ชวนติดตามคำพิพากษาคดีมาตรา 112 ของไผ่และครูใหญ่
13 กันยายน 2567 ศาลจังหวัดภูเขียวนัดไผ่-จตุภัทร์ บุญภัทรรักษาและครูใหญ่-อรรถพล บัวพัฒน์ฟังคำพิพากษาในคดีที่ทั้งถูกฟ้องในความผิดตามมาตรา 112 มาตรา 116 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และการใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับการอนุญาต จากการชุมนุม #ราษฎรออนทัวร์ ของกลุ่ม “ราษฎร” บริเวณหน้าโรงเรียนภูเขียวและหน้าสถานีตำรวจภูธรภูเขียว เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เดิมคดีนี้มีจำเลยร่วมอีกหนึ่งคนคือ ไมค์-ภาณุพงศ์ จาดนอก แต่ไม่สามารถติดตามตัวได้ ตามคำฟ้องกล่าวหาในสองประเด็นคือ เนื้อหาการปราศรัยโจมตีการทำงานของรัฐบาล เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก แก้ไขรัฐธรรมนูญ และให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ที่เข้าข่ายการกระทำหมิ่นประมาทกษัตริย์ตามมาตรา 112 และจำเลยทั้งสามกับพวกยังติดป้ายผ้าหน้าสถานีตรวจภูธรภูเขียว มีข้อความว่า “ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์” “ผูกขาดวัคซีนหาซีนให้เจ้า” “ประยุทธ์ออกไป” “ร่างรัฐธรรมนูญใหม่” อันเข้าข่ายการกระทำยุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116
จุดเริ่มต้นของการชุมนุมหน้า สภ.ภูเขียว เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ของกลุ่ม “ราษฎร” จัดการชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้ตำรวจ สภ.ภูเขียว ขอโทษกรณีไปคุกคามนักเรียนที่บ้านจากการลงชื่อสมัครเข้าร่วมค่าย“ราษฎรออนทัวร์” ในช่วงปลายเดือนมกราคม 2564 ทว่าภายหลังการชุมนุม นอกจากผู้ชุมนุมจะไม่ได้รับการตอบสนองข้อเรียกร้องจากตำรวจ สภ.ภูเขียว แล้วยังถูกดำเนินคดีพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยมีสามรายที่ถูกดำเนินคดีแยกออกมาในข้อหาหลักตามมาตรา 112 และ 116 คือ ไผ่-จตุภัทร์ ครูใหญ่-อรรถพล และไมค์-ภาณุพงศ์
รู้จักไผ่ ทะลุฟ้า อดีตผู้ต้องขัง ม.112 เพราะแชร์ข่าวจาก BBC
ไผ่-จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นักกิจกรรมทะลุฟ้า บัณฑิตคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เคยร่วมทำกิจกรรมเพื่อสังคมและเป็นสมาชิกกลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม หรือ กลุ่มดาวดิน ทั้งยังเคยร่วมกิจกรรมกับประชาชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาเศรษฐกิจ จตุภัทร์ และกลุ่มดาวดินเคยได้รับรางวัล “เยาวชนต้นแบบ” ในงานประกาศผลรางวัล “คนค้นฅนอวอร์ด” ครั้งที่ห้า และทำกิจกรรมทางการเมืองร่วมกับกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ (New Democracy Movement: NDM) ปัจจุบัน ไผ่-จตุภัทรเป็นหนึ่งในนักกิจกรรมกลุ่มทะลุฟ้าที่เคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่และขับเคลื่อในประเด็นสิทธิชุมชนและสิทธิในที่ดินทำกิน
เดือนธันวาคม 2559 ไผ่แชร์บทวิเคราะห์ของสำนักข่าว BBC Thai เรื่อง “พระราชประวัติกษัตริย์พระองค์ใหม่ของไทย” บนเฟซบุ๊กส่วนตัว เป็นผลให้เขาถูกกล่าวหาในคดีมาตรา 112 คดีแรกในชีวิตของเขา ในชั้นตำรวจเขาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว หลังจากนั้นไม่กี่วันพนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอเพิกถอนการประกันตัวไผ่ วันที่ 22 ธันวาคม 2559 ศาลพิจารณาคำร้องโดยลับและเห็นตามคำร้องของให้ถอนการประกันตัว ทำให้เขาสูญเสียอิสรภาพนับแต่นั้นแม้จะมีการยื่นประกันอีกอย่างน้อยสิบครั้ง ระหว่างการพิจารณาคดีศาลจังหวัดขอนแก่นสั่งพิจารณาคดีเป็นการลับ ห้ามเผยแพร่เนื้อหาการสืบพยาน และอ่านคำพิพากษาเป็นการลับอีกด้วย ต่อมาไผ่ได้รับการปล่อยตัวออกจากทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่น หลังมีพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2562 รวมเวลาถูกคุมขัง 870 วัน หรือ 2 ปี 4 เดือน 20 วัน
ครูใหญ่ ติวเตอร์ผู้ฝันใฝ่ถึงวันที่ประเทศนี้จะมีรัฐสวัสดิการ
อรรถพล บัวพัฒน์ หรือ ครูใหญ่ ติวเตอร์สอนวิชาสังคมและภาษาไทยให้นักเรียนมัธยมฯในจังหวัดขอนแก่นและเป็นสมาชิกกลุ่มขอนแก่นพอกันที เปิดใจคุยถึงจุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวทางการเมืองในเวทีเสวนา “ก้าวแรกคือชัยชนะ ก้าวอย่างสม่ำเสมอคือการต่อสู้” ที่หมู่บ้านทะลุฟ้าด้านข้างทำเนียบรัฐบาล วันที่ 21 มีนาคม 2564 ว่า “วันแรกที่ผมตัดสินใจกระโดดเข้ามาคลุกคลีตีโมงอยู่กับเรื่องทางการเมือง เขามีแฟลชม็อบช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ปีที่แล้ว [2563] น้อง ๆ ที่รู้จักผม ก็โทรมา “พี่ใหญ่ พวกผมจะทำม็อบ พี่ช่วยมาปราศรัยให้หน่อย ผมเชื่อว่าพี่ทำได้” ก็เริ่มขึ้นปราศรัยครั้งแรกม็อบที่บึงสีฐาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น”
ครูใหญ่-อรรถพล เล่าถึงครั้งแรกที่โดนหมายว่าเขาเองก็รู้สึกตกใจเพราะว่าเขาเพิ่งถูกสลายการชุมนุม เมื่อเช้าวันที่ 15 ตุลาคม 2563 ในขณะนั้นเขาเหมือนต้องใช้ชีวิตหลบๆ ซ่อนๆ เพราะเป็นหมายจับ ประกาศออกทีวี ทำให้แม่ของเขาต้องทราบเรื่องนี้อย่างแน่นอน หลังจากนั้นก็มีหมายมาเรื่อย ๆ เขากล่าวว่า “อำนาจมันอยู่มันอยู่ในมือคุณ คดีมันอยู่ที่ปลายปากกา ไม่เป็นไร เรายืนยันที่จะสู้กันตามระบบ”
เมื่อถามถึงจุดมุ่งหมายของชีวิตและการเคลื่อนไหวทางการเมืองครูใหญ่กล่าวว่า “ผมเป็นคนหนึ่งที่สามารถทำตามความฝันของตัวเองได้ ไม่มากก็น้อย ผมไม่ต้องไปรีบสอบบรรจุ ไม่ต้องไปรีบทำงาน จนผมได้ค้นพบว่าชีวิตที่มีอิสรภาพหน่อย มีรายได้ก็คือเป็นติวเตอร์ ผมเว้นว่างอยู่เป็นปีกว่าจะทำงาน เพราะพ่อกับแม่ผมต่อให้ป่วยยันตาย ยังไงก็รักษาฟรี แต่ถ้าพ่อแม่คนอื่นล่ะ ถ้าป่วยแล้วเขาจะเอาสวัสดิการรักษา ดังนั้นเขาจบมาแล้วเขาต้องรีบเข้าสู่ระบบแรงงานทันที โดยที่คุณไม่มีสิทธิเลือก งานอะไรที่คว้าได้ก่อน ดังนั้น คนไทยจะทำตามฝันได้ต้องมีรัฐสวัสดิการในประเทศนี้เท่านั้น นี่คือสิ่งที่ทำให้ต้องลุกขึ้นมา แม้ว่าตัวเองไม่ใช่ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะผมเป็นคนที่ได้รับผลประโยชน์จากความเหลื่อมล้ำนี้เช่นกัน”
สู้ว่า ไม่ได้หมิ่นประมาทใคร ด้านครูใหญ่ระบุคำฟ้องผิดจากคำปราศรัยจริง
สำหรับคดีมาตรา 112 และ 116 ของไผ่-จตุภัทร์และครูใหญ่-อรรถพล กรณีปราศรัยในกิจกรรมราษฎรออนทัวร์ อัยการฟ้องว่า เนื้อหาที่พวกเขาปราศรัยเป็นความเท็จ เป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยประการที่น่าจะทำให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง โดยจำเลยทั้งสามมีเจตนาทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาพระมหากษัตริย์ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้ ดังนี้
1) จตุภัทร์ จำเลยที่หนึ่งปราศรัยเรื่องความมั่งคั่งของสถาบันกษัตริย์และสภาพทางเศรษฐกิจที่ยากลำบากของประชาชน รวมถึงการแก้ไขเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ผ่านการทำประชามติมาแล้ว
2) อรรถพล จำเลยที่สองปราศรัยเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างนโยบายของรัฐกับสัมปทานเอกชน ทำนองว่า เกี่ยวพันกับงบประมาณสถาบันกษัตริย์
3) ภาณุพงศ์ จำเลยที่สาม ปราศรัยมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์กษัตริย์และการศึกษาไทยว่า การสอนให้เด็กนักเรียนเทิดทูนกษัตริย์ที่… (คำวิจารณ์) ถือเป็นการหลอกลวง
ในส่วนของความผิดตามมาตรา 116 คำฟ้องกล่าวหาว่า จำเลยทั้งสามกับพวกได้กล่าวคําปราศรัยบนเวที และไลฟ์สดทางเฟซบุ๊ก ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ มีสาระสำคัญโจมตีการทำงานของรัฐบาล เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก แก้ไขรัฐธรรมนูญ และให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ และกระทำการจาบจ้วง หมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ซึ่งมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต โดยมีเจตนาบิดเบือนใส่ร้ายพระมหากษัตริย์ และบิดเบือนเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560
และจำเลยทั้งสามกับพวกยังติดป้ายผ้าหน้าสถานีตำรวจภูธรภูเขียว มีข้อความว่า “ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์” “ผูกขาดวัคซีนหาซีนให้เจ้า” “ประยุทธ์ออกไป” “ร่างรัฐธรรมนูญใหม่” อันเป็นการปลุกปั่น ยุยง ประชาชนให้เกิดความกระด้างกระเดื่อง ก่อให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เคลือบแคลงสงสัยในพระมหากษัตริย์ และการบริหารงานของรัฐบาล ถึงขนาดที่จะไปชุมนุมกดดันให้นายกฯ ลาออก และขู่เข็ญหรือบังคับพระมหากษัตริย์ให้อยู่ภายใต้ประชาชน อันจะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร เป็นเหตุให้ประชาชนที่ได้รับฟังคําปราศรัยดังกล่าว ตะโกน โห่ร้อง ปรบมือสนับสนุน อันเป็นการทำให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน
ในกระบวนการสืบพยานตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2567 ไผ่-จตุภัทร์และครูใหญ่-อรรถพลทั้งสองคนยืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ส่วนไมค์-ภาณุพงศ์ ไม่สามารถติดต่อได้ระหว่างการสืบพยานไมค์จึงไม่ได้เข้าร่วมการพิจารณาคดีต่อ อย่างไรก็ดีจำเลยทั้งสองคนเบิกความยอมรับว่า เป็นผู้ปราศรัยตามวันเกิดเหตุจริง ในกรณีคำกล่าวของไผ่-จตุภัทร์นั้น จำเลยยืนยันว่า การกล่าวปราศรัยเนื่องมาจากพบเห็นความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมในสังคมไทย เห็นคนยากคนจนที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงทรัพยากร และการพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นการพูดถึงองค์กรที่มีองค์ประกอบหลายอย่างเกี่ยวข้องกัน ไม่ได้หมิ่นประมาทหรือให้ร้ายบุคคลใดบุคคลหนึ่งในฐานะตัวบุคคล
ครูใหญ่โต้คำฟ้องไม่ตรงกับคำปราศรัย ยืนยันเรียกร้องให้ “จำกัด” งบประมาณของสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ได้กล่าวว่าให้ “กำจัด”
ในส่วนคำกล่าวของครูใหญ่-อรรถพล จำเลยยืนยันว่ากล่าวเรียกร้องให้ “จำกัด” งบประมาณของสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ได้กล่าวว่าให้ “กำจัด” งบประมาณของสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามที่พยานโจทก์บางคนกล่าวหา และการปล่าวปราศรัยนั้นเป็นการเรียกร้องเรื่องจากเห็นความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับกฎหมายที่ขยายพระราชอำนาจในยุคของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลายฉบับ โดยในการสืบพยานครูใหญ่-อรรถพลจำเลยที่ 2 ขึ้นถามค้านพยานโจทก์ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาไทยและพยานผู้กล่าวหาจำเลยในคดีนี้ด้วยตนเอง
นักวิชาการชี้มาตรา 112 คุ้มครองตัวบุคคลไม่ได้คุ้มครองตัวสถาบันฯ
วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 ทนายความของจำเลยนำพยานเข้าสืบหนึ่งปาก ได้แก่ สมชาย ปรีชาศิลปกุล นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ที่มาเบิกความว่า เนื้อหาที่จำเลยกล่าวปราศรัยตามฟ้องในคดีนี้ไม่ได้เป็นความผิดตามมาตรา 112 โดยอธิบายแนวทางการตีความมาตรา 112 ที่ไม่ครอบคลุมพระมหากษัตริย์ในอดีต และคุ้มครองตัวบุคคลไม่ได้คุ้มครองตัวสถาบัน และวันที่ 2 พฤษภาคม 2567 ทนายความนำพยานเข้าสืบอีกหนึ่งปาก คือ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ที่เบิกความในประเด็นการออกกฎหมายในยุคของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของคสช. ที่เป็นการขยายพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์อันนำมาสู่ข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ในการชุมนุมของกลุ่มคนรุ่นใหม่
ศาลจังหวัดภูเขียวพิพากษาจำคุกคดี ม.112 ไผ่ ทะลุฟ้า 2 ปี 12 เดือน จำคุกครูใหญ่-อรรถพล 2 ปี
13 กันยายน 2567 ศาลจังหวัดภูเขียวอ่านคำพิพากษาในคดีพนักงานอัยการจังหวัดภูเขียวเป็นโจทก์ฟ้องไผ่-จตุภัทร์และครูใหญ่-อรรถพลในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาตรา 116, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้อนุญาต จากการชุมนุม #ราษฎรออนทัวร์ โดยศาลพิพากษาให้จำคุกไผ่-จตุภัทร์สองปี 12 เดือนหรือประมาณสามปี และจำคุกครูใหญ่-อรรถพลสองปี
ต่อมาศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า “ศาลจังหวัดภูเขียวพิพากษาจำคุกคดี #ม112 “ไผ่ จตุภัทร์” 2 ปี 12 เดือน และ “ครูใหญ่ อรรถพล” 2 ปี กรณีปราศรัย #ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 64 ข้อหาอื่นยกฟ้อง อยู่ระหว่างประกันตัว” และ “เวลา 15.45 น. ศาลจังหวัดภูเขียวยังไม่มีคำสั่งการขอประกันตัวไผ่-จตุภัทร์และครูใหญ่-อรรถพล หลังจากนั้นผู้ใช้เฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อบัญชีว่า Pai Jatupat โพสต์ข้อความว่า “ศาลชั้นต้นไม่มีคำสั่งแต่ส่งให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 สั่งแทน ถ้าศาลอุทธรณ์ยังไม่สั่งต้องไปเรือนจำภูเขียววันนี้ครับ #ยกเลิก112 “
เวลา 18.54 น. สำนักข่าวประชาไทรายงานว่า “‘ไผ่’ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา และ ‘ครูใหญ่’ อรรถพล บัวพัฒน์ สองนักเคลื่อนไหวแดนอีสานเพิ่งถูกศาลพิพากษาจำคุก 3 ปีและ 2 ปีตามลำดับในวันนี้ (13 ก.ย.) เหตุสืบเนื่องจากการการชุมนุมเมื่อต้นปี 2564 และต้องเข้าเรือนจำไปก่อนเพื่อรอลุ้นว่าศาลอุทธรณ์จะให้ประกันตัวหรือไม่ คาดว่าใช้เวลา 2-3 วันจะรู้ผล”
๐ ไผ่ ทะลุฟ้ายันเราแสดงความคิดเห็นปกติในสังคมที่บิดเบี้ยว
สำนักข่าวประชาไทรายงานว่าช่วงเช้าก่อนที่ทั้งสองจะเข้าฟังคำพิพากษาในห้องพิจารณาคดีของศาลจังหวัดภูเขียว ประชาไทมีโอกาสพูดคุยกับทั้งสองคนถึงความคาดหวังต่อผลคำพิพากษาและหนึ่งใจคำกล่าวของไผ่-จตุภัทร์ เขากล่าวว่า “ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ เหตุการณ์เหล่านี้มันก็จะเกิดขึ้นอยู่ดี มันไม่ใช่พวกเรามาจากไหนก็ไม่รู้ การกดขี่ในสังคมไทยนั่นแหละที่สร้างนักต่อสู้ขึ้นมาหลายคน มีครั้งหนึ่งรังสิมันต์ โรม จะไปเรียนต่อต่างประเทศก็ไม่ให้เขาไป มันก็สู้จนถึงวันนี้ หลายคนจะไปเรียน ไปทำนั่นนี่ก็ไม่ให้ไป หลายคนก็ต้องสู้ คุณก็สร้างนักต่อสู้เรื่อยๆ เอง”
“ลองจินตนาการว่า ถ้าเราเป็นพลเมืองในประเทศอื่น สิ่งที่เราทำทั้งหมดก็ปกติ ไม่มีการดำเนินคดี มีการเลือกตั้งก็ไม่มี สว. ไม่มีศาลรัฐธรรมนูญที่จะมาทำลายเสียงของประชาชน แต่พอมันเป็นประเทศนี้มันกลายเป็นเรื่องผิดแปลกไปหมดเลย”
“ทุกคนที่ติดคุกอยู่ ที่โดนดำเนินคดีอยู่จากการแสดงความคิดเห็น มันไม่มีใครผิด แต่เราแสดงความคิดเห็นปกติในสังคมที่บิดเบี้ยว การใช้กฎหมายบิดเบี้ยว โครงสร้างบิดเบี้ยว อำนาจที่ไม่สมดุล มีการกดทับไม่ให้ความคิดอื่นอยู่ได้ในสังคม”
๐ ครูใหญ่หวังนิรโทษกรรมได้ แม้จะใช้กฎหมายที่มีตัวบทแต่คดีการเมืองเป็นไปตามนโยบายได้
ประชาไทรายงานว่า “เมื่อถามถึงความหวังเรื่องนิรโทษกรรมครูใหญ่บอกว่ามีความคาดหวังอยู่เพราะว่าคดีทางการเมืองแม้ว่าจะใช้กฎหมายที่มีตัวบทกำหนดไว้ แต่การใช้ไม่ได้เป็นไปตามตัวบทที่เขียน หากแต่เป็นไปตามนโยบาย บางคดียกฟ้องแล้วในศาลชั้นต้นเช่นคดีมาตรา 112 ของทิวากร (คดีสวมเสื้อเราหมดศรัทธาในสถาบันกษัตริย์) ที่ดูตามตัวบทกฎหมายอย่างไรก็ต้องยกฟ้อง แต่ในชั้นศาลอุทธรณ์กลับมีคำพิพากษาลงโทษ”
“อย่างเช่นคดีของผมที่ปารีณา (ไกรคุปต์) ไปแจ้งความไว้ ผ่านไป 3 ปีจนเรารู้สึกว่าคงไม่ดำเนินคดีแล้วเพราะตัวบริบทของคดีไม่น่าเข้าข่าย ณ ปัจจุบันคดียังอยู่ชั้นอัยการอยู่เลยแล้วเพิ่งส่งอัยการไปไม่กี่เดือนเอง ดังนั้นก็มองว่าเป็นเรื่องของนโยบายมากกว่าตัวบทกฎหมาย”