13 กันยายน 2567 เวลา 09,00-15.15 น. ณ ห้อง 102 คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) จัดเวทีสาธารณะแถลงนโยบายประชาชน แถลงนโยบาย 10 ด้านต่อรัฐบาล พร้อมเวทีข้อเสนอนโยบายด้านรัฐสวัสดิการ การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และเวทีให้พรรคการเมืองร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
โดยช่วงหนึ่งของงาน มีเวทีเสวนาหัวข้อ “สิทธิชุมชนอยู่ตรงไหน ในนโยบายแก้ปัญหาที่ดิน” ร่วมแลกเปลี่ยน พูดคุย สะท้อนปัญหาสิทธิชุมชนภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 โดย ธนากร อัฏฐ์ประดิษฐ์ ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ศ.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
รัฐธรรมนูญ 60 บีบสิทธิชุมชนอยู่ภายใต้การอนุญาตของรัฐ
ธนากร อัฏฐ์ประดิษฐ์ ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ระบุว่าแกนกลางของปัญหาประเด็นสิทธิชุมชน โดยเฉพาะเรื่องที่ดิน ประการแรกคือ กฎหมายที่กำหนดนิยามกรรมสิทธิ์ในที่ดินของรัฐเหนือทรัพยากร เหนือที่ดิน เหนือป่าไม้ทั้งประเทศ ตัวอย่างที่พบ เช่น พ.ร.บ. ป่าไม้ พ.ศ. 2484 ประการที่สอง ประชาชนถูกทำให้ติดกับดักกรรมสิทธิ์เชิงเดี่ยว ที่คิดว่าทุกสิ่งที่อย่างเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐ ซึ่งส่งผลให้รัฐสามารถบงการสิทธิในการใช้ทรัพยากรรวมถึงวิถีการผลิตของประชาชน ตัวอย่างเช่น นโยบายของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ที่กำหนดว่าที่ดินจำนวนใด ต้องใช้ทำสิ่งใดกี่เปอร์เซ็นต์ 50% ต้องปลูกป่าเพื่อสร้างคาร์บอน สิ่งนี้คือการบงการการดูแล อนุรักษ์ทรัพยากร
ธนากรมองว่า ตั้งแต่ 2557 ถึง 2567 เป็นทศวรรษแห่งการปิดสวิตช์สิทธิชุมชน เมื่อมองสิทธิชุมชนผ่านรัฐธรรมนูญ 2560 กลายเป็นว่าสิทธิชุมชนอยู่ภายใต้การอนุญาตของรัฐเท่านั้น แม้จะรับรองมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 แต่ในความเห็นของตนมองว่า สิทธิชุมชนเหลือเพียงแต่ตัวอักษรในรัฐธรรมนูญ หากปล่อยให้เป็นแบบนี้ จะกลายเป็นว่า สิทธิชุมชนจะไม่ใช่สิทธิพื้นฐานของประชาชน แต่จะเปลี่ยนไปอยู่ภายใต้การอนุญาตของรัฐ ไม่ใช่สิทธิชุมชนที่ประชาชนมีสิทธิในการตัดสินใจใช้ทรัพยากรธรรมชาติของรัฐ
สิทธิชุมชน รากฐานการดำรงชีวิตของมนุษย์
นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า สิทธิชุมชน หมายถึงสิทธิในการจัดการเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ใช้ประโยชน์และบริหารทรัพยากรธรรมชาติ โดยไม่ได้จำกัดเพียงแค่ที่อยู่ที่ทำกิน แต่รวมการจัดการป่าไม้ ลุ่มน้ำ สินแร่ สิทธิชุมชนจึงมีความสำคัญต่อสังคมไทย เปรียบเสมือนทุนชีวิต เหมือนฐานของการดำรงชีวิตมนุษย์ ตัวอย่างเช่น กรณีที่มีเหมืองแร่ทอง กระทบต่อสัตว์น้ำ พืชผัก น้ำ ปลาที่อยู่ในน้ำกินไม่ได้ น้ำกินไม่ได้ ส่งผลต่อชีวิตคนในชุมชน
นิรันดร์กล่าวต่อว่า สิ่งที่น่าตั้งคำถาม คือ กฎหมายรวมถึงนโยบายต่างๆ ที่กระทบต่อสิทธิชุมชน กระทบต่อหลักนิติรัฐหรือไม่ หากย้อนดูนโยบายในช่วงสมัยของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เช่น นโยบายทวงคืนผืนป่า ประการต่อมา คือ หากดูสังคมในตอนนี้ สังคมเปลี่ยนเป็นสังคมผูกขาด รวบอำนาจและผลประโยชน์ ประกอบกับระบบราชการ ที่เป็นระบบอุปถัมภ์ ไม่ตอบสนองต่อการรับใช้ประชาชน สิ่งที่จะตอบสนองต่อความต้องการประชาชนในเรื่องสิทธิชุมชนจึงไม่เกิดขึ้น
สิทธิชุมชน = สิทธิพลเมือง รัฐมีหน้าที่ต้องพิทักษ์
ด้านศ.อรรถจักร สัตยานุรักษ์ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า สังคมไทยเข้าใจผิดในเรื่องสิทธิชุมชน คือ 1) มองว่าเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ 2) ขัดแย้งกับระบอบทรัพย์สินที่สถาปนาไว้แล้ว 3) เป็นเรื่องเฉพาะเศรษฐกิจ สิ่งที่ต้องทำให้เข้าใจกันอย่างชัดเจน คือ สิทธิชุมชนชน ก็เป็นสิทธิพลเมือง ในการแสวงหาทางเดินของชีวิตที่แตกต่างกัน ซึ่งรัฐมีหน้าที่ต้องพิทักษ์สิทธินี้ไว้
เมื่อดูนโยบายของรัฐบาล ไม่มีแม้แต่คำเดียวที่จะพูดถึงสิทธิชุมชน มีการระบุถึงการสร้างโอกาสอย่างเท่าเทียม ทำให้คนไทย มีกิน มีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับที่ดินอยู่ข้อเดียว คือ “3.6 รัฐบาลจะเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการที่ดินของรัฐ เร่งจัดทำแผนที่ที่ทันสมัยและใช้เทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงแนวเขตที่ดินของรัฐและแก้ปัญหาที่ดินทับซ้อน ยุติความขัดแย้งและแก้ไขข้อพิพาทเกี่ยวกับที่ดิน ทั้งระหว่างหน่วยงานภาครัฐด้วยกันเองและระหว่างภาครัฐและประชาชน เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิที่ดิน ที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินเพิ่มขึ้น”