19 กันยายน 2567 เวลา 16.00 – 20.00 น. เครือข่ายประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ (Conforall) จัดกิจกรรม ที่ห้องประชุมสัมมนา B1-2 อาคารรัฐสภา (เกียกกาย) โดยภายในงานมีวงเสวนาในหัวข้อ “รัฐธรรมนูญใหม่ไปกันต่อ สสร.เลือกตั้ง” โดยมีทั้งนักเคลื่อนไหวและนักวิชาการมาร่วมแลกเปลี่ยนปัญหาของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 และความจำเป็นในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่โดยประชาชน
สิทธิเสรีภาพใต้ความมั่นคง ปัญหาฝังรากในรัฐธรรมนูญ 60
อันเจลโลว์ ศตายุ สาธร ตัวแทนจากกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม กล่าวถึงปัญหาของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ว่า มีการใช้ถ้อยคำที่ไม่ชัดเจนและเปิดช่องให้ศาลตีความอย่างผิดเพี้ยน ได้แก่ คำว่า “ความมั่นคง” และ คำว่า “เคารพสักการะ”
คำว่า “ความมั่นคง” ปรากฏอยู่ในมาตรา 25 วรรคหนึ่ง ซึ่งระบุว่า ประชาชนมีสิทธิและเสรีภาพ และสามารถใช้เสรีภาพได้ตราบเท่าที่ไม่ไประทบกับารความมั่นคงของรัฐ สิทธิของคนอื่น หรือศีลธรรมอันดี จะเห็นได้ว่า ความมั่นคงของรัฐกลายเป็นหตุผลที่รัฐอ้างเพื่อออกหรือใช้กฎหมายที่มีเนื้อหาจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
ปัญหาของคำว่า ความมั่นคงของรัฐ คือ เป็นคำที่กว้างมาก และไม่ชัดเจน สามารถรวมหลายอย่าง จนไม่สามารถเห็นกฎเกณฑ์หรือขอบเขตของคำนี้อย่างชัดเจน ประชาชนก็ไม่สามารถเข้าใจได้ถึงขอบเขตการใช้สิทธิและหน้าที่ของตนเองภายใต้คำว่าความมั่นคงนี้
“ตุลาการหรือนักกฎหมายเองก็เข้าใจถึงปัญหาถึงความไม่ชัดเจนของคำว่า “ความมั่นคงของรัฐ” น่าตลกดีว่า แม้คำนี้จะมีปัญหามากแค่ไหน แต่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญ 60 อย่างคุณมีชัย ฤชุพันธุ์ ก็ยังเลือกที่จะเพิ่มคำนี้เข้ามา แม้ว่าก่อนรัฐธรรมนูญ 60 ในหมวดที่เกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพยังไม่มีคำว่าความมั่นคงของรัฐ” อันเจลโลว์กล่าว
อันเจลโลว์ กล่าวว่า ตุลาการไทยมองว่า ความมั่นคงของรัฐสำคัญกว่าสิทธิเสรีภาพของประชาชน ในคดีอาญา ผู้ถูกกล่าวหาในคดีความมั่นคงซึ่งส่วนมากเป็นผู้ชุมนุมและผู้แสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไม่สามารถต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ ไม่ได้รับการประกันตัว และไม่สามารถเบิกพยานหลักฐานมาต่อสู้คดี เพียงเพราะอาจเป็นพยานที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ เช่นเดียวกับ ศาลรัฐธรรมนูญที่มักยกคำว่า “ความมั่นคงของรัฐ” ขึ้นอ้างในคำวินิจฉัยเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการใช้กฎหมายเพื่อปราบปรามผู้มีความเห็นต่างทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นมาตรา 112 หรือใช้เพื่อให้ประชาชนหยุดชุมนุมหรือหยุดแสดงความคิดเห็นต่อในหลากหลายประเด็น ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ กระทั่งการสั่งยุบพรรคการเมือง
“ศาลใช้คำว่า “ความมั่นคงของรัฐ” ทำให้ประชาชนไม่สามารถต่อสู้คดีของตัวเองได้ นี่คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน”
นอกจากคำว่า “ความมั่นคงของรัฐ” อีกหนึ่งคำที่ตัวแทนจากกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมเห็นว่า เป็นปัญหา คือ คำว่า “เคารพสักการะ ซึ่งปรากฏอยู่ในมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ โดยมาตรานี้มักจะถูกอ้างโดยนักกฎหมายและนักการเมืองฝ่ายอนุรักษ์นิยมว่า เป็นเหตุผลที่ทำให้จำเป็นต้องคงมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาเอาไว้
แต่ความจริงแล้วหาก คำอธิบายกฎหมายรัฐธรรมนูญได้อธิบายความหมายของ “เคารพสักการะ” ในมาตรา 6 ไว้ว่า กษัตริย์ต้องเป็นกลางทางการเมือง ไม่ทำอะไรที่อาจเกิดถูกพิพากษ์วิจารณ์ได้ เช่น การถืออำนาจทางการเมือง ดังนั้นกษัตริย์จะต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการในทุกการกระทำ และเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมกษัตริย์ไม่ต้องรับผิดทางอาญา และไม่สามารถถูกฟ้องร้องทางอาญาได้ หรือที่เรียกว่า หลักการ “The king can do no wrong because the king can do nothing”
อันเจลโลว์ มองว่ามาตรา 6 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดผลในตัวเองไว้อยู่แล้ว ไม่ใช่บทบัญญัติที่นำไปอธิบายเพื่อก่อให้เกิดผลอย่างอื่น แต่การตีความในแบบหลังถูกใช้มาโดยตลอดและนำมาสู่การละเมิดสิทธิของประชาชนอย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็นการพิพากษาคดีมาตรา 112 การตัดสิทธิทางการเมืองคุณช่อ พรรณิการ์ รวมถึงการยุบพรรคก้าวไกล
อันเจลโลว์ กล่าวว่า หากจะมีการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ สิ่งที่ควรทำคือการเอาถ้อยคำที่เปิดช่องให้ศาลใช้ดุลยพินิจอย่างกว้างขวางออกไป โดยกำหนดว่าสิทธิเสรีภาพของประชาชนละเมิดไม่ได้ และเอาเงื่อนไขในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพ โดยเฉพาะ “ความมั่นคงของรัฐ” ออกไป แต่การจำกัดสิทธิและเสรีภาพทำได้เพียงเหตุผลเดียว คือ เพื่อพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพของผู้อื่นเท่านั้น
DNA แบบรัฐสงเคราะห์ยังฝักราก ต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่
นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair) กล่าวว่า สิทธิชุมชนว่าเป็นหนึ่งในสิทธิที่ควรเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่กลับถูกพรากไปจากประชาชน จากมุมของคนทำงานด้านรัฐสวัสดิการ มีประเด็นอย่างน้อย 4 ประเด็นที่จะชี้ให้เห็นสถานการณ์ที่ปัญหาที่เชื่อมโยงกับรัฐธรรมนูญ ได้แก่
ประเด็นแรก คือ ความเหลื่อมล้ำ การที่รัฐธรรมนูญออกแบบมาให้คน 1 เปอร์เซ็นต์ หรืออภิสิทธิ์ชนสร้างกติกาของประเทศและแนวทางพัฒนาประเทศ ทำให้ความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้นได้ง่าย สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนมากคือการที่คน 40 ครอบครัว ครอบครองทรัพย์สินมากถึงเกือบ 30 เปอร์เซ็นต์องประเทศ
ประเด็นที่สอง คือความเปราะบาง ตอนนี้ประเทศไทยมีเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาจำนวน 1 ล้านคน และมีเด็กที่ไม่ได้รับเงินอุดหนุนเด็กซึ่งเป็นโครงการของรัฐกว่าอีก 1 ล้านคนเหมือนกัน แม้ว่าจะมีเด็ก 0-6 ปี ได้เงินอุดหนุนจากรัฐ 600 บาท แต่สิ่งนี้ก็ยังไม่ใช่สวัสดิการแบบถ้วนหน้า รวมไปถึงแรงงานนอกระบบที่เข้าไม่ถึงระบบประกันสังคม และผู้สูงอายุกับคนพิการ ที่ควรจะได้รับเบี้ยยังชีพถ้วนหน้าและเหมาะสม แต่เบี้ยยังชีพของพวกเขากลับไม่ได้ถูกปรับขึ้นมาตั้งแต่ปี 2554
ประเด็นที่สาม คือ ปัญหางบประมาณสวัสดิการสังคมที่ไม่เพียงพอ เช่น ในปีงบประมาณ 2568 เราคาดหวังว่ารัฐบาลที่พูดว่าเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยเดิม เขาจะทำงบประมาณปี 68 ให้สอดคล้องกับความต้องการของประขาชน แต่ไม่เลย สวัสดิการภาครัฐ 5 แสน 5 หมื่นล้าน สำหรับเฉพาะประชาชนที่เป็นข้าราชการ 5 ล้านคน แต่ในขณะที่ 5 แสนล้านที่เหลือ เป็นสวัสดิการของประชาชน 67 ล้านคน นี่คือความไม่เท่ากัน
ประเด็นสุดท้าย คือ รัฐธรรมนูญ 60 มี DNA ของระบบสงเคราะห์ เช่น เรื่องของสาธารณสุข คุณต้องเป็นผู้ยากไร้จึงจะได้รักษาฟรี โดยเฉพาะในรัฐธรรมนญ 60 จากระบบสวัสดิการทั่วหน้ามันวนกลับมาให้สังคมต้องตั้งคำถามอีกครั้งว่า สวัสดิการทั่วหน้าเป็นอย่างไร และคำตอบกลับเป็น ให้คนจนแล้วกัน ซึ่งสิ่งนี้เป็นผลจากรัฐธรรมนูญที่มันออกแบบมาอย่างนั้น
นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ เสนอว่า การที่เราพูดถึงรัฐสวัสดิการ ไม่ได้หมายถึงแค่นโยบายใดนโยบายหนึ่งโดยเฉพาะ แต่มันคือการพูดถึงการจัดความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างรัฐและประชาชน รัฐต้องดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยนำเอาทรัพยากร คือภาษีของประชาชนมาจัดสรรและแปลงไปสู่สวัสดิการประชาชน
หากเราต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เราควรดึง DNA ระบบสงเคราะห์จากรัฐธรรมนูญที่มีอยู่ทั้งหมดออก เช่น “ยากไร้” “ด้อยโอกาส” โดยเฉพาะในรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เพิ่มคำว่า “ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์” อยู่ในมาตรา 54 รวมไปถึงมาตราอื่นๆ ที่มีคำขยายว่าต้องเป็น “ผู้ยากไร้” รัฐจึงจะให้ความช่วยเหลือ รวมไปถึงการเปลี่ยนสิทธิของประชาชน ให้กลายมาเป็นหน้าที่ของรัฐ
นิติรัตน์ กล่าวว่า เราควรลบล้างสิ่งเหล่านี้ รัฐสวัสดิการจึงจะเกิดขึ้นได้ ซึ่งส่วนนี้เองที่ประชาชนต้องร่วมกัน ไม่ใช่แค่การสร้างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่รวมไปถึงการต่อสู้ที่จะต้องเกิดขึ้นในระดับชีวิตประจำวันเพื่อให้เกิดฉันทมาติร่วมของสังคม หากฉันทามตินี้มีหลายความเห็น แต่หนึ่งในฉันทามติร่วมก็ควรจะเป็นเรื่องรัฐสวัสดิการ
“เรามีเวลาเหลืออยู่เพียงน้อยนิด หากต้องการรัฐธรรมนูญใหม่ในปี 2570 เราต้องช่วยกัน” นิติรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย
ทางออกสังคมไทย ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย
เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว จากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ทั้งเนื้อหาและกระบวนการร่างของรัฐธรรมนูญ 60 เป็นการกระทำความรุนแรงต่อประชาชนอย่างยิ่ง ผ่านการก่อให้เกิดโครงสร้างอำนาจที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
ความรุนแรงอย่างแรกที่เกิดภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นความรุนแรงที่สำคัญที่สุดในทางการเมืองตลอด 20-30 ปีที่ผ่านมา เป็นการไม่ให้สิทธิแก่ประชาชนกำหนดหรือเลือกสิ่งที่จะส่งผลต่อชีวิตของตนเองได้ ตั้งแต่กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง กระบวนการทำประชามติที่ไม่ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนได้ถกเถียงเรื่องเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ การมีคำถามพ่วงในกระบวนการลงประชามติที่ผูกมัดและจำกัดสิทธิและปากเสียของประชาชน
ดร.เบญจรัตน์ กล่าวว่า ความรุนแรงในรัฐธรรมนูญ 60 ถูกซุกซ่อนเอาไว้เป็นคำเล็กๆ แต่กลับทรงพลังมากพอที่จะทำให้เราเห็นวิธีคิดหรือมุมมองที่รัฐมีต่อประชาชน อย่างเช่น หน้าที่ของรัฐในด้านการศึกษา มาตรา 54 เขียนไว้ว่า “ต้องมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ” ดยคำว่า “ภูมิใจในชาติ” มักพบได้หลายที่ในรัฐธรรมนูญ 2560 จนน่าคิดว่า ความหมายของคำๆ นี้คืออะไร และแสดงให้เห็นว่ารัฐพยายามกำหนดว่าประชาชนจะต้องมีลักษณะอย่างไร หรือการกำหนดให้สามารถใช้กำลังทหารเพื่อการพัฒนาประเทศในมาตรา 52 ที่เปิดช่องว่างให้ทหารแสวงหาประโยชน์จากภาคธุรกิจ ทำให้สามารถมีบทบาทในการกำหนดนโยบายต่างๆ ได้มากมาย
เบญจรัตน์ กล่าวต่ออีกว่า ความรุนแรงอีกลักษณะหนึ่งปรากฏในรูปแบบของการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับรัฐ ซึ่งสะท้อนผ่านการปรับให้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนกลายไปเป็นหน้าที่และแนวนโยบายพื้นฐานของรัฐ ในแง่หนึ่งเหมือนจะดี แต่ในรายละเอียดกลายเป็นว่ารัฐจะต้องให้ความช่วยเหลือจากผู้ยากไร้เท่านั้น แทนที่จะเป็นสิทธิที่ทุกคนควรจะได้รับทั่วหน้า ไม่ใช่แค่ในเชิงรัฐสวัสดิการเท่านั้น แต่ว่าเป็นสิทธิกระบวนการยุติธรรมถูกลดทอนและถูกใช้คำพูดลดทอนที่ควรการประกันขั้นพื้นฐาน รวมไปถึงการปรับโครงสร้างของรัฐให้เกิดการสืบทอดอำนาจได้ โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และวุฒิสภา
ดร.เบญจรัตน์ มองว่า วิธีการแก้ปัญหาเรื่องความรุนแรงในรัฐธรรมนูญ จะต้องไปไกลกว่าตัวบทกฎหมาย เราจะต้องวางระบบกฎเกณฑ์และฉันทามติของสังคม พร้อมกันกับการย้ายข้ามจากสถานการณ์ของการละเมิดสิทธิมนุษยชนไปสู่สังคมประชาธิปไตย
“เราต้องการเคลื่อนจากจุดที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงไปสู่สังคมที่เป็นประชาธิปไตย เราจะเคลื่อนย้ายตรงส่วนนี้ได้อย่างไร คิดว่าการพูดเรื่องรัฐธรรมนูญควรเริ่มจากโจทย์ตรงนี้ไม่ใช่เริ่มจากตัวบทกฎหมาย ต้องเริ่มที่ว่าเราจะสร้างระบอบรัฐธรรมนูญที่ดีได้อย่างไร”
สสร. เลือกตั้ง 100% – สร้างกติกาโดยประชาชนอย่างเสมอหน้า
รศ.อนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์ประจำสาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และที่ปรึกษาคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) พยายามชี้ให้เห็นถึงความหักพังที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ว่ามันได้เกิดขึ้นมาก่อนรัฐธรรมนูญ 60 อยู่แล้ว แต่ที่น่าสนใจคือรัฐธรรมนูญ 60 เองก็เป็นส่วนหนึ่งของกลวิธีที่ชนชั้นนำเลือกใช้เพื่อที่จะแสดงว่า ชนชั้นนำพร้อมแตกหักกับพลังที่ปรากฏตัวออกมาท้าทายพวกเขา
รศ.อนุสรณ์ กล่าวว่า เมื่อครั้งมีการร่างรัฐธรรมนูญ 2540 มันถูกออกแบบมาท่ามกลางความสมานฉันท์กันระหว่างภาคประชาชน สังคม และสถาบัน ตัวรัฐธรรมนูญจึงให้สิทธิ อำนาจ บทบาท หน้าที่ ทั้งในส่วนของภาคประชาชน และกลไกเครื่องมือชนชั้นนำในช่วงเวลานั้น แม้ว่าฟากหนึ่ง รัฐธรรมนูญ 2540 จะถูกขนานนามว่าเป็น “รัฐธรรมนูญประชาชน” แต่อีกฟาก รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ปักหมุด “ราชประชาธิปไตย” รวมทั้งสิ่งที่เรียกว่า “ประชาธิปไตยแบบไทย” ด้วย
อย่างไรก็ดี หลังมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2540 กลุ่มชนชั้นนำกลับรู้สึกถึงความผันผวนเมื่อมีผู้ต่อต้านท้าทาย ทำให้พวกเขามีความคิดว่า แค่มีรัฐธรรมนูญอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ แม้ว่ารัฐธรรมนูญ 2550 ที่ร่างขึ้นมาหลังจากนั้นก็ไม่ประสบความสำเร็จ จนกระทั่งหลังรัฐประหาร 2557 ที่มีการร่างรัฐธรรมนูญอีกครั้ง เราก็พบกับประโยคที่ว่า “เขาอยากอยู่ยาว” และ “ไม่ต้องการให้เสียของ”
สิ่งที่เกิดขึ้นนี้แสดงให้เห็นว่า ชนชั้นนำเลือกที่จะใช้วิธีแตกหักกับผู้ท้าทายในช่วงการจัดทำรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงสองประการ
ประการแรก คือ การกำกับควบคุมคนที่เข้ามาสู่ระบบการเลือกตั้งให้มาอยู่ในร่องในรอย หรือมาอยู่ในที่ที่ชนชั้นนำต้องการ ซึ่งมองเห็นได้ผ่าน สว. เราจะเห็นได้ว่า วิธีการได้มาซึ่ง สว. จากปี 50 ที่เป็นสรรหากึ่งหนึ่ง เลือกตั้งกึ่งหนึ่ง แต่ในกรณีของ 60 กลับกลายเป็นการแสดงให้เห็นว่าชนชั้นนำต้องการมีส่วนเข้าไปควบคุมโดยตรง
ประการที่สอง หลังมีรอยปริแตกระหว่างมวลชนกับชนชั้นนำในช่วงปี 2548 – 2549 ที่มีการเคลื่อนไหวท้าทายชนชั้นนำ ทำให้เกิดความพยายาม “ตัด” สิทธิเสรีภาพกว่า 30 มาตราที่เคยมีในรัฐธรรมนุญ 40 ให้เหลือเพียงไม่กี่มาตราในรัฐธรรมนูญ 50
รศ. อนุสรณ์ อุณโณ เห็นว่า สังคมไทยอาจจะต้องคิดให้พ้นไปจากฉันทามติที่เคยถูกชนชั้นนำบงการ ให้กลายมาเป็นการสร้างกติกาในการอยู่ร่วมกันโดยการต่อรองอย่างเสมอหน้าของประชาชน
รศ. อนุสรณ์ อุณโณ เสนอว่า หากเรามองย้อนกลับไปตอนที่การร่างรัฐธรรมนูญ 2540 มีการตั้ง สสร. (สภาร่างรัฐธรรมนูญ) ขึ้นมา แต่ สสร. ในช่วงเวลานั้น ก็ยังไม่ใช่ สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงเนื่องจากมีกลไกที่ยังไม่ได้ทำให้ประชาชนได้เลือก สสร. โดยตรง อาจารย์ย้ำความสำคัญของการมีส่วนร่วมโดยประชาชนว่า
“แรกสุดของการสร้างกติกาที่ประชาชนจะสามารถต่อรองด้วยกัน จำเป็นต้องมีที่มาจากประชาชนโดยตรง อีกประการหนึ่งที่ควรจะคิดต่อนอกเหนือไปจากที่มา ก็คือเนื้อหาที่จะต้องสะท้อนด้วยว่า เป็นกติกาที่ประชาชนช่วยกันเขียนเพื่อจะอยู่ร่วมกันจริงๆ ขออย่าให้มีกลไกหรือสถาบันอันใดที่พ้นไปจากรัฐธรรมนูญมาเกี่ยวข้อง”
เพราะเราเห็นได้ว่าปัญหารัฐธรรมนูญ 60 คือ มันมีกลไกบางประการที่พ้นไปจากรัฐธรรมนูญ ซึ่งจริงๆแล้ว รัฐธรรมนูญควรเป็นแค่การวางกติกาให้แก่กลไกหรือสถาบันของรัฐว่ามีอะไรอย่างไร และได้ตรวจสอบถ่วงดุลกันและกัน แต่ในปัจจุบัน เรามีกลไกที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญซึ่งไม่ได้อยู่ในส่วนของการตรวจสอบและถ่วงดุลแต่อย่างใด ดังนั้น สิ่งที่เราต้องกระทำต่อคือการตัดทอนให้เหลือเพียงส่วนของการต่อรองของประชาชนอย่างเสมอหน้า