เสียเวลาไปกับอะไร? ทำไมประชามติรัฐธรรมนูญใหม่ถึงไม่เกิด


นับถึงเดือนตุลาคม 2567 ก็เกินหนึ่งปีเต็มแล้วนับตั้งแต่ที่พรรคเพื่อไทยประกาศจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคการเมืองที่นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยมีสัญญาสำคัญที่ให้ไว้กับประชาชนคือการ “จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” โดยมีแนวทางที่ประกาศไว้ก่อนการจัดตั้งรัฐบาลว่า จะมีมติให้จัดทำประชามติทันทีที่มีการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งแรก และจะไม่แก้ไขหมวดที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์

คำประกาศของรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยเคยดูแข็งขันจริงจังอันเป็นผลสืบเนื่องจากสถานการณ์จัดตั้งรัฐบาลที่ขลุกขลักเพราะกลไกของรัฐธรรมนูญ 2560 แต่หลังจัดตั้งรัฐบาลได้แล้ว จนกระทั่งมีเหตุให้เปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีจากเศรษฐา ทวีสิน มาเป็นแพทองธาร ชินวัตร จนล่วงเลยมาเกินหนึ่งปีกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังไม่ได้เริ่มต้นขึ้น และถูก “เตะถ่วง” ด้วยลูกเล่นต่างๆ ครั้งแล้วครั้งเล่า

กลไกที่ถูกยกขึ้นมาใช้ทำให้ “เลื่อน” การทำประชามติออกไปเรื่อยๆ ได้แก่

(1) การออกมติคณะรัฐมนตรีให้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อ “ศึกษา” แนวทางการทำประชามติ ซึ่งใช้เวลาการจัดประชุม รวมทั้งการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นไปสามเดือน จัดทำรายงานเสร็จสิ้นในช่วงสิ้นปี 2566 ส่งต่อให้คณะรัฐมนตรี

(2) สส. พรรคเพื่อไทยร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไข เพื่อจัดตั้งสสร. เลยโดยไม่ต้องทำประชามติครั้งแรก และเกิดความเห็นที่ไม่ตรงกันกับประธานรัฐสภา จึงเสนอเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าจะต้องทำประชามติสองครั้ง หรือสามครั้ง ซึ่งใช้เวลาไปอีกสามเดือน ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยมาในเดือนเมษายน 2567 ว่า เป็นกรณีที่ไม่ต้องวินิจฉัยเพิ่มเติม ให้ถือตามแนวคำวินิจฉัยที่ 4/2564 (ซึ่งสรุปอยู่แล้วว่า ทำประชามติสองครั้งก็พอ)

(3) จากนั้นคณะรัฐมนตรีก็ออกมติให้มีการเสนอแก้ไขพ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดทำประชามติ ซึ่งใช้เวลาพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรไปประมาณห้าเดือน จึงจะผ่านสภาผู้แทนราษฎรได้ โดยสาระสำคัญ คือ การแก้ไขหลักเกณฑ์ที่ประชามติจะผ่านได้ ซึ่งเปลี่ยนจากหลักเกณฑ์เสียงข้างมากสองชั้น เป็นหลักเกณฑ์ที่ไม่ต้องยึดถือจำนวนผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเป็นเกณฑ์

ขั้นตอนต่างๆ ที่รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยมีส่วนเกี่ยวข้องก็ใช้เวลามาถึงเกือบหนึ่งปีเต็มซึ่งถือว่า ใช้เวลาไปมาแล้ว แต่เมื่อร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดทำประชามติ เดินทางเข้าสู่มือของสว.​ชุดใหม่ สว. เสียงส่วนใหญ่กลับยังมีความเห็นแตกต่างไปในเรื่องเกณฑ์การจัดทำประชามติ ที่เห็นว่า ควรต้องใช้ระบบเสียงข้างมากสองชั้นสำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และลงมติไม่เห็นด้วยกับร่างของสภาผู้แทนราษฎรและส่งกลับมาให้แก้ไขร่าง ซึ่งเมื่อสภาผู้แทนราษฎรรับร่างกลับมาแล้ว สส. ส่วนใหญ่ก็ลงมติ “ไม่เห็นด้วย” กับการแก้ไขของสว. 

กระบวนการที่จะเกิดขึ้นต่อไป คือ สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา จะต้องตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกัน เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประชามติฯ โดยตั้งจากจำนวนผู้ได้รับการเสนอชื่อจากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา จำนวนเท่าๆ กัน หลัง “กมธ.ร่วม” พิจารณาแล้วเสร็จ ก็ต้องส่งกลับให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาลงมติว่าเห็นชอบกับร่างพ.ร.บ.ประชามติฯ ที่ผ่านการพิจารณาจากกมธ.ร่วมกันหรือไม่ หากสภาใดสภาหนึ่งไม่เห็นชอบกับร่างใหม่ที่กมธ.ร่วมเสนอ ร่างพ.ร.บ. ประชามติฯ จะถูกยับยั้งไว้ เมื่อพ้น 180 วันแล้ว สส. อาจลงมติยืนยันร่างเดิมที่เคยให้ความเห็นชอบ หรือร่างใหม่ที่กมธ.ร่วมเสนอก็ได้ หมายความว่า หากหาข้อตกลงร่วมกันไม่ได้ก็อาจทำให้ต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 7-8 เดือนกว่าที่จะผ่านร่างพ.ร.บ.ประชามติฯ ได้

นอกจากนี้สว. ยังสั่งงดประชุมในวันที่ 14-15 ตุลาคม 2567 ทำให้เหลือเวลาอีกเพียงสองสัปดาห์ก่อนปิดสมัยประชุมนี้ สำหรับการผ่านร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดทำประชามติให้ได้ หากทำไม่สำเร็จก็ทำให้แผนการที่จะมีประชามติในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง

หากรัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การนำของแพทองธาร ชินวัตรยังคงรอคอยโอกาสที่จะทำประชามติ ตามแนวทางที่วางไว้ว่า จะต้องทำประชามติถึงสามครั้ง ก็ชัดเจนว่า จะทำให้ “ไม่ทัน” ทางออกเดียวที่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้จริง คือ ไม่จำเป็นต้องรอการพิจารณาพ.ร.บ.ประชามติฯ ให้เสร็จ และไม่จำเป็นต้องทำประชามติถึงสามครั้ง แต่สามารถเริ่มต้นกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ชุดใหม่ด้วยอำนาจของรัฐสภาชุดนี้ได้เลย ซึ่งล่าสุดพรรคร่วมรัฐบาลหลายพรรคก็ประกาศแล้วว่า พร้อมจะสนับสนุนการตั้งสสร. ท่ีมาจากการเลือกตั้งของประชาชน

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage