วันที่ 27 สิงหาคม 2567 เวลา 9.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 714 ศาลอาญานัด อาย-กันต์ฤทัย คล้ายอ่อน ฟังคำพิพากษา หมายเลขคดีดำที่ อ.1262/2566 จากกรณีการถูกกล่าวหาว่าใช้เฟซบุ๊กเผยแพร่ข้อความ รูปภาพ และวิดีโอ บิดเบือนให้ร้ายโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ ในช่วงระหว่างวันที่ 8 กุมภาพันธ์ถึงวันที่ 1 เมษายน 2565 รวมจำนวนแปดโพสต์ โดยระบุว่าข้อความและภาพดังกล่าวเป็นกระทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศในหลวงรัชกาลที่สิบบิดเบือนข้อเท็จจริงอันเป็นการให้ร้ายพระมหากษัตริย์อันเป็นสถาบันหลักของชาติที่ประชาชนเคารพเทิดทูน เจ้าพนักงานกองบังคับการตำรวจสันติบาล 2 โดย พ.ต.ท.แทน ไชยแสง ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้สืบสวนและตรวจสอบการกระทำความผิด ก่อนได้แจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน สน.ลาดพร้าว
แม้เจ็บป่วยไม่เป็นเหตุให้ได้รับการลดโทษ
เวลา 09.39 น. บรรยากาศที่ศาลมีประชาชนมาร่วมสังเกตการณ์และให้กำลังใจจำเลยเต็มห้องพิจารณา หลังศาลขึ้นนั่งบัลลังก์ ศาลเริ่มอ่านรายงานการสืบเสาะโดยมีใจความว่า ตามที่พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะได้ข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพร่างกายและภาวะแห่งจิตของจำเลย พบว่าจำเลยมีภาวะเป็นโรคซึมเศร้า ได้เข้ารักษาตัวครั้งแรกในปี 2562 ที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาล หลังจากนั้นรักษาอาการต่อเนื่องเรื่อยมาโดยไปพบแพทย์เฉลี่ยเดือนละ 2 ครั้งและรับยามารับประทานทุกวัน ปัจจุบันแพทย์วินิจฉัยว่ามีอาการ มีอารมณ์ดิ่ง ตามความเห็นแพทย์ ลงวันที่ 24 กรกฎาคม 2567
ทั้งนี้พบประวัติการกระทำความผิด 3 ครั้ง
๐ ครั้งที่ 1 เจ้าพนักงานตำรวจ สถานีตำรวจนครบาลดินแดง จับกุมจำเลยดำเนินคดีเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2564 ข้อหาร่วมกันชุมนุมฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินและใช้กำลังประทุษร้ายเจ้าพนักงาน ปัจจุบันคดีอยู่ในชั้นสอบสวน
๐ ครั้งที่ 2 เจ้าพนักงานตำรวจ กองกับการ 1 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) จับกุมจำเลยดำเนินคดีเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2565 ในข้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทหรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ปัจจุบันคดีอยู่ในชั้นพนักงานสอบสวน
๐ ครั้งที่ 3 เจ้าพนักงานตำรวจ สถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ จับกุมจำเลยดำเนินคดีเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2566 ในข้อหาร่วมกันจัดชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุม คดีดังกล่าวพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง
ศาลกล่าวต่อว่าความในคดีนี้เป็นความผิดที่จำเลยโพสต์ข้อความ 8 ข้อความ จำเลยให้การสารภาพว่า จำเลยไม่ได้รับค่าจ้างแต่อย่างใด แต่เป็นการแสดงออกเพื่อให้เพื่อนๆ ในกลุ่มของจำเลยยอมรับในตัวจำเลย ซึ่งจำเลยกระทำไปโดยขาดการยั้งคิด ทำให้กระเทือนเบื้องยุคลบาท จำเลยได้สำนึกผิดต่อการกระทำดังกล่าวแล้วและจะไม่กระทำความผิดซ้ำต่อไป
โทษจำคุก 24 ปี หนักที่สุดเป็นลำดับที่ 10 ของคดี ม.112
หลังจากอ่านรายงานการสืบเสาะ ศาลอ่านคำพิพากษา ซึ่งมีเนื้อหาโดยสรุปว่า คดีนี้จำเลยถูกฟ้องว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) รวม 8 กรรม เห็นว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 112 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุกกรรมละ 3 ปี รวม 8 กรรม จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกกรรมละ 1 ปี 6 เดือน รวมจำคุกทั้งสิ้น 8 ปี 48 เดือน ไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ
ภายหลังผู้พิพากษาอ่านคำพิพากษาแล้วเสร็จ อาย-กันต์ฤทัยยังอยู่ในห้องพิจารณาคดีต่ออีกครู่หนึ่งเพื่อพูดคุยกับครอบครัว เพื่อน และประชาชนที่เดินทางมาร่วมฟังคำพิพากษา หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้เข้ามาควบคุมตัวเธอลงไปที่ห้องเวรชี้ ตลอดระยะทาง ครอบครัวและเพื่อนต่างเข้าสวมกอด อาย-กันต์ฤทัยพร้อมกับร่ำลากันด้วยน้ำตา
ทั้งนี้ ทนายความได้ยื่นประกันกันต์ฤทัยระหว่างอุทธรณ์ด้วยหลักทรัพย์ 600,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ ต่อมา ศาลอาญามีคำสั่งส่งคำร้องให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณา ซึ่งคาดว่าใช้เวลา 2-3 วัน ระหว่างนี้กันต์ฤทัยจะถูกส่งตัวไปคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลางเพื่อรอฟังคำสั่ง ส่งผลให้มีผู้ต้องขังคดีทางการเมืองเพิ่มขึ้นอีก 1 ราย เป็นอย่างน้อย 43 ราย ในจำนวนนี้เป็นคดีมาตรา 112 เกินครึ่ง คือ 29 ราย
การพิพากษาลงโทษ 24 ปี ก่อนลดโทษ ทำให้กรณีของ อาย-กันต์ฤทัยเป็นโทษหนักที่สุดเป็นอันดับสิบเท่าที่มีการบันทึกไว้ได้ โดยโทษสูงที่สุดเป็นของป้าอัญชันที่ 87 ปี จาก 29 กรรม
นอกจากคดีนี้แล้ว อาย-กันต์ฤทัยยังมีคดีมาตรา 112 อีกคดีหนึ่ง ซึ่งมี อานนท์ กลิ่นแก้ว จากกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เป็นผู้กล่าวหาไว้ที่ บก.ปอท. เมื่อปี 2565 จากกรณีโพสต์เฟซบุ๊ก 2 ข้อความ ปัจจุบันคดีนี้ยังอยู่ในชั้นสอบสวน