เดือนกันยายน 2567 ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อย่างน้อยหกคดีในจำนวนนี้ห้าคดีเป็นคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ซึ่งมีแนวโน้มว่า จำเลยเหล่านี้อาจจะไม่รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการสู้คดีในศาลสูง จนถึงวันที่ 1 กันยายน 2567 มีจำเลยคดีมาตรา 112 ถูกคุมขังอย่างน้อย 29 คน ในจำนวนนี้มี 18 คนที่คดียังไม่ถึงที่สุด ชวนประชาชนที่สนใจติดตามไปสังเกตการณ์คำพิพากษาเพื่อเป็นประจักษ์พยานและส่งกำลังใจให้จำเลยคดีมาตรา 112 รายละเอียดคดีนี้ดังนี้
รามิลทำ Performance Art ชี้เท้าไปทางรูป ร. 10
4 กันยายน 2567 เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดเชียงใหม่นัดรามิล-ศิวัญชลี วิธญเสรีวัฒน์ นักกิจกรรมทางการเมืองและศิลปินกลุ่ม“artn’t” ฟังคำพิพากษาอุทธรณ์ในคดีมาตรา 112 เหตุในคดีนี้ย้อนกลับไปช่วงต้นปี 2564 ศาลทยอยไม่ให้ประกันตัวนักกิจกรรมทางการเมือง ต่อมาวันที่ 1 พฤษภาคม 2564 รามิลแสดง Performance Art เพื่อไว้อาลัยกระบวนการยุติธรรม เขาปีนไปบนป้ายชื่อมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และใช้น้ำสีแดงสาดใส่ตัว แสดงท่าทางต่างๆ บนป้ายชื่อมหาวิทยาลัยที่ด้านบนมีพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ประดิษฐานอยู่ เขาระบุว่า “เป็นชีวิตที่บัดซบที่เราอยู่ในห้องแล้วอ่านข่าวอ่านอะไรช่วงนั้นก็เป็นช่วงที่เพนกวิน รุ้งยังอยู่ในคุก เป็นช่วงที่แม่สุต้องโกนหัว รู้สึกเป็นภาพที่มันบีบคั้นความรู้สึกเรา ก็ไปเพอร์ฟอร์มหน้าม.เราคิดด้วยซ้ำว่า ถ้าเราไปเพอร์ฟอร์มหน้าม. เราอาจจะโดนชาร์จก็ได้ เพราะว่า คอนเท็กซ์มันค่อนข้างที่จะดุ เซนส์ของเราทำกับป้ายหน้าม. ซึ่งมีพื้นที่แคบ พูดถึงความปวดร้าว เจ็บปวดในพื้นที่แคบ”
ต่อมาอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องคดี ตามคำฟ้องของอัยการระบุว่า เขามุ่งประสงค์ให้น้ำสีแดงกระเด็นไปเลอะพระบรมฉายาลักษณ์ด้านบนและท่าทางในการแสดงไม่ว่าจะการห้อยขา นั่งยอง ๆแสดงท่าครุฑ และนอนหงายใช้เท้าขวาชี้ขึ้นไปที่พระบรมฉายาลักษณ์เป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น หมิ่นประมาทและแสดงความอาฆาตมาดร้าย อย่างไรก็ตามวันที่ 8 พฤษภาคม 2566 ศาลจังหวัดเชียงใหม่พิพากษายกฟ้อง เห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์ยังชี้ไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการอาฆาตมาดร้าย ดูหมิ่น หรือหมิ่นประมาท อีกทั้งการแสดงของจำเลยไม่ได้เจาะจงตัวบุคคล ประกอบกับป้ายหน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นสถานที่ชุมนุมอยู่เป็นประจำ นอกจากนี้พยานโจทก์ได้เบิกความถึงคลิปวิดีโอภาพเคลื่อนไหวซึ่งเป็นพยานหลักฐานในคดี แต่ก็ไม่ปรากฏว่า มีการนำส่งเข้ามาในการพิจารณาคดีนี้ จึงทำให้พยานหลักฐานโจทก์ยังมีข้อสงสัย
บัสบาสโพสต์เฟซบุ๊กหมิ่นกษัตริย์สองข้อความ
4 กันยายน 2567 เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดเชียงรายนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีมาตรา 112 คดีที่สามของบัสบาส- มงคล ถิระโคตร นักกิจกรรมในจังหวัดเชียงราย ที่ผ่านมาเขาถูกดำเนินคดีมาตรา 112 รวมสามคดี โดยเป็นการโพสต์ข้อความบนโลกออนไลน์ทั้งหมด คดีที่หนึ่ง 25 ข้อความ และคดีที่สองอีกสองข้อความ สองคดีแรกศาลพิจารณาร่วมกัน โดยศาลจังหวัดเชียงรายลพิพากษาว่ามีความผิดใน 14 กรรม ที่เป็นข้อความเกี่ยวกับรัชกาลที่สิบและยกฟ้องอีก 13 กรรม ที่เป็นข้อความเกี่ยวกับอดีตกษัตริย์หรือไม่สามารถระบุตัวบุคคลได้ พิพากษาจำคุกกระทงละสามปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษให้เหลือกระทงละ 2 ปี รวมโทษจำคุก 28 ปี ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่า มีความผิดเพิ่ม 11 กระทง เห็นว่ามีการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นอดีตกษัตริย์รัชกาลที่เก้า ซึ่งมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ตีความไว้ ลงโทษจำคุกกระทงละสามปี ให้การเป็นประโยชน์ ลดเหลือกระทงละสองปี รวมจำคุก 22 ปี รวมโทษจำคุกทั้งหมดเป็น 50 ปี
สำหรับคดีที่สามที่กำลังจะมีคำพิพากษาในชั้นอุทธรณ์นี้เป็นคดีที่บัสบาสโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กสองข้อความเกี่ยวกับการใส่เสื้อสีดำไว้อาลัย พร้อมโพสต์ภาพรัชกาลที่สิบและโพสต์ภาพที่เขากำลังถือกรอบรูปภาพตัดต่อล้อเลียน ศาลจังหวัดเชียงรายเห็นว่า มีความผิดลงโทษจำคุกข้อความละสามปี ให้การเป็นประโยชน์ลดโทษหนึ่งในสามเหลือข้อความละสองปี รวมแล้วเฉพาะคดีมาตรา 112 บัสบาสจะต้องถูกจำคุกเป็นเวลา 54 ปี บัสบาสไม่ได้รับการประกันตัวมาตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม 2567 ซึ่งเป็นวันที่ศาลจังหวัดเชียงรายอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในสองคดีแรก จนถึงวันที่ 2 กันยายน 2567 เขาถูกคุมตัวมาแล้ว229 วัน
‘แต้ม’ ทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ที่อำเภอตระการพืชผล อุบลราชธานี
4 กันยายน 2567 เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดอุบลราชธานีนัด ‘แต้ม’ ฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ‘แต้ม’เป็นผู้ป่วยจิตเวช เขามีอาการทางจิตหลังปลดประจำการทหารเกณฑ์จากกองทัพเรือ ที่ผ่านมาเข้ารับการรักษาและมีบัตรประจำตัวผู้พิการประเภทสี่ วันที่ 6 พฤศจิกายน 2564 ‘แต้ม’ ทำลายป้ายพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่สิบ ในอำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี เขาระบุว่า มีอาการหูแว่วและได้ยินเสียงสั่งการจากเบื้องบน หลังถูกจับกุมพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาว่า ทำให้เสียทรัพย์และนำตัวไปฝากขังที่ศาลแขวงอุบลราชธานี ระหว่างที่กำลังดำเนินการขอปล่อยตัวชั่วคราวปรากฎว่ามีรถของสภ.ตระการพืชผลมารับตัว ‘แต้ม’ กลับไปโดยระบุว่า อัยการมีความเห็นให้แจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ทว่าเมื่อทนายความและแม่ของ ‘แต้ม’ เดินทางกลับไปที่สภ.ตระการพืชผลก็ได้รับคำยืนยันจากพนักงานสอบสวนว่าจะไม่แจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพิ่มเติม ท้ายที่สุดพนักงานสอบสวนยังไม่แจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพิ่มเติมและปล่อยตัว‘แต้ม’ กลับบ้านโดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์
ต่อมาวันที่ 3 สิงหาคม 2567 อัยการมีความเห็นสั่งฟ้อง ตามด้วยวันที่ 15 สิงหาคม 2566 ศาลจังหวัดอุบลราชธานี ยกฟ้องมาตรา 112 เห็นว่า การกระทำของจำเลยไม่ได้แสดงถึงการดูหมิ่นหรืออาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์แต่ลงโทษฐานทำให้เสียทรัพย์ เนื่องจากเห็นว่า จำเลยมีอาการเป็นโรคจิตเภทเรื้อรังมาสิบปี แต่ขณะเกิดเหตุไม่ถึงกับควบคุมตัวเองไม่ได้ ให้ลงโทษสถานเบาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 วรรคสอง จำคุกสามเดือน ปรับ 6,000 บาท โทษจำคุกและปรับให้รอการลงโทษไว้มีกำหนดห้าปี โดยกำหนดเงื่อนไขคุมประพฤติให้เข้ารับการรักษาอาการจิตเภทที่ รพ.พระศรีมหาโพธิ์ตลอดเวลาที่รอการลงโทษ และให้ชำระค่าเสียหายจำนวน 20,440 บาท
ไผ่และครูใหญ่ปราศรัย #ราษฎรออนทัวร์
13 กันยายน 2567 ศาลจังหวัดภูเขียวนัดไผ่-จตุภัทร์ บุญภัทรรักษาและครูใหญ่-อรรถพล บัวพัฒน์ฟังคำพิพากษาในคดีที่ทั้งถูกฟ้องในความผิดตามมาตรา 112 มาตรา 116 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และการใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับการอนุญาต จากการชุมนุม #ราษฎรออนทัวร์ ของกลุ่ม “ราษฎร” บริเวณหน้าโรงเรียนภูเขียวและหน้า สภ.ภูเขียว เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เดิมคดีนี้มีจำเลยร่วมอีกหนึ่งคนคือ ไมค์-ภาณุพงศ์ จาดนอก แต่ไม่สามารถติดตามตัวได้ ตามคำฟ้องกล่าวหาในสองประเด็นคือ เนื้อหาการปราศรัยโจมตีการทํางานของรัฐบาล เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก แก้ไขรัฐธรรมนูญ และให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ที่เข้าข่ายการกระทำหมิ่นประมาทกษัตริย์ตามมาตรา 112 และจําเลยทั้งสามกับพวกยังติดป้ายผ้าหน้าสถานีตํารวจภูธรภูเขียว มีข้อความว่า “ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์” “ผูกขาดวัคซีนหาซีนให้เจ้า” “ประยุทธ์ออกไป” “ร่างรัฐธรรมนูญใหม่” อันเข้าข่ายการกระทำยุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116
ในชั้นศาลจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่ยอมรับว่า เป็นผู้ปราศรัยตามวันเกิดเหตุจริง คำปราศรัยของครูใหญ่เขายืนยันว่ากล่าวเรียกร้องให้ “จำกัด” งบประมาณของสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ได้กล่าวว่าให้ “กำจัด” งบประมาณของสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามที่พยานโจทก์บางคนกล่าวหา และการปล่าวปราศรัยนั้นเป็นการเรียกร้องเรื่องจากเห็นความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับกฎหมายที่ขยายพระราชอำนาจในยุคของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลายฉบับ ส่วนคำปราศรัยของไผ่เขายืนยันว่า การกล่าวปราศรัยเนื่องมาจากพบเห็นความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมในสังคมไทย เห็นคนยากคนจนที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงทรัพยากร และการพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นการพูดถึงองค์กรที่มีองค์ประกอบหลายอย่างเกี่ยวข้องกัน ไม่ได้หมิ่นประมาทหรือให้ร้ายบุคคลใดบุคคลหนึ่งในฐานจะตัวบุคคล
ปาฏิหาริย์คอมเมนท์ใต้โพสต์ข่าวลือ ร. 10 ป่วยของสมศักดิ์ เจียมฯ
19 กันยายน 2567 ศาลอาญานัดปาฏิหาริย์ฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการคอมเมนท์ใต้โพสต์เฟซบุ๊กของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เกี่ยวกับข่าวลือเรื่องอาการประชวรของรัชกาลที่สิบ เหตุในคดีนี้สืบเนื่องมาจากวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 เฟซบุ๊ก “Somsak Jeamteerasakul” โพสต์ทำนองว่า มีใครสามารถยืนยันข่าวที่ว่า รัชกาลที่สิบทรงพระประชวรอยู่ที่ศิริราชได้บ้าง ปาฏิหาริย์จึงเข้าไปแสดงความคิดเห็นและโพสต์ภาพของรัชกาลที่สิบประกอบ สามวันถัดมาศาลอาญาอนุมัติหมายจับปาฏิหาริย์และจับกุมในวันที่ 27 ธันวาคม 2567 ตำรวจระบุด้วยว่า เคยออกหมายเรียกแล้วสองครั้งแต่ปาฏิหาริย์ไม่ไปพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียกจึงขอศาลออกหมายจับแทน อย่างไรก็ตามปาฏิหาริย์ไปไล่ย้อนดูวงจรปิดไม่พบว่า มีการมาติดหมายตามที่ตำรวจระบุ
ในชั้นศาลปาฏิหาริย์ให้การปฏิเสธ แต่ภายหลังในนัดสืบพยานโจทก์เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2566 ปาฏิหาริย์ได้แถลงขอกลับคำให้การเดิมจากปฏิเสธ เป็นรับสารภาพตามข้อกล่าวหา ศาลจึงให้งดการสืบพยาน และมีคำสั่งให้สืบเสาะและพินิจพฤติการณ์ของจำเลย ก่อนมีคำพิพากษาในวันที่ 23 พฤษภาคม 2566 ว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษบทหนักที่สุด คือ มาตรา 112 จำคุกสามปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง คงจำคุกหนึ่งปี หกเดือน เห็นว่าพฤติการณ์ของจำเลยมีความร้ายแรง กระทบต่อประมุขของประเทศ แม้จำเลยประกอบอาชีพสุจริตเลี้ยงดูครอบครัว ไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน และความประพฤติทั่วไปไม่ปรากฏข้อเสียหายร้ายแรงก็ตาม ก็ยังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะรอการลงโทษจำคุกจำเลย
‘ต้นไม้’ ขายปฏิทินเป็ดล้อเลียนกษัตริย์
25 กันยายน 2567 เวลา 9.00 น. ศาลอาญาตลิ่งชันนัด ‘ต้นไม้’ ฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีนี้สืบเนื่องจากเดือนพฤศจิกายน 2563 ช่วงที่รัฐสภากำลังจะมีการพิจารณาเพื่อลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญรวมเจ็ดร่าง กลุ่มผู้ชุมนุมราษฎรได้ประกาศว่า ไปปิดล้อมรัฐสภา ทั้งทางบก ทางน้ำและทางอากาศ โดยไฮไลท์ของการปิดล้อม “ทางน้ำ” คือการ “เดินทัพ” ของกองทัพเป็ดยางเป่าลมสีเหลืองราว 60 ตัวที่ผู้ชุมนุมขนเตรียมขนไปที่หน้ารัฐสภาเกียกกาย แต่ถูกสลายการชุมนุมเป็ดยางขนาดยักษ์ที่ผู้ชุมนุมตั้งใจนำมาใช้เป็นพร็อพประกอบการชุมนุมจึงถูกใช้เป็นโล่จำเป็น นอกจากนั้น ในวันเดียวกันก็มีเหตุปะทะระหว่างกลุ่มคนเสื้อเหลืองและผู้ชุมนุมที่บริเวณใกล้เคียง เหล่าเป็ดยางสีเหลืองนี้จึงถูกหยิบยืมมาใช้เป็นโล่กำบังจำเป็นอีกครั้ง ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าว เป็ดยางก็ได้รับการตั้งชื่อใหม่ว่า “พระบรมวงศ์เธอกรมหลวงเกียกกายราษฎรบริรักษ์” และกลายมาเป็นสัญลักษณ์แห่งการประท้วงของผู้ชุมนุมและมีคนนำไปผลิตเป็นสินค้าประจำม็อบ ไม่ว่าจะเป็นกิ๊บติดผม เสื้อ พวงกุญแจ พัด สติ๊กเกอร์ ตุ๊กตา
ทั้งนี้สินค้าอย่างปฏิทินเป็ดกลับนำมาซึ่งการตั้งข้อหาตามมาตรา112 เนื่องจากถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็นการล้อเลียนรัชกาลที่สิบ แม้เนื้อหาในปฏิทินดังกล่าวจะไม่ได้มีการเอ่ยชื่อบุคคลใด หรือมีตราสัญลักษณ์ทางการของสถาบันพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด เดิมคดีนี้มีจำเลยสองคนคือ ‘ต้นไม้’ และพิชญ แต่ระหว่างการพิจารณาคดีไม่สามารถติดตามตัวพิชญได้ ตามคำฟ้องระบุการกระทำที่เข้าข่ายหมิ่นประมาทกษัตริย์เช่น เดือนมกราคม 2564 มีข้อความว่า “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ” และ OK1 ห้อยที่คอรูปการ์ตูนเป็ดสีเหลือง และมีภาพการ์ตูนบนรูปสุนัขว่า “ทรงพระเจริญ” และเดือนพฤษภาคม 2564 มีรูปการ์ตูนเป็ดสีเหลืองและตัวเลข 10 บนตัว พร้อมข้อความ “ไอโอนะ ยูโอไหม?” ต่อมาวันที่ 7 มีนาคม 2566 ให้ลงโทษจำคุก ‘ต้นไม้’ ผู้จัดส่งปฏิทินดังกล่าวเป็นเวลาสามปี โดยไม่รอลงอาญา