จาตุรนต์-ณัฐพงษ์-อังคณา ยันเดินหน้าเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ สสร. ต้องเลือกตั้ง 100%

19 กันยายน 2567 เวลา 16.00 – 20.00 น. เครือข่ายประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ (Conforall) จัดกิจกรรม “รัฐธรรมนูญใหม่ไปกันต่อ สสร. เลือกตั้ง” ที่ห้องประชุมสัมมนา B1-2 อาคารรัฐสภา (เกียกกาย) โดยช่วงท้ายกิจกรรมมีวงเสวนา “รัฐธรรมนูญใหม่ทันสามปี ต้องมี สสร.” ปิดท้าย ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่รวมถึงการทำประชามติตลอดกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญ ที่รัฐบาลมีแนวทางจะจัดทำประชามติถึงสามครั้ง ได้แก่ 1) การจัดทำประชาก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2) ประชามติหลังร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ผ่านวาระสาม ตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 256 (8) และ 3) ประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งการทำประชามติถึงสามครั้งอาจส่งผลให้เส้นทางการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ไม่แล้วเสร็จในรัฐบาลชุดนี้

วงเสวนาประกอบด้วยตัวแทนจากรัฐสภาที่มีบทบาทสำคัญต่อการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) มาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ได้แก่ จาตุรนต์ ฉายแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคเพื่อไทย ตัวแทนจากฟากพรรคร่วมรัฐบาล ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส. และหัวหน้าพรรคประชาชน ตัวแทนจากพรรคฝ่ายค้าน อังคณา นีละไพจิตร สมาชิกวุฒิสภา (สว.) และภาคประชาชนที่ขับเคลื่อนเรื่องรัฐธรรมนูญ จีรนุช เปรมชัยพร เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ (CALL) ดำเนินรายการโดย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จาก iLaw

เพื่อไทยยืนยัน สสร. ต้องมาจากการเลือกตั้ง


จาตุรนต์ ฉายแสง ในฐานะ สส. พรรคเพื่อไทยอธิบายว่า ประเด็นการทำประชามตินั้นขึ้นอยู่กับจะทันหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับ สว. ว่าจะพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ร่างพ.ร.บ ประชามติฯ) ที่แก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 ทันหรือไม่ ตามแผนของรัฐบาลวางไว้ว่าจะทำประชามติครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 พร้อมกับการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) หรือไม่ ปัญหาที่ยังมีอยู่ก็คือ การทำประชามติสามครั้งตลอดกระบวนการ ส่วนของการทำประชามติครั้งแรกก่อนการแก้รัฐธรรมนูญ ก็มีปัญหาว่าไม่มีอยู่ในสารบบและไม่อยู่ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าจะต้องทำสามครั้ง เพียงแต่ คณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติรวมถึงรัฐบาลมีแนวทางประชามติสามครั้งก็เพราะมีเหตุผลว่า สว. ชุดที่แล้ว จะอ้างว่า “ต้องทำประชามติก่อน” และจะไม่ลงมติให้ ซึ่งเป็นผลผูกพันที่ให้ สว. มาจากการแต่งตั้งของ คสช. หวังว่าใน สว. ชุดใหม่จะมามีส่วนร่วมกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 

อีกปัญหาหนึ่งคือการที่ประธานรัฐสภาไม่บรรจุญัตติการแก้ไขมาตรา 256 ไว้ในวาระการประชุม ดังนั้นเราจะทำประชามติเขียนรัฐธรรมนูญได้อย่างไรเมื่อประธานรัฐสภาไม่ได้บรรจุวาระ ประเด็นที่ประธานรัฐสภาไม่บรรจุวาระนั้น ถ้าตามกฎหมายเลยต้องมีการหารือในที่ประชุม ถ้าประธานรัฐสภาไม่บรรจุก็คงจะต้องทำประชามติสามครั้งเพื่อให้ประธานรัฐสภาบรรจุวาระและเริ่มแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 256 ได้

ส่วนประเด็นว่าจะทำกี่ครั้ง ทำเมื่อไหร่ ตนไม่ทราบ อาจจะต้องถามชูศักดิ์ ศิรินิล แต่ก็มีข้อกังวลว่าหากทำประชามติโดยที่ยังไม่ได้มีการยื่นแก้ไขมาตรา 256 จะทำไม่ได้หรือไม่มีผลตามรัฐธรรมนูญ นี่คือความย้อนแย้งที่เกิดขึ้น

ในส่วนของ สสร. พรรคเพื่อไทยเราเห็นว่าต้องมาจากการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นจุดยืนที่พรรคเพื่อไทยยืนยันมาโดยตลอด

“ผมไม่ได้ไปอ่านทบทวนร่างแต่ว่าที่พรรคเพื่อไทยคุยมาตลอด เราก็เห็นว่า สสร. ทั้งหมดต้องมาจากการเลือกตั้ง อันนี้ถ้าใครไปตรวจร่างแล้วมันไม่ตรงตามนี้ต้องขออภัยด้วย ผมคุยกับอาจารย์ชูศักดิ์หลายครั้งรวมทั้งครั้งหลังที่คุยกันก็อาจารย์ก็ยืนยันแบบนี้ว่าพรรคเพื่อไทยก็ยังเห็นว่า ให้มีสสร.ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดไม่มีว่าต้องบางส่วนมาจากการแต่งตั้ง”

จาตุรนต์กล่าวว่า ถ้า สสร. เขียนรัฐธรรมนูญมาแล้วไม่ดี ก็อาจมีกลไกเขียนในรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ว่าจะให้รัฐสภาลงมติร่างรัฐธรรมนูญอีกครั้งภายหลังหลัง สสร. ร่างเสร็จแล้วหรือไม่ก็ได้ ดังนั้น จะต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับกระบวนการนี้ให้ได้มากที่สุดเพื่อที่จะไม่ให้มีปัญหาตามมาภายหลัง 

ประธานรัฐสภาควรถูกกดดันจากภาคประชาชนให้บรรจุวาระแก้รัฐธรรมนูญ

เมื่อถามว่าประชามติครั้งแรกไม่ทำได้หรือไม่ ร่างพ.ร.บ ประชามติฯ อยู่ในขั้นตอนใดแล้ว อังคณา นีละไพจิตรอธิบายว่า ตอนที่ร่างพ.ร.บ ประชามติฯ เข้าวุฒิสภาตนหวังว่าจะพิจารณาสามวาระรวดแต่ไม่เป็นเช่นชั้น โดยกระบวนการตอนนี้อยู่ระหว่างพิจารณาในชั้นกรรมาธิการวาระสอง หากมี สว. ที่ติดใจในเนื้อหา ใช้เทคนิคถ่วงเวลา ก็อาจนำไปสู๋การตั้งกรรมาธิการร่วมกันและอาจทำให้ร่างกฎหมายออกมาไม่ทันการทำประชามติที่วางไว้

ส่วนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ต้องหาเหตุผลว่าทำไมประธานรัฐสภาจึงไม่บรรจุวาระเข้าซักที ซึ่งถ้ามันผ่านเข้าวาระมา สส. ก็อาจะจะอยู่ในกระบวนการขั้นตอนพิจารณาของ สว. แล้วก็ได้ จริงๆ การกดดันประธานรัฐสภาก็ควรถูกกดดันจากนอกสภาโดยภาคประชาชน ให้ประธานรัฐสภาได้ฟังความคิดเห็นของภาคประชาชนบ้าง

สำหรับประเด็น สว. สายสีน้ำเงิน ว่าจะมีท่าทีอย่างไรกับการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ อังคณา อธิบายว่า สว. สีน้ำเงินยังคงเป็นสิ่งที่ประเมินได้ยากสำหรับการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ เพราะมีการรวมกันมาอย่างดี ซึ่งจะทำให้เราเห็นการแตกแถวหรือเปลี่ยนแปลงได้ยากมาก ดังนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็อาจจะคาดเดาได้ยากเมื่อมาถึงการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่

ขณะที่ในประเด็นการเลือกตั้งสสร.ทั้งหมดนั้น อังคณาระบุว่า “อยากฝากให้คิดนิดหนึ่งว่าการเลือกตั้งร้อยเปอร์เซ็นต์เราจะได้ตัวแทนของคนที่เป็นคนเปราะบาง-คนชายขอบเข้ามาได้ยังไง อย่างกรณีการเลือกกันเองของสว.ล่าสุด ทำให้เห็นถึงความล้มเหลวของระบบที่คิดค้นกันขึ้นมาตามรัฐธรรมนูญ คือพูดตรงๆเลยว่าสว.ที่นั่งอยู่โดยเฉพาะคนที่มาในกลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการ กลุ่มชาติพันธุ์น่าจะรู้สึกละอายใจ หรือคนที่เลือกกันมาไม่ละอายใจเลยหรือว่า เราไม่มีผู้แทนคนพิการ เราไม่มีคนที่เป็นคนชาติพันธุ์หลุดเข้ามาแม้แต่คนเดียว ทั้งที่ตอนที่เราไปเลือกไม่ว่าจะเป็นเลือกระดับอำเภอ จังหวัดหรือประเทศ เราเห็นคนนั่งรถวีลแชร์ เห็นผู้พิการทางสายตา ทางการได้ยินเข้าคูหาไปด้วยกัน แต่คนเหล่านั้นไม่ผ่านเลยส่วนมากแล้วจะตกรอบตั้งแต่ระดับจังหวัดด้วยซ้ำไป ตรงนั้นคืออยากให้คิดเลือกตั้งร้อยเปอร์เซ็นต์คือหลักการที่เราต้องยืนยัน แต่ทำยังไงถึงจะเปิดโอกาสให้คนที่เป็นคนชายขอบ-คนเปราะบางได้เข้ามาอย่างมีศักดิ์ศรีด้วย”

“ตอนที่เป็น สสร. 2550 ไม่เคยมีการล็อคหมวดใดหมวดหนึ่งมาก่อน การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ประชาชนต้องมีส่วนร่วม โดยเฉพาะในประเด็นท้องถิ่น หรือประเด็นกลุ่มชาติพันธุ์ ถ้าประชาชนที่เกี่ยวข้องเหล่านี้ไม่สามารถดูแลจัดการทรัพยากรของตัวเองได้เลย ก็จะขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกกลุ่มไป โดยที่ประชาชนเหล่านั้นอาจจะเข้าใจประเด็นเหล่านั้นมากกว่าคนในสภาเสียด้วย” อังคณากล่าว

ณัฐพงษ์ ยันประชามติสามครั้งไม่มีความจำเป็นทางกฎหมาย

ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ระบุว่าสื่งที่น่ากังวลตอนนี้คือไทม์ไลน์ว่าอาจจะไม่ทันและประธานรัฐสภายังคงไม่บรรจุวาระ ต้นเหตุมาจากฝ่ายกฎหมายของสภาคอยให้คำปรึกษาประธานรัฐสภานับตั้งแต่ชุดที่แล้วที่ตั้งแต่ตอนที่ประธานรัฐสภา ชวน หลีกภัย ยังไม่บรรจุมาจนถึงปัจจุบัน

“ในส่วนของความจำเป็นผมคิดว่า ความจำเป็นทางกฎหมายน่าจะเห็นตรงกันแม้แต่ตัวผมเอง พรรคประชาชนเองก็คิดว่า ความจำเป็นทางกฎหมายไม่มี ถ้าเราดูตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 4/2564 ก็ไม่ได้เขียน คำวินิจฉัยรวมก็ไม่ได้เขียนชัดขนาดนั้นว่า ต้องทำสามครั้ง มิหนำซ้ำถ้าเราไปดูในคำวินิจฉัยรายบุคคลของตุลาการแต่ละท่าน เสียงข้างมากในตุลาการที่ลงความเห็นตรงนั้นบอกไว้ค่อนข้างชัดด้วยซ้ำว่าทำสองครั้งก็ได้ไม่ได้เขียนบอกไว้เลยว่าต้องทำสามครั้ง เพราะงั้นเรื่องนี้ผมคิดว่าด้วยเหตุและผลแล้วกันความจำเป็นทางกฎหมายคิดว่าไม่มีความจำเป็น แต่ที่ต้องมานั่งถกเถียงกันก็คือเรื่องความจำเป็นทางการเมืองที่ทางประธานรัฐสภาเองยังไม่บรรจุ (วาระการประชุม)” ณัฐพงษ์กล่าว

“ในเรื่องของความจำเป็นทางการเมืองถามว่าจะแก้อย่างไร ก็ต้องแก้ด้วยการเมือง นอกจากการพูดคุยหลังบ้าน อาจจะหน้าบ้านก็คือเรามาช่วยกันสื่อสารช่วยกันรณรงค์แบบนี้ แล้วถ้ากางไทม์ไลน์ออกมาแล้ว สมมติทางฝ่ายบริหารเอง รัฐบาลออกมาพูดชัดว่า ทำสามครั้งแล้วมันไม่ทันจริงๆ สังคมช่วยกันสื่อสารสังคมช่วยกันกดดัน ผมไม่แน่ใจมันจะเกิดการเปลี่ยนแปลง เกิดการเดินวิธีการอีกแบบได้หรือเปล่า อันนี้ก็คิดว่าเป็นสิ่งที่น่าจะเป็นข้อห่วงใยสำคัญๆ อย่างแรกแล้วกันว่าไม่ว่าจะทำผ่านรูปแบบไหนโดยเฉพาะยิ่งถ้าต้องทำสำคัญมันจะไม่ทันในการเลือกตั้งปี 2570”

สำหรับการตั้ง สสร. ณัฐพงษ์ยืนยันว่าต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมดโดยตลอด ยืนยันคำเดิมว่า สสร.ต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรงทั้งหมด “…ส่วนเรื่องของระบบเรื่องของอะไรต่างๆเราคิดว่าในเรื่องของการออกแบบเพื่อให้ที่มาขององค์ประกอบมีความหลากหลายมากเพียงพอ เป็นคนที่ represent (เป็นตัวแทน) พ่อแม่พี่น้องประชาชนได้อย่างรอบด้านทั่วถึงมากที่สุดเนี่ยผมคิดว่าเป็นโจทย์ที่สำคัญมากกว่า ซึ่งเรื่องนี้ก็น่าจะเป็นไม่น่าเป็นหลักการที่ไม่มีใครเห็นด้วย ส่วนอะไรที่บอกว่าที่มาของ สสร.ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ผมคิดว่าไม่ใช่จุดยืนเราอยู่แล้ว”

ภาคประชาชนยันทำประชามติสองครั้ง ถ้าไม่แก้ 256 ประชาชนจะล่าชื่อแก้เอง

จีรนุช เปรมชัยพร เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ (CALL) อธิบายว่า ถ้ารัฐบาลยังคงยืนการทำประชามติครั้งที่ศูนย์  (ครั้งแรกก่อนแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ) มันจะสูญเปล่าจริง เราเสียเวลามาแล้วเกือบปีที่รอว่าจะต้องทำประชามติครั้งที่หนึ่ง ซึ่งคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากยืนยันแล้วว่าการทำประชามติทำสองครั้งก็เพียงพอแล้ว

“ในคำวินิจฉัยส่วนส่วนตัวของผู้พิพากษาหกคนชัดเจนว่า ตามหลักของรัฐธรรมนูญเลยก็คือว่าประชามติมีความจำเป็นแค่สองครั้ง เพราะว่าอย่างประเด็นที่คุณจาตุรนต์พูดที่มันชัดเจนเพราะครั้งที่สามมันกลายเป็นสร้างกับดักอะไรแปลกๆ ที่อาจจะกลายเป็นตอสะดุดด้วยซ้ำไป คือถ้าอ่านคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเราคิดว่ามันชัดเจนว่าไม่จำเป็น”

หากเราดูจากไทม์ไลน์โดยหวังว่าจะได้ทำประชามติในเดือนกุมภาพันธ์ หาก ร่างพ.ร.บ.ประชามติฯ ยังไม่ผ่านในเวลานั้น ก็จะไม่ทัน และเมื่อมีคำถามแบบล็อกบางหมวดไว้ก็จะยิ่งทำให้มันไม่ผ่าน ดังนั้นแนวทางของคณะกรรมการศึกษาแนวทางประชามติก็จะไม่สามารถทำให้มันทันได้ในสมัยรัฐบาลนี้

วันนี้ 19 กันยายน เราอยู่ในวันที่รัฐธรรมนูญ 2540 ถูกฉีกทิ้ง ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่มีสัญญะว่าประชาชนร่วมกันเป็นเจ้าของ จึงสำคัญมากที่จะต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ของประชาชน เราต้องเริ่มแก้มาตรา 256 เราต้องเริ่มมี สสร. ทำประชามติเพียงสองครั้งก็พอ เราไม่อยากสูญเปล่า-สิ้นเปลือง เราอยากฝากถึงท่านประธานรัฐสภาว่า “เราจำได้ดีถึงวันที่เราโดนบังคับให้ไปโหวตรับประชามติในปี 2559 มีหลายคนที่โดนคดีจากการไปรณรงค์ เราอยู่กับความกลัวแบบนี้มานานเกินไป สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในสภาอาจเรียกว่ามันเป็นความรอบคอบก็ได้ แต่เราจะเรียกมันว่าความกลัว”

“ในฐานะประชาชนที่สู้กับเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำไมเราต้องสู้เรื่องนี้เราถามตัวเองอยู่ตลอดมันมีหลายเรื่องที่ต้องทำความทุกข์ยากเดือดร้อนอย่างอื่นยังมีอยู่แต่ทำไมเราต้องสู้ เราคิดว่ารัฐธรรมนูญมันเป็นวิธีเดียวที่จะพาเรากลับไปสู่ประชาธิปไตยแบบละมุนละม่อมและไม่ต้องเสียเลือดเนื้อ เราไม่อยากต้องให้แบบเกิดเหตุการณ์แบบพฤษภา ‘35 แล้วจนนำไปสู่การเขียนรัฐธรรมนูญตอนปี ‘40 มันไม่จำเป็นต้องทำอย่างนั้น ประวัติศาสตร์ไม่จำเป็นต้องซ้ำรอยกันขนาดนั้น เราเขียนประวัติศาสตร์ใหม่ได้… เราคิดว่าประชาชนกล้าหาญลุกขึ้นมาสู้ในหลายครั้งเราเห็นพี่น้องที่ลุกขึ้นมาถามเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญกี่ครั้งประชาชนมาตลอดเพราะฉะนั้นสิ่งที่เราต้องการตอนนี้เราอาจจะต้องการความกล้าหาญจากผู้ซึ่งมีอำนาจในการกำหนดการเริ่มต้นก็ฝากไปถึงทางทางประธานสภาแล้วก็ฝากทางพี่น้องที่อยู่ในสภาทั้งหลายที่อาจจะต้องไปคุยกับท่านประธานเยอะๆ หน่อย”

ในประเด็นเรื่องสสร. จีรนุชกล่าวว่า ประเทศไทยยังไม่เคยมี สสร. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด รัฐธรรมนูญ 2540 ทำให้รู้สึกว่าเป็นรัฐธรรมนูญของประชาชนเพราะว่าในกระบวนการ สสร. พยายามจะเข้าถึงประชาชน เปิดพื้นที่ของการรับฟังเสียงประชาชน แต่นั่นมัน 20 กว่าปีที่แล้วจะ 30 ปีแล้ว ในวันนี้มันเปลี่ยนไปและถึงเวลาแล้วที่จะต้องเลือกตั้ง 100% เพื่อให้ยึดโยงกับประชาชนให้ได้มากที่สุด

“เพราะฉะนั้นเราคิดว่า มันต้องเลือกตั้งร้อยเปอร์เซ็นต์เพราะว่าสิ่งเหล่านี้มันอาจจะเป็นหลักการที่บอกได้ว่ามันยึดโยงกับประชาชนที่สุดแล้ว คือเลือกตั้งไม่ใช่คำตอบครอบจักรวาลอันนี้เราเข้าใจดี ภายใต้ระบอบเลือกตั้งมันมีอะไรทั้งหลายมากมาย แต่ว่าเราผ่านรัฐประหารมาหลายครั้งเราไม่อยากอยู่ภายใต้วาทกรรมของการที่นักการเมืองเลวและทหารดี… ที่น่าสนุกคือเนื่องจากสสร. เป็นระบบที่มันยังไม่คำตอบที่สมบูรณ์ว่า มันจะต้องเลือกตั้งแบบไหนเพื่อที่จะให้ได้ผลลัพธ์แบบที่พี่อังคณาคำนึงถึง ซึ่งเราก็คำนึงถึงว่ามันจะมีเสียงของคนที่ถูกมองข้ามในสังคมเข้ามามีส่วนในการร่วมออกแบบสัญญาประชาคมนี้ร่วมได้อย่างไร”

ในขณะที่ภาคประชาชนเดินหน้าแก้ไขทั้งฉบับแต่เราก็ไม่ปฏิเสธการแก้ไขรายมาตราของพรรคการเมืองต่างๆ ซึ่งองค์กรภาคประชาชนต่างก็อาจจะมีประเด็นที่จะแก้ไขเป็นรายมาตราอยู่ด้วย เรารู้ว่าการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่คือการเดินทางไกล แต่ในสังคมนี้ ในสภาวะเช่นนี้ การเขียนรัฐธรรมนูญเรารอได้ แต่สิ่งที่เราอยากได้ตอนนี้คือการนิรโทษกรรมเป็นเรื่องเร่งด่วนและหวังว่าเราจะได้ตอบรับจากพรรคการเมืองเสียงข้างมากในสภา

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage