เลื่อนพิพากษาคดี ม.112 ของเก็ท-โสภณไป 29 ต.ค. 67 เหตุโจทก์แก้คำฟ้องหลังสืบพยานเสร็จสิ้นไปแล้ว

วันที่ 29 สิงหาคม 2567 เวลา 9.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 707 ศาลอาญานัดเก็ท-โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง ฟังคำพิพากษาในคดีหมายเลขคดีดำที่ อ.732/2566 จากกรณีการปราศรัยในกิจกรรมวันแรงงานสากลที่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2565 เก็ท-โสภณถูกฟ้องในคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ มาตรา 112 และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต คดีนี้เขาถูกกล่าวหารวมสี่ข้อความ โดยสามข้อความ มีเนื้อหากล่าวพาดพิงถึงเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ และสถาบันกษัตริย์ ก่อนศาลอ่านคำพิพากษา ศาลแจ้งแก่จำเลยว่าโจทก์ได้แก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้อง ซึ่งศาลได้อนุญาตแล้ว ทำให้ทนายจำเลยแถลงคัดค้านต่อศาล ศาลจึงมีคำสั่งเลื่อนการพิพากษาออกไปเป็นวันที่ 29 ตุลาคม 2567

112-Get

อัยการแก้ฟ้องเรื่องนับโทษต่อหลังพ้นเวลา ศาลอนุญาตระบุแก้ “เล็กน้อย

เวลา 9.00 น. เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์คุมตัวเก็ท-โสภณเข้ามาในห้องพิจารณาคดี ที่เท้าทั้งสองข้างกุญแจเท้าและโซ่ล่ามไว้ด้วย บรรยากาศในห้องพิจารณาคดีเต็มไปด้วยความอบอุ่นจากครอบครัวที่มาเฝ้ารอที่จะได้พบเจอกับลูกชายและเข้าสวมกอดกันอีกครั้งในรอบหลายเดือน นอกจากนี้ยังมีประชาชนมาร่วมสังเกตการณ์และให้กำลังใจจำเลยเต็มห้องพิจารณา ทั้งยังมีตัวแทนสถานทูตเนเธอร์แลนด์เข้าร่วมสังเกตการณ์และสอบถามไปยังเก็ท-โสภณโดยมีใจความว่าคิดว่าผลการพิพากษาของวันนี้จะเป็นอย่างไร ซึ่งเขาตอบกลับว่า ผลของวันนี้ขึ้นอยู่แค่ลงโทษมากหรือลงโทษน้อย แต่คงไม่ยกฟ้องแน่ ๆ  

ต่อมาเวลา 9.45 น. ศาลขึ้นนั่งบัลลังก์และกล่าวว่า โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้อง (ป.วิแพ่ง มาตรา 180) เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2567 ซึ่งเป็นวันที่การสืบพยานเสร็จสิ้นไปแล้ว โดยมีใจความว่า เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรายละเอียดเกี่ยวกับหมายเลขคดีแดงในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ อย่างไรก็ดีตามหลักของกฎหมายการแก้ไขคำฟ้องจะต้องยื่นต่อศาลก่อนวันชี้สองสถานหรือก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวันหรือเข้าเงื่อนไขตามข้อยกเว้นและการนับโทษต่อต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 22 โดยมีหลักว่าโจทก์ต้องมีคำขอ ศาลจึงนับโทษต่อให้ 

จากคำร้องของโจทก์ ศาลมีคำสั่งว่าเป็นการแก้ไขเล็กน้อย อนุญาตให้แก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องได้ ทนายจำเลยขอคัดค้านว่าการขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องดังกล่าวเป็นการขอแก้ไขภายหลังการสืบพยานจำเลยเสร็จแล้ว มีความไม่ยุติธรรมแก่จำเลย เนื่องจากโจทก์ควรทราบดีก่อนหน้านี้จะอยู่แล้วว่าคดีหมายเลขดำที่ขอแก้ไขคำฟ้องดังกล่าวนั้น อย่างไรก็ตามศาลได้วินิจฉัยให้แก้ไขเพิ่มเติมได้ จึงขอให้เลื่อนการพิพากษาออกไป

อีกทั้งยังมีข้อคัดค้านจากพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ เป็นตัวแทนเข้ายื่นขอให้ยุติการกระทำ การปฏิบัติหรือการกระทำที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยอ้างเหตุว่า กรมราชทัณฑ์ใช้กุญแจเท้าล่ามขาทั้งสองของจำเลย เป็นการกระทำที่โหดร้าย ยำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ขอให้ศาลพิจารณายุติการกระทำดังกล่าวและหามาตรการอื่นที่เหมาะสม ด้านอัยการมาถึงห้องพิจารณาในเวลา 10.30 น. และแถลงว่า ไม่ประสงค์จะคัดค้าน ศาลพิเคราะห์แล้วว่าตามคำร้องศาลจะต้องพิจารณาวินิจฉัยคำร้องดังกล่าวก่อนพิพากษา จึงให้เลื่อนการพิพากษาเป็นวันที่ 29 ตุลาคม 2567

ไม่ว่าใครก็ล้วนรอผู้เป็นที่รักกลับบ้านทั้งนั้น

ในระหว่างรอคำสั่งศาล เก็ท-โสภณได้พูดคุยกับเพื่อนที่มาให้กำลังใจและอัปเดตสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะกรณีที่ กมธ.นิรโทษกรรมฯ สรุปรายงานส่งสภา โดยมีความเห็นว่า “ไม่สามารถหาข้อสรุปได้” ว่า ต้องรวม มาตรา 112 หรือไม่ เก็ท-โสภณให้สัมภาษณ์กับผู้สังเกตการณ์คดีโดยมีใจความว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมควรจะศึกษาว่ามันมีปัญหาจริงๆ หรือเปล่า ในฝั่งของคณะกรรมการที่ไม่เห็นด้วยกับการรวมมาตรา 112 ยังมองเห็นไม่ชัดหรืออย่างไร แต่เมื่อกระบวนการได้เข้ามาสู่สภาและอำนาจการตัดสินใจตกไปอยู่ที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้ว “จริงๆ แล้วก็..พูดกันตามตรงว่าก็คาดหวังว่า คุณก็เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มันจะใช้วิธีการทางสถิติง่ายๆพื้นฐานไม่ได้ ด้วยตรรกะที่ว่าคดีมาตรา 112 ผู้ถูกดำเนินคดีไม่ใช่ส่วนมากของสังคม ถ้าคิดเช่นนี้การที่น่านน้ำท่วม น่านก็เป็นเพียงจังหวัดหนึ่งในเจ็ดสิบเจ็ดจังหวัด ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรเหมือนกัน ถ้าคิดเช่นนี้มันก็ไม่ถูกต้อง นัยยะสำคัญคือถ้าหากคดีมาตรา 112 มันเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ คำถามคือ เราไม่สามารถแก้ไข หรือเราไม่สามารถสื่อสารอะไรกันได้เลยเหรอ ความห่างระหว่างสถาบันกษัตริย์กับประชาชนก็จะมากขึ้น ในเรื่องของความมั่นคง การที่ยังมีมาตรา 112 การที่ยังไม่เคลียร์คดี 112 มันคือการทำลายเสถียรภาพทางการเมืองไปด้วยซ้ำ จริงๆ ก็อยากจะคาดหวังกับ สส. แต่ถ้าดูจริงๆ เราก็รู้ว่า สส.ที่เข้ามาเป็นยังไง”

“ผมยังจำคำปราศรัยที่พูดตรงแยกราชประสงค์ได้ว่า ‘มันไม่ใช่แค่คุณอุ๊งอิ๊งที่รอพ่อกลับบ้าน มันยังมีผู้ลี้ภัยทางการเมืองคนอื่นๆ ที่รอกลับบ้านเหมือนกัน’ จนวันนี้พ่อคุณกลับบ้าน พ่อคุณโดน 112 พ่อคุณได้ประกัน พ่อคุณไม่ต้องเข้าคุกเลยสักวัน ในขณะที่พ่อแม่ผมและครอบครัวคนอื่นๆ ก็รอลูกเขากลับบ้านเหมือนกัน”

โทษหนัก 12 ปี มีโอกาสสูงที่เก็ท-โสภณต้องย้ายเข้าเรือนจำคลองเปรม

หลังผู้พิพากษาลงจากบัลลังก์ กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายจำเลยและทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้สัมภาษณ์ว่า คดีนี้มีความกังวลว่าศาลจะพิพากษาลงโทษสี่ข้อความเป็นสี่กรรม  ซึ่งจะทำให้เก็ท-โสภณต้องรับโทษอย่างน้อยที่สุดกรรมละสามปี รวมทั้งสิ้นเป็น 12 ปี ด้านเก็ท-โสภณเองก็ให้ความเห็นว่าต้องสู้เรื่องนี้เพราะเป็นปัญหาทางกฎหมาย การที่เขาพูดครั้งเดียวทำให้ถูกดำเนินคดีถึงสีกรรมนั้นเป็นความอยุติธรรม หากกฎหมายตีความเช่นนี้ผู้กระทำ ทำหนึ่งครั้งคือพูดหนึ่งชั่วโมงก็สามารถเอาผิดได้มากมาย

ทั้งนี้กรณีที่คดีของจำเลยรายหนึ่งๆ ถึงที่สุดหรือต้องโทษจำคุกที่ศาลชั้นต้นให้นับต่อกันรวมแล้วเท่ากับหรือมากกว่า 15 ปี จำเลยคนดังกล่าวจะถูกย้ายตัวไปยังเรือนจำกลางคลองเปรม ดังนั้นโทษจำคุกในคดีนี้อาจจะทำให้เก็ท-โสภณต้องย้ายเข้าไปยังเรือนจำคลองเปรม

เก็ท-โสภณกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า เดิมทีที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ภายใต้การนำของผู้อำนวยการเรือนจำ พิมพ์ญาณินท์ บุญรัศมี ได้เสนอกฎใหม่ให้เขียนจดหมายต้องห้ามเกินสิบห้าบรรทัดและห้ามรับและส่งจดหมายจากคนอื่นที่นอกเหนือจากรายชื่อ 1 ใน 10 ของญาติที่แจ้งไว้และให้รับส่งได้แค่วันละหนึ่งฉบับเท่านั้น ทำให้เป็นเรื่องยากที่จะปรึกษาคดีกับทนายความและสูญเสียกำลังใจในการใช้ชีวิต หากต้องไปอยู่ที่เรือนจำคลองเปรมมาตรการต่างๆ ก็เข้มงวดมากขึ้น ทำให้ชีวิตของเก็ท-โสภณอาจจะต้องตกอยู่ในอันตรายมากกว่าเดิม

RELATED TAGS

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage