NSO พยายามที่จะทำให้คดีเพกาซัส “เงียบ” แต่ยังไม่สำเร็จ

ไผ่-จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนที่ตรวจพบว่า ถูกเจาะขโมยข้อมูลในโทรศัพท์มือถือโดยสปายแวร์เพกาซัส เป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัท เอ็นเอสโอ กรุ๊ป จำกัด  (NSO) บริษัทผลิตอาวุธไซเบอร์จากประเทศอิสราเอล ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสปายแวร์เพกาซัส โดยยื่นฟ้องคดีต่อศาลแพ่งเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 ฐานละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ขอให้ “หยุด” การใช้เพกาซัส ขอให้เปิดเผยข้อมูลการซื้อขายสปายแวร์เพกาซัสกับรัฐบาลไทย และขอเรียกค่าเสียหาย 2,500,000 บาท ซึ่งศาลนัดสืบพยานโจทก์ระหว่างวันที่ 3-5 กันยายน 2567 และสืบพยานจำเลยวันที่ 6 และ 10 กันยายน 2567

ในระหว่างการดำเนินคดีนี้ฝ่ายโจทก์ ซึ่งเป็นผู้เสียหาย และเป็นเสมือนตัวแทนของผู้เสียหายคนไทยที่ตรวจพบว่าถูกสปายแวร์เพกาซัสเจาะระบบรวมอย่างน้อย 35 คน ต้องการทำงานสื่อสารและรณรงค์ในประเด็นการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่กระทบต่อสิทธิของประชาชนไปด้วย แต่ขณะเดียวกันฝ่ายจำเลยที่ถูกฟ้องคดี ซึ่งเดินทางจากประเทศอิสราเอลมาต่อสู้คดีในไทยก็แสดงออกถึงความพยายามที่ใส่ใจติดตามพฤติกรรมของโจทก์และต้องการให้การดำเนินคดีเป็นไปอย่าง “เงียบงัน” ไม่ต้องการให้สาธารณชนร่วมติดตามการดำเนินคดีไปด้วย โดย NSO แสดงออกถึงความจริงจังกับการทำให้คดีเงียบงันดังนี้

1. ขอให้ลบโพสต์เกี่ยวกับนัดไกล่เกลี่ย

คดีนี้ NSO ประสานงานมายังทนายโจทก์เพื่อแสดงเจตนาให้เข้ากระบวนการไกล่เกลี่ยและหาทางออกโดยไม่ต้องต่อสู้คดีกันในชั้นศาล ฝ่ายโจทก์จึงร่วมกับผู้เสียหายจากสปายแวร์เพกาซัสคนอื่นๆ ออกแบบข้อเรียกร้องและนำเสนอต่อ NSO ก่อนวันเข้าไกล่เกลี่ย ในนัดไกล่เกลี่ยวันที่ 21 มิถุนายน 2567 ตัวแทนของ NSO เดินทางมาร่วมเจรจาด้วยแต่ไม่ยอมรับเงื่อนไขใดๆ จึงไม่สามารถตกลงกันได้ วันดังกล่าวตัวแทนของไอลอว์ไปร่วมสังเกตการณ์ด้วยแต่ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในห้องไกล่เกลี่ยที่ต้องมีเฉพาะคู่ความเท่านั้น ไอลอว์ทราบจากจตุภัทร์ว่า NSO ไม่ยอมรับเงื่อนไขใดๆ จึงเขียนสรุปเหตุการณ์วันนัดไกล่เกลี่ยเท่าที่ทราบจากนอกห้องและนำเสนอต่อสาธารณะและจตุภัทร์แชร์โพสต์ดังกล่าวต่อสาธารณะ

วันที่ 28 มิถุนายน 2567 ทนายจำเลยยื่นคำร้องต่อศาลแพ่ง อธิบายว่า กระบวนการไกล่เกลี่ยต้องทำเป็นความลับ โดยอ้างข้อกำหนดของประธานศาลฎีกา ข้อ 37-38 และขอให้ศาลสั่งให้โจทก์ ทนายโจทก์ และไอลอว์ลบรายงานข่าวชิ้นนี้ รวมถึงข้อความเกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยทุกช่องทาง ซึ่งศาลสั่งไว้ในคำร้องว่า ให้นัดพร้อมเพื่อไต่สวนเรื่องนี้ในวันนัดสืบพยานโจทก์นัดแรก วันที่ 3 กันยายน 2567 โดยโจทก์สามารถยื่นคำคัดค้านก่อนได้

แต่ฝ่ายจำเลยยังไม่พอใจ วันที่ 11 กรกฎาคม 2567 ทนายจำเลยยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งอีกหนึ่งฉบับอธิบายว่า มีผู้แชร์โพสต์ดังกล่าวต่อไปเป็นจำนวนมาก โดยจตุภัทร์ก็แชร์ในลักษณะล้อเลียนจำเลย เป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายมากขึ้น เป็นการด้อยค่าความศักดิ์สิทธิ์ของศาลยุติธรรม “อุกอาจ ไร้ความยำเกรงต่ออำนาจศาล” จึงขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดวันนัดใหม่ก่อนวันนัดสืบพยานโจทก์นัดแรก และขอให้สั่งให้โจทก์ ทนายความโจทก์ และไอลอว์ลบรายงานข่าวชิ้นนี้ แต่ศาลแพ่งสั่งยกคำร้องโดยให้เหตุผลว่า ระยะเวลาที่กำหนดไว้เดิมไม่ถือเนิ่นช้าเกินควร 

วันที่ 3 กันยายน 2567 ศาลแพ่งนัดสืบพยานโจทก์และนัดไต่สวนคำร้องกรณีที่จำเลยขอให้โจทก์ลบโพสต์ดังกล่าวด้วย ซึ่งศาลเรียกทั้งสองฝ่ายมาสอบถาม จตุภัทร์รับว่า ในวันไกล่เกลี่ยบรรยากาศค่อนข้างเครียดเขาจึงเดินออกมาสูบบุหรี่และ “บ่น” ให้คนที่รออยู่นอกห้องฟังซึ่งมีไอลอว์ฟังด้วย ส่วนทนายโจทก์ปฏิเสธว่า ไม่เคยเผยแพร่ข้อความเกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยต่อบุคคลภายนอก ด้านไอลอว์เตรียมตัวมาแถลงคัดค้านว่า ไม่ได้เผยแพร่ข้อมูลความลับจากในห้องไกล่เกลี่ยแต่เผยแพร่ข้อมูลสรุปภาพรวมคดีเท่านั้น แต่ศาลไม่อนุญาตให้แถลงเพราะเห็นว่า ไอลอว์เป็นบุคคลภายนอกคดีนี้ไม่ใช่คู่ความในคดีนี้ ไอลอว์จึงยื่นคำแถลงอธิบายข้อเท็จจริงเป็นเอกสารให้ศาลติดไว้ในสำนวน (ปรากฏตามไฟล์แนบ)

หลังศาลแพ่งสอบถามทุกฝ่ายแล้วจึงตักเตือนโจทก์ไม่ให้เผยแพร่ความลับในชั้นไกล่เกลี่ย พร้อมออกข้อกำหนดโดยศาลนี้ให้ยุติการเผยแพร่ข้อความหรือข้อมูลเกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยและให้รักษาข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยเป็นความลับ ส่วนของคำร้องที่ขอให้ศาลสั่งให้ไอลอว์ลบข้อมูลนั้นศาลไม่สามารถสั่งไปยังบุคคลภายนอกคดีได้ หากจำเลยได้รับความเสียหายใดๆ ก็ต้องไปว่ากล่าวกันต่างหากเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

2. ขอให้พิจารณาคดีเป็นการลับ

วันที่ 8 สิงหาคม 2567 ทนายจำเลยยื่นคำร้องอีกหนึ่งฉบับ ขอให้ศาลแพ่งสั่งให้พิจารณาคดีนี้เป็นการลับ โดยอ้างว่า คดีนี้มีข้อมูลและพยานหลักฐานในคดีที่เกี่ยวข้องกับความลับอันเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ซึ่งหากมีการพิจารณาโดยเปิดเผยแล้วจะสร้างความเสียหายต่อความมั่นคงปลอดภัยของประเทศและเป็นภัยต่อสาธารณประโยชน์ ประกอบกับข้อมูลและพยานหลักฐานดังกล่าวมีข้อความอันเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของรัฐ ซึ่งโดยสภาพแล้วจะต้องรักษาเป็นความลับและห้ามมิให้เปิดเผยต่อบุคคลโดยทั่วไป ซึ่งนอกจากจำเลยจะขอให้ศาลสั่งพิจารณาคดีเป็นการลับแล้ว ยังขอให้ศาลสั่งห้ามมิให้คู่ความและบุคคลที่ได้ล่วงรู้ถึงข้อความที่เกิดขึ้นในระหว่างการพิจารณาคดีออกโฆษณาข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ต่างๆ ในคดีด้วย

ในวันนัดสืบพยานโจทก์นัดแรก สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ส่งจดหมายแจ้งมายังศาลล่วงหน้าว่าขอเข้าสังเกตการณ์การพิจารณาคดี ศาลได้จัดห้องพิจารณาคดีข้างกันไว้เป็นห้องรับรองที่มีโต๊ะเก้าอี้และชุดโซฟา โดยตำรวจศาลเชิญคนที่ไม่ใช่คู่ความนั่งรอในห้องรับรองก่อน เมื่อศาลขึ้นบัลลังก์ทนายความจำเลยลุกขึ้นยืนแถลงทันทีว่า มีบุคคลภายนอกอยู่ในห้องสามคนไม่ทราบว่าเป็นใคร? ศาลกล่าวทำนองว่า เหตุใดจะอยู่ไม่ได้ ศาลยังไม่ได้มีคำสั่งเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งและเป็นหน้าที่ที่ศาลต้องถามอยู่แล้ว จากนั้นศาลจึงไต่สวนเรื่องคำขอให้ลบข้อมูลออกจากเว็บไซต์ก่อน

ด้านทนายโจทก์ยื่นคำร้องคัดค้านการพิจารณาคดีเป็นการลับ และแถลงต่อศาลว่า พยานหลักฐานของโจทก์ที่เตรียมมาในคดีนี้มีแต่ข้อมูลที่เผยแพร่ต่อสาธารณะอยู่แล้ว ไม่มีข้อมูลที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคง ด้านทนายจำเลยบอกกับศาลว่า ฝ่ายโจทก์ต้องการทราบข้อมูลเกี่ยวกับสัญญาที่ฝ่ายจำเลยทำกับหน่วยงานความมั่นคงของไทยและเชื่อว่าจะถามคำถามเช่นนี้กับจำเลย ซึ่งทนายโจทก์ก็ยอมรับว่าจะถามคำถามที่เกี่ยวข้อง ศาลจึงสั่งให้พักการพิจารณาประมาณ 15 นาที แล้วกลับขึ้นบัลลังก์โดยสั่งว่าให้พิจารณาคดีนี้เป็นการเปิดเผย

ศาลระบุว่า โจทก์อ้างพยานหลักฐานที่เป็นข้อมูลเปิดเผยในสาธารณะไม่มีข้อมูลที่เป็นความลับของประเทศ ประกอบกับจำเลยก็ปฏิเสธว่า ไม่ได้เป็นผู้ใช้สปายแวร์เพกาซัส จึงเห็นสมควรให้ดำเนินการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยไปพลางก่อนจนกว่าจะมีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่ง

หลังจากนั้นในวันที่ 10 กันยายน 2567 ในวันนับสืบพยานจำเลย ซึ่งชมูเอล ซันเรย์ (Shmuel Sunray) ตัวแทนของจำเลยจะขึ้นเบิกความ ในช่วงเช้าทนายจำเลยยังยื่นคำแถลงต่อศาลว่า พยานจะขอใช้สิทธิไม่เบิกความในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลของลูกค้า เนื่องจากลูกค้าของจำเลยเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวกับความมั่นคงทั้งหมด หากมีคำถามที่เกี่ยวข้องก็จะขอไม่ตอบ ทนายโจทก์แถลงคัดค้านเพราะเห็นว่า หลายประเด็นจะเกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยคดีนี้โดยตรง แต่ศาลชี้ว่าเป็นสิทธิของพยานอยู่แล้วที่จะตอบคำถามใดหรือไม่ตอบก็ได้

3. ขอให้ลงโทษโจทก์ฐานละเมิดอำนาจศาล

ในวันนัดสืบพยานจำเลย วันที่ 10 กันยายน 2567 ทนายจำเลยยื่นคำร้องอีกฉบับหนึ่งขอให้ศาลสั่งลงโทษโจทก์ฐานละเมิดอำนาจศาล โดยอธิบายว่า เจ้าหน้าที่ศาลแจ้งกับโจทก์แล้วว่าข้อมูลเกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยเป็นความลับ แต่โจทก์ยังบอกเล่าให้แก่บุคคลภายนอกคดีอันเป็นบุคคลใกล้ชิดของโจทก์และเป็นผู้มีความเกี่ยวข้องกับสื่อออนไลน์ที่มีชื่อเสียง โจทก์ย่อมคาดหมายได้ว่า บุคคลภายนอกดังกล่าวอาจนำข้อมูลเหล่านี้ไปบอกเล่าต่อๆ กันหรือนำไปเผยแพร่แก่สาธารณชนได้ แสดงให้เห็นว่าโจทก์จงใจละเมิดข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการไกล่เกลี่ย แม้ศาลจะมีคำสั่งให้ยุติการเผยแพร่ข้อความก็ไม่อาจเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับจำเลยได้ ส่งผลให้เกิดภาระแก่จำเลยในการฟ้องคดีเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายแก่บุคคลภายนอก

นอกจากนี้การที่โจทก์โพสเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “มีคนอยากให้ลบข่าวที่ iLaw ลงเรื่องเพกาซัส อย่าไปแชร์นะครับ ย้ำว่า อย่าไปแชรรรรรรรร์ อย่าไปดูนะแกร อย่าไปแชร์เด้อ” และยังนำลิงก์จากเฟซบุ๊กของไอลอว์ ไปใส่ไว้ที่ช่องคอมเมนต์ โดยปัจจุบันก็ยังไม่ได้ลบโพสต์ดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า โจทก์จงใจบอกเล่าให้บุคคลภายนอกคดี และใช้บุคคลภายนอกคดีเป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ข้อมูลเหล่านี้ ถือเป็นการกระทำโดยมีเจตนาไม่เคารพต่อกฎหมายและจงใจละเมิดอำนาจศาล ทั้ง ๆ ที่ก็รู้อยู่แล้วว่าไม่สมควรและศาลสั่งให้โจทก์หยุดการเผยแพร่แล้วด้วย การที่โจทก์ไม่ได้สำนึกผิดแม้แต่น้อยและยังคงไม่ลบโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ย่อมถือเป็นการขัดขืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 31(1) ขอให้ศาลพิจารณาลงโทษโจทก์โดยกำหนดโทษสูงสุดด้วย

ศาลพิจารณาเรื่องคำร้องที่ขอให้ลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลในช่วงเย็นก่อนเสร็จสิ้นการสืบพยาน และสั่งในรายงานกระบวนพิจารณาว่า ศาลออกข้อกำหนดให้โจทก์ยุติการแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2567 แต่เหตุที่จำเลยอ้างว่าโจทก์โพสต์เฟซบุ๊กนั้นเกิดขึ้นก่อนวันที่ 3 กันยายน 2567 จึงเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นก่อนศาลออกข้อกำหนด หากจำเลยได้รับความเสียหายอย่างไรก็ต้องไปว่ากล่าวเป็นอีกคดีหนึ่ง

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage