พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (Personal Data Protection Act: PDPA) ประกาศใช้เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2562 แต่ได้กำหนดให้หมวดที่สำคัญซึ่งเกี่ยวกับเนื้อหาการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและการกำหนดโทษกรณีที่มีการละเมิดกฎหมายให้มีผลบังคับใช้ใน ‘ปีถัดไป’ นับแต่ประกาศ กล่าวคือ กฎหมายทั้งฉบับจะมีผลใช้บังคับอย่างเต็มรูปแบบในวันที่ 28 พฤษภาคม 2563 โดยการกำหนดให้ใช้บังคับช้าออกไปก็เพื่อให้องค์กรทั้งรัฐและเอกชนที่จัดเก็บ ใช้ รวบรวมข้อมูลเป็นจำนวนมากมีเวลาเตรียมตัวเป็นเวลาหนึ่งปีเต็ม
13 พฤษภาคม 2563 ก่อนถึงกำหนดบังคับใช้สองสัปดาห์ รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีรับทราบถึงความจำเป็นที่จะออกพระราชกฤษฎีกาขยายเวลาการบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ในส่วนการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ออกไปอีก 1 ปี ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอเพื่อบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน รวมถึงประชาชน เนื่องจากหากมีการบังคับใช้ตามกำหนดเวลาเดิมในขณะที่ทุกภาคส่วนยังไม่พร้อม
หลังจากมีกระแสข่าวนี้ออกมาก็มีเสียงคัดค้านจากประชาชนที่ต่างนับวันรอให้สิทธิในข้อมูลได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นรูปธรรม และยังมีปัญหาทางกฎหมายด้วยว่า คณะรัฐมนตรีมีอำนาจตามกฎหมายที่จะขยายเวลาการบังคับใช้ออกไปอีกโดยจัดทำเป็นพระราชกฤษฎีกาได้หรือไม่ เพราะพระราชกฤษฎีกาเป็นกฎหมายลำดับรองที่ไม่น่ามีผลเปลี่ยนแปลงกฎหมายระดับพระราชบัญญัติได้
อย่างไรก็ดี ในวันที่ 21 พฤษภาคม 2563 ได้มีการประกาศพระราชกฤษฎีกา ไม่ใช่การเลื่อนการใช้บังคับแต่เป็นการกำหนดหน่วยงานและกิจการที่ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 พ.ศ. 2563 โดยกำหนดให้หน่วยงานภาครัฐและองค์กรธุรกิจรวม 22 กิจการไม่ต้องอยู่ภายใต้บังคับ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2563 ถึง 31 พฤษภาคม 2564 โดยมีกิจการดังต่อไปนี้
- หน่วยงานของรัฐ
- หน่วยงานของรัฐต่างประเทศและองค์การระหว่างประเทศ
- มูลนิธิ สมาคม องค์กรศาสนา และองค์กรไม่แสวงหากำไร
- กิจการด้านเกษตรกรรม
- กิจการด้านอุตสาหกรรม
- กิจการด้านพาณิชยกรรม
- กิจการด้านการแพทย์และสาธารณสุข
- กิจการด้านพลังงาน ไอน้ำ น้ำ และการกำจัดของเสีย รวมทั้งกิจการที่เกี่ยวข้อง
- กิจการด้านการก่อสร้าง
- กิจการด้านการซ่อมและการบำรุงรักษา
- กิจการด้านการคมนาคม ขนส่ง และการเก็บสินค้า
- กิจการด้านการท่องเที่ยว
- กิจการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม คอมพิวเตอร์ และดิจิทัล
- กิจการด้านการเงิน การธนาคาร และการประกันภัย
- กิจการด้านอสังหาริมทรัพย์
- กิจการด้านการประกอบวิชาชีพ
- กิจการด้านการบริหารและบริการสนับสนุน
- กิจการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิชาการ สังคมสงเคราะห์ และศิลปะ
- กิจการด้านการศึกษา
- กิจการด้านความบันเทิงและนันทนาการ
- กิจการด้านการรักษาความปลอดภัย
- กิจการในครัวเรือนและวิสาหกิจชุมชน ซึ่งไม่สามารถจำแนกกิจกรรมได้อย่างชัดเจน
ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลจะมีผลบังคับใช้ตามกำหนด แต่จะใช้เฉพาะกับบุคคลหรือกิจการนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ 22 ประเภทนี้ และไม่ใช้กับกลุ่มกิจการที่ได้รับการยกเว้นตามมาตรา 4 อีก เช่น บริษัทข้อมูลเครดิต กิจการสื่อมวลชน ฯลฯ หลักการสำคัญที่จะใช้บังคับ คือ การเก็บรวบรวม การใช้ หรือการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นจะทำได้ก็ต่อเมื่อเจ้าของข้อมูลได้ให้ความยินยอมโดยชัดแจ้งไว้เป็นหนังสือลายลักษณ์อักษร ทำผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ทำระบบกดให้ความยินยอมหรือไม่ให้ความยินยอม หรือหากไม่สามารถใช้สองวิธีข้างต้นได้ก็สามารถใช้วิธีอื่นได้ เช่น การขอความยินยอมปากเปล่าเพื่ออัดเสียงการสนทนาทางโทรศัพท์ ในการขอความยินยอมต้องแจ้งวัตถุประสงค์ของการเก็บรวบรวม การใช้ หรือการเปิดเผยข้อมูลให้เจ้าของข้อมูลทราบด้วย
ผลจากพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ทำให้ 22 กิจการไม่ต้องอยู่ภายใต้ของกฎหมายเป็นเวลาอีกอย่างน้อยหนึ่งปี การจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคล (Personal Data) เช่น เลขบัตรประจำตัวประชาชน ที่อยู่ และข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความอ่อนไหว (Sensitive Data) เช่น ความคิดเห็นทางการเมือง เชื้อชาติ ศาสนา ข้อมูลด้านสุขภาพ ในระยะเวลาหนึ่งปีนี้อาจยังไม่ต้องได้รับความยินยอมโดยชัดแจ้งจากเจ้าของข้อมูลตามมาตรฐานของ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลหรือไม่ต้องจัดเก็บโดยอาศัยฐานทางกฎหมาย (Lawful Basis) และ 22 กิจการยังไม่ต้องปฏิบัติตามคำขอของเจ้าของข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นการคัดค้านการเก็บรวบรวมข้อมูล การขอให้ลบหรือทำลายข้อมูล การขอให้ระงับการใช้ข้อมูลส่วนบุคคล
ในระหว่างหนึ่งปีนี้ หาก 22 กิจการ ใช้หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลที่เป็นข้อมูลอ่อนไหวโดยไม่มีเหตุที่ชอบด้วยกฎหมาย หรือนอกไปจากวัตถุประสงค์ที่ได้แจ้งไว้ หรือโอนข้อมูลอ่อนไหวไปยังต่างประเทศโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นเกิดความเสียหาย เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ก็ยังไม่ต้องรับผิดทางอาญาตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้
และยังไม่ต้องรับผิดในโทษปรับทางปกครอง ในกรณีต่อไปนี้
- เก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลโดยปราศจากฐานทางกฎหมายหรือผิดไปจากวัตถุประสงค์การใช้ข้อมูลที่ได้แจ้งแก่เจ้าของข้อมูลไว้
- เก็บข้อมูลจากแหล่งอื่นที่ไม่ใช่เจ้าของข้อมูลโดยตรงที่ต้องห้ามตามกฎหมาย
- ไม่แจ้งเจ้าของข้อมูลทั้งในกรณีเก็บข้อมูลจากเจ้าของข้อมูลโดยตรงหรือโดยอ้อม
ฯลฯ
ช่วงระยะเวลาที่กฎหมายได้กำหนด ‘ข้อยกเว้น’ ให้ 22 กิจการไม่ต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมาย หากมีการใช้หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความอ่อนไหว จนก่อให้เกิดความเสียหายแก่ตัวเจ้าของข้อมูล เจ้าของข้อมูลสามารถใช้สิทธิในทางแพ่งฟ้องละเมิดเพื่อเรียกค่าเสียหายได้ ทั้งนี้ ภาระในการพิสูจน์ถึงความเสียหายอาจตกอยู่ที่ตัวเจ้าของข้อมูลเอง และความรับผิดของ 22 กิจการดังกล่าวมีเพียงการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายที่เกิดขึ้นตามที่พิสูจน์ได้จริงเท่านั้น ไม่ต้องรับผิดในทางอาญาหรือโทษปรับทางปกครองแม้ว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นจะมีสาเหตุมาจาก 22 กิจการดังกล่าวก็ตาม