24 กันยายน 2563 ที่ประชุมรัฐสภามีมติเสียงข้างมากให้ตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อพิจารณาญัตติแก้รัฐธรรมนูญที่พรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้านเป็นผู้เสนอก่อนลงมติรับหลักการ (วาระแรก) โดยคาดว่าต้องใช้กรอบเวลาพิจารณาประมาณ 30 วัน
โดยแต่เดิมวันดังกล่าวจะเป็นวันลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีทั้งสิ้น 6 ฉบับ แบ่งเป็น
- ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับรัฐบาล 1 ฉบับ ที่เสนอว่า ให้แก้ไขมาตรา 256 เพื่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) จำนวน 200 คน โดยให้ 150 คนมาจากการเลือกตั้ง และอีก 50 คนมาจากการสรรหาคัดเลือกโดยรัฐสภา นักเรียน-นักศึกษา และที่ประชุมอธิการบดี ตามลำดับ
- ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับพรรคร่วมฝ่ายค้าน 5 ฉบับ ได้แก่
- แก้ไขมาตรา 256 เพื่อตั้ง ส.ส.ร. เสนอจำนวน 200 คน ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน
- แก้ไขมาตรา 159 และยกเลิกมาตรา 272 เพื่อตัดสิทธิ ส.ว. ในการร่วมลงมติเลือกนายกฯ
- ยกเลิกมาตรา 270, 271 เพื่อตัดอำนาจ ส.ว. ในการติดตามแผนปฏิรูปประเทศ
- ยกเลิกมาตรา 279 เพื่อยกเลิกการรับรองความชอบด้วยกฎหมายของบรรดาประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
- แก้ไขเพิ่มเติมระบบเลือกตั้ง โดยให้กลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ให้ประชาชนมีสิทธิลงคะแนนให้ทั้ง ส.ส.เขต และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ
แต่ทว่า ก่อนลงมติเห็นชอบไม่ชอบกับหลักการ ไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคพลังประชารัฐ ได้เสนอญัตติให้รัฐสภาตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อพิจารณาญัตติแก้รัฐธรรมนูญก่อนจะลงมติรับหลักการตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 121 วรรค 3 ซึ่งระบุว่า “เพื่อประโยชน์แก่การวินิจฉัยดังกล่าวในวรรคหนึ่ง ที่ประชุมรัฐสภาจะตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาก่อนรับหลักการก็ได้”
หลังการเสนอญัตติดังกล่าว สุทิน คลังแสง ส.ส.พรรคเพื่อไทย ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว เพราะถ้าจะนำไปศึกษา 1 เดือน ก็ไม่มีหลักประกันว่ารัฐสภาจะรับหลักการร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอไป และหากเลื่อนไปลงมติสมัยหน้าแล้วญัตติตกไป กว่าพวกตนจะเสนอใหม่ได้ต้องรออีก 1 ปี และจะทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของภาคประชาชนที่รอเข้าสภาในสมัยหน้าจะตกไปด้วยเพราะมีเนื้อหาเหมือนกัน
อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พบว่า ตามข้อบังคับที่ 41 ระบุว่า “ญัตติใดตกไปแล้ว ห้ามนำญัตติซึ่งมีหลักการเช่นเดียวกันขึ้นเสนออีกในสมัยประชุมเดียวกัน เว้นแต่ญัตติที่ยังมิได้มีการลงมติหรือญัตติที่ประธานรัฐสภาจะอนุญาต ในเมื่อพิจารณาเห็นว่าเหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป” ดังนั้น การลงมติเพื่อตั้ง กมธ.ศึกษาญัติติก่อนการลงมติรับหลักการจึงไม่ได้เป็นผลให้ร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนตกไปโดยอัตโนมัติ
ในทางกลับกัน หากจะมีการพิจารณาญัตติแก้รัฐธรรมนูญที่เสนอโดยพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านในการประชุมรัฐสภาสมัยหน้า ก็สามารถที่จะนำร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยประชาชนเข้ามาพิจารณาพร้อมกันได้ ซึ่งเป็นไปตามข้อบังคับการประชุมข้อที่ 33 (1) ที่ระบุว่า ที่ประชุมรัฐสภาสามารถเสนอญัตติอื่นในญัตติที่กำลังปรึกษาหรือพิจารณาอยู่ได้ ถ้าเป็นการขอให้รวมระเบียบวาระการประชุมรัฐสภาที่เป็นเรื่องเดียวกัน ทำนองเดียวกันหรือเกี่ยวเนื่องกันเพื่อพิจารณาพร้อมกัน
ดังนั้น หากสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรภายใต้กำกับของ ‘ชวน หลีกภัย’ ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร สามารถเร่งรัดตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารการเข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญโดยประชาชนได้ตามกำหนด 45 วัน (ตาม พ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย) ร่างรัฐธรรมนูญของประชาชนก็จะได้รับการพิจารณาพร้อมกับร่างรัฐธรรมนูญของพรรครัฐบาล-ฝ่ายค้าน
นอกจากนี้ ตามข้อบังคับที่ 41 ยังให้อำนาจประธานรัฐสภาอนุญาตให้นำญัตติที่มีหลักการเช่นเดียวกันที่ตกไปแล้วมาพิจารณาได้ ในเมื่อพิจารณาเห็นว่าเหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป หรือพูดง่ายๆ ว่า ประธานรัฐสภาคือหัวใจในการพิทักษ์สิทธิและเสียงของประชาชน
RELATED POSTS
No related posts