โฆษณาสินค้า-บริการสายมู “เกินจริง” ต้องระวัง! เสี่ยงขัดกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค

ความเชื่อเรื่องโชคชะตา โหราศาสตร์ ไสยศาสตร์ เป็นสิ่งที่อยู่คู่สังคมมาอย่างสืบเนื่องยาวนาน แม้แต่ชนชั้นนำยังพึ่งพาอาศัยการตรวจดวงชะตาและฤกษ์พานาทีในการตัดสินใจก่อการสำคัญทางการเมืองอย่างการรัฐประหาร เมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงไป โหราศาสตร์และไสยศาสตร์ก็ไม่ได้หายไปจากสังคมไทย ซ้ำยังถูกดัดแปลงให้เข้ากับยุคสมัยดังจะเห็นได้จากสินค้าและบริการต่างๆ ที่มีจำหน่ายหรือให้บริการทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เช่น วอลล์เปเปอร์และกำไลเสริมดวง การดูดวงผ่านช่องทางออนไลน์ หรือการประกอบพิธีกรรมต่างๆ

แม้สินค้าและบริการแบบ “สายมู” จะเกี่ยวพันกับความเชื่อส่วนบุคคลโดยเฉพาะ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ผู้ขายหรือผู้ให้บริการจะสามารถ “โฆษณา” หรือ “ชักจูงใจ” ด้วยวิธีการหรือข้อความใดๆ ก็ได้ เพราะอาจเข้าข่ายขัดต่อกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค

กฎหมายคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคด้านโฆษณา ฝ่าฝืนกฎหมายโฆษณาเกินจริง มีโทษจำคุก-ปรับ

พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 (พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค) ประกันสิทธิผู้บริโภคหลักๆ สามด้าน 1) ด้านการโฆษณา 2) ด้านฉลาก (ของสินค้า) 3) ด้านสัญญา

ในส่วนของการโฆษณา กฎหมายวางหลักสำคัญที่คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคไว้ คือ การโฆษณาต้องไม่ใช้ข้อความที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรือข้อความที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมส่วนรวม ไม่ว่าข้อความดังกล่าวนั้นจะเป็นข้อความที่เกี่ยวกับแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ หรือลักษณะของสินค้าหรือบริการ ตลอดจนการส่งมอบ การจัดหา หรือการใช้สินค้าหรือบริการ (มาตรา 22)

แล้วข้อความประเภทใดที่เป็นข้อความที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรือข้อความที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมส่วนรวม กฎหมายกำหนดไว้ว่าได้แก่ข้อความดังต่อไปนี้

1.       ข้อความที่เป็นเท็จหรือเกินความจริง

2.       ข้อความที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการไม่ว่าจะกระทำโดยใช้หรืออ้างอิงรายงานทางวิชาการ สถิติ หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอันไม่เป็นความจริงหรือเกินความจริง หรือไม่ก็ตาม

3.       ข้อความที่เป็นการสนับสนุนโดยตรงหรือโดยอ้อมให้มีการกระทำผิดกฎหมายหรือศีลธรรม หรือนำไปสู่ความเสื่อมเสียในวัฒนธรรมของชาติ

4.       ข้อความที่จะทำให้เกิดความแตกแยกหรือเสื่อมเสียความสามัคคีในหมู่ประชาชน

5.       ข้อความอย่างอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

นอกจากนี้ คณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณา ยังได้ออกประกาศ เรื่อง แนวทางการใช้ข้อความโฆษณาที่มีลักษณะเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงอันยากแก่การพิสูจน์และแนวทางการพิสูจน์เพื่อแสดงความจริงเกี่ยวกับข้อความโฆษณา พ.ศ. 2565 กำหนดแนวทางการใช้ข้อความโฆษณา สำหรับกรณีที่มีลักษณะเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงอันยากแก่การพิสูจน์ โดยมีหลักเกณฑ์สำคัญ เช่น

  • การใช้ข้อความโฆษณาไม่ว่าจะทำผ่านสื่อโฆษณาใดก็ตามต้องมีข้อความเป็นภาษาไทยที่สามารถเห็น ฟัง หรืออ่านได้ชัดเจน ไม่ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ (ข้อ 3)
  • โฆษณาที่แสดงปริมาณ ปริมาตร ขนาด จำนวน ส่วนประกอบของสินค้าหรือบริการ จะต้องโฆษณาให้ตรงกับสินค้าหรือบริการที่ขายหรือให้บริการจริง (ข้อ 5)
  • ไม่ควรใช้ข้อความโฆษณาที่มีลักษณะยกเว้นหรือจำกัดความรับผิด (ข้อ 7)
  • ไม่ควรใช้ข้อความโฆษณาที่อาศัยความเชื่อส่วนบุคคลหรือข้อความอื่นใดที่มีความหมายในลักษณะทำนองเดียวกันเป็นสิ่งเชิญชวนหรือชักจูงใจให้ผู้บริโภคที่กำลังมีความทุกข์หรือต้องการที่พึ่งทางใจซื้อสินค้าหรือรับบริการ (ข้อ 8)

ท้ายประกาศดังกล่าว ได้ยกตัวอย่างข้อความโฆษณาที่อาจเข้าข่ายเป็นข้อความที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค สำหรับกรณีตามข้อ 8 เช่น “รับทำพิธีเรียกคนรักกลับคืนมา” “รับแก้เคราะห์ แก้กรรม” “เสริมบารมี เพิ่มยอดขาย เพิ่มเสน่ห์” “ใครเห็นใครรัก” หรือข้อความอื่นๆ ที่มีลักษณะในทำนองเดียวกัน

ข้อ 12 ของประกาศดังกล่าว กำหนดว่า ถ้าผู้ประกอบธุรกิจหรือผู้กระทำการโฆษณาไม่สามารถพิสูจน์ข้อความโฆษณาสินค้าหรือบริการเพื่อแสดงความจริงได้ หรือดำเนินการโฆษณาสินค้าหรือบริการที่ฝ่าฝืนประกาศฉบับนี้ ให้ถือว่าอาจเป็นข้อความโฆษณาที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรือเป็นข้อความที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมเป็นส่วนรวม

หมายความว่า หากผู้ประกอบธุรกิจหรือผู้กระทำการโฆษณาไม่สามารถพิสูจน์ข้อความโฆษณาสินค้าหรือบริการเพื่อแสดงความจริงได้ หรือดำเนินการโฆษณาสินค้าหรือบริการที่ฝ่าฝืนประกาศดังกล่าว ก็จะเป็นการโฆษณาที่อาจขัดต่อพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค มาตรา 22 ได้ ซึ่งกรณีที่คณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณาเห็นว่าการโฆษณานั้นขัดต่อมาตรา 22 คณะกรรมการมีอำนาจออกคำสั่งได้ดังต่อไปนี้ (มาตรา 27)

  • สั่งให้แก้ไขข้อความหรือวิธีการโฆษณา
  • สั่งห้ามใช้ข้อความบางอย่างที่ปรากฏในการโฆษณา
  • สั่งห้ามโฆษณาหรือห้ามใช้วิธีการนั้นในการโฆษณา
  • สั่งให้โฆษณาเพื่อแก้ไขความเข้าใจผิดของผู้บริโภคที่อาจเกิดขึ้น

นอกจากมาตรการข้างต้นผ่านการออกคำสั่งของคณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณาแล้ว พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค ยังกำหนดบทลงโทษทางอาญาสำหรับการโฆษณาด้วย มาตรา 47 กำหนดว่า ผู้ใดโดยเจตนาก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ ปริมาณ หรือสาระสำคัญประการอื่นอันเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ไม่ว่าจะเป็นของตนเองหรือผู้อื่น โฆษณาหรือใช้ฉลากที่มีข้อความอันเป็นเท็จหรือข้อความที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดเช่นว่านั้น มีโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากกระทำผิดซ้ำอีก มีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

โดยสรุป แม้การจำหน่ายสินค้าหรือการให้บริการทางด้านโหราศาสตร์ ความเชื่อ อาจเป็นเรื่องที่พ้นไปจากพรมแดนวิทยาศาสตร์ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าฝั่งผู้จำหน่ายหรือผู้ให้บริการจะใช้ถ้อยคำโฆษณาอย่างไรก็ได้ หากผู้จำหน่ายสินค้า ผู้ให้บริการ รวมถึงบุคคลใดๆ ก็ตาม เช่น อินฟลูเอนเซอร์ที่รีวิวสินค้าหรือบริการ เจตนาโฆษณาโดยใช้ข้อความที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการบริการ หรือข้อความที่ “เกินจริง” ก็เสี่ยงที่จะต้องรับผิดตามมาตรา 47 พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค

สำหรับผู้ที่พบเห็นการโฆษณาที่เกินจริง เข้าข่ายขัดกฎหมาย สามารถร้องเรียนไปยังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้หลายช่องทาง

  • ร้องเรียนด้วยตนเอง ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ สคบ. ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ฯ อาคารรัฐประศาสนภักดี ชั้น 1 (ฝั่งทางทิศใต้) ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10120
  • ส่งจดหมายไปที่ สคบ. ป.ณ. 99 กรุงเทพฯ 10300
  • สายด่วนร้องทุกข์โทร. 1166
  • ร้องเรียนผ่านเว็บไซต์ https://complaint.ocpb.go.th/

สคบ. ดันกฎกระทรวง คุมโฆษณาเครื่องราง ของขลัง สินค้า-บริการสายมู

ในพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค มาตรา 22 (5) ให้อำนาจฝ่ายบริหารสามารถออกกฎกระทรวง กำหนดข้อความอย่างอื่นที่เข้าข่ายเป็นข้อความที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรืออาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมส่วนรวม ซึ่งต้องห้ามใช้ในการโฆษณา

กลางปี 2566 สคบ. พยายามผลักดันร่างกฎกระทรวง กำหนดข้อความโฆษณาเครื่องราง ของขลัง หรือบริการที่เป็นการไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค หรือที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมเป็นส่วนรวม พ.ศ. …. โดยเปิดรับฟังความเห็นทางเว็บไซต์ของ สคบ. ในระหว่างวันที่ 23 กรกฎาคม 2566 – 23 สิงหาคม 2566 (ดูรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายได้ที่นี่)

โดยร่างกฎกระทรวงดังกล่าว กำหนดให้ข้อความดังต่อไปนี้ เป็นข้อความโฆษณาสินค้าหรือบริการที่เป็นการไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรืออาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมส่วนร่วม

  • ข้อความที่สื่อสารในลักษณะทำนองว่าสามารถป้องกันหรือบรรเทาอันตราย หรือทำให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บได้
  • ข้อความที่สื่อสารในลักษณะทำนองว่าทำให้ได้มาซึ่งคนรัก ของรัก หรือทำให้เกิดผลร้ายต่อบุคคลอื่นฝ่ายเดียว หรือทำให้เกิดผลดีแก่ตนเองฝ่ายเดียว หรือทำให้สามีหรือภรรยาหรือคนรักกลับมาคืนดีกัน
  • ข้อความที่สื่อสารในลักษณะทำนองว่าทำให้มีโชคลาภจากการพนัน หรือสามารถทำให้หลุดพ้นจากความยากจน หรือทำให้เกิดความร่ำรวยหรือโชคดี

หากร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้แล้ว ผู้ใดที่โฆษณาโดยใช้ข้อความในลักษณะข้างต้นตามกฎกระทรวง จะมีความผิดตามพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค มาตรา 48 ประกอบมาตรา 22 (5) มีโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากทำผิดต่อเนื่อง มีโทษปรับวันละไม่เกิน 10,000 บาท หรือไม่เกินสองเท่าของค่าใช้จ่ายที่ใช้สำหรับการโฆษณา ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม (มาตรา 51)

อย่างไรก็ดี จากการสืบค้นข้อมูลในราชกิจจานุเบกษา ณ วันที่ 4 ตุลาคม 2567 ไม่พบว่ากฎกระทรวงดังกล่าวได้ประกาศใช้แล้ว ต้องติดตามต่อไปว่ากฎกระทรวงจะประกาศใช้เมื่อใด และมีเนื้อหาอย่างไร

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage