ConforAll ยื่นหนังสือประธานรัฐสภา เร่งบรรจุวาระร่างรัฐธรรมนูญใหม่

วันนี้ (3 ตุลาคม 2567) เวลา 13.00 น. เครือข่ายภาคประชาชน ในนามกลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ หรือ Con for All เข้ายื่นหนังสือต่อ คัมภีร์ ดิษฐากรณ์ โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะตัวแทนประธานรัฐสภา และ วิสุทธิ์  ไชยณรุณ ประธานกรรมการคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) และ พริษฐ์ วัชรสินธุ กรรมการประสานงานพรรคการเมืองฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร (วิปฝ่ายค้าน) เพื่อเรียกร้องให้รัฐสภาเร่งดำเนินการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยเร็วที่สุด

ConforAll ยื่นหนังสือประธานรัฐสภา เร่งบรรจุวาระร่างรัฐธรรมนูญใหม่

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการ iLaw ระบุว่า การมายื่นหนังสือดังกล่าว สืบเนื่องจากอายุของสภาผู้แทนราษฎรและคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันเหลือเวลาดำรงตำแหน่งในวาระอีกเพียงสองปีแปดเดือนเท่านั้น หากคณะรัฐมนตรีและรัฐสภายังดำเนินการภายใต้มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 ที่ระบุให้จัดออกเสียงประชามติสามครั้งเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ก็มีความเป็นไปได้ที่การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่จะเสร็จไม่ทันอายุของสภาผู้แทนราษฎรที่จะสิ้นสุดลงในปี 2570

โดยข้อเรียกร้องของกลุ่ม Con for All คือ การเร่งรัดกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ให้เร็วที่สุด นั่นคือ การทำประชามติเท่าที่จำเป็น หรือ การทำประชามติเพียงสองครั้ง โดยมีขั้นตอนดังนี้

 1) ให้ประธานรัฐสภา ‘เร่งบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ’ เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง

 2) ให้สมาชิกรัฐสภาอันประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ‘เร่งพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ’ เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่โดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง

 3) ดำเนินการ ‘จัดออกเสียงประชามติครั้งที่หนึ่ง’ เพื่อรับรองการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่โดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง

 4) ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดให้มีการเลือกตั้ง สสร. เพื่อมาจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่

 5) ดำเนินการ ‘จัดออกเสียงประชามติครั้งที่สอง’ เพื่อให้ประชาชนให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้นโดย สสร.

ทั้งนี้ จากข้อเสนอดังกล่าว คณะรัฐมนตรีและรัฐสภาสามารถเริ่มต้นได้ทันที ด้วยการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่อีกครั้ง และร่วมกันเรียกร้องให้ประธานรัฐสภาบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. เข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมของรัฐสภาโดยเร็วที่สุด และนัดหมายสมาชิกรัฐสภาเพื่อพิจารณาให้เร็วที่สุด ก่อนจะเดินหน้าสู่การทำประชามติครั้งแรก ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และทำประชามติครั้งที่สอง หลังมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย สสร.

ภาคประชาชนยันทำประชามติสองครั้งเป็นหนทางเดียว

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการ iLaw กล่าวว่า “พวกเราเป็นเครือข่ายภาคประชาชนที่ผลักดันการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาโดยตลอด พวกเราเชื่อว่าฝ่ายค้านและรัฐบาลต้องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ณ ตอนนี้มีอุปสรรค ภาคประชาชนดูระยะเวลาแล้วก็เป็นห่วง เพราะรัฐบาลชุดนี้มีอายุเหลือเพียงสองปีแปดเดือน เราจึงกลัวว่าการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่จะไม่เสร็จไม่ทันในรัฐบาลชุดนี้ เราทราบมาตลอดว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยมีแนวทางที่ประกาศไว้ว่าจะทำประชามติสามครั้ง ซึ่งครั้งแรกยังไม่เริ่มซักทีเพราะ ส.ว. มีการแก้ไขร่างกฎหมายประชามติ ซึ่งแน่นอนแล้วว่าจะทำให้ไม่ทันภายในรัฐบาลชุดนี้ เราจึงขอเสนอว่าเราไม่ได้คัดค้านการทำประชามติครั้งแรก แต่ถ้าไทม์ไลน์เป็นเช่นนี้ ไม่ทำประชามติดีกว่าและคำวินิจฉัจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าทำสองครั้งก็พอ” ยิ่งชีพยืนยันข้อเรียกร้องของภาคประชาชนว่า “เราจึงควรเริ่มเปิดสภาบรรจุวาระแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ทำได้เลยวันนี้โดยไม่ต้องรอประชามติก่อน นี่เป็นหนทางเดียว”

สุภรณ์ มาลัยลอย มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) กล่าวว่า “รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นรัฐธรรมนูญที่บัญญัติเรื่องการผูกขาดอำนาจไว้อย่างชัดเจนโดยรวมศูนย์อำนาจและลดทอนการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเฉพาะในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่นำมาซึ่งหน่วยงานรัฐจะต้องวางกรอบให้สะท้อนกับยุทธศาสตร์ชาติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทรัพยากรธรรมชาติรวมถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมและรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง เราอยากเห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ภาคประชาชนเขียนเพื่อเพิ่มอำนาจของประชาชน ถ้ามีการแก้รายมาตราก็ต้องแก้การมีส่วนร่วมของประชาชนให้ไม่ผูกขาดอำนาจไว้ที่ส่วนกลางโดยต้องคำนึงถึงสิทธิของประชาชน”

แสงศิริ ตรีมรรคา เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อสวัสดิการของประชาชนว่า “เรารอแก้ทั้งฉบับไม่ได้ ถ้าแก้รายมาตราเราก็ยินดี ในฐานะเครือข่ายภาคประชาชน เราเชื่อว่ารัฐธรรมนูฉบับนี้ยังมีข้อบกพร่อง ส่งผลให้มีการเลือกปฏิบัติกับคนบางกลุ่มและเอื้อให้เกิดการทุจริตในการให้สวัสดิการกับประชาชน เรายังมีความหวังว่าการแก้รายมาตราจะคำนึงถึงสิทธิของประชาชนด้วย”

วันนอร์พร้อมให้ความร่วมมือ 1000%

ในขณะที่ภาครัฐบาล ฝ่ายค้าน และประธานรัฐสภามีผู้มารับหนังสือได้แก่ คัมภีร์ ดิษฐากรณ์ โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะตัวแทนประธานรัฐสภา, มุข สุไลมาน เลขาธิการประธานรัฐสภา, วิสุทธิ์  ไชยณรุณ ประธานกรรมการคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) และพริษฐ์ วัชรสินธุ กรรมการประสานงานพรรคการเมืองฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร (วิปฝ่ายค้าน) โดยกล่าวแถลงต่อสื่อ ดังนี้

คัมภีร์ ดิษฐากรณ์ โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะตัวแทนประธานรัฐสภา กล่าวว่า “ท่านประธานรัฐสภา (วัน มูฮัมหมัด นอร์มะทา) ท่านเห็นด้วยกับการที่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ท่านจะดำเนินการตามกระบวนการของรัฐสภาต่อไปให้เรียบร้อยตามนโยบายของพรรคการเมือง เพื่อให้ประชาชนได้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่”

มุข สุไลมาน เลขาธิการประธานรัฐสภา กล่าวว่า “ผมในฐานะเลขาของท่านประธานสภา ขอให้ความมั่นใจในการที่จะต้องรีบบรรจุให้เร็วที่สุดเพราะสิ่งเหล่านี้ทางประธานรัฐสภาก็ติดตามเรื่องอยู่และอยากให้ประสบความสำเร็จในสมัยสภาชุดนี้ เป็นสิ่งที่เราวาดหวังเพราะสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เป็นจุดที่เป็นความหวังของพี่น้องประชาชนที่ต้องการความเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่ดีกว่า” มุขย้ำทิ้งท้ายว่า “ทางประธานรัฐสภายินดีให้ความร่วมมือ 1000%”

ฝ่ายค้าน-รัฐบาลเห็นตรงกันต้องแก้รายมาตราและต้องมี สสร.

วิสุทธิ์ ไชยณรุณ วิปฝ่ายรัฐบาล กล่าวว่า “ขอบคุณพี่น้องประชาชนวันนี้ที่มายื่นหนังสือเพื่อให้เราเร่งรัดในการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่หลายพรรคการเมืองให้สัญญาประชาคมไว้ ทั้งจะให้แก้ไขทั้งฉบับและรายมาตรา ซึ่งความจริงเนี่ยหลายท่านถ้าได้ติดตามเรื่องนี้เชื่อว่าท่านติดตามมา วันนี้ก็เป็นครั้งแรก ๆ ที่ฝ่ายค้าน-รัฐบาล เห็นในทิศทางเดียวกันเหมือนที่ท่านเสนอทั้งรายมาตรา ทั้งการตั้ง สสร.ทุกอย่าง ทีนี้ต้องบอกว่าในบางครั้งมันไม่ได้ดั่งใจที่เราจะทำหลายเรื่องหลายอย่าง แต่ว่ากฎหมายประชามติท่านก็ทราบ สว.ก็จะส่งกลับมาที่สภา เราก็ต้องตั้งกรรมาธิการร่วมกันสองสภาอีกครั้งหนึ่งเพื่อพิจารณาว่าจะเอาแบบไหนกันแน่ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เราพยายามทำแต่ว่าในขั้นตอนในความจำเป็นที่เราทราบดีมันก็เป็นปัญหาอุปสรรคหลายด้านหลายอย่าง แต่บางครั้งเหมือนฟังๆ ก็จะท้อ บางทีเจอปัญหาเราเจอไป วันนี้ท่านมาถือว่าเป็นการให้กำลังใจพวกเราในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือพรรคเพื่อไทยวันนี้ก็มาฟังด้วยเช่นกัน ครั้งนี้ก็เป็นครั้งแรกที่ต้องบอกว่าเป็นกฎหมายที่มีความคิดเห็นตรงกัน”

พริษฐ์ วัชรสินธุ วิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า “ขอเป็นตัวแทนของพรรคฝ่ายค้าน โดยเฉพาะพรรคประชาชน ในการให้คำมั่นสัญญากับพี่น้องประชาชนที่ผลักดันการแก้ปัญหาและหาทางออกเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เข้าใจว่ามาถึงวันนี้ก็ยังไม่รับคำตอบที่ชัดเจนว่าคณะรัฐมนตรีเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับคำถามดังกล่าว คงต้องฝากทางประธานวิปรัฐบาล และพรรครัฐบาลในการประสานต่อเพื่อให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้นด้วย เมื่อมองในภาพรวม เราเห็นว่าจุดยืนของพรรคประชาชนในฐานะแกนนำพรรคฝ่ายค้าน ชัดเจนมาโดยตลอดว่า เราเห็นว่ารัฐธรรมนูญ ปี 2560 มีปัญหา ทั้งที่มา กระบวนการ และเนื้อหา แล้วเราก็เห็นตรงกับที่หลายท่านพูดสักครู่ว่า การแก้ปัญหาดังกล่าวอาจจะจำเป็นต้องเดินเส้นทางสองเส้นทางคู่ขนาน

หนึ่ง ก็คือการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยโดยเร็วที่สุด ซึ่งเราก็เห็นตรงกันว่ารัฐธรรมนูญที่จะมีความชอบธรรมที่สุดก็ควรจะถูกจัดทำโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้ง 100% แต่ในเมื่อกระบวนการดังกล่าวต้องอาศัยระยะเวลา หากในระยะเวลาข้างหน้านี้ สองสภายังคงเห็นต่างกันอยู่ ก็มีความเป็นไปได้ว่ากระบวนการแก้ไขกฎหมายประชามติคงไม่เสร็จทันตามกรอบเวลาที่รัฐบาลคาดการณ์ไว้ ทำให้ประชามติครั้งแรกอาจไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2568 และหากคำนวนต่อไปเห็นตรงกับข้อกังวลของพี่น้องประชาชนว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่อาจจะไม่สามารถบังคับใช้ทันก่อนการเลือกตั้งครั้งถัดไปตามที่รัฐบาลได้สัญญาไว้ 

ดังนั้นในส่วนของเส้นทางที่หนึ่งในการจัดทำฉบับใหม่ ในมุมมองของผมและพรรคประชาชนเรามองว่าหนทางที่ดูจะดีที่สุดในการทำให้เราสามารถมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่บังคับใช้ทันต่อการเลือกตั้งปี 2570 ได้ ก็คือการพยายามจะลดจำนวนประชามติจากสามครั้งเหลือสองครั้ง ซึ่งเรายืนยันว่าการทำประชามติสองครั้งนั้นสอดคล้องกับกฎหมาย แล้วก็สอดคล้องกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 

อุปสรรคที่ผ่านมาที่ทำให้ไม่สามารถลดจากสามครั้งเหลือสองครั้งได้ ก็คือประธานรัฐสภาไม่บรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับ สสร. ที่ทางพรรคเพื่อไทยแล้วก็พรรคก้าวไกล ณ เวลานั้นยื่นเข้าไปเมื่อตอนต้นปี 2567 เพราะทางประธานรัฐสภามีความกังวลว่าการบรรจุร่างดังกล่าวจะไปขัดกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่อย่างที่ผมได้แสดงความเห็นในที่ประชุมสามฝ่าย รวมไปถึงการอภิปรายในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเมื่อตอนต้นปี ผมก็ได้ชี้ให้เห็นแล้วว่า ความจริงหากเราดูทั้งคำวินิจฉัยฉบับเต็มของศาลรัฐธรรมนูญ รวมไปถึงดูคำวำนิจฉัยส่วนตนของตุลาการเก้าคน ก็จะเห็นว่าตุลาการส่วนใหญ่มองว่าการบรรจุร่างนั้นไม่ได้ขัดกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ การทำประชามติสองครั้งนั้นก็เพียงพอในเชิงของกฎหมาย 

ชี้แจงว่านี่เป็นจุดยืนของพรรคประชาชน เพียงแต่ว่าอำนาจในการตัดสินใจตอนนี้อยู่ที่ทางประธานรัฐสภา ดังนั้นต้องขอความร่วมมือ แล้วก็ความเห็นจากประธานรัฐสภาด้วย จะมีการทบทวนการตัดสินใจ จากการที่ไม่บรรจุร่างหรือไม่ หากมึการทบทวนดังกล่าว ก็จะทำให้ความต้องการที่จะมีฉบับใหม่ใช้ทันก่อนปี 2570 มีโอกาสจะเป็นไปได้จริงมากขึ้น 

ในส่วนของเส้นทางที่สอง เรื่องของการแก้ไขรายมาตรา ตามที่ฝ่ายค้านได้สะท้อนมาว่า บางประเด็นอาจจะต้องมีการรื้อทั้งหมวด หรือว่าการเขียนใหม่ แต่บางประเด็นก็สามารถแก้ไขรายมาตราและสามารถปลดล็อคได้ ทางพรรคประชาชนก็เลยมีการยื่นร่างแก้ไขรายมาตราเข้าไปประมาณหกถึงเจ็ดแพ็คเกจ เพื่อพยายามจะแก้ไขบางมาตราเท่าที่จะแก้ไขไปได้ก่อน ซึ่งหลายแพ็กเกจก็ครอบคลุมประเด็นที่หลายท่านได้แสดงไว้ ไม่ว่าจะเป็นการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างรัดกุมขึ้น หรือไม่ว่าจะเป็นการปลดล็อคเรื่องของสวัสดิการการเข้าถึงบริการสาธารณะของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการพยายามจะทำให้ระบบการเมืองมีเสถียรภาพ มีความสมดุลมากขึ้น รวมไปถึงการยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ ฉบับ คสช.

และคืนอำนาจในการกำหนดนโยบายมาให้กับพี่น้องประชาชนผ่านคูหาเลือกตั้งและรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ดังนั้นยืนยันเจตนารมณ์ของพรรคประชาชนในการเดินตามเส้นทางคู่ขนานสองเส้นทางนี้ เพื่อที่เราจะสามารถหาทางออกเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญได้ ผมขอทิ้งท้ายว่าปัญหาของประเทศเรา มีหลากหลายปัญหา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาน้ำท่วม ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจ หรือแม้กระทั่งโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นเมื่อวาน เรายืนยันว่าทุกปัญหานั้น ล้วนเป็นปัญหาที่ต้องดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วน 

เรื่องของรัฐธรรมนูญก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่เราต้องเร่งแก้ไขด้วยเช่นกัน ผมเชื่อว่ารัฐบาลและรัฐสภาแห่งนี้มีศักยภาพเพียงพอในการเดินหน้าแก้ไขหลาย ๆ ปัญหาไปพร้อม ๆ กันได้ และความจริงแล้ว เรื่องของปัญหาปากท้อง ปัญหาเศรษฐกิจนั้นก็มีความสัมพันธ์กันกับระบบการเมืองที่ถูกออกแบบโดยรัฐธรรมนูญ

ยิ่งเรามีระบบการเมืองที่มีเสถียรภาพขึ้นเท่าไร มีระบบการเมืองที่มีการตรวจสอบถ่วงดุล มีความโปร่งใสมากขึ้นเท่าไร มีระบบการเมืองที่มีความยึดโยงตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนมากขึ้นเท่าไร ผมเชื่อว่ารัฐในองค์รวมก็จะสามารถแก้ไขทุกปัญหาของพี่น้องประชาชนได้อย่างตรงจุดมากขึ้น

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage