนินการไต่สวน ถ้าเห็นว่าผู้นั้นฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ให้เสนอเรื่องต่อศาลฎีกา แต่ถ้าเป็นกรณีอื่น ให้ส่งสำนวนการไต่สวนไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
เมื่อศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองประทับรับฟ้อง ให้ผู้ถูกกล่าวหาหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำพิพากษา กรณีที่ศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาว่าผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์หรือกระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา แล้วแต่กรณี ให้ผู้ต้องคำพิพากษานั้นพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันหยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้นและจะเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลาไม่เกิน 10 ปีด้วยหรือไม่ก็ได้
ผู้ใดถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไม่ว่าในกรณีใด ผู้นั้นไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นตลอดไป และไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ
10) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม
รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 108 กำหนดว่า สว. ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
คุณสมบัติ
1) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
2) มีอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปีในวันสมัครรับเลือก
3) มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือทำงานในด้านที่สมัครไม่น้อยกว่า 10 ปีหรือเป็นผู้มีลักษณะตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา เช่น สว. กลุ่มสตรี ต้องมีเพศในทะเบียนราษฎรเป็นเพศหญิง สว. กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น (ผู้มีความหลากหลายทางเพศ) ก็ต้องเป็นบุคคลที่มีอัตลักษณ์ดังกล่าว สำหรับผู้สูงอายุ หมายถึง ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป
4) เกิด มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ทำงาน หรือมีความเกี่ยวพันกับพื้นที่ที่สมัครตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา กล่าวคือ
- เกิดในอำเภอที่สมัครรับเลือก
- มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในอำเภอที่สมัครรับเลือกมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปีนับถึงวันสมัครรับเลือก
- ทำงานอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือกมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปีนับถึงวันสมัครรับเลือก
- เคยทำงานหรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือก เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปี
- เคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือกเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปีการศึกษา
ลักษณะต้องห้าม
- ติดยาเสพติดให้โทษ
- เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
- เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ
- เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
- อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่
- วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
- อยู่ระหว่างถูกระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราวหรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
- ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล
- เคยได้รับโทษจำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงสิบปีนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
- เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ
- เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก เพราะกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
- เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า กฎหมายว่าด้วยการพนันในความผิดฐานเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสำนัก กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในความผิดฐานฟอกเงิน
- เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง
- เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ
- เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ
- อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
- เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุตามมาตรา 144 หรือมาตรา 235 วรรคสาม
- เป็นข้าราชการ
- เป็นสมาชิกพรรคการเมือง
- เป็นหรือเคยเป็นตำแหน่งดังต่อไปนี้ เว้นแต่พ้นตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีนับถึงวันสมัคร
- สส.
- รัฐมนตรี
- สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
- ผู้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมือง
- เป็นบุพการี (บิดามารดา ปู่ย่า ตายาย) คู่สมรส หรือบุตร ของผู้ดำรงตำแหน่งต่อไปนี้
- สส.
- สว.
- ข้าราชการการเมือง
- สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
- ผู้ดำรงตำแหน่งในศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระ
- เป็นบุพการี (บิดามารดา ปู่ย่า ตายาย) คู่สมรส หรือบุตร ของผู้สมัครรับเลือกเป็น สว. ในคราวเดียวกัน (หนึ่งครอบครัว สมัครได้แค่คนเดียวในหนึ่งสมัย)
- เคยดำรงตำแหน่ง สว. ตามรัฐธรรมนูญ 2560
พบ สว. ขาดคุณสมบัติ มีลักษณะต้องห้าม สว. – กกต. ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญฟันพ้นตำแหน่ง
เมื่อมีปัญหาว่า สว. รายใดรายหนึ่งเข้าข่ายสิ้นสมาชิกภาพ ตามกรณีดังต่อไปนี้
- มาตรา 111 (3) ลาออก
- มาตรา 111 (4) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม
- มาตรา 111 (5) ขาดประชุมเกินจำนวนหนึ่งในสี่ของจำนวนวันประชุมในสมัยประชุม
- มาตรา 111 (7) ฝ่าฝืนมาตรา 133 มาตรา 184 หรือมาตรา 185
รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 82 วางกลไกให้ สว. สามารถรวมตัวกันให้ได้จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งใน 10 ของจำนวน สว. ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ (กรณีมี สว. ครบ 200 คน ก็ต้องมี สว. 20 คนขึ้นไป) เข้าชื่อต่อประธานวุฒิสภาเพื่อให้ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยสมาชิกภาพของ สว. รายนั้นได้ หรือหากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เห็นว่าสมาชิกภาพของสว. รายนั้นมีเหตุสิ้นสุดตามกรณีข้างต้น ก็ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยได้เช่นกัน
กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของ สว. ที่ถูกร้องสิ้นสุดลง สว. รายนั้นจะพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่ไม่กระทบต่อการกระทำที่ทำไปก่อนพ้นจากตำแหน่ง
สว. รู้เห็นหรือทุจริตกระบวนการเลือก อาจถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง-พ้นตำแหน่ง
นอกจากเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่อาจส่งผลให้ สว. พ้นตำแหน่งได้ ยังมีเงื่อนไขตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 (พ.ร.ป.สว. ฯ) มาตรา 62 ที่กำหนดไว้ว่า เมื่อ กกต. ประกาศผลการเลือก สว. ระดับประเทศจนได้รายชื่อ 200 สว. ตัวจริงและตัวสำรองอีก 100 คนแล้ว ถ้ามีหลักฐานว่าผู้สมัคร หรือบุคคลใด ทำการทุจริตการเลือก สว. หรือรู้เห็นกับการกระทำของบุคคลอื่น อันทำให้การเลือกไม่ได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม กกต. ต้องยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้น
กรณีที่บุคคลดังกล่าวเป็น สว. จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลจะพิพากษา หากศาลพิพากษาว่าผู้นั้นกระทำความผิดให้สมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภาผู้นั้นสิ้นสุดลงนับแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่กรณีที่บุคคลดังกล่าวเป็นตัวสำรอง ถ้าศาลพิพากษาว่าผู้นั้นกระทำความผิด กกต. ต้องลบรายชื่อบุคคลนั้นออกจากบัญชีสำรอง โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา และให้ถือว่าบัญชีสำรองตามจำนวนบุคคลเท่าที่เหลืออยู่
สว. ในกลุ่มพ้นตำแหน่งจนไม่ครบ 10 คน เลื่อนตัวสำรองขึ้นเป็นตัวจริง
ระบบ “แบ่งกลุ่ม” – “เลือกกันเอง” ที่ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นำโดยมีชัย ฤชุพันธุ์ ออกแบบไว้สำหรับกระบวนการได้มาซึ่ง สว. แบ่ง สว. ออกเป็น 20 กลุ่ม กลุ่มละ 10 คน โดยแต่ละกลุ่มจะมีรายชื่อสำรองกลุ่มละห้าคน
กรณีที่ สว. กลุ่มใดไม่ครบจำนวน 10 คน เช่น เพราะตำแหน่งว่างลงเนื่องจากมีผู้ลาออก เสียชีวิต ฯลฯ ประธานวุฒิสภาจะประกาศเลื่อนบุคคลในบัญชีรายชื่อสำรองของกลุ่มนั้นขึ้นมาเป็น สว. ตัวจริงแทน โดยเรียงตามลำดับ ผู้ที่อยู่ลำดับก่อนก็จะมีโอกาสก่อน ตัวสำรองที่ได้เลื่อนขึ้นมาเป็น สว. ตัวจริง จะดำรงตำแหน่งได้เท่าอายุที่เหลืออยู่ของวุฒิสภาชุดนั้น ถ้าไม่มีบุคคลในบัญชีสำรองของกลุ่มนั้นเหลืออยู่แล้ว ให้ประธานวุฒิสภาจับสลากว่าจะเลื่อนตัวสำรองจากกลุ่มอื่นขึ้นมาเป็น สว. ตัวจริง
ถ้าทุกกลุ่มไม่มีตัวสำรองเหลืออยู่เลย ให้วุฒิสภาประกอบด้วยจำนวน สว. เท่าที่มีอยู่ แต่ถ้า สว. เหลือไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวน สว. ทั้งหมด (เหลือไม่ถึง 100 คน) และอายุของวุฒิสภายังเหลืออยู่เกินหนึ่งปี กกต. จะต้องดำเนินการเลือก สว. แทนตำแหน่งที่ว่าง ภายใน 60 วันนับแต่วันที่ สว. เหลืออยู่ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง กรณีนี้ผู้ได้รับเลือกเป็น สว. จะอยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าอายุที่เหลืออยู่ของวุฒิสภา