12 ตุลาคม 2567 KinJai Contemporaly จัดกิจกรรมเสวนา “Self-censorship การสร้างความหวาดกลัวโดยรัฐ อุปสรรคของคนทำงานสร้างสรรค์ และเสรีภาพทางวิชาการ” โดยเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ “ซ่อน(ไม่)หา(ย)” เพื่อชวนพูดคุยในประเด็น อุปสรรคของคนทำงานสร้างสรรค์จากหลายมุม ไม่ว่าจะเป็น คนทำงานศิลปะการเมือง, นักวางแผนกลยุทธ์สื่อสาร, นักสะสมของที่มีส่วนสำคัญต่อหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย รวมไปถึงแทคติคการสร้างความหวาดกลัวโดยรัฐ
รัฐไทยสร้างอิทธิพลความกลัว ศิลปินออกแบบงานศิลปะภายใต้กรอบ
สินา วิทยวิโรจน์ คนทำงานศิลปะการเมือง เล่าถึง ประสบการณ์ส่วนตัวกับการเผชิญหน้ากับการเซนเซอร์ ตั้งแต่สมัยเด็ก เมื่อเริ่มตั้งคำถามกับศาสนา และเริ่มเห็นกระบวนการของรัฐที่เข้ามากดทับไม่ให้พูดถึงเรื่องศาสนา และความรู้สึกของครอบครัวที่อาจจะเสียใจ จนเมื่อเติบโตขึ้นมาและมีความสนใจทางการเมือง เริ่มจากประเด็นคนเสื้อแดง และประเด็นเกี่ยวกับสถาบันมหากษัตริย์ แต่ก็ไม่สามารถพูดออกมาได้ จึงต้องพยายามซ่อนประเด็นต่างๆ เอาไว้ ผ่านงานออกแบบศิลปะ ซึ่งก็เหมือนทำให้ต้องอยู่ภายใต้กรอบแนวคิดอะไรบางอย่าง ที่ทำให้ไม่สามารถแสดงผลงานได้อย่างเต็มที่ จนเมื่อมาถึงจุดหนึ่ง จึงต้องพยายามแหกกรอบเหล่านี้
สินาเล่าว่า ในการวาดภาพประกอบการเมือง ตั้งใจใช้ชื่อจริงของตนเอง และวาดภาพที่เกี่ยวกับการชุมนุมประท้วง ซึ่งผลกระทบที่ตามมาหลังจากเปิดชื่อจริง คือ ความวิตกกังวล มีผู้หวังดีหลายคนเข้ามาถามไถ่ หรือตักเตือนด้วยความเป็นห่วง ทั้งๆ ที่คนเหล่านั้นก็มีความคิดในทางเดียวกัน แสดงให้เห็นว่าการที่สังคมยังไม่กล้าที่จะแสดงออกทางความคิด หรือเกิดความหวาดกลัว ต้องสะกิด หรือเตือนตัวเองตลอดเวลา เป็นสิ่งที่รัฐไทยสามารถเข้ามาอิทธิพลต่อกรอบความคิดของสังคมได้อย่างแยบยล
สินามองว่า ความเป็นกลางไม่จำเป็นสำหรับงานสร้างสรรค์ เพราะคนทำงานสามารถเลือกข้างเพื่อสนับสนุนและรับผิดชอบต่อหลักการที่แต่ละคนเลือก ความเป็นกลางสำหรับงานสร้างสรรค์จึงไม่ใช่การเฉยชากับทุกสิ่งแบบไม่เลือกข้าง แต่คือการมีพื้นที่ตรงกลาง เพื่อให้แต่ละคนได้เอาความสร้างสรรค์ที่ตัวเองเชื่อมาปะทะกัน โดยเน้นไปที่การให้คุณค่ากับการแลกเปลี่ยนแนวคิดกันและกัน ในมุมของนักสร้างสรรค์ การเซ็นเซอร์ตัวเองจะไม่หายไปเพียงแต่จะมีน้อยหรือมีมากแล้วแต่บุคคล ซึ่งมันคือการประณีประนอมต่อตนเอง เพื่อให้ตนเองได้มีชีวิตอยู่ในสังคมนี้ต่อไปได้ โดยการก้าวไปทีละขั้น เพื่อขยับเพดานสังคม
การวิจัยสายสังคมไม่ควรจำกัดกรอบจริยธรรม
รศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า นักวิชาการควรเป็นบทบาทที่มีความคิดเสรีภาพมากที่สุด ทุกระเบียบนิ้ว โดยเฉพาะในการทำวิจัย จนกระทั่งเข้าสู่ช่วง 4 ปีมานี้ จึงเริ่มตระหนักได้ว่า เสรีภาพทางวิชาการที่เคยคิดว่ามีเต็มร้อย เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่รัฐพยายามเข้ามาควบคุม โดยแบ่งออกเป็นสามระดับ
1. เชิงระเบียบกฎหมาย
ในการทำวิจัยทุกอย่างจำเป็นต้องขออนุญาตล่วงหน้า ผ่านระเบียบจริยธรรมหลายขั้นตอน ซึ่งเรื่องของจริยธรรมนี้เริ่มต้นมาจากจริยธรรมในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เช่น การกำกับเมื่อต้องเอามนุษย์หรือสัตว์ไปทดลอง แต่ในการวิจัยทางสายสังคมศาสตร์ โดยทั่วไปแล้วไม่ควรมีการจำกัดจริยธรรม เพราะเป็นการตีกรอบความคิดหลายอย่าง เช่น หากการวิจัยทางสังคมเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมือง เราก็ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าการชุมนุมจะมีเมื่อใด
2. การเผยแพร่
เมื่อทำงานวิจัยเสร็จแล้ว ก็จำเป็นต้องเผยแพร่ข้อมูลข้อค้นพบที่ได้จากงานวิจัย แต่ปัจจุบันหาสำนักพิมพ์ยาก เมื่อกองบรรณาธิการเบื้องหลังมีความเสี่ยงในการถูกดำเนินคดี หรืออาจมีปัญหาการฟ้องร้องทางกฎหมายตามมา จึงไม่มีสำนักพิมพ์ไหนอยากโดนฟ้องร้อง งานวิจัยหลายๆ ฉบับที่กระทบต่ออำนาจรัฐจึงมีอุปสรรคในการเผยแพร่
3. การเปิดพื้นที่สาธารณะ
แม้จะมีงานวิจัยบางงานได้รับทุน และรางวัล แต่เมื่อใดที่เนื้อหาของงานไปกระทบกระเทือนกับอำนาจรัฐ เช่น กระทบกับทหาร มหาวิทยาลัยก็ไม่ต้องการอยู่กับงานวิจัยที่ไปสั่นคลอนต่ออำนาจรัฐ เห็นได้จากการให้งานเสวนาที่เกี่ยวกับงานวิจัยที่กระทบต่ออำนาจรัฐไปจัดนอกมหาวิทยาลัย กรณีนี้เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า แม้แต่พื้นที่เสรีภาพทางวิชาการก็กำลังถูกท้าทายจากอำนาจรัฐเช่นกัน
รศ.ดร.กนกรัตน์ กล่าวว่า ในการรับมือเบื้องต้นก็ต้องพยายามทำตามเกณฑ์และกฎหมายที่รัฐกำหนดมาให้ เพราะท้ายที่สุด เป็นธรรมชาติของรัฐที่จะหาวิธีการปกครองประชาชนด้วยความรุนแรงที่แยบยลที่สุด เราจึงต้องพยายามเล่นไปตามเกม และหาช่องทางที่จะรอดพ้นจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นมากกว่าการเปิดหน้าแลก ดังนั้นเมื่อถามถึงการเลือกหัวข้อวิจัยที่สุ่มเสี่ยง ก็ถือเป็นเรื่องที่เจ็บปวด เพราะตั้งแต่มีการฟ้องร้องนักวิชาการ อาจารย์ผู้มีชื่อเสียง ทั้งคดีแพ่ง คดีอาญา ก็ส่งผลกระทบต่อวงการวิชาการในการเลือกหัวข้อวิจัย สำหรับนิสิตนักศึกษา ปริญญาโท ปริญญาเอก เป็นเรื่องที่ยากมากในการรับมือกับความเสี่ยงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น แม้ว่าหัวข้อวิจัยบางหัวข้อจะน่าสนใจแค่ไหน แต่เมื่อสุ่มเสี่ยงจะกระทบกระเทือนต่ออำนาจรัฐ นิสิตนักศึกษาหลายคนก็ไม่อยากแบกรับภาระที่อาจเกิดขึ้น
จัดแสดงนิทรรศการ แต่ต้องรื้อเพราะผู้ชมเขียนแสดงความเห็น
อานนท์ ชวาลาวัลย์ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์สามัญชน เล่าถึงงานที่พยายามจะทำว่า จะพยายามเก็บของทุกอย่างที่มีความสำคัญ ไม่ว่าจะของกลุ่มใด ขบวนการใดก็ตาม เพราะเขาเชื่อว่า ของทุกชิ้น มันมีควรมีเรื่องราวที่ทางในประวัติศาสตร์ หากเป็นไปได้ก็ต้องการเก็บของขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มที่มีอุดมการณ์ตรงข้ามกับตนเองให้มากกว่านี้ เช่น เนื้อหาบทการปราศรัย เพราะจะทำให้เราเห็นวิธีคิด การถ่ายทอดอุดมการณ์ผ่านบทปราศรัย จะช่วยทำให้สังคมเข้าใจแนวคิดของการต่อสู้ของพวกเขามากขึ้น
อานนท์ เปิดเผยประสบการณ์การไปจัดนิทรรศการที่มหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งนึง เมื่อครบรอบเลือกตั้งปี 2562 เมื่อจัดงานไปได้ระยะหนึ่ง ปรากฎว่าทางห้องสมุดมหาวิทยาลัยดังกล่าวโทรมาบอกให้ไปรื้อนิทรรศการด่วน เพราะมีข้อความบางอย่างที่ผู้เข้าร่วมชมนิทรรศการได้เขียนแสดงความคิดเห็นไว้แสดงถึงความสุ่มเสี่ยงจะกระทบต่ออำนาจรัฐ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่า บางครั้งการจัดนิทรรศอาจจะมีปัจจัยนอกเหนือการควบคุม ซึ่งมาพร้อมกับความเสี่ยง
อานนท์ ยังเล่าถึงประสบการณ์อีกว่า มีของสะสมอีกหลายชิ้นของพิพิธภัณฑ์สามัญชนที่เก็บรักษาเอาไว้ได้ แต่ยังไม่ใช่เวลาเหมาะสมในการจัดแสดง ซึ่งบางครั้งผู้จัดก็ต้องชั่งน้ำหนักให้ดีระหว่างของที่อยากให้คนอื่นได้ดู กับความปลอดภัยของชิ้นงาน ซึ่งก็มีวิธีหลีกเลี่ยงได้หลายวิธี เช่น ดัดแปลงงานบางอย่างไม่ให้ผิดกฎหมาย ทำให้เป็นศิลปะ และบางครั้งสิ่งของที่ถูกดัดแปลงกลายเป็นงานศิลปะก็อาจจะทรงพลังมากกว่า
ศิลปินไม่จำเป็นต้องเป็นกลาง เพราะกำลังสู้กับระบบที่ไม่เป็นกลาง
ประกิต กอบกิจวัฒนา นักวางแผนกลยุทธ์การสื่อสารทางการเมือง กล่าวถึงประสบการณ์การทำงานที่ก็รู้สึกว่า มีเส้นหรือมีมุมที่เลือกจะไม่ไปแตะต้องเพื่อรักษาชีวิตของตัวเอง ในเมื่อแตะอะไรไม่ได้ งานเสียดสีสังคมการเมืองจึงไม่ใช่การหลบเลี่ยง แต่เป็นการหาไอเดียให้งานมีความแนบเนียนขึ้น แม้จะมีแรงกดดันเข้ามาบ้าง แต่ก็เชื่อว่ามีชนชั้นกลางหลาย ๆ คนที่ตั้งคำถามกับประเทศนี้เหมือนกัน
ประกิต มองว่า ความเป็นกลางในการทำงานไม่มีอยู่จริง ในฐานะของศิลปิน ไม่จำเป็นต้องมีความเป็นกลาง ทุกศิลปินไม่ว่าจะอุดมการณ์ไหนก็ควรมีเสรีภาพ นำเสนอความคิดเห็นของตัวเอง เพราะเรากำลังต่อสู้กับระบบที่ไม่ได้กลางตั้งแต่แรก แต่ทีนี้ พื้นที่ตรงกลางที่สามารถแสดงความคิดเห็นได้ มันไม่มีในสังคมไทย ทำให้ความขัดแย้งรุนแรงขึ้น และเป็นความจงใจของรัฐที่ทำให้ความขัดแย้งยังดำรงอยู่ ถ้าอยากเปิดพื้นที่ให้เป็นกลาง ก็ต้องเป็นพื้นที่ที่เปิดให้คนออกมาแสดงความคิดเห็นให้มากขึ้น
“ซ่อน(ไม่)หา(ย)” นิทรรศการที่จะพาไปเปิดมุมมองต่อผู้ต้องขังทางการเมือง
นิทรรศการ ซ่อน(ไม่)หา(ย) Presumption of Innocence จัดขึ้นวันที่ 28 กันยายน ถึง 27 ตุลาคม 2567 ที่ KinJai Contemporary เพื่อชวนสำรวจเรื่องราวของผู้ต้องคดีทางการเมือง เพื่อย้อนดูชีวิต ความฝัน ความหวัง ว่ามีอะไรที่ถูกซ่อนหรือหล่นหายไปหลังจากที่มีการฟ้องคดีเกิดขึ้น เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบจากการที่ไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว ความไม่ได้สัดส่วนของการกระทำและโทษที่ได้รับ และตั้งคำถามเกี่ยวกับหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์
สำหรับผู้เข้าชมนิทรรศการจะได้รับกระดาษและดินสอคู่ใจ ที่จะพาไปไขปริศนาทั้ง 19 คำศัพท์ที่มีความสำคัญในชีวิตของผู้ต้องขังในคดีทางการเมือง โดยปริศนาแต่ละคำจะถูกซ่อนอยู่บนสิ่งของเครื่องใช้และนิทรรศการที่จัดแสดง ทั้ง 19 จุด เปรียบเหมือนการเชื้อเชิญให้ผู้ชมได้เข้าไปดูนิทรรศการให้ครบ เพื่อไขปริศนาข้อความบนกระดาษให้สำเร็จ ผู้ชมจะสัมผัสกับวิถีชีวิตอันแสนจะเรียบง่ายที่สุดเท่าที่มนุษย์คนนึงจะมีได้ของผู้ต้องขังทางการเมือง ผ่านข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้าน ทั้งโต๊ะอาหาร โทรทัศน์ หรือแม้แต่รูปถ่ายความทรงจำต่างๆ ของครอบครัว รวมทั้งผู้ชมจะได้พบกับจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้คนคนหนึ่งเดินเข้าสู่สนามความขัดแย้งทางการเมืองที่นำมาซึ่งภัยอันตรายทางคดีความ
หากผู้ชมได้เข้ามาสัมผัสด้วยตนเอง ผ่านการไขปริศนาให้ครบทั้ง 19 ข้อ พื้นที่แห่งนี้จะทำให้ผู้ชมเข้าไปอยู่ในโลกของคนธรรมดาคนหนึ่ง ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคม อยากเห็นสังคมที่ดีกว่าที่เป็นอยู่