หลังพรรคร่วมฝ่ายค้านและภาคประชาชนได้ออกมาเสนอแนวทางแก้รัฐธรรมนูญหลากหลายรูปแบบแล้ว ก็ถึงคราวที่พรรครัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลจะเสนอแนวทางของตัวเองบ้าง โดยในร่างรัฐธรรมนูญของรัฐบาล มีการเสนอให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงด้วย ซึ่งเมื่อฟังผิวเผินคล้ายกับข้อเสนอตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับพรรคการเมืองฝ่ายค้าน แต่ส่วนต่างสำคัญ คือ ให้มีสัดส่วน สสร. ที่มาจากการเลือกของรัฐสภา และการแต่งตั้งที่คัดเลือก “ผู้เชี่ยวชาญ” รวมถึงบรรดานักเรียน นิสิต นักศึกษา
สสร. 150 คน เลือกตั้งทางตรง อีก 50 คน มาทางอ้อม
ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของพรรคร่วมรัฐบาล ได้กำหนดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ ประกอบไปด้วยสมาชิก 200 คน มีที่มา ดังนี้
- 150 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน
- 20 คน มาจากการเลือกโดยรัฐสภา
- 20 คน มาจากการเลือกโดยที่ประชุมอธิการบดี โดยแบ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญกฎหมายมหาชนหรือรัฐศาสตร์ 10 คน และผู้มีประสบการณ์การเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน หรือการร่างรัฐธรรมนูญ 10 คน
- 10 คน มาจากนักเรียน นิสิต นักศึกษา
โดยวิธีการได้มาซึ่ง สสร. จำนวน 150 คนแรกจะใช้วิธีการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตโดยใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง โดยให้ประชาชนมีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือก สสร. ได้เพียงหนึ่งเสียง ระบบเลือกตั้งดังกล่าวจะคล้ายกับระบบเลือกตั้ง ส.ว. ปี 2534 หรือที่นิยมเรียกว่า “รวมเขตเบอร์เดียว” กล่าวคือ บางจังหวัดอาจมี สสร. มากกว่า 1 คน แต่ประชาชนลงคะแนนเลือกได้คนเดียว และผู้สมัครที่ได้คะแนนสูงสุดตามลำดับจำนวน สสร. ในแต่ละเขต จะได้รับเลือกเป็น สสร. ซึ่งเป็นระบบที่คล้ายกับข้อเสนอของพรรคฝ่ายค้าน
ส่วน สสร. อีก 50 คน ถูกแบ่งออกเป็นสามส่วน ได้แก่ จำนวน 20 คน มาจากการเลือกโดยรัฐสภา โดยมีข้อแม้ว่า การคัดเลือกต้องใกล้เคียงกับอัตราส่วนของจำนวน ส.ส.และ ส.ว. ซึ่งหมายความว่า จะได้ สสร. ที่เป็นคนจากระบอบ คสช. อย่างน้อยประมาณ 2 ใน 3 ของระบบนี้ ถัดมาอีก 20 คน ให้มาจากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยเป็นคนคัดเลือกจากผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชน สาขารัฐศาสตร์ หรือมีประสบการณ์ด้านการบริหารราชแผ่นดิน เป็นต้น และสุดท้าย 10 คน ให้มาจากนักเรียน นิสิต นักศึกษา แต่ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้คัดเลือกนักเรียน นิสิต นักศึกษา
สสร. อายุ 18 ก็สมัครได้ แต่ต้องไม่เป็น ส.ส.-ส.ว.-ข้าราชการ
ตามร่างรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลเสนอ กำหนดคุณสมบัติผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น สสร. ไว้คล้ายกับฉบับที่เสนอโดยพรรคเพื่อไทย โดยผู้สมัครต้องมีคุณสมบัติที่สำคัญ ดังนี้
- มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง
- มีชื่อในทะเบียนบ้าน หรือเคยศึกษาในสถานศึกษา หรือรับราชการ ในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 5 ปี
- ไม่เป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ
- ไม่เป็นข้าราชการการเมือง
- ไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือรัฐมนตรี
ให้รับฟังความคิดเห็น ส.ส. ส.ว. รัฐบาล และองค์กรอิสระด้วย
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับพรรคร่วมรัฐบาล มีกำหนดว่า ในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ สสร.ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกจังหวัดอย่างทั่วถึง และให้รัฐบาลหรือหน่วยงานรัฐจัดให้มีการเผยแพร่เนื้อหาและความคืบหน้าต่อสื่อมวลชน
นอกจากนี้ ยังเขียนเพิ่มจากร่างรัฐธรรมนูญของฝ่ายอื่นๆ อีกด้วยว่า ให้แจ้งคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนฯ วุฒิสภา องค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือมีข้อเสนอแนะอื่นใดในการจัดทำรัฐธรรมนูญ
รัฐสภามีบทบาททั้งตรวจสอบเนื้อหาและเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ
ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับพรรคร่วมรัฐบาล ได้เขียนอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาบางส่วนไว้ อาทิ ให้อำนาจรัฐสภาเข้ามาตรวจสอบว่า ร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำโดย สสร. เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 และหมวด 2 ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากมีการแก้ไขหมวดดังกล่าว ให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนั้นเป็นอันตกไป
นอกจากนี้ ส่วนที่เพิ่มอำนาจให้รัฐสภา คือ เมื่อ สสร. ได้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ให้นำร่างรัฐธรรมนูญเสนอต่อรัฐสภาเพื่อให้พิจารณาให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แต่จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมประการใดไม่ได้
ทั้งนี้ ในกรณีที่มีคะแนนเสียงให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา ให้ดำเนินการจัดให้มีการประชามติเพื่อให้ประชาชนออกเสียงลงคะแนนว่า จะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญที่ สสร. เป็นคนจัดทำขึ้น
วางกรอบ “เลือกตั้ง-ยกร่าง-สภาเห็นชอบ” ต้องเสร็จภายในปีครึ่ง
สำหรับกรอบเวลาในการดำเนินการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับรัฐบาล มีดังนี้
- ให้ กกต. จัดให้มีการเลือกตั้ง สสร. ภายใน 90 วันนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขมีผลบังคับใช้ และประกาศผลเลือกตั้งภายใน 15 วัน
- ให้ สสร. จัดให้มีการประชุมสภาครั้งแรกภายใน 30 วัน นับตั้งแต่มีสมาชิก สสร. ครบทุกประเภท
- สสร. ต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน นับตั้งแต่ประชุมสภาครั้งแรก
- เมื่อ สสร.จัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ให้เสนอต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับโดยไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติม
- ในกรณีที่เสียงเห็นชอบของรัฐสภาไม่ถึงกึ่งหนึ่งให้ประธานรัฐสภาส่งร่างรัฐธรรมนูญให้ กกต. เพื่อจัดให้มีการออกเสียงโดยประชาชน ซึ่งต้องไม่เกิน 60 วัน แต่ต้องไม่เร็วกว่า 45 วัน
ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญเป็นอันตกไปไม่ว่าด้วยไม่ผ่านการเห็นชอบจากประชาชน หรืออื่นใด ให้ถือว่าร่างนั้นเป็นอันตกไป แต่คณะรัฐมนตรี หรือ ส.ส. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของสภา หรือ ส.ส.ร่วมกับ ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของสองสภา มีสิทธิเสนอให้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามหมวดนี้อีกได้