สว. 67 : ทำความรู้จัก 200 สว. ชุดใหม่ ที่มาจากระบบ “เลือกกันเอง”

หลังผ่านการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในระบบ “เลือกกันเอง” ระดับประเทศ เมื่อ 26 มิถุนายน 2567 กินเวลาร่วมสองสัปดาห์ 10 กรกฎาคม 2567 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ประกาศผลการเลือก สว. 200 คน พร้อมบัญชีสำรองอีก 99 คน โดย สว. ชุดใหม่นี้ปฏิญาณตนในที่ประชุมวุฒิสภาในวันที่ 23 กรกฎาคม 2567 พร้อมกับเลือกประธานและรองประธานวุฒิสภาในวันเดียวกัน

สว. ชุดใหม่ ที่มีที่มาจากการ “เลือกกันเอง” นี้ ไม่มีอำนาจพิเศษอย่างการเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) เหมือน สว. ชุดพิเศษ แต่ยังมีอำนาจสำคัญ อาทิ การแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา หรือการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อเปิดทางไปสู่การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ จำเป็นต้องใช้เสียง สว. โหวตเห็นชอบอย่างน้อยหนึ่งในสามของจำนวน สว. ทั้งหมด หรือคิดเป็น 67 เสียง การพิจารณาร่างกฎหมาย การให้ความเห็นชอบผู้มาดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการองค์กรอิสระ ซึ่งภายในวาระห้าปีของ สว. ชุดนี้จะสามารถเคาะเลือกผู้มาดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญรวมถึงกรรมการองค์กรอิสระได้เกินครึ่ง การให้ความเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญในหน่วยงานรัฐตามที่กฎหมายกำหนด อาทิ ประธานศาลปกครองสูงสุดและตุลาการศาลปกครองสูงสุด อัยการสูงสุด ฯลฯ รวมถึงการตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหารผ่านการตั้งกระทู้ถาม และการอภิปรายทั่วไป

ชวนทำความรู้จัก สว. ชุดใหม่ ที่ผู้สมัครเลือกกันเอง และมาทำหน้าที่ผู้แทนปวงชนชาวไทย

ระบบเลือกกันเอง สว. ไม่ใช่ตัวแทนพื้นที่ 13 จังหวัดไร้ผู้สมัครนั่งสภาสูง

ระบบ “เลือกกันเอง” ที่ออกแบบโดยคนเขียนรัฐธรรมนูญ 2560 นำโดยมีชัย ฤชุพันธุ์ เคยใช้อย่างย่อมมาก่อนแล้ว กับการแต่งตั้ง สว. ชุดพิเศษ 250 คน ในจำนวนดังกล่าวมี 50 คนที่มาจากการเลือกกันภายในกลุ่ม เลือกกันเองให้เหลือ 200 คน และนำรายชื่อให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เคาะเลือกเหลือ 50 คนพร้อมชื่อสำรองอีก 50 คน โดยกระบวนการดังกล่าวเกิดขึ้นในปี 2561 ระบบเลือกกันเองอย่างย่อมตามบทเฉพาะกาลของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 (พ.ร.ป.สว. ฯ) แบ่ง สว. ออกเป็น 10 กลุ่ม ผู้สมัครสามารถสมัครได้ด้วยตนเองหรือโดยได้รับหนังสือแนะนำจากองค์กรไม่แสวงหากำไรก็ได้ ส่วนกระบวนการเลือกแบ่งออกเป็นสามระดับ ได้แก่ ระดับอำเภอ จังหวัด ประเทศ ในแต่ละระดับให้ผู้สมัครเลือกกันเองภายในกลุ่ม

ขณะที่กระบวนการ “เลือกกันเอง” ของสว. 2567 นี้เป็นการเลือก “เต็มรูปแบบ” โดยแบ่ง สว. ออกเป็น 20 กลุ่ม กลุ่มละ 10 คน รวมมี 200 คน

  1. กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง
  2. กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม
  3. กลุ่มการศึกษา
  4. กลุ่มการสาธารณสุข
  5. กลุ่มอาชีพทำนา ทำไร่
  6. กลุ่มอาชีพทำสวน เลี้ยงสัตว์ ประมง
  7. กลุ่มลูกจ้าง ผู้ใช้แรงงาน
  8. กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม อสังหาริมทรัพย์ พลังงาน
  9. กลุ่มผู้ประกอบกิจการ SMEs
  10. กลุ่มผู้ประกอบกิจการอื่น
  11. กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว
  12. กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม
  13. กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี
  14. กลุ่มสตรี
  15. กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น
  16. กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง นักกีฬา
  17. กลุ่มประชาสังคม องค์กรสาธารณประโยชน์
  18. กลุ่มสื่อสารมวลชน นักเขียน
  19. กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ
  20. กลุ่มอื่น ๆ

แม้การเลือกจะแบ่งออกเป็นสามระดับ ได้แก่ อำเภอ จังหวัด ประเทศ เช่นเดียวกันกับการเลือก 50 สว. ชุดพิเศษในปี 2561 แต่กระบวนการเลือก สว. 2567 มีความซับซ้อนกว่ามาก ในแต่ละระดับจะมีการเลือกสองรอบ คือ 1) รอบเลือกกันเอง : เลือกกันเองภายในกลุ่ม 2) รอบเลือกไขว้ : เลือกผู้สมัครกลุ่มอื่นภายในสายเดียวกัน สว. 2567 200 คน จึงเป็น สว. ชุดแรกจากระบบ “เลือกกันเอง” แบบเต็มรูปแบบ

ถึงแม้ว่าพื้นที่อำเภอ-จังหวัด จะมีส่วนสัมพันธ์ต่อกระบวนการเลือก สว. แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้สมัครจาก 77 จังหวัดทั่วประเทศไทย (รวมกรุงเทพมหานคร) จะได้เข้ามานั่งในสภาสูง เพราะผู้สมัครที่ได้คะแนนสูงสุดสองคนแรกในแต่ละกลุ่มจากทุกจังหวัด ยังต้องเข้าสู่สมรภูมิการเลือกระดับประเทศอีกในรอบเลือกกันเองจนเหลือผู้ได้คะแนนสูงสุด 40 คนแรกของแต่ละกลุ่ม รวมทั้งหมด 800 คน และรอบเลือกไขว้จนได้ สว. ตัวจริงกลุ่มละ 10 คน และตัวสำรองกลุ่มละห้าคน หมายความว่าผู้สมัครที่มาจากบางจังหวัดที่ไม่ได้รับเลือกก็จะ “ตกรอบ” ไป เนื่องจากระบบการเลือก สว. นี้ไม่ได้ออกแบบมาให้ผู้สมัครเป็นตัวแทนการเลือกของประชากรในพื้นที่เหมือนการเลือกตั้ง สว. ตามรัฐธรรมนูญ 2540 และการเลือกตั้ง สว. (ผสมสรรหา) ตามรัฐธรรมนูญ 2550

เมื่อสำรวจในมิติของจังหวัด พบว่ามี 13 จังหวัดที่ไม่มีผู้สมัคร สว. ได้เป็น 200 สว. เลย ได้แก่

  1. กาฬสินธุ์
  2. กำแพงเพชร
  3. ตาก
  4. นราธิวาส
  5. เพชรบูรณ์
  6. มหาสารคาม
  7. แม่ฮ่องสอน
  8. ร้อยเอ็ด
  9. ลพบุรี
  10. สกลนคร
  11. สระแก้ว
  12. อุดรธานี
  13. อุตรดิตถ์

สว. บุรีรัมย์เยอะสุด 14 คน กทม. รองมา 9 คน อยุธยา-สุรินทร์ ติดท็อปสาม 7 คน

ขณะที่อีก 64 จังหวัดที่มีผู้สมัคร สว. ได้เป็นหนึ่งใน 200 สว. ตัวจริง แต่ละจังหวัดก็มีผู้สมัคร สว. จำนวนแตกต่างกันไป โดยผู้สมัคร สว. จากจังหวัดบุรีรัมย์มีจำนวนสูงสุด คือ 14 คน ตามมาด้วยกรุงเทพมหานครเก้าคน รองลงมาคือพระนครศรีอยุธยาและสุรินทร์ เจ็ดคน ตามมาด้วยสงขลาและสตูล มีสว. จังหวัดละหกคน

ขณะที่จังหวัดที่เหลือมีหกจังหวัดที่มี สว. จังหวัดละห้าคน ห้าจังหวัดที่มี สว. จังหวัดละสี่คน 15 จังหวัด ที่มี สว. สามคน อีก 24 จังหวัดมี สว. จังหวัดละสองคน และแปดจังหวัด มีสว. จังหวัดละหนึ่งคน

จังหวัดที่มี สว. จังหวัดละห้าคน

  1. นครศรีธรรมราช
  2. เลย
  3. ศรีสะเกษ
  4. อ่างทอง
  5. อำนาจเจริญ
  6. อุทัยธานี

จังหวัดที่มี สว. จังหวัดละสี่คน

  1. กระบี่
  2. เพชรบุรี
  3. สมุทรสงคราม
  4. สมุทรสาคร
  5. สุราษฎร์ธานี

จังหวัดที่มี สว. จังหวัดละสามคน

  1. กาญจนบุรี
  2. ฉะเชิงเทรา
  3. ชัยภูมิ
  4. ตราด
  5. นครนายก
  6. นครพนม
  7. นนทบุรี
  8. ปราจีนบุรี
  9. พังงา
  10. พิจิตร
  11. ยะลา
  12. ระยอง
  13. ราชบุรี
  14. สิงห์บุรี
  15. สุพรรณบุรี

จังหวัดที่มี สว. จังหวัดละสองคน

  1. ขอนแก่น
  2. จันทบุรี
  3. ชลบุรี
  4. ชัยนาท
  5. เชียงราย
  6. เชียงใหม่
  7. นครปฐม
  8. นครราชสีมา
  9. นครสวรรค์
  10. น่าน
  11. บึงกาฬ
  12. ปทุมธานี
  13. ประจวบคีรีขันธ์
  14. ปัตตานี
  15. พัทลุง
  16. ภูเก็ต
  17. มุกดาหาร
  18. ยโสธร
  19. ระนอง
  20. ลำพูน
  21. สมุทรปราการ
  22. สุโขทัย
  23. หนองบัวลำภู
  24. อุบลราชธานี

จังหวัดที่มี สว. จังหวัดละหนึ่งคน

  1. ชุมพร
  2. ตรัง
  3. พะเยา
  4. พิษณุโลก
  5. แพร่
  6. ลำปาง
  7. สระบุรี
  8. หนองคาย

สภาพี่ผู้ใหญ่ สว. 67 “เกินครึ่ง” เป็นคนวัยเกษียณ

หนึ่งในคุณสมบัติสำคัญของผู้ที่จะสมัคร สว. ในระบบเลือกกันเองนี้ได้ คือต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปีในวันสมัครรับเลือก หรือต้องเกิดก่อนวันที่ 20 พฤษภาคม 2527 ขึ้นไป นอกจากนี้ ผู้ที่สมัคร สว. ได้ ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามอีก 26 ประการ หนึ่งในนั้นคือต้องไม่เป็นข้าราชการ ไม่เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ หมายความว่า หากบุคลากรในหน่วยงานดังกล่าวจะสมัคร สว. ก็ต้องลาออก หรือไม่ก็ต้องเกษียณอายุราชการมาแล้ว

เมื่อสำรวจอายุของ 200 สว. เกินครึ่งเป็นคน “วัยเกษียณ” โดย สว. ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปจนถึงอายุมากสุดคือ 78 ปี รวมอยู่ที่ 116 คน (58%) ขณะที่ สว. ที่มีอายุต่ำกว่าวัยเกษียณ กล่าวคือมีอายุ 40 ถึง 59 ปี มีจำนวน 84 คน (42%)

ช่วงอายุจำนวน สว. 2567เปอร์เซ็นต์
40-494020%
50-594422%
60-6910251%
70-78147%

โดย สว. ที่มีอายุมากที่สุดในวุฒิสภา คือ พล.ต.ท.ยุทธนา ไทยภักดี กลุ่มที่ 20 อายุ 78 ปี อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 6 และอดีต สว. สรรหาตามรัฐธรรมนูญ 2550 ถึงสองสมัย ปี 2551 และปี 2554 รองลงมาคือ แล ดิลกวิทยรัตน์ กลุ่มที่ 7 อายุ 77 ปี อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามมาด้วย บุญส่ง น้อยโสภณ กลุ่มที่ 2 อายุ 75 ปี อดีตประธานศาลอุทธรณ์ภาค 7 และอดีต กกต. ปี 2556 และพรเพิ่ม ทองศรี กลุ่มที่ 13 อายุ 74 ปี ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทำงานคอมพิวเตอร์บริษัทในสหรัฐอเมริกา 28 ปี อดีตหัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยรัฐบาลเศรษฐา และเป็นพี่ชายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยในคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐา ทวีสิน

ขณะที่ สว. ที่มีอายุน้อยสุด 40 ปี มีจำนวนห้าคน ได้แก่

  1. วิธาวีร์ ประทุมสวัสดิ์ กลุ่มที่ 4 พยาบาล
  2. เตชสิทธิ์ ชูแก้ว กลุ่มที่ 6 เกษตรกร และเครือข่ายเกษตรอินทรีย์
  3. สุมิตรา จารุกำเนิดกนก กลุ่มที่ 9 เจ้าของกิจการร้านทองและโรงรับจำนำแห่งแรกของจังหวัดบึงกาฬ
  4. มณีรัฐ เขมะวงค์ กลุ่มที่ 9 นักธุรกิจผู้บุกเบิกและพัฒนาโรงงานแปรรูปผลไม้จากท้องถิ่นในจังหวัดเชียงรายสู่ระบบตลาดโมเดิร์นเทรด
  5. เทวฤทธิ์ มณีฉาย กลุ่มที่ 18 ผู้สื่อข่าวและอดีตบรรณาธิการบริหารสำนักข่าวประชาไท

สัดส่วน สว. 67 เพศหญิงเยอะกว่า สว. ชุดพิเศษ พบ 6 กลุ่มมีแต่ สว. “ชายล้วน”

ในการแบ่งกลุ่ม สว. ระบบเลือกกันเอง 20 กลุ่ม มีชัยและพรรคพวกออกแบบให้มีกลุ่มสตรี (กลุ่มที่ 14) เพื่อกำหนดโควตาสำหรับ สว. เพศหญิงโดยเฉพาะ เป็นการรับประกันว่าในสภาสูงจะมีสว. หญิงอย่างน้อย 10 คน (5%) อย่างไรก็ดี ผู้สมัคร สว. เพศหญิง ก็สามารถเลือกสมัครกลุ่มอื่นๆ นอกจากกลุ่มสตรีได้เช่นกันหากมีประสบการณ์หรือประกอบอาชีพในกลุ่มนั้นๆ มาไม่น้อยกว่า 10 ปี

ย้อนกลับไป สว. เลือกกันเองปี 2561 ตามบทเฉพาะกาลของ พ.ร.ป.สว. ฯ ก็กำหนดให้มีสว. กลุ่มสตรีด้วยเช่นกัน แต่ถูกมัดรวมเป็นกลุ่มเดียวกับ ผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น ประชาสังคม องค์กรสาธารณประโยชน์ ไม่ได้กำหนดแยกกลุ่มสตรีออกมาเหมือน สว. 2567

หากเทียบสัดส่วนสว. หญิงในวุฒิสภาแล้ว สว. 2567 มีสัดส่วนของผู้หญิงเยอะกว่า สว. ชุดพิเศษ โดย สว. 2567 มี สว. หญิงรวมทั้งหมด 45 คนหรือคิดเป็น 22.5% ขณะที่ สว. ชุดพิเศษ จากการสำรวจและทำข้อมูลในปี 2565 พบว่ามี สว. หญิงเพียง 26 คนหรือ 10.4%

(***หมายเหตุ : สัดส่วนเพศของ สว. ชุดพิเศษ ภายหลังเดือนมีนาคม 2565 จนถึงวันที่ สว. ชุดพิเศษพ้นจากตำแหน่ง อาจมีการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากมีผู้สิ้นสมาชิกภาพ เช่น เสียชีวิต ลาออก)

 สว. ชุดพิเศษ (250 คน) (***ข้อมูลในเดือนมีนาคม 2565)สว. 2567 (200 คน)
เพศชาย224 คน (89.6%)155 คน (77.5%)
เพศหญิง26 คน (10.4%)45 คน (22.5%)

เมื่อแยกพิจารณารายกลุ่ม นอกจากกลุ่ม 14 กลุ่มสตรีแล้ว กลุ่มที่มี สว. หญิงมากสุดคือกลุ่มที่ 9 กลุ่มผู้ประกอบกิจการ SMEs มี สว. หญิงจำนวนหกคน ตามมาด้วยกลุ่มที่ 12 กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม มีสว. หญิงห้าคน และกลุ่ม 5 กลุ่มอาชีพทำนา ทำไร่ มี สว. หญิงสี่คน

อย่างไรก็ดี มีหกกลุ่มที่ไม่มี สว. หญิงเลย มีแต่ สว. “ชายล้วน” ได้แก่ กลุ่มที่ 1 กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง กลุ่มที่ 2 กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม กลุ่มที่ 3 กลุ่มการศึกษา กลุ่มที่ 8 กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม อสังหาริมทรัพย์ พลังงาน กลุ่มที่ 13 กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และกลุ่มที่ 15 กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น

สว. 2567 (กลุ่มละ 10 คน)
กลุ่มที่เพศชาย (คน)เพศหญิง (คน)
110
210
310
473
564
691
773
810
946
1091
1182
1255
1310
1410
1510
1682
1773
1882
1982
2091
รวม15545

อย่างไรก็ดี แม้สัดส่วน สว. 2567 เพศหญิงจะเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ สว. ชุดพิเศษ แต่หากย้อนเปรียบเทียบข้อมูลจำนวนผู้สมัคร สว. ในแต่ละระดับ จะพบว่าสัดส่วนผู้หญิงในระดับอำเภอ-จังหวัด-ประเทศ ไปจนถึง สว. ตัวจริง 200 คน ลดลงเรื่อยๆ หรือกล่าวได้อีกอย่างคือ ในสนามการเลือก สว. มีสัดส่วนผู้สมัครหญิงหลุดออกจากระบบเลือกมากกว่าผู้ชาย

***หมายเหตุ : ข้อมูลตัวเลขผู้สมัครคือข้อมูลที่ iLaw รวบรวมจากข้อมูลของ กกต. ภายหลังการรวบรวมข้อมูล มีผู้สมัครบางรายที่ถูกลบรายชื่อ ทำให้จำนวนตัวเลขผู้สมัครแต่ละระดับอาจไม่ถูกต้องกับรายชื่อจริง 100%

 รวมชายหญิง
ระดับอำเภอ46,20526,779 คน (57.96%)19,426 คน (42.04%)
ระดับจังหวัด23,64515,105 คน (63.88%)8,540 คน (36.12%)
ระดับประเทศ3,0002,164 คน (72.13%)836 คน (27.87%)
200 สว. ตัวจริง200155 คน (77.5%)45 คน (22.5%)

ห้ามแค่ สว. ตามรธน. 60 พบ 5 อดีต สว. เลือกตั้ง – สรรหา ได้เป็น สว. เลือกกันเองอีกสมัย

นอกจากการออกแบบที่มาของวุฒิสภาให้ซับซ้อน กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นำโดยมีชัย ฤชุพันธุ์ ยังออกแบบให้ สว. ชุดนี้เกี่ยวพันกับพรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้น้อยที่สุด และพยายามออกแบบไม่ให้เครือญาติของนักการเมืองเข้ามาเป็น สว. จะเห็นได้จากการกำหนดลักษณะต้องห้ามสำหรับผู้สมัคร สว. หลายประการ เช่น

  • ต้องไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง
  • หากเป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งต่อไปนี้ ต้องเว้นวรรคพ้นจากตำแหน่งมาไม่น้อยกว่าห้าปี ถึงจะสมัคร สว. ได้
    • ผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง
    • รัฐมนตรี
    • สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
    • สส.
  • ต้องไม่เป็นบุพการี (บิดามารดา ปู่ย่า ตายาย) คู่สมรส หรือบุตร ของผู้ดำรงตำแหน่งต่อไปนี้
    • สส. 
    • สว. 
    • ข้าราชการการเมือง 
    • สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
    • ผู้ดำรงตำแหน่งในศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระ
  • เป็นบุพการี (บิดามารดา ปู่ย่า ตายาย) คู่สมรส หรือบุตร ของผู้สมัครรับเลือกเป็น สว. ในคราวเดียวกัน (หนึ่งครอบครัว สมัครได้แค่คนเดียวในหนึ่งสมัย)
  • ต้องไม่เคยเป็นสว. ตามรัฐธรรมนูญ 2560 (สว. ชุดพิเศษ สมัครรับเลือก สว. ไม่ได้)

หากสำรวจดูใน สว. 200 คน มีอย่างน้อยหกคนที่เคยเป็น สส. มาก่อน ได้แก่

กลุ่มที่ 4 : เปรมศักดิ์ เพียยุระ อดีต สส.ขอนแก่น พรรคไทยรักไทย และอดีตนายกเทศมนตรีเมืองบ้านไผ่  จังหวัดขอนแก่น

กลุ่มที่ 8 : นพดล อินนา ผู้ร่วมก่อตั้งคณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) อดีตรองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนาเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีต สส. แบบบัญชีรายชื่อของพรรคไทยรักไทย

กลุ่มที่ 11 : กัมพล สุภาแพ่ง อดีตสส.เพชรบุรี พรรคประชาธิปัตย์ (2550) เจ้าของกิจการธุรกิจโรงแรม นอกจากนี้ ในการเลือกตั้งปี 2566 กัมพลก็ลงสมัครรับเลือกตั้ง สส. เพชรบุรีอีก

กลุ่มที่ 13 : (1) สรชาติ วิชย สุวรรณพรหม นักวิชาการ อดีตอาจารย์รัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และมหาวิทยาลัยเกริก อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจและฐานราก กระทรวงการคลัง อดีต สส. แบบแบ่งเขต จังหวัดหนองบัวลำภู สองสมัย (เลือกตั้ง 2538 และเลือกตั้ง 2539) สังกัดพรรคความหวังใหม่ ในการเลือกตั้งปี 2566 สรชาติยังลงสมัครรับเลือกตั้ง สส. แบบแบ่งเขต จังหวัดหนองบัวลำภู พรรคพลังประชารัฐ และ (2) มานะ มหาสุวีระชัย ช่างเทคนิควิศวกรรม อดีต สส.ศรีสะเกษ สองสมัย ในสังกัดพรรคพลังธรรม (2535) และพรรคประชาธิปัตย์ (2539)

กลุ่มที่ 15 : ยุคล ชนะวัฒน์ปัญญา อดีต สว. จังหวัดจันทบุรี เลือกตั้งปี 2549 อดีต สส. จันทบุรี พรรคประชาธิปัตย์สองสมัย เลือกตั้งปี 2550 และเลือกตั้งปี 2554 และผู้สมัคร สส. จันทรบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ในการเลือกตั้งปี 2566

นอกจากนี้ แม้รัฐธรรมนูญ 2560 และพ.ร.ป.สว. ฯ จะกำหนดห้ามผู้ที่เคยเป็น สว. ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาลงสมัครรับเลือก สว. อีก แต่ก็ไม่ได้เขียนห้ามอดีต สว. ตามรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ ที่ถูกยกเลิกไปแล้วจากผลพวงการรัฐประหารมาสมัคร สว. อีก ใน สว. 200 คน มี อดีต สว. ตามรัฐธรรมนูญ 2540 และ รัฐธรรมนูญ 2550 ที่ได้เป็น สว. 2567 อีกอย่างน้อยห้าคน ได้แก่

กลุ่มที่ 3 : อัษฎางค์ แสวงการ อดีต สว. จังหวัดขอนแก่น เลือกตั้งปี 2549 (รัฐธรรมนูญ 2540) ผู้สมัคร สส. ขอนแก่น พรรคพลังประชารัฐ ในการเลือกตั้งปี 2566 อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยอีสาน

กลุ่มที่ 8 : นิรัตน์ อยู่ภักดี อดีต สว. จังหวัดชัยภูมิ เลือกตั้งปี 2543 และผู้ก่อตั้ง บริษัท รีเจ้นท์ กรีน เพาเวอร์ จำกัด (บริษัทอสังหาริมทรัพย์)

กลุ่มที่ 15 : (1) นิเวศ พันธ์เจริญวรกุล อดีต สว. จังหวัดอยุธยา เลือกตั้งปี 2543 และ (2) ยุคล ชนะวัฒน์ปัญญา อดีต สว. จังหวัดจันทบุรี เลือกตั้งปี 2549 อดีต สส. จันทบุรี พรรคประชาธิปัตย์สองสมัย เลือกตั้งปี 2550 และเลือกตั้งปี 2554 และผู้สมัคร สส. จันทรบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ในการเลือกตั้งปี 2566

กลุ่มที่ 20 : ยุทธนา ไทยภักดี อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 6 อดีต สว. สรรหาตามรัฐธรรมนูญ 2550 สองสมัย ปี 2551 และปี 2554

สว. 11 ราย เคยลงสนามเลือกตั้ง สส. ปี 66

หากดูประวัติ สว. 2567 พบว่ามี 11 รายที่เคยลงสมัครรับเลือกตั้ง สส. ในปี 2566 โดยในจำนวนนี้ สองรายเคยเป็น สว. เลือกตั้งมาแล้ว ได้แก่ อัษฎางค์ แสวงการ และนิเวศ พันธ์เจริญวรกุล

โดย สว. ที่เคยลงสมัครรับเลือกตั้ง สส. ในปี 2566 จำนวน 11 คนนั้น ส่วนใหญ่ลงในนามพรรคภูมิใจไทย จำนวนห้าคน ตามมาด้วยพรรคพลังประชารัฐ จำนวนสามคน พรรคประชาธิปัตย์ จำนวนสองคน และพรรครวมไทยสร้างชาติ หนึ่งคน

พรรคกลุ่มรายชื่อ
พรรคภูมิใจไทยกลุ่มที่ 6 กลุ่มอาชีพทำสวน ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมงมาเรีย เผ่าประทาน อดีตกำนัน ลูกสาว สวาป เผ่าประทาน อดีต สส. พรรคภูมิใจไทย
กลุ่มที่ 9 ผู้ประกอบกิจการ SMEsนิพนธ์ เอกวานิช ประธานบริษัท ภูเก็ตพัฒนาเมือง จำกัด
กลุ่มที่ 15 ผู้สูงอายุ คนพิการ ชาติพันธุ์ ฯลฯประเทือง มนตรี อดีตข้าราชการกรมการพัฒนาชุมชน
กลุ่มที่ 19 กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพ-อาชีพอิสระสมชาย เล่งหลัก ประกอบกิจการค้าขาย
กลุ่มที่ 20 กลุ่มอื่นๆณัฐกิตติ์ หนูรอด อดีตปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดพัทลุง
พรรคพลังประชารัฐกลุ่มที่ 2 กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมพ.ต.ท. สุริยา บาราสัน อดีตข้าราชการตำรวจ
กลุ่มที่ 3 กลุ่มการศึกษาอัษฎางค์ แสวงการ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยอีสาน
กลุ่มที่ 13 กลุ่มวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสรชาติ วิชย สุวรรณพรหม นักวิชาการ
พรรคประชาธิปัตย์กลุ่มที่ 11 ผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยวกัมพล สุภาแพ่ง เจ้าของกิจการรีสอร์ท
กลุ่มที่ 15 ผู้สูงอายุ คนพิการ ชาติพันธุ์ ฯลฯยุคล ชนะวัฒน์ปัญญา อดีต สว. เลือกตั้ง จังหวัดจันทบุรี
พรรครวมไทยสร้างชาติกลุ่มที่ 13 กลุ่มวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีชาญวิศว์ บรรจงการ อดีตพนักงาน TOT

ขณะที่ผู้เคยลงสมัคร สส. ในการเลือกตั้ง 2566 จากพรรคอื่นๆ มีปรากฏอยู่บ้างแต่เป็น สว. ตัวสำรอง เช่น

กลุ่มที่ 1 : สมชัยฐ์ หทยะตันย์ติ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ผู้สมัคร สส. แบบแบ่งเขต จังหวัดตาก พรรคเพื่อไทย  และพ.อ. ไพบูลย์ พัสดร อดีตข้าราชการตำรวจ ผู้สมัคร สส. พรรคไทยสร้างไทย

กลุ่มที่ 10 : ภิญโญ ขันติยู ผู้ประกอบการ ผู้สมัคร สส. แบบแบ่งเขต จังหวัดสกลนคร พรรคก้าวไกล

สว. อดีตผู้ว่าฯ 7 ราย อดีตรองผู้ว่าฯ 3 ราย

ใน สว. 2567 มีผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดมาก่อนเจ็ดคน โดยกระจายอยู่ในสามกลุ่ม และสามรายเคยดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัดมาก่อน

สว. ที่เคยเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด
กลุ่มรายชื่อ
กลุ่มที่ 1 กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง1. วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง สมุทรสาคร ศรีสะเกษ พิจิตร 2 มงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์
3. ธวัช สุระบาล อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ 4. อภินันท์ เผือกผ่อง อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช    
กลุ่มที่ 8 กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาริมทรัพย์และสาธารณูปโภค ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน1. ไพบูลย์ ณะบุตรจอม อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร อดีตวิศวกรโยธา สำนักงานโยธาธิการและผังเมือง จังหวัดพิจิตรและจังหวัดเพชรบูรณ์ 2. วิรัตน์ ลิ้มสุวัฒน์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย และเคยเป็นผู้ตรวจราชการกรมโยธาธิการและผังเมือง    
กลุ่มที่ 14 กลุ่มสตรีกานต์เปรมปรีด์ ชิตานนท์ อดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุครสงครามและจันทบุรี และผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่  
สว. ที่เคยเป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัด
กลุ่มรายชื่อ
กลุ่มที่ 1 กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคงอภิชาต งามกมล อดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ พี่ชาย สส.พรรคภูมิใจไทย
กลุ่มที่ 20 กลุ่มอื่นๆ1. วิรัตน์ รักษ์พันธ์ อดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง อดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช   2. อลงกต วรกี อดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี  

สว. 67 ใครเป็นใครบ้าง เปิดโปรไฟล์ สว. ทั้ง 20 กลุ่ม

รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 107 และ กำหนดให้ สว. 200 คนมาจากการเลือกกันเองของบุคคลซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะ หรือประโยชน์ร่วมกัน หรือทำงานหรือเคยทำงานด้านต่าง ๆ ที่หลากหลายของสังคม และในพ.ร.ป.สว. ฯ มา 11 กำหนดแบ่งกลุ่มออกเป็น 20 กลุ่ม โดยพยายามกวาดรวมกลุ่มอาชีพต่างๆ อย่างกว้างๆ เอาไว้ โดยในแต่ละอนุมาตราที่ระบุกลุ่มอาชีพ จะเขียนคำว่า “หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน” ซึ่งหมายความว่า ขอแค่บุคคลนั้นเคยประกอบอาชีพที่เข้าข่ายอยู่ในกลุ่มนั้นมาไม่น้อยกว่า 10 ปี ก็สมัคร สว. ได้

นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งกลุ่มที่กำหนด “กวาด” บุคคลที่ไม่ว่าจะเคยทำงานหรือมีประสบการณ์ด้านใดก็สามารถสมัคร สว. ได้ คือ กลุ่มที่ 20 กลุ่มอื่นๆ ซึ่งในพ.ร.ป.สว. ฯ มาตรา 11 วรรคท้าย กำหนดว่า ผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา 13 และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 14 ย่อมมีสิทธิสมัครในกลุ่มอื่น ๆ ตาม (20) ได้ ดังนั้น บุคคลไม่ว่าจะมีคุณสมบัติที่จะสมัครอีก 19 กลุ่มได้หรือไม่ ก็สามารถเลือกมาสมัคร สว. กลุ่มที่ 20 ได้

ใน 20 กลุ่ม จะมี สว. กลุ่มละ 10 คน ซึ่งมาจากผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 10 ลำดับแรกในการเลือก สว. ระดับประเทศรอบเลือกไขว้ หากมีคะแนนเท่ากันให้จับสลาก และมีตัวสำรองอีกกลุ่มละห้าคน ซึ่งมาจากผู้ที่ได้คะแนนลำดับที่ 11-15 การเรียงรายชื่อของตัวสำรอง กรณีคะแนนเท่ากัน จะต้องจับสลากเพื่อหาลำดับว่าชื่อใครอยู่ก่อน-หลัง

กรณีที่มี สว. ในกลุ่มสิ้นสมาชิกภาพไป ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 111 เช่น มีผู้ที่ เสียชีวิต ลาออก ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม ก็จะเลื่อนผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อสำรองขึ้นมาเป็น สว. ในกลุ่มนั้นต่อไปตามลำดับรายชื่อ

สว. 2567 ใครเป็นใครบ้าง ชวนทำความรู้จัก สว. ทั้ง 20 กลุ่ม

กลุ่มที่ 1 : อดีตผู้ว่าฯ-รองผู้ว่าฯ ครึ่งกลุ่ม

สำหรับกลุ่มที่ 1 กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง คือ ผู้เคยเป็นข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยในกลุ่มนี้ มีผู้ที่เป็นข้าราชการภายใต้สังกัดกระทรวงมหาดไทย เคยดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด และรองผู้ว่าราชการจังหวัด รวมกันแล้วห้าคนหรือครึ่งหนึ่งของกลุ่ม ขณะที่อีกสามคนเป็นอดีตข้าราชการทหาร อีกหนึ่งคนเป็นอดีตข้าราชการพลเรือน และอีกรายเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่น

สว. ในกลุ่มที่ 1 ประกอบด้วย

  1. พล.อ. เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 และอดีตผู้ช่วย ผบ.ทบ. และอดีตประธานคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
  2. วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร
  3. มงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ อดีตอธิบดีกรมการปกครอง ประธานคณะทำงานรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ทรงศักดิ์ ทองศรี ในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
  4. ธวัช สุระบาล อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ
  5. วร หินดี อดีตผู้อํานวยการกองคลัง องค์การบริหารส่วนจังหวัดเลย
  6. พล.อ. สวัสดิ์ ทัศนา อดีตรองผู้อำนวยการองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม อดีตตุลาการศาลทหารสูงสุด
  7. พล.ท. สุกิจ ทั่งทอง อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก และเคยมีประวัติปราบปราบผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.) ในไทยตามแผนงาน กอ.รมน.
  8. อภิชาต งามกมล อดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ อภิชาตยังเป็นพี่ชายของไตรเทพ งามกมล สส. จังหวัดบุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย (เลือกตั้งปี 2566)
  9. พล.ต.ต. รมย์สิทธิ์ วีริยาสรร อดีตเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และอดีตรองผู้บัญชาการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ(ก.ตร.)
  10. อภินันท์ เผือกผ่อง อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช

ผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อสำรองของกลุ่มที่ 1 ห้าคน ได้แก่

  1. พล.ต.อ. ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติด้านความมั่นคง
  2. ภิญโญ ประกอบผล อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดตราด
  3. พ.อ. ไพบูลย์ พัสดร อดีตข้าราชการตำรวจ ผู้สมัคร สส. พรรคไทยสร้างไทย กาญจนบุรี ในการเลือกตั้งปี 2566
  4. พล.อ. นุชิต ศรีบุญส่ง อดีตรองปลัดกระทรวงกลาโหม
  5. สมชัยฐ์ หทยะตันย์ติ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ผู้สมัคร สส. แบบแบ่งเขต จังหวัดตาก พรรคเพื่อไทย (เลือกตั้ง 2566)

กลุ่มที่ 2 : ตำรวจเกินครึ่ง – อดีต กกต. เป็น สว. ด้วย

กลุ่มที่ 2 กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม พ.ร.ป.สว. ฯ กำหนดว่าต้องเป็นผู้เป็นหรือเคยเป็นผู้พิพากษา ตุลาการ อัยการ ตำรวจ ผู้ประกอบวิชาชีพด้านกฎหมาย

ในกลุ่มนี้ มี สว. ที่เป็นอดีตข้าราชการตำรวจถึงหกราย เกินครึ่งกลุ่ม ขณะที่อดีตผู้พิพากษามีเพียงหนึ่งรายเท่านั้น ส่วนผู้ที่ประกอบอาชีพทางกฎหมายในภาคเอกชน (ทนายความ) มีเพียงคนเดียว โดยภาพรวม สว. กลุ่มนี้เกือบทั้งกลุ่มเป็นผู้ที่ทำงานในแวดวงราชการ

  1. พล.ต.ท. บุญจันทร์ นวลสาย อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3
  2. พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร อดีตผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดบุรีรัมย์
  3. เศก จุลเกษร ทนายความ
  4. สืบศักดิ์ แววแก้ว อดีตกำนัน ตำบลจำลอง จังหวัดอ่างทอง ก่อนมาเป็นกำนัน สืบศักดิ์เคยเป็นผู้ใหญ่บ้าน ตั้งแต่ปี 2537
  5. พล.ต.ต. สุนทร ขวัญเพ็ชร ผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
  6. พ.ต.ท. สุริยา บาราสัน อดีตข้าราชการตำรวจ ในการเลือกตั้ง 2566 สุริยาได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง สส. จังหวัดสตูล สังกัดพรรคพลังประชารัฐ
  7. บุญส่ง น้อยโสภณ รองประธานวุฒิสภา คนที่สอง อดีตผู้พิพากษา อตีตประธานศาลอุทธรณ์ภาค 7 และอดีต กกต. ดำรงตำแหน่งระหว่าง 13 ธันวาคม 2556 ถึง 11 สิงหาคม 2561 นอกจากนี้ เดือนมิถุนายน 2562 บุญส่งยังได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารองประธานวุฒิสภา คนที่สอง (ศุภชัย สมเจริญ) อีกด้วย
  8. ฉลอง ทองนะ อดีตข้าราชการตำรวจ สภ.เบตง
  9. พล.ต.ต. อังกูร คล้ายคลึง อดีตเลขานุการประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
  10. พล.ต.ท. วันไชย เอกพรพิชญ์ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8

ผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อสำรองของกลุ่มที่ 2 ห้าคน ได้แก่

  1. อุลิช ดิษฐปราณีต ทนายความ
  2. พล.ต.ท. คำรบ ปัญญาแก้ว อดีตข้าราขการตำรวจ
  3. ชำนาญพัฒน์ หาญแก้ว ทนายความ
  4. พงศกรณ์ ตั้งกิตติ์ตระกูล ทนายความ
  5. วิยะดา มุ่งผล ทนายความ

กลุ่มที่ 3 : สว. ส่วนใหญ่สายข้าราชการครู

กลุ่มที่ 3 กลุ่มการศึกษา ตามพ.ร.ป.สว. ฯ ขยายความไว้ว่า ผู้เป็นหรือเคยเป็นครู อาจารย์ นักวิจัย ผู้บริหารสถานศึกษา บุคลากรทางการศึกษา โดยภาพรวม สว. ส่วนใหญ่ในกลุ่ม เป็นบุคลากรในหน่วยงานภาครัฐ แต่ก็มีหนึ่งรายที่เป็นเจ้าของสถาบันสอนภาษาอังกฤษเอกชน สว. กลุ่มนี้ประกอบด้วย

  1. อัษฎางค์ แสวงการ อดีต สว. จังหวัดขอนแก่น เลือกตั้งปี 2549 (รัฐธรรมนูญ 2540) ผู้สมัคร สส. ขอนแก่น พรรคพลังประชารัฐ ในการเลือกตั้งปี 2566 อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยอีสาน
  2. สมทบ ถีระพันธ์ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 54 จังหวัดอำนาจเจริญ
  3. วิวัฒน์ รุ้งแก้ว อดีตข้าราชการครู กรรมการสภาการศึกษาศรีสะเกษ และประธานชมรมมวยสากลสมัครเล่น จังหวัดศรีสะเกษ
  4. สุเทพ สังข์วิเศษ ผู้อดีตอำนวยการโรงเรียนปาโมกข์วิทยาภูมิ
  5. โสภณ ผาสุข อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านคลองยายอินทร์
  6. สามารถ รังสรรค์ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 15
  7. นิฟาริด ระเด่นอาหมัด อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ
  8. สุทิน แก้วพนา อดีตรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ
  9. ปริญญา วงษ์เชิดขวัญ ผู้บริหารโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษ เจล
  10. กมล รอดคล้าย อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

ผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อสำรองของกลุ่มที่ 3 ห้าคน ได้แก่

  1. อรทัย มูลคำ นักวิจัยอิสระ อดีตข้าราชการครู
  2. จิตรา พีชะพัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โฟกัสฮิวแมนนิตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เจ้าของเฟรนไชส์จินตคณิต ดร.เมี่ยง หลักสูตรพัฒนาศักยภาพทางคณิตศาสตร์ให้เด็กอนุบาลและประถมศึกษา อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนตะวันชัยวิทยา และรองคณบดีคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยอีสเทอร์นเอเซีย
  3. ธนชน มุทาพร อดีตผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.)
  4. บุญรักษ์ ยอดเพชร อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ
  5. สมจิต สุวรรณบุษย์ อดีตข้าราชการครู ผู้บริหารโรงเรียน

กลุ่มที่ 4 : อาชีพหลากหลาย แพทย์-สัตว์แพทย์-พยาบาล-นักวิชาการสาธารณสุข

กลุ่มการสาธารณสุข ในกฎหมายกำหนดให้ สว. กลุ่มนี้ มาจากผู้ที่เป็นหรือเคยเป็นแพทย์ทุกประเภท เทคนิคการแพทย์ สาธารณสุข พยาบาล เภสัชกร หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน โดยภาพรวม สว. กลุ่มนี้มาจากหลากหลายอาชีพ ไม่ได้จำกัดเฉพาะหมอรักษาคนเท่านั้น แต่มีสัตวแพทย์ด้วยหนึ่งราย และมีพยาบาลด้วยอีกหนึ่งราย โดยหนึ่งใน สว. ของกลุ่มนี้ มีผู้ที่เคยเป็น สส. และเคยดำรงตำแหน่งผู้บริหารท้องถิ่นด้วย

สว. กลุ่มที่ 4 ได้แก่

  1. ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข
  2. สมบูรณ์ หนูนวล นักวิชาการสาธารณสุข สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 จังหวัดนครศรีธรรมราช / อดีตสมาชิกพรรคภูมิใจไทย
  3. บุญชอบ สระสมทรัพย์ อดีตรองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
  4. นงลักษณ์ ก้านเขียว  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลสารจิตร
  5. ฤชุ แก้วลาย สัตวแพทย์ ที่คลินิกสัตว์ประโคนชัย
  6. เพลินจิต ขันแก้ว อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองโพธิ์ (อำนาจเจริญ)
  7. วันชัย แข็งการเขตร สาธารณสุขอำเภอเมืองอุทัยธานี อดีตรองนายแพทย์สาธารณสุข และที่ปรึกษาคณะทำงานพี่เลี้ยงกองทุน  จังหวัดอุทัยธานี
  8. เปรมศักดิ์ เพียยุระ อดีต สส.ขอนแก่น พรรคไทยรักไทย และอดีตนายกเทศมนตรีเมืองบ้านไผ่  จังหวัดขอนแก่น
  9. วิธาวีร์ ประทุมสวัสดิ์ พยาบาล อาจารย์พยาบาลสอนวิชาที่เกี่ยวข้องกับการพยาบาลสาธารณสุขโรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน  จังหวัดนครปฐม
  10. วีระพันธ์ สุวรรณนามัย แพทย์เฉพาะทางโรคสมองระบบประสาทรักษาผู้ป่วยโรคอัมพฤกษ์อัมพาต  ให้ความรู้ประชาชนตามช่องทางต่างๆ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook, Tiktok, Youtube ภายใต้ชื่อช่อง DR.VChannel

ผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อสำรองของกลุ่มที่ 4 ห้าคน ได้แก่

  1. ชัยรัตน์ ธรรมสุภาพงศ์ แพทย์
  2. ประชา กัญญาประสิทธิ์ ศัลยแพทย์ระบบประสาทและสมอง
  3. ศรินทร สนธิศิริกฤตย์ อดีตรองผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค และอดีตผู้อำนวยการด้านการแพทย์ โรงพยาบาลสนามท่าเรือคลอดเตย
  4. สุชาติ เอื้อพันธุ์พงศ์ ศัลยแพทย์
  5. ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาสูติศาตร์และนรีเวชวิทยา อาจารย์สอนกฎหมายการแพทย์ ปริญญาโทคณะนิติศาสตร์ อดีตกรรมการแพทยสภาและผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภาด้านกฎหมาย

กลุ่มที่ 5 : 5 คนระบุชัดว่าทำนา หมอหนึ่งรายทำฟาร์มเห็ด

สำหรับกลุ่มที่ 5 กลุ่มอาชีพทำนา ปลูกพืชล้มลุก หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน โดยในประกาศ กกต. เรื่อง การมีลักษณะอื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน ตามมาตรา 11 วรรคสอง แห่งพ.ร.ป.สว. ฯ ขยายความเพิ่มเติมกลุ่มนี้ว่า เกษตรกรที่เพาะปลูกพืชล้มลุกหรือธัญพืชอันจะเก็บเกี่ยวได้คราวหนึ่งหรือหลายคราวต่อปี โดย สว. ในกลุ่มนี้ มีอย่างน้อยห้ารายที่ระบุหรือบรรยายในเอกสาร สว. 3 ว่ามีอาชีพทำนา มีบางรายที่ประกอบอาชีพอื่นๆ แต่ทำฟาร์มเห็ดไปด้วย โดย สว. กลุ่มนี้ ประกอบด้วย

  1. สมศักดิ์ จันทร์แก้ว กรรมการสมาคมโรงสีข้าวภาคใต้
  2. อมร ศรีบุญนาค อาชีพทำนา และเจ้าของสวนศรีบุญนาค
  3. ปวีณา สาระรัมย์ อาชีพทำนา
  4. สมชาย นุ่มพูล อาชีพทำนา
  5. พิมาย คงทัน ระบุอาชีพในเอกสาร สว. 3 ว่า เกษตรกรรม
  6. สาลี สิงห์คำ เกษตรกร ทำการเกษตรเกี่ยวกับโคกหนองนาโมเดล จำนวนสามไร่ ปลูกพืชยืนต้น ปลูกข้าว เลี้ยงปลา
  7. เดชา นุตาลัย อาชีพทำนา อดีตประธานสภาเกษตรกรกรุงเทพมหานคร
  8. กัลยา ใหญ่ประสาน เจ้าของและวิทยากรศูนย์การเรียนรู้เกษตรอินทรีย์วิถีพุทธธรรม โขงสาละวินลำพูน และอดีตนายกสมาคมเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน จังหวัดลำพูน
  9. นิชาภา สุวรรณนาค อาชีพแพทย์ ทำฟาร์มเห็ดและเห็ดเป็นยาตั้งแต่ปี 2555 ถึงปี 2566 และกรรมการเครือข่ายสามอ่าวเกษตรอินทรีย์วิถีธรรมชาติ
  10. ชูชาติ อินสว่าง อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติและสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เคยเป็นประธานชมรมสหกรณ์ภาคเกษตรแห่งประเทศไทย

ผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อสำรองของกลุ่มที่ 5 ห้าคน ได้แก่

  1. ทรงพล พูลสวัสดิ์ ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนาตั้งแต่ปี 2537
  2. มนัส ไหวพริบ ระบุในเอกสาร สว. 3 ว่ามีอาชีพทำนา ประสบการณ์ทำนาตั้งแต่ปี 2530 นอกจากนี้ยังเป็นเคยอดีตผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดลพบุรีและจังหวัดสระแก้ว อดีตปลัดอำเภอหลายอำเภอ
  3. ณัฐนันท์ ทองดีวงศ์ ระบุในเอกสาร สว. 3 ว่ามีอาชีพ ผู้บริหาร ผู้ประกอบการธุรกิจ และบรรยายประสบการณ์ทำงาน เช่น ถ่ายทอดองค์ความรู้ “เกษตรนวัตกรรม” ปลูกพืชสมุนไพร วิจัยพืชสมุนไพรร่วมกับศูนย์ไบโอเทคโนโลยีแห่งชาติ วิจัยพืชสมุนไพรร่วมกับศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ
  4. โกเมท เกิดสมบัติ ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เคยทำโรงสีข้าว ทำนา ปลูกผักล้มลุก ปลูกผักสวนครัว อดีตนายกองค์การบริหารส่วนตำบลคลองไทร จังหวัดสุราษฎร์ธานี
  5. ธนกฤต ทองเต็ม อาชีพทำนา ตั้งแต่ปี 2547 เคยเป็นประธานวิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกรนาข้าวพนัสนิคม ชลบุรี

กลุ่มที่ 6 : ส่วนใหญ่เกษตรกร มีเจ้าของฟาร์ม เคยลงสมัคร สส. พรรคภูมิใจไทย

กลุ่มที่ 6 กลุ่มอาชีพทำสวน ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง ในประกาศ กกต. เรื่อง การมีลักษณะอื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน ตามมาตรา 11 วรรคสอง แห่งพ.ร.ป.สว. ฯ ขยายความอาชีพอื่นๆ ที่สามารถสมัคร สว. กลุ่มนี้ได้ เช่น พนักงานพิทักษ์ป่า นักวิจัย ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไม้ อาชีพค้าไม้ท่อน ค้าไม้แปรรูป โดยสว. กลุ่มนี้ประกอบด้วยผู้ที่ประกอบอาชีพหลากหลายที่เกี่ยวกับการเกษตรและปศุสัตว์ ในกลุ่มนี้ยังมี สว. หนึ่งรายที่เกี่ยวพันกับสนามการเมืองระดับประเทศ เคยลงสมัคร สส. พรรคภูมิใจไทย และเป็นบุตรของอดีต สส. พรรคภูมิใจไทยด้วย

สว. กลุ่มที่ 6 ประกอบด้วย

  1. เตชสิทธิ์ ชูแก้ว เกษตรกร และเครือข่ายเกษตรอินทรีย์
  2. วิรัตน์ ธรรมบำรุง อดีต ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรระนอง และผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ
  3. มาเรีย เผ่าประทาน ทำฟาร์มโคเนื้อ อดีตกำนัน และเคยเป็นผู้สมัคร สส. แบบแบ่งเขต จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พรรคภูมิใจไทย (การเลือกตั้งปี 2566) นอกจากนี้ มาเรียยังเป็นบุตรของสวาป เผ่าประทาน อดีต สส. บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย (การเลือกตั้งปี 2562)
  4. ยะโก๊ป หีมละ อาชีพเลี้ยง กุ้ง ประมง ทำสวน และเปิดบริษัทนำเข้า-ส่งออก
  5. นิสิทธิ์ ปนกลิ่น เกษตรกร และกรรมการเกษตรระดับอำเภอ
  6. จรุณ กลิ่นตลบ เกษตรจากอุทัยธานี
  7. ธนกร ถาวรชินโชติ รองประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมการประมงแสมสาร
  8. โชติชัย บัวดิษ ผู้จัดการสวนสุภัทราแลนด์ นายกสมาคมการค้าท่องเที่ยวเชิงเกษตรเพื่อสุขภาพจังหวัดระยอง และรองประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวระยอง
  9. อิสระ บุญสองชั้น อดีตผู้อำนวยการโรงเรียน หลังเกษียณอายุราชการเลี้ยงวัวเป็นอาชีพหลัก
  10. เศรณี อนิลบล อดีตเกษตรจังหวัดนครสวรรค์ อดีตคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และอดีตที่ปรึกษาผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์

ผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อสำรองของกลุ่มที่ 6 ห้าคน ได้แก่

  1. สมศักดิ์ คงเทศ เกษตรกร ประธานกลุ่มปาล์มแปลงใหญ่ตำบลบางนายสี อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา
  2. สง่า มังคละ อดีตข้าราชการครู ทำสวนลำไยตั้งแต่ปี 2530 เป็นเลขาธิการสภาอาชีพเกษตรกร
  3. นำศักดิ์ อุทัยศรีสม ประกอบอาชีพด้านการประมง
  4. วิถี สุพิทักษ์ ผู้ประกอบการสวนป่า สวนเกษตรอินทรีย์วิถีตรัง
  5. ตรีพล เจาะจิตต์ อดีต สส. จังหวัดนครศรีธรรมราชห้าสมัย อดีต สว. เลือกตั้งปี 2549 จังหวัดนครศรีธรรมราช

กลุ่มที่ 7 : สว. ส่วนใหญ่เคยทำงานองค์กรเอกชน มีอาจารย์มหาวิทยาลัยสองราย

สำหรับกลุ่มที่ 7 กลุ่มลูกจ้าง ในพ.ร.ป.สว. ฯ ระบุว่า กลุ่มพนักงานหรือลูกจ้างของบุคคลซึ่งมิใช่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ ผู้ใช้แรงงาน หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน ในประกาศ กกต. เรื่อง การมีลักษณะอื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน ตามมาตรา 11 วรรคสอง แห่งพ.ร.ป.สว. ฯ ขยายความเพิ่มเติมว่า เป็นผู้ประกอบอาชีพตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน หรือตำแหน่งหรืออาชีพอื่นที่ผู้สมัครยืนยันและมีผู้รับรอง

ดังนั้น ผู้ที่จะสมัครและเป็น สว. กลุ่มนี้ ตามกฎหมายคือผู้ที่เป็นลูกจ้างองค์กรที่ไม่ใช่หน่วยงานรัฐ และมีนายจ้าง ทำสัญญาจ้างแรงงาน เช่น พนักงานบริษัทเอกชน พนักงานโรงงานอุตสาหกรรม ฯลฯ สว. ส่วนใหญ่กลุ่มนี้ เป็นผู้เคยทำงานในองค์กรเอกชน แต่มีสองรายที่เป็นอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา

สว. กลุ่มที่ 7 ได้แก่

  1. ชินโชติ แสงสังข์ ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย
  2. เข็มรัตน์ สุรเมธีมาณพ พนักงานบริษัทด้านการขนส่งและชิปปิ้ง
  3. วิภาพร ทองโสด พนักงานบัญชี บ.พี.ที.เค.ไมน์นิ่ง จำกัด
  4. ประกาสิทธิ์ พลซา พนักงานเอกชนขับรถสิบล้อ รถแบ็คโฮ
  5. จตุพร เรียงเงิน อาชีพวิ่งน้ำและรับจ้าง
  6. สมพร วรรณชาติ อดีตพนักงานปรีชาฟาร์มกรุ๊ป ปัจจุบันอาชีพทำนา
  7. ชวภณ วัธนเวคิน กรรมการบริหาร บ.เกาะกูด ฮอสพิเทลลิตี้ จำกัด
  8. แล ดิลกวิทยรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์แรงงาน และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  9. ปิยพัฒน์ สุภาวรรณ ที่ปรึกษาทางธุรกิจและนักลงทุน อดีตเคยทำงานในบริษัทอุตสาหกรรมน้ำมันและโมเดิร์นเทรดขนาดใหญ่
  10. อมรศักดิ์ กิจธนานันท์ อาจารย์ประจำที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) รวมถึงมีประสบการณ์การทำงานในองค์กรต่างประเทศ เช่น UN USAID และ UNDP

ผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อสำรองของกลุ่มที่ 7 ห้าคน ได้แก่

  1. ร่มไทร ทิพยเศวต เคยเป็นผู้จัดการฝ่ายบุคคล ผู้พิพากษาสมทบศาลแรงงานภาค 2 รุ่นที่ 2 และรุ่นที่ 4 อนุกรรมการประกันสังคม
  2. อุทัย อัตถาพร ที่ปรึกษาบริษัท ซิน คัมปานี จำกัดและบริษัททรูอินเทอร์เน็ต คอร์ปอเรชันจำกัด
  3. ศรีไพร นนทรี ลูกจ้างบริษัท ตัวแทนกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิต
  4. จารุดล เขมิการัศมีกุล พนักงานองค์กรเอกชน
  5. ภัทรพล เพชรพรหม ทนายความที่ปรึกษากฎหมายภาษี เคยดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการด้านบริหารงานภาษีบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF

กลุ่มที่ 8 : ครึ่งหนึ่งสายราชการ อดีตผู้ว่าฯ สองราย

กลุ่มที่ 8 กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาริมทรัพย์และสาธารณูปโภค ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน สว. กลุ่มนี้ “ครึ่งกลุ่ม” เป็นผู้ที่ทำงานหน่วยงานภาครัฐ โดยมีสองรายที่เคยดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมป่าไม้ และเป็นอดีตผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สองรายเป็นอดีตผู้ว่าราชการจังหวัด อีกรายเป็นข้าราชการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ขณะที่ สว. ที่เหลือทำงานในภาคเอกชน โดยมีทั้งผู้ที่ทำงานในองค์กรธุรกิจด้านพลังงาน ด้านอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจสายการบิน

สว. กลุ่มที่ 8 ประกอบด้วย

  1. จิระศักดิ์ ชูความดี อดีตผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และอดีตรองอธิบดีกรมป่าไม้
  2. ชีวะภาพ ชีวะธรรม อดีตผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และอดีตรองอธิบดีกรมป่าไม้
  3. สัมพันธ์ ชัยวิเศษจินดา ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เขต 10 ราชบุรี
  4. ไพบูลย์ ณะบุตรจอม อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร อดีตวิศวกรโยธา สำนักงานโยธาธิการและผังเมือง จังหวัดพิจิตรและจังหวัดเพชรบูรณ์
  5. นิรัตน์ อยู่ภักดี อดีต สว. จังหวัดชัยภูมิ เลือกตั้งปี 2543 และผู้ก่อตั้ง บริษัท รีเจ้นท์ กรีน เพาเวอร์ จำกัด (บริษัทอสังหาริมทรัพย์)
  6. อภิชา เศรษฐวราธร นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
  7. เกียรติชาย ไมตรีวงษ์ อดีตผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และผู้บริหารบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
  8. นพดล อินนา ผู้ร่วมก่อตั้งคณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) อดีตรองอธิการบดีฝ่ายวางแผนฯ ม.ธรรมศาสตร์ และอดีต สส. แบบบัญชีรายชื่อของพรรคไทยรักไทย
  9. วิรัตน์ ลิ้มสุวัฒน์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย และเคยเป็นผู้ตรวจราชการกรมโยธาธิการและผังเมือง
  10. ปฏิมา จีระแพทย์ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์

ผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อสำรองของกลุ่มที่ 8 ห้าคน ได้แก่

  1. ไตรวินิจ ตู้จินดา พนักงานบริษัทเอกชน กรรมการกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
  2. เพียรพร ดีเทศน์ นักกิจกรรมทางสังคมด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
  3. ปัญญา โตกทอง นักขับเคลื่อนสิ่งแวดล้อม
  4. ดิเรก เหมนคร ผู้ประสานงานเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ผู้ดูแลศูนย์พลังงานหมุนเวียนเพื่อชุมชนรักษ์ธรรมชาติ ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม
  5. โองการ ยาสิงห์ทอง ข้าราชการบำนาญ อดีตผู้อำนวยการกลุ่มงานช่างและแผนที่ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดร้อยเอ็ด

กลุ่มที่ 9 : พบสว. ช่างเสริมสวยจากจังหวัดบุรีรัมย์ – อสม. จากสตูล ไม่ระบุชัดว่าเป็นผู้ประกอบการ SMEs

สำหรับกลุ่มที่ 9 พ.ร.ป. สว.ฯ กำหนดไว้ว่าคือกลุ่มประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อมตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน แต่ไม่ได้ขยายความไว้ในตัวพ.ร.ป. สว.ฯ โดยตรง นิยามของผู้กิจการขนาดกลางและขนาดย่อม ดูได้จากกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ.2562 ซึ่งกำหนดว่า วิสาหกิจขนาดย่อม ได้แก่ กิจการผลิตสินค้าที่มีจำนวนการจ้างงานไม่เกิน 50 คน หรือมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 100 ล้านบาท กิจการให้บริการ ค้าส่ง ค้าปลีก ที่มีจำนวนการจ้างงานไม่เกิน 30 คน  หรือมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 50 ล้านบาท วิสาหกิจขนาดกลาง ได้แก่ กิจการผลิตสินค้าที่มีจำนวนการจ้างงาน 50-200 คน หรือมีรายได้ต่อปี 100-500 ล้านบาท กิจการให้บริการ ค้าส่ง ค้าปลีก ที่มีจำนวนการจ้างงาน 30-100 คน  หรือมีรายได้ต่อปี 50-300 ล้านบาท สำหรับกิจการที่ไม่มีลูกจ้างเลยมีเจ้าของทำงานของตัวเองก็ยังอยู่ในขอบข่ายจำนวนการจ้างงาน “ไม่เกิน” 50 คน และถือเป็น SMEs

นอกจากนี้ ในประกาศ กกต. เรื่อง การมีลักษณะอื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน ตามมาตรา 11 วรรคสอง แห่งพ.ร.ป.สว. ฯ ขยายความเพิ่มเติมว่ากลุ่มนี้รวมถึงกลุ่มผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนด้วย

โดยภาพรวมแล้วจากประวัติของ สว. ในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่พบว่าเป็นผู้ประกอบกิจการ SMEs แต่มีสองคนที่ประวัติจากเอกสาร สว. 3 รวมถึงการสืบค้นผ่านเว็บไซต์ ไม่พบข้อมูลที่ระบุชัดว่าเป็นผู้ประกอบการ SMEs คือ วรรษมนต์ คุณแสน จากจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งระบุในเอกสาร สว. 3 ว่า ทำอาชีพช่างเสริมมาเป็นเวลา 15 ปี แต่ไม่ได้ระบุว่าเป็นเจ้าของกิจการร้านเสริมสวย และอีกรายคือ สมศรี อุรามา จากจังหวัดสตูล เอกสาร สว. 3 ไม่ได้ระบุให้เห็นว่าเป็นผู้ประกอบกิจการ SMEs

สว. กลุ่มที่ 9 ประกอบด้วย

  1. นิพนธ์ เอกวานิช ประธานบริษัท ภูเก็ตพัฒนาเมือง จำกัด ผู้ให้บริการรถโดยสาร Smart EV Bus ในภูเก็ต ในการเลือกตั้งปี 2566 นิพนธ์ลงสมัคร สส. เขต 1 จังหวัดภูเก็ต พรรคภูมิใจไทย
  2. วรรษมนต์ คุณแสน ระบุในเอกสาร สว. 3 ว่า ทำอาชีพช่างเสริมมาเป็นเวลา 15 ปี
  3. พิชาญ พรศิริประทาน ผู้ประกอบธุรกิจออนไลน์จากจังหวัดยะลา ประสบการณ์มากกว่า 15 ปี
  4. สุมิตรา จารุกำเนิดกนก ผู้ประกอบกิจการโรงรับจำนำ และร้านทองเก่าแก่ของจังหวัดนครราชสีมา ต่อมาได้ต่อยอดเปิดกิจการร้านทองและโรงรับจำนำแห่งแรกของจังหวัดบึงกาฬ
  5. สมศรี อุรามา ระบุในเอกสาร สว. 3 ใจความว่า เป็นวิทยากรศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดสตูล นักบริบาลชุมชน ตำบลละงู อำเภอละงู จังหวัดสตูล และ อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ตำบลละงู
  6. เบ็ญจมาศ อภัยทอง เจ้าของกิจการร้านเบ็ญจมาศอาหารสด และสตรีไทยดีเด่น จังหวัดพิจิตร
  7. ชัยธัช เพราะสุนทร ผู้ก่อตั้งบริษัท สุขุมวิทการพิมพ์ จำกัด ประกอบธุรกิจด้านสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์มานานกว่า 36 ปี
  8. มณีรัฐ เขมะวงค์ ผู้บุกเบิกและพัฒนาโรงงานแปรรูปผลไม้จากท้องถิ่นใน อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย สู่ระบบตลาดโมเดิร์นเทรด
  9. ชญาน์นันท์ ติยะตระการชัย อดีตคณบดีคณะการสร้างเจ้าของธุรกิจ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และที่ปรึกษาทางธุรกิจของ SMEs ทั้งบริษัทเอกชนและวิสาหกิจชุมชน
  10. นรเศรษฐ์ ปรัชญากร ผู้ก่อตั้งบริษัทจัดหางาน เคนเนเดีย คอนเน็ค จำกัด

ผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อสำรองของกลุ่มที่ 9 ห้าคน ได้แก่

  1. สมชาย สาโรวาท ประธานเครือข่ายพัฒนาศักยภาพไทย นายกสมาคมนักธุรกิจสัมพันธ์แห่งประเทศไทย ทำงานในองค์กรภาคเอกชนหลายองค์กร เคยเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
  2. สุจิตรา ผาลีพัฒน์ เคยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดกิตรารัฐรุ่งเรือง ประกอบกิจการด้านการก่อสร้างถนนและอาคารพาณิชย์
  3. ชัยณรงค์ เยาวลักษณ์ ทนายความ ประกอบกิจการร้านขายเครื่องมือการเกษตร
  4. อารักษ์ พลอยพานิชย์ ผู้ประกอบกิจการค้าขายพลอย จิวเวลรี่ และประกอบกิจการบรรจุแพ็คกิ้งผลไม้ส่งออก
  5. ธนาธิป พรหมชื่น ผู้ปะกอบกิจการรับเหมาก่อสร้าง ห้างหุ้นส่วนจำกัดลีแอนด์เพื่อน 1995

กลุ่มที่ 10 : กลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดใหญ่ แต่มี สว. ที่เข้าข่ายเป็นลูกจ้าง – ข้อมูลไม่ชัดเจนว่ากิจการใหญ่กว่า SMEs

สำหรับกลุ่มที่ 10 กลุ่มผู้ประกอบกิจการอื่น ตามพ.ร.ป. สวฯ มาตรา 11 (10) กำหนดว่า กลุ่มผู้ประกอบกิจการอื่นนอกจากกิจการตาม (9) หรือ SMEs ซึ่งหมายความว่า ผู้ที่จะสมัครและเป็น สว. กลุ่มที่ 10 จึงต้องเป็น “ผู้ประกอบกิจการอื่น” ที่ “ใหญ่” กว่า SMEs กล่าวคือ กิจการผลิตสินค้าที่มีจำนวนการจ้างงานเกิน 200 คน หรือมีรายได้ต่อปีเกิน 500 ล้านบาท กิจการให้บริการ ค้าส่ง ค้าปลีก ที่มีจำนวนการจ้างงานเกิน 100 คน หรือมีรายได้ต่อปีเกิน 300 ล้านบาท และต้องเป็นบุคคลซึ่งไม่ใช่ “ลูกจ้าง” ซึ่งอาจหมายถึงเจ้าของธุรกิจ หรือบริษัท ที่ขายสินค้า ผลิตภัณฑ์ หรือ การบริการ โดยถือสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของแบรนด์ ไม่ว่าจะจดทะเบียนหรือไม่ก็ตาม โดยเป็นกิจการที่มีจำนวนลูกจากและมีรายได้มากกว่า SMEs

สว. ในกลุ่มที่ 10 มีผู้ที่เป็นเจ้าของกิจการและผู้ก่อตั้งบริษัทอยู่บ้าง แต่จากประวัติผู้สมัครบางรายไม่ชัดเจนว่ามีคุณสมบัติในกลุ่มนี้หรือไม่ เช่น รุจิภาส มีกุศล ที่ระบุประวัติตัวเองว่าเป็นผู้จัดการโรงไฟฟ้าชีวมวลมุ่งเจริญ ซึ่งหากเป็นบุคคลที่ทำงานในองค์กรเอกชนโดยที่ไม่ได้เป็นเจ้าของกิจการ จะมีคุณสมบัติตรงกับกลุ่มที่ 7 กลุ่มลูกจ้างมากกว่า นอกจากนี้ ยังมี สว. บางรายที่เป็นเจ้าของกิจการ แต่จากประวัติแล้วไม่ชัดเจนว่าเป็นกิจการที่ใหญ่กว่า SMEs หรือไม่ เช่น แดง กองมา อาชีพขายหมูตั้งแต่ปี 2541 สมพาน พละศักดิ์ อาชีพประกอบการค้าขายก๋วยเตี๋ยวไก่มะระ

สว. ในกลุ่มที่ 10 ประกอบด้วย

  1. โสภณ มะโนมะยา กรรมการผู้จัดการบริษัท อัลลายแอนซ์ฟาร์มา จำกัด ผู้ริเริ่มนำเข้ายารักษาโรคมะเร็งจากอินเดีย เข้ามาจำหน่ายในไทย เคยลงสมัครรับเลือกตั้งนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองสะเดา อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลาในปี 2564
  2. รุจิภาส มีกุศล ผู้จัดการโรงไฟฟ้าชีวมวลมุ่งเจริญ
  3. พ.ต.ท. สง่า ส่งมหาชัย ผู้รับเหมาก่อสร้าง
  4. แดง กองมา อาชีพค้าขาย ในเอกสาร สว. 3 ระบุว่า เริ่มขายหมูตั้งแต่ปี 2541
  5. สมพาน พละศักดิ์ ระบุในเอกสาร สว. 3 ว่า อาชีพประกอบการค้าขายก๋วยเตี๋ยวไก่มะระ อยู่ในเขตเทศบาลเมืองอำนาจเจริญมาระยะเวลา 12 ปี
  6. สุนทร เชาว์กิจค้า ประกอบอาชีพธุรกิจโรงแรม และอดีตประธานชมรมธุรกิจท่องเที่ยวเกาะลันตา
  7. นิคม มากรุ่งแจ้ง อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ผู้พิพากษาสมทบ ศาลแรงงานกลางรุ่นที่ 21 ผู้พิพากษาสมทบ ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสมุทรสาคร รุ่นที่สองและรุ่นที่สาม ผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดสมุทรสาคร  โดยในเอกสาร สว. 3 ระบุด้วยว่ามีความเชี่ยวชาญกำหนดราคาสินค้าปลาน้ำจืดทุกชนิด
  8. สหพันธ์ รุ่งโรจนพณิชย์ เลขาธิการหอการค้าจังหวัดกาญจนบุรี ทำงานอสังหาริมทรัพย์และที่ดินแปดปี มีความชำนาญด้านรถยนต์มากกว่า 20 ปี
  9. นิทัศน์ อารีย์วงศ์สกุล ผู้จัดการสโมสรฟุตบอล อ่างทอง เอฟซี ทำงานเป็นพนักงานบริษัท มินิแบไทย จำกัด 15 ปี (2540-2555) ทำงานเป็นผู้จัดการสโมสรฟุตบอล อ่างทอง เอฟซี 12 ปี (2555 – ปี 2567)
  10. มังกร ศรีเจริญกูล เจ้าของกิจการรับเหมาก่อสร้างและปรับปรุงอาคาร ผลิตจำหน่ายบ่อพักซีเมนต์สำเร็จรูป เป็นสมาชิกสโมสรโรตารีน่าน

ผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อสำรองของกลุ่มที่ 10 ห้าคน ได้แก่

  1. ภิญโญ ขันติยู ผู้ประกอบการ ตั้งแต่ปี 2554 เคยลงสมัครรับเลือกตั้ง สส. จังหวัดสกลนคร เขต 1 พรรคอนาคตใหม่ ในการเลือกตั้งปี 2562 และเคยลงสมัครรับเลือกตั้ง สส. แบบแบ่งเขต จังหวัดสกลนคร พรรคก้าวไกล ในปี 2566
  2. สามารถ รัตนประทีปพร อดีต สว. เลือกตั้งปี 2543 จังหวัดหนองบัวลำภู
  3. ส.อ. อัครวัฒน์ พงศ์ธนาชลิตกุล อดีตนายสิบศูนย์อำนวยการยิง ลาออกมาประกอบธุรกิจส่วนตัว ค้าขายวัสดุก่อสร้างตั้งแต่ปี 2547 ทำธุรกิจรับซื้อ-ขายพืชผลทางการเกษตรทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ
  4. ฉัฐสุภา พงษ์เสนา เจ้าของกิจการบริษัท นำพาทัวร์ ซุปเปอร์ริช จำกัด จำหน่ายตั๋วเครื่องบินและทัวร์ทั้งในและต่างประเทศ รับยื่นวีซ่า ตรวจเอกสารลูกค้าที่จะเดินทางไปต่างประเทศ
  5. ปฏิมา เหล่าชัย ประกอบอาชีพช่างตัดเย็บเสื้อผ้า เป็นผู้อำนวยการกองประกวดมิสเตอร์โกบอล (ชายงามจักรวาล) 2023 นายกสโมสรไลออนส์มหาสารคาม นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดมหาสารคาม ประธานเครือข่ายโอทอปจังหวัดมหาสารคาม

กลุ่มที่ 11 : กลุ่มท่องเที่ยว  สว. ตัวจริงมีแต่ผู้ประกอบกิจการ ไร้ลูกจ้าง-คนทำงานท่องเที่ยวฟรีแลนซ์

กลุ่มที่ 11 ผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว สำหรับกลุ่มนี้ พ.ร.ป. สว. ฯ ไม่ได้กำหนดให้มีเพียงแต่ผู้ประกอบกิจการเท่านั้น แต่ผู้ที่เป็นลูกจ้าง เช่น พนักงานโรงแรม หรือผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น มัคคุเทศก์ ก็สามารถสมัครและเป็น สว. กลุ่มนี้ได้ อย่างไรก็ดี ในจำนวน สว. 10 คนของกลุ่ม ส่วนใหญ่เป็นเจ้าของกิจการหรือผู้บริหารระดับสูง ไม่พบผู้ที่เป็นลูกจ้างในธุรกิจการท่องเที่ยวหรือผู้ที่ทำงานฟรีแลนซ์ แต่พบมัคคุเทศก์ฟรีแลนซ์หนึ่งรายในบัญชีรายชื่อสำรอง

สว. กลุ่มที่ 11 ประกอบด้วย

  1. วุฒิชาติ กัลยาณมิตร อดีตผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทขนส่งจำกัด ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กรรมการบริหาร บริษัท เซเว่น ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน)
  2. กัมพล สุภาแพ่ง อดีตสส. เพชรบุรี พรรคประชาธิปัตย์ เจ้าของกิจการรีสอร์ท นอกจากนี้ ในการเลือกตั้งปี 2566 กัมพลก็ลงสมัครรับเลือกตั้ง สส. แบบแบ่งเขต จังหวัดเพชรบุรี พรรคประชาธิปัตย์อีก
  3. พิศูจน์ รัตนวงศ์ ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมและกิจการเรือรับนักท่องเที่ยว
  4. ภาวนา ว่องอมรนิธิ ผู้ประกอบกิจการโรงแรม ร้านอาหาร ผู้จัดงานท่องเที่ยว 123 ปี อำเภอบ้านโป่ง เคยเป็นผู้พิพากษาสมทบศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดราชบุรี
  5. อัครวินท์ ขำขุด ผู้ประกอบกิจการโรงแรม
  6. สุวิทย์ ขาวดี ผู้ประกอบกิจการบริษัททัวร์
  7. พิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ นักลงทุนอสังหาริมทริมทรัพย์ และประกอบกิจการที่พักให้เช่ารายวัน (โฮมสเตย์) ในตำบลอ่าวนาง อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่
  8. ณภพ ลายวิเศษกุล รองประธานหอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี ผู้ประกอบกิจการโรมแรงในจังหวัดอุบลราชธานี
  9. ประทุม วงศ์สวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการโรงแรม เนเซอรัลปาร์ค รีสอร์ท และผู้ประกอบกิจการร้านอาหารไทยและสปาไทยในกรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย
  10. กมล สุขคะสมบัติ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) 2540 ผู้อำนวยการและผู้จัดการใหญ่ยูนิโก้ กรุ๊ป ประธานบริหาร บริษัทเอเซียเวิร์ลทราเวล จำกัด ที่ปรึกษาสมาคมโรงแรมไทย ที่ปรึกษานายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดสิงห์บุรี

ผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อสำรองของกลุ่มที่ 11 ห้าคน ได้แก่

  1. ชโลมใจ ชยพันธนาการ อดีตข้าราชการครู ประกอบธุรกิจที่พักซึ่งมีทั้งห้องสมุด คาเฟ่ และร้านขายหนังสือ ในจังหวัดน่าน
  2. กฤษฏนันต์ ทองวิภาวรรณ์ มัคคุเทศก์ Freelance
  3. ธัญยะ พูลสวัสดิ์ เจ้าของกิจการโรงงานเฟอร์นิเจอร์และกิจการโรงแรมที่พัก
  4. พันธ์เลิศ ใบหยก ประธานกรรมการเครือโรงแรมใบหยก ประกอบกิจการด้านโรงแรม อดีตรองเลขาธิการพรรคไทยรักไทยคนแรก
  5. สริญทิพญ ทัพมงคลทรัพย์ นายกสมาคมท่องเที่ยวเกาะเสม็ด ผู้ประกอบกิจการโรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร ในการเลือกตั้ง 2566 สริญทิพญลงสมัครรับเลือกตั้ง สส. แบบแบ่งเขต จังหวัดระยอง เขต 2 พรรคไทยสร้างไทย

กลุ่มที่ 12 : ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบอุตสาหกรรม พบหนึ่งรายข้อมูลไม่ชัดว่ามีประสบการณ์ในกลุ่มอย่างไร

กลุ่มที่ 12 กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม ในประกาศ กกต. เรื่อง การมีลักษณะอื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน ตามมาตรา 11 วรรคสอง แห่งพ.ร.ป.สว. ฯ ยกตัวอย่างผู้ที่จะสมัครและเป็น สว. กลุ่มนี้ได้เพิ่มเติมว่า กลุ่มผู้ประกอบการตามกฎหมายว่าด้วยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งในพระราชบัญญัติสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2530 ระบุนิยามของอุตสาหกรรมไว้ว่า “อุตสาหกรรม” หมายความว่า วิสาหกิจซึ่งทำ ผลิต ประกอบ บรรจุ ซ่อม ซ่อมบำรุง ทดลอง ทดสอบ ปรับปรุง ดัดแปลง หรือแปรสภาพสินค้า

โดยส่วนใหญ่แล้ว สว. ในกลุ่มที่ 12 เป็นเจ้าของกิจการผู้ประกอบอุตสาหกรรมในหลายด้าน แต่มี สว. หนึ่งรายที่ข้อมูลไม่ชัดเจนว่ามีคุณสมบัติในกลุ่มนี้อย่างไร คือ ณรงค์ จิตราช ระบุอาชีพในเอกสาร สว. 3 ว่า พนักงานหน่วยงานเอกชน ไม่ได้ระบุความเชี่ยวชาญหรือประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่ม

สว. กลุ่มที่ 12 ประกอบด้วย

  1. วราภัสร์ ไพพรรณรัตน์ นักธุรกิจอุตสาหกรรมความงาม เส้นผม และเครื่องสำอาง เจ้าของกิจการ บริษัท พรรณวรา อินเตอร์เนชันแนล จำกัด กิจการผลิตและจำหน่ายเครื่องหอม เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์บำรุงเส้นผม เคยเป็นผู้พิพากษาสมทบศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนนทบุรี (ขณะนั้นชื่อ ผ่องพรรณ ไพพรรณรัตน์)
  2. ธารนี ปรีดาสันติ์ ประกอบธุรกิจก่อสร้างและเจ้าของกิจการโรงงานผลิตแอสฟอลต์คอนกรีตสำหรับปูผิวทางลาดยาง เคยเป็นรองนายกเทศมนตรีนครอุบลราชธานี
  3. รจนา เพิ่มพูล กรรมการบริษัท ไทยเอเซีย 14001 จำกัด ดำเนินธุรกิจรีไซเคิล ประมูลเศษวัสดุเหลือใช้ออกจากโรงงานอุตสาหกรรม
  4. ปุณณภา จินดาพงษ์ อาชีพรับเหมาก่อสร้าง มีประวัติการทำงานที่โรงโม่สุรัตน์การศิลา ผลิตและขายหิน เคยทำงานบริษัทสุรัตน์การสุรา เป็นตัวแทนขายสุราในจังหวัดเลย เคยเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเลย
  5. พละวัต ตันศิริ เจ้าของกิจการและประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ผู้บริหารกิจการอีซูซุเชียงราย โดยกลุ่มนกเงือก
  6. ณรงค์ จิตราช ระบุอาชีพในเอกสาร สว. 3 ว่า พนักงานหน่วยงานเอกชน ไม่ได้ระบุความเชี่ยวชาญหรือประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่ม เขียนเพียงแต่ว่า “จากที่กระผมได้ทำงานด้านนี้ ข้าพเจ้ามีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์จากการทำงานมาหลายปี”
  7. วีรยุทธ สร้อยทอง อาชีพวิศวกร มีประสบการณ์เป็นวิศวกรในอุตสาหกรรมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และรถไฟฟ้าอเนกประสงค์
  8. ธนชัย แซ่จึง เจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัด ท่าทรายพนมศักดิ์ ราษีสิน จำหน่ายผลิตภัณฑ์ปูนสำเร็จพร้อมโรงงานผลิตปูนสำเร็จ รับเหมาก่อสร้าง
  9. พงษ์ศักดิ์ เกิดวงศ์บัณฑิต นายกกิตติมศักดิ์สมาคมยางพาราไทยและประธานกิตติมศักดิ์สภาอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต ประธานกรรมการบริษัท วงศ์บัณฑิต จำกัด ประกอบธุรกิจนางพารา ผลิตยางแผ่นรมควัน ยางแท่งมาตรฐาน
  10. ตวงคุณ ทรงธรรมวัฒน์ อดีตประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสงคราม กรรมการผู้จัดการโรงงานแปรรูปอาหารทะเล และผู้บริหารโรงแรมและโรงงงานแปรรูปอาหาร

ผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อสำรองของกลุ่มที่ 12 ห้าคน ได้แก่

  1. สาโรจน์ สุวรรณวงศ์ ระบุในเอกสาร สว. 3 ว่าประกอบอาชีพธุรกิจส่วนตัว ทำงานในภาคอุตสาหกรรมตั้งแต่ปี 2544 ด้านการผลิตยานยนต์ ด้านการออกแบบ และสร้างเครื่องจักรกล ผลิตอะไหล่เครื่องจักรกล
  2. ชัชชัย ชินธรรมมิตร กรรมการบริษัทของบริษัท ประจวบอุตสาหกรรม จำกัด ประกอบกิจการผลิตและจัดจำหน่ายน้ำตาล และบริษัทลูกอื่นๆ ในเครือ
  3. รังสรรค์ สบายเมือง นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กรรมการผู้จัดการบริษัท กำแพงเพชร เอ็กซ์ปอร์ต จำกัด ประกอบกิจการขายส่งข้าวและผลิตภัณฑ์ที่ได้จากโรงสีข้าว
  4. นิพนธ์ จริยะนรวิชช์ เจ้าของกิจการ โรงงานบรรจุก๊าซหุงต้มและโรงงานน้ำดื่ม บริษัท ศรีสุขเจริญผล จำกัด
  5. วิวัฒน์ ทีฆคีรีกุล ผู้ประกอบกิจการเครื่องใช้ไฟฟ้า ไดสตาร์ (พ.ศ. 2529-2549) ประธานกรรมการบริษัท คาร์มาร์ท จำกัด (มหาชน) ผลิตและจำหน่ายเครื่องสำอาง เช่น Cathy Doll

กลุ่มที่ 13 : กลุ่มวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี แต่มีนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์เป็น สว.

สำหรับกลุ่มที่ 13 ในพ.ร.ป. สว. ฯ ระบุว่า กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนานวัตกรรม หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน โดยในประกาศ กกต. เรื่อง การมีลักษณะอื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน ตามมาตรา 11 วรรคสอง แห่งพ.ร.ป.สว. ฯ ยกตัวอย่างกลุ่มอาชีพที่สามารถสมัครและเป็น สว. กลุ่มนี้ได้ เช่น กลุ่มผู้ประกอบอาชีพตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ กลุ่มอาชีพการพัฒนาและการออกแบบซอฟต์แวร์ กลุ่มอาชีพการสื่อสารโทรคมนาคม กลุ่มอาชีพสาธารณูปโภคด้านโทรคมนาคมและสถาปัตยกรรม (Telecommunication Utilities / Facilities) กลุ่มอาชีพนักพัฒนาเกม

โดย สว. หลายคนที่กลุ่ม มีประวัติหรือระบุถึงความเกี่ยวข้องกับกลุ่มในเอกสาร สว. 3 แต่มี สว. บางรายที่ข้อมูลไม่ชัดเจนว่ามีประสบการณ์ในกลุ่มนี้อย่างไร เช่น สรชาติ วิชย สุวรรณพรหม นักวิชาการ อดีตอาจารย์รัฐศาสตร์ ที่ไม่พบข้อมูลความเกี่ยวกับเชิงประสบการณ์หรือการประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ขวัญชัย แสนหิรัณย์ สถาปนิกอิสระ และผู้ประกอบกิจการห้างหุ้นส่วนจำกัดเอ เค โฮม ไอเดีย จำกัด จำหน่ายวัสดุในการก่อสร้าง ซึ่งคุณสมบัติสอดคล้องกับกลุ่มที่ 9 ผู้ประกอบกิจการ SMEs หรือกลุ่มที่ 19 ผู้ประกอบอาชีพอิสระ มากกว่า

สว. กลุ่มที่ 13 ได้แก่

  1. สรชาติ วิชย สุวรรณพรหม นักวิชาการ อดีตอาจารย์รัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และมหาวิทยาลัยเกริก อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจและฐานราก กระทรวงการคลัง อดีต สส. แบบแบ่งเขต จังหวัดหนองบัวลำภู สองสมัย (เลือกตั้ง 2538 และเลือกตั้ง 2539) สังกัดพรรคความหวังใหม่ ในการเลือกตั้งปี 2566 สรชาติยังลงสมัครรับเลือกตั้ง สส. แบบแบ่งเขต จังหวัดหนองบัวลำภู พรรคพลังประชารัฐ
  2. พรเพิ่ม ทองศรี ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทำงานคอมพิวเตอร์ในบริษัทที่สหรัฐอเมริกา 28 ปี และเป็นพี่ชายของทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน
  3. ธัชชญาณ์ณัช เจียรธนัทกานนท์ ที่ปรึกษา ประธานอนุกรรมการการพัฒนาธุรกิจ การลงทุน และเทคโนโลยี องค์การสะพานปลา ปี 2567 อดีตเลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (อนุชา นาคาศัย) อดีตที่ปรึกษาสมาคมผู้สื่อข่าวกีฬาแห่งประเทศไทย
  4. กัมพล ทองชิว อาชีพอิสระ เคยทำงานใน บริษัท ทีพีไอ จำกัด แผนกผลิตเม็ด HDPE และเคยเป็นผู้จัดการแผน Componding เพื่อผลิตเม็ดพลาสติกในเชิงวิศวกรรมและคงทน
  5. สุพัตรชัย เตียวเจริญโสภา เจ้าของกิจการห้างหุ้นส่วนจำกัด สหะกล โอ.เอ จำหน่ายผลิตภัณฑ์ไอทีและเครื่องใช้สำนักงานในจังหวัดสุรินทร์ตั้งแต่ปี 2544 โดยสำนักข่าวไทยโพสต์ รายงานว่าสุพัชรชัย เป็นเครือญาติกับธีระทัศน์ เตียวเจริญโสภา อดีต สส. สุรินทร์สามสมัย จากพรรคพลังประชาชน และลงสมัครรับเลือกตั้ง 2562 สังกัดพรรคพลังประชารัฐ ลงสมัครรับเลือกตั้ง 2566 พรรครวมไทยสร้างชาติ
  6. ขวัญชัย แสนหิรัณย์ สถาปนิกอิสระ และผู้ประกอบกิจการห้างหุ้นส่วนจำกัดเอ เค โฮม ไอเดีย จำกัด จำหน่ายวัสดุในการก่อสร้าง
  7. นพดล พริ้งสกุล ผู้บริหารบริษัท กรุงเทพ ท่อลอด ไทย จำกัด ประกอบกิจการเกี่ยวกับไฟฟ้า นำสายไฟลงดิน
  8. ชาญวิศว์ บรรจงการ พนักงานรัฐวิสาหกิจองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (TOT) อดีตเลขาธิการหอการค้าจังหวัดพังงา ในการเลือกตั้ง 2562 ชาญวิศว์เคยลงสมัครรับเลือกตั้ง สส. แบบแบ่งเขต จังหวัดพังงา พรรคพลังประชารัฐ และลงสมัครอีกครั้งในการเลือกตั้ง 2566 พรรครวมไทยสร้างชาติ
  9. มานะ มหาสุวีระชัย ช่างเทคนิควิศวกรรม อดีต สส. ศรีสะเกษ สองสมัย ในสังกัดพรรคพลังธรรม (2535) และพรรคประชาธิปัตย์ (2539)
  10. น.ต. วุฒิพงศ์ พงศ์สุวรรณ โปรแกรมเมอร์ อดีตกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ อดีตกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ อดีตกรรมการประกันสังคม

ผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อสำรองของกลุ่มที่ 13 ห้าคน ได้แก่

  1. ศิริวรรณ คูอัมพร ผู้บริหาร บริษัท ออมรอน อีเลคทรอนิคส์ จำกัด ประกอบกิจการเกี่ยวกับเทคโนโลยีการตรวจจับและการควบคุมสำหรับงานอุตสาหกรรม
  2. พ.ต. นฤต รัตนพิเชฏฐชัย สถาปนิก อาจารย์พิเศษ ภาควิชาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยเป็นผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน)
  3. ธนวัฒน์ ศรีสุข ผู้ก่อตั้งและพัฒนาแอปพลิเคชั่น VORAJAK.COM
  4. ศรีเมือง เจริญศิริ อดีต สว. จังหวัดมหาสารคามสองสมัย (เลือกตั้ง 2543 และเลือกตั้ง 2557) อดีตสส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชาชน (เลือกตั้ง 2550) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ทำงานด้านการสื่อสารโทรคมนาคมและนวัตกรรม รับราชการกรมไปรษณีย์โทรเลขและเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจการสื่อสารแห่งประเทศไทย รวม 37 ปี
  5. นันทวัฒน์ จรัสโรจน์ธนเดช อดีตหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)

กลุ่มที่ 14 : กลุ่มสตรี มีสว. อดีตผู้ว่าฯ หญิง

สำหรับกลุ่มที่ 14 กลุ่มสตรี ยึดจากเพศในทะเบียนราษฎรเท่านั้น ขอแค่เป็นผู้หญิงก็สามารถสมัครและเป็น สว. กลุ่มนี้ได้ไม่ว่าจะเคยประกอบอาชีพหรือมีประสบการณ์ทำงานด้านใดก็ตาม โดย สว. กลุ่ม 14 ประกอบด้วย

  1. มยุรี โพธิแสน ข้าราชการบำนาญ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเหล่าเมย จังหวัดยโสธร
  2. เจียระนัย ตั้งกีรติ เจ้าของกิจการและสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ในเอกสาร สว. 3 ระบุประวัติการทำงานหรือประสบการณ์ในกลุ่มที่สมัครว่า ร่วมกิจกรรมวันสำคัญของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ร่วมกิจกรรมสำคัญกับองค์กรสตรี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
  3. จารุณี ฤกษ์ปราณี ประธานคณะกรรมการพัฒนาสตรีอำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประกอบธุรกิจส่วนตัว
  4. อัจฉรพรรณ หอมรส เลขาคณะกรรมการพัฒนาสตรี จังหวัดสุราษฎร์ธานี อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เทศบาลนครสุราษฎร์ธานี
  5. อจลา ณ ระนอง อาชีพค้าขาย ประธานคณะกรรมการพัฒนาสตรีอำเภอเขาพนม จังหวัดกระบี่ ประธานคณะกรรมการพัฒนาสตรีจังหวัดกระบี่ รองประธานคณะกรรมการพัฒนาสตรีภาคใต้
  6. จุฑารัตน์ นิลเปรม ผู้ก่อตั้งคลินิกเวชกรรมฟอกไตช่วยผู้ป่วยยากไร้ ผู้ประกอบกิจการห้างหุ้นส่วนจำกัดสุริยาขนส่งอุบล
  7. กานต์เปรมปรีด์ ชิตานนท์ อดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุครสงครามและจันทบุรี และผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่
  8. พ.อ.หญิง ธณตศกร บุราคม ข้าราชการบำนาญ นายกสมาคมส่งเสริมพัฒนาบทบาทสตรี องค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์
  9. ณัฏฐินีภรณ์ จันทรโณทัย ข้าราชการบำนาญ อดีตพยาบาลวิชาชีพ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี
  10. วาสนา ยศสอน หัวหน้าคณะทำงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดน่าน ปี 2562 เคยลงสมัครรับเลือกตั้ง สส. แบบแบ่งเขต จังหวัดน่าน พรรคพลังปวงชนไทย

ผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อสำรองของกลุ่มที่ 14 ห้าคน ได้แก่

  1. นฤมล ปิติทานันท์ ประธานบริษัท เอ็นทีพี อินโนเวชัน จำกัด เคยศึกษาในหลักสูตรนักบริหารระดับสูงเพื่อการสร้างชาติ รุ่นที่ 8 2562 ของสถาบันการสร้างชาติ
  2. ณฐมน ชื่นดวง ประกอบธุรกิจส่วนตัว เคยเป็นคณะทำงานและติดตามรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เคยเป็นที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการการพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาหนี้สิน (ขณะนั้นชื่อ ณัฐพิมล ชื่นดวง)
  3. พานิช แต้กิจพัฒนา เจ้าของกิจการ อดีตคณะกรรมการสมาคมแม่บ้านมหาดไทย จังหวัดสมุทรปราการ เลขานุการประจำคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุฯ สภาผู้แทนราษฎร อดีตคณะกรรมการเหล่ากาชาติ จังหวัดสมุทรปราการ
  4. รุ่งนภา พุฒแก้ว ทนายความ ประธานสภาทนาความจังหวัดภูเก็ต
  5. พรรณรัตน์ จงอมรรัตน์ นักสังคมสงเคราะห์ เคยทำงานในสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR)

กลุ่มที่ 15 : สว. ตัวจริงมีแต่ผู้สูงอายุ ไม่มีคนพิการ-ชาติพันธุ์-LGBTQI+

สำหรับกลุ่มที่ 15 เป็นกลุ่มที่รวมคนหลายกลุ่มไว้ในกลุ่มเดียว ได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น ซึ่งคำว่า กลุ่มอัตลักษณ์อื่นนี้ หมายถึง อัตลักษณ์ทางเพศ

เมื่อสำรวจดูข้อมูลของ สว. ตัวจริงทั้ง 10 คน ผ่านเอกสาร สว. 3 และการค้นข้อมูลจากทางอื่น พบว่า สว. ในกลุ่มนี้มีแต่ “ผู้สูงอายุ” ไม่มีคนพิการ กลุ่มชาติพันธุ์ หรือผู้มีความหลากหลายทางเพศเลย อย่างไรก็ดี มี สว. หนึ่งรายที่ทำงานเกี่ยวข้องกับคนพิการและกลุ่มชาติพันธุ์ คือ ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิศิลปะเพื่อมวลมนุษย์ Art for All เพื่อพัฒนาคนพิการและชาติพันธุ์

โดยในบัญชีรายชื่อสำรอง มีคนพิการหนึ่งราย คือ วีระ เขนย อยู่ในลำดับที่ห้า ซึ่งหมายความว่าต้องมี สว. ตัวจริงพ้นตำแหน่งไปถึงห้าคน เขาถึงจะได้เป็น สว. ตัวจริง

สว. กลุ่มผู้สูงอายุ ประกอบด้วย

  1. กฤษณุ เหลืองพิบูลกิจ ข้าราชการบำนาญในสังกัดกรมการปกครอง เคยเป็นนายอำเภอบัวเชด อำเภอโนนนารายณ์ อำเภอรัตนบุรี และอำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์
  2. กิตติพันธ์ อนันตกูลจิรโชติ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนจตุรภูมิพิทยาคาร คณะทำงานพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุอำเภอวังหินและอำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ
  3. ประเทือง มนตรี อดีตข้าราชการกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เคยลงสมัครรับเลือกตั้ง สส. แบบแบ่งเขต จังหวัดพัทลุง สองสมัย เลือกตั้ง 2544 และเลือกตั้ง 2566 (สังกัดพรรคภูมิใจไทย) เคยเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ในรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน (นภินทร ศรีสรรพางค์)
  4. นิเวศ พันธ์เจริญวรกุล อดีต สว. จังหวัดอยุธยา เลือกตั้งปี 2543 อดีตกรรมการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
  5. สมดุลย์ บุญไชย ข้าราชการบำนาญ เคยเป็นรองผู้อำนวยการโรงเรียนกุดชุมพัฒนา จังหวัดยโสธร
  6. สมหมาย ศรีจันทร์ เกษตรกร รองประธานหอการค้าจังหวัดนครพนม
  7. ศ. ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิศิลปะเพื่อมวลมนุษย์ Art for All เพื่อพัฒนาคนพิการและชาติพันธุ์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) และอดีตคณบดีศิลปกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  8. ยุคล ชนะวัฒน์ปัญญา อดีต สว. จังหวัดจันทบุรี เลือกตั้งปี 2549 อดีต สส. จันทบุรี พรรคประชาธิปัตย์สองสมัย เลือกตั้งปี 2550 และเลือกตั้งปี 2554 และผู้สมัคร สส. แบบแบ่งเขต จังหวัดจันทรบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ในการเลือกตั้งปี 2566
  9. ธนภัทร ตวงวิไล อดีตข้าราชการครู
  10. ศรายุทธ ยิ้มยวน ประกอบอาชีพทำท่าข้าวและพืชผลการเกษตร อดีตรองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์

ผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อสำรองของกลุ่มที่ 15 ห้าคน ได้แก่

  1. ชูเกียรติ สิงห์สูง เจ้าของกิจการ อดีตนายกสมาคมคนพิการจังหวัดลพบุรี
  2. ปิยวิทย์ โกฏเพชร ประกอบอาชีพทำสวน อดีตสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งขาติ อดีตประธานสภาเกษตรกรจังหวัดชุมพร อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลธนบุรีหัวหิน
  3. ขวัญชัย บุญเพ็ชร ข้าราชการตำรวจบำนาญ อดีตผู้กำกับการสภ.ลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี
  4. อานันท์ รองพล ข้าราชการบำนาญ เคยเป็นรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 30 เคยเป็นคณะทำงานวิชาการในกรรมาธิการสังคม กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติแห่งชาติ
  5. วีระ เขนย นายกสมาคมคนพิการทางกายเคลื่อนไหว จังหวัดนครศรีธรรมราช

กลุ่มที่ 16 : ครึ่งกลุ่มมีประสบการณ์ด้านกีฬา

กลุ่มที่ 16 พ.ร.ป. สว. ฯ กำหนดว่า กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง นักกีฬา หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน โดยสว. กลุ่มนี้ครึ่งกลุ่ม เป็นผู้มีประสบการณ์ด้านกีฬา เช่น เป็นผู้ก่อตั้งหรือกรรมการสมาคมกีฬา เป็นนักกีฬา เป็นครูสอนพลศึกษา ขณะที่อีกครึ่งกลุ่มที่เหลือ มีประสบการณ์ในด้านอื่นๆ แต่ต่างกันไป เช่น เจ้าของธุรกิจสถานบันเทิง ภัณฑารักษ์ อิหม่าม

สว. กลุ่มที่ 16 ได้แก่

  1. วิวรรธน์ ไกรพิสิทธิ์กุล ผู้ร่วมก่อตั้งสโมสรฟุตบอลเชียงใหม่ยูไนเต็ด
  2. สุวิช จำปานนท์ ข้าราชการบำนาญ ครูสอนวิชาพลศึกษา กรรมการบริหารสมาคมกีฬาจังหวัดอำนาจเจริญ
  3. นฤพล สุคนธชาติ เจ้าของธุรกิจติดต่อนักแสดงและผู้บริหารสถานบันเทิงในยะลาและภูเก็ต
  4. พิบูลย์อัฑฒ์ หฤหรรษ์ปราการ อาชีพค้าขาย มีประสบการณ์ทางด้านกีฬามากกว่า 45 ปี เช่น มวยไทย นักวิ่งสี่เหรียญทอง เคยเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา 2562-2566
  5. วิเชียร ชัยสถาพร ผู้ก่อตั้งสโมสรฟุตบอลลำพูนวอริเออร์
  6. ปราณีต เกรัมย์ เขียนในเอกสาร สว. 3 ว่า เป็นนักกีฬาฟุตบอลอาวุโส พ.ศ. 2527-2547
  7. รัชนีกร ทองทิพย์ ผู้ปฏิบัติงานด้านงานภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์สึนามิ
  8. อะมัด อายุเคน อิหม่ามจังหวัดนครปฐมคนแรก เคยเป็นคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เป็นผู้บรรยายศาสนาเปรียบเทียบ
  9. ชวพล วัฒนพรมงคล อุปนายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดสมุทรสาคร กรรมการสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดสมุทรสาคร
  10. เอมอร ศรีกงพาน ข้าราชการครูบำนาญ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา

ผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อสำรองของกลุ่มที่ 16 ห้าคน ได้แก่

  1. พิสุทธิ์ ทรัพย์วิจิตร นักแสดง นักดนตรี นักร้อง ผู้ประพันธ์คำร้องทำนองและเรียบเรียงเพลง “บทเพลงเพื่อพ่อ” เนื่องในวโรกาสรัชกาลที่ 9 ครองราชย์ครบ 60 ปี
  2. ณพลเดช มณีลังกา อาจารย์พิเศษประจำหลักสูตรวิศวกรรมการบินและนักบินพาณิชย์ สถาบันพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง นายกสมาคมการบินนภารักษ์ เคยเป็นคณะที่ปรึกษาของรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (พวงเพ็ชร ชุนละเอียด) ในรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน
  3. ณภัทร โชติพฤกษ์ชูกุล ช่างศิลปหัตถกรรม ประกอบธุรกิจด้านเซรามิค ทำงานออกแบบและจำหน่ายสินค้าเครื่องประดับแฮนด์เมด
  4. ศุภชัย มั่นใจตน ทำงานการกีฬาแห่งประเทศไทย (รัฐวิสาหกิจ) ปี 2528-2561 เคยเป็นแชมป์หกสูงวิดพื้นกีฬายิมนาสติกรายการเกมส์พันหน้า
  5. ปัญญา หาญลำยวง ข้าราชการบำนาญ อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา อดีตอธิบดีกรมพลศึกษา

กลุ่มที่ 17 : คนทำงานประชาสังคมหลากหลาย อสม. – กู้ภัย – อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

กลุ่มที่ 17 พ.ร.ป. สวฯ กำหนดไว้ว่า กลุ่มประชาสังคม องค์กรสาธารณประโยชน์ ในประกาศ กกต. เรื่อง การมีลักษณะอื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน ตามมาตรา 11 วรรคสอง แห่งพ.ร.ป.สว. ฯ ยกตัวอย่างเพิ่มเติมรวมถึงมูลนิธิหรือสมาคม ที่จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือตามกฎหมายอื่นโดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดสวัสดิการสังคม หรือองค์กรตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม โดย สว. กลุ่มที่ 17 ประกอบด้วย

  1. นิรุตติ สุทธินนท์ อาชีพนักธุรกิจ อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกสโมสรไลออนส์ระนอง องค์กรการกุศลไม่แสวงหาผลกำไร
  2. ประไม หอมเทียม อาชีพเกษตรกร เป็นกรรมการกองทุนหมู่บ้าน และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน จากจังหวัดบุรีรัมย์
  3. ชาญชัย ไชยพิศ ข้าราชการบำนาญ เคยเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน ผู้แทนครูนายกสมาคมผู้บริหารครูโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัดบุรีรัมย์ ปี 2564-2566
  4. สากล ภูลศิริกุล เจ้าของกิจการขายเครื่องเขียนนาน 30 ปี เคยทำงานกับสโมสรไลออนส์นครพนม ปัจจุบันเป็นประธานที่ปรึกษาหอการค้าจังหวัดนครพนม
  5. ภาณุพงษ์ เต็งวงษ์วัฒนะ เจ้าของกิจการ เคยเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดสิงห์บุรี พ.ศ.2543-2550 เคยเป็นรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสิงห์บุรี พ.ศ.2545-2546 และเป็นประธานกรรมการประสานงานศูนย์อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) จังหวัดสิงห์บุรี
  6. สายฝน กองแก้ว พนักงานทำงานช่วยเหลือด้านการแพทย์ ระบุในเอกสาร สว. 3 ว่า “ปฏิบัติงานมูลนิธิกู้ภัยสำนักงานใหญ่หนองฉางตั้งแต่ 1 เมษายน 2554 จนถึงปัจจุบัน”
  7. ศุภโชค ศาลากิจ อาชีพเลี้ยงปลากระชังและธุรกิจถ่ายเอกสาร เป็นแกนนำกลุ่มประชาสังคมคนรักแม่กลองแก้ปัญหาระบบนิเวศสิ่งแวดล้อม ทำเวทีต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน
  8. ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักเคลื่อนไหวเรื่องข้าว
  9. อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชน
  10. ประหยัด จตุพรพิทักษ์กุล ผู้บริหารมูลนิธิศึกษาพัฒนาชนบท อดีตประธานกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ

ผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อสำรองของกลุ่มที่ 17 ห้าคน ได้แก่

  1. พล.อ. สุรชาติ จิตต์แจ้ง นายกสมาคมกีฬาคาราเต้แห่งประเทศไทย กรรมการนบายการกีฬาแห่งชาติ ข้าราชการทหารบำนาญ
  2. นุชนารถ แท่นทอง นักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชน อดีตประธานเครือข่ายสลัมสี่ภาค
  3. สงบ จินะแปง ข้าราชการครูบำนาญ ร่วมงานมูลนิธิเด็กและกลุ่มฮักเมืองน่าน เคยเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านปิงหลวง จังหวัดน่าน
  4. ษิทรา เบี้ยบังเกิด ทนายความ เลขาธิการมูลนิธิทีมงานทนายประชาชนฯ
  5. ธัชพงศ์ แกดำ นักกิจกรรม เคยเป็นสมาชิกแนวร่วมเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) 

กลุ่มที่ 18 : กลุ่มสื่อมวลชน-นักเขียน มีพยาบาลรับงานพิธีกรได้เป็น สว.

กลุ่มที่ 18 พ.ร.ป. สว. ฯ กำหนดไว้ว่า กลุ่มสื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม และในประกาศ กกต. เรื่อง การมีลักษณะอื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน ตามมาตรา 11 วรรคสอง แห่งพ.ร.ป.สว. ฯ ยกตัวอย่างอาชีพที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มนี้ เช่น นักการข่าว นักวิชาการเผยแพร่ นักวิชาการโสตทัศนศึกษา นักสื่อสารมวลชน ผู้ประกอบกิจการตามกฎหมายว่าด้วยการจดแจ้งการพิมพ์ ผู้ประกอบกิจการตามกฎหมายว่าด้วยกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์

อย่างไรก็ดี สว. ส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้เป็นผู้ที่ประกอบอาชีพในแวดวงสื่อมวลชนไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ หรือสำนักข่าวออนไลน์ แต่มี สว. หนึ่งรายที่ระบุอาชีพว่าเป็นพยาบาล ประสบการณ์ เคยทำงานพิธีกรงานแต่งงาน งานเลี้ยงทั่วไป วิทยากรด้านแม่และเด็กของโรงพยาบาลในจังหวัดสตูล

โดย สว. กลุ่มที่ 18 มีความแตกต่างจากกลุ่มอื่นๆ เนื่องจากผู้ที่ได้รับเลือกในระดับประเทศหนึ่งราย คือ  คอดียะฮ์ ทรงงาม ผู้ที่แนะนำตัวในเอกสาร สว.3 ว่าเป็นประชาสัมพันธ์เสียงตามสายหมู่บ้านและประชาสัมพันธ์อำเภอไชโย ถูกตัดรายชื่อออก ถูก กกต. แจกใบส้มเนื่องจากเคยเป็น “ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น” และยังเว้นวรรคมาไม่ถึงห้าปี กกต. จึงเลื่อนรายชื่อสำรองขึ้นมาและประกาศรายชื่อเป็น สว. ตัวจริง ส่งผลให้กลุ่ม 18 มีบัญชีรายชื่อสำรองเพียงสี่คนเท่านั้น

สว. กลุ่มที่ 18 ประกอบด้วย

  1. สุทนต์ กล้าการขาย นักสื่อสารมวลชน ประสบการณ์เป็นนายกสมาคมสื่อช่อสะอาด กรรมการมูลนิธิต่อต้านการทุจริต
  2. ไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล นักหนังสือพิมพ์ ทำงานกว่า 40 ปีในฐานะสื่อมวลชน เคยเป็นนายกสมาคมนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาคแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย
  3. สุพรรณ์ ศรชัย อดีตผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ผู้จัดการและสยามรัฐ
  4. ศุภชัย กิตติภูติกุล ผู้สื่อข่าวไทยรัฐ 35 ปี
  5. อารีย์ บรรจงธุระการ อาชีพพยาบาล ประสบการณ์ เคยทำงานพิธีกรงานแต่งงาน งานเลี้ยงทั่วไป วิทยากรด้านแม่และเด็กของโรงพยาบาลในจังหวัดสตูล
  6. จำลอง อนันตสุข เป็นผู้อำนวยการส่วนสื่อข่าวและผลิตรายการข่าว สำนักข่าวไทย เคยเป็นนายกสมาคมช่างภาพผู้สื่อข่าวโทรทัศน์แห่งประเทศไทย เคยเป็นผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์สยามกีฬา  เคยเป็นผู้เชี่ยวชาญประจำตัวสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)
  7. ชิบ จิตนิยม เป็นเจ้าของรายการจับกระแสโลก เคยเป็นอดีตผู้ประกาศข่าวหลายรายการ เช่น จับจ้องมองจีน รายการจีนกับการเดินทางครั้งใหม่ รายการมิติโลก และรายการโลกยามเช้า เคยดำรงตำแหน่งบริหาร เช่น หัวหน้ากองบรรณาธิการฝ่ายข่าว บริษัทมีเดีย สตูดิโอจำกัด เป็นต้น
  8. นันทนา นันทวโรภาส คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมืองมหาวิทยาลัยเกริก เคยเขียนหนังสือเรื่องชนะการเลือกตั้งด้วยพลังการตลาด
  9. เทวฤทธิ์ มณีฉาย ผู้สื่อข่าวและอดีตบรรณาธิการบริหารสำนักข่าวประชาไท
  10. ว่าที่ พ.ต. กรพด รุ่งหิรัญวัฒน์ ผู้จดจัดตั้งพรรคเพื่อชาติไทย ผู้ผลิตรายการทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 รายการเมืองไทยใช่เลย รายการกูรู สปอร์ต ผู้ก่อตั้ง ผู้บริหาร และบรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์ 5 เหล่าทัพ 5 FORCE TV และสื่อออนไลน์

บัญชีรายชื่อสำรองของกลุ่ม 18 สี่คน ได้แก่

  1. ภิญญาพัชญ์ ศันสนียชีวิน ผู้กำกับละคร ผู้กำกับเอ็มวี ผู้อำนวยการกองประกวดมิสแกรนด์สุโขทัยและมิสแกรนด์อุตรดิตถ์ เคยเป็นรองโฆษกพรรคพลังธรรมใหม่
  2. ประทีป คงสิบ สื่อมวลชน เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและบริหารสถานที่โทรทัศน์ Voice TV
  3. วราภรณ์ คัตตะพันธ์ นักจัดรายการและผลิตรายการที่สถานที่วิทยุ มณฑลทหารบกที่ 13 FM 98.75 เข้าร่วมโครงการ ดีเจประชาธิปไตย เผยแพร่ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กับสำนักงาน กกต. จังหวัดลพบุรี
  4. สฤษดิ์ ไพรทอง เคยทำงานเป็นพิธีกรอิสระ พิธีกรรายงานโทรทัศน์ดาวเทียม ทำหน้าที่อ่านข่าวและเป็นบรรณาธิการข่าวการเมือง และเป็นผู้อำนวยการสถานี

กลุ่มที่ 19 : ผู้ประกอบอาชีพอิสระหลากหลาย พบหนึ่งรายมีคดีปมเตรียมเงินจะซื้อเสียงเลือกตั้ง 66

สำหรับกลุ่มที่ 19 กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ประกาศ กกต. เรื่อง การมีลักษณะอื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน ตามมาตรา 11 วรรคสอง แห่งพ.ร.ป.สว. ฯ ยกตัวอย่างของอาชีพในกลุ่มนี้สามประเภท ได้แก่

(1) กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพ คือ ผู้ประกอบอาชีพอิสระซึ่งไม่มีนายจ้าง และเป็นอาชีพที่ต้องมีความชำนาญเฉพาะด้านและต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ซึ่งถูกกำหนดไว้ในกฎหมาย

(2) กลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ คือ ผู้ประกอบอาชีพซึ่งไม่มีนายจ้าง เช่น

(ก) ผู้ประกอบอาชีพค้าขาย

(ข) ผู้ประกอบอาชีพรับจ้างหรือให้บริการ

(ค) ผู้รับงานไปทำที่บ้าน

(ง) ผู้ผลิตเนื้อหาเรื่องใดที่ไม่ใช่โฆษณา เพื่อเผยแพร่ผ่านบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล (YouTuber/Content Creator/Influencer)

(จ) ตำแหน่งหรืออาชีพอื่นที่ผู้สมัครยืนยันและมีผู้รับรอง

(3) กลุ่มผู้ประกอบอาชีพกึ่งอิสระ เช่น

(ก) ผู้ประกอบอาชีพรับจ้างหรือให้บริการตามข้อตกลงและเงื่อนไขการให้บริการที่ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลกำหนด เช่น กลุ่มคนทำงานแพลตฟอร์ม (Platform Worker) ที่ใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ในการประกอบอาชีพ ผู้รับจ้างหรือให้บริการขนส่งคนโดยสารสิ่งของหรืออาหาร (Rider) ผู้รับจ้างทำความสะอาดหรือบริการอื่น ๆ หรือตำแหน่งหรืออาชีพอื่น ที่ผู้สมัครยืนยันและมีผู้รับรอง

(ข) ผู้ประกอบอาชีพรับจ้างหรือให้บริการตามข้อตกลงและเงื่อนไขการให้บริการที่ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งไม่ใช่ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลกำหนด

โดย สว. กลุ่มที่ 19 ได้แก่

  1. เกศกมล เปลี่ยนสมัย ระบุในเอกสาร สว. 3 ว่าเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวพรรณและความงาม กรรมการผู้จัดการ เกศกมลคลินิก เกศกมล เด็นทัล คลินิก และอินเตอร์ เดอร์มา แลบอราทอรี
  2. ขจรศักดิ์ ศรีวิราช ประกอบธุรกิจส่วนตัว เคยเป็นรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา เคยเป็นนายกเทศมนตรี เทศบาลตำบลดอกคำใต้ เป็นพ่อของ ธนพร ศรีวิราช ภรรยาของร.อ. ธรรมนัส พรมเผ่า สส.พรรคพลังประชารัฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา
  3. สิทธิกร ธงยศ วิศวกรและผู้บริหาร ห้างหุ้นส่วนจำกัด รามฤทธิรงค์ เอ็นจิเนียริ่ง
  4. โชคชัย กิตติธเนศวร ค้าขายวัตถุมงคล พระเครื่อง โชคชัยเป็นทายาทของวุฒิชัย กิตติธเนศวร อดีต สส.นครนายก ห้าสมัย เคยสังกัดพรรคชาติไทย พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคภูมิใจไทย และพรรคเพื่อไทย
  5. กิติศักดิ์ หมื่นศรี ประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้าง ถมดิน ให้เช่าเครื่องจักรหนัก เคยเป็นรองประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี
  6. เอนก วีระพจนานันท์ รับเหมาก่อสร้าง ผู้ควบคุมงานก่อสร้างในหน่วยงานต่าง ๆ
  7. สมชาย เล่งหลัก ประกอบกิจการค้าขาย ปี 2562 ลงสมัคร สส. สส. แบบแบ่งเขต จังหวัดสงขลา พรรคพลังประชารัฐ ปี 2566 ลงสมัคร สส. แบบแบ่งเขต จังหวัดสงขลา พรรคภูมิใจไทย โดยสมชาย มีคดีที่ กกต. ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือสิทธิเลือกตั้ง ปมจัดเตรียมเงินจะซื้อเสียง
  8. นวลนิจ หงส์วิวัฒน์ ทนายความ ที่ปรึกษากฎหมายสมาคมผู้นำสตรีพัฒนาชุมชนไทย
  9. พรชัย วิทยเลิศพันธุ์ ล่ามแปลภาษา อดีตผู้ประกาศข่าวภาคภาษาไทย NHK Radio Japan ที่ญี่ปุ่น เคยเป็นล่าม และแปลนิยายญี่ปุ่นเรื่อง “อิจิโตะ คุณหมอหัวใจเทวดา”
  10. สุนทร พฤกษพิพัฒน์ ประกอบอาชีพมัณฑนากร (interior designer) และเป็นช่างภาพอิสระ

ผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อสำรองของกลุ่มที่ 19 ห้าคน ได้แก่

  1. ธณัชญ์พงศ์ วงศ์มุลาลี ประกอบธุรกิจส่วนตัว
  2. ธีระศักดิ์ อรัญพิทักษ์ อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
  3. แดน ปรีชา พนักงานองค์กรเอกชน และเป็นรองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง
  4. สุรชัย พรจินดาโชติ วิศวกร ทำงานและเคยเป็นผู้บริหารระดับสูงของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (SCG)
  5. ธนากร แหวกวารี ทนายความ กรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดินและการบังคับใช้กฎหมาย ตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540

กลุ่มที่ 20 : กลุ่มอื่นๆ คนหลากหลาย มี สว. อดีตรองผู้ว่าฯ สองราย

สำหรับกลุ่มที่ 20 กลุ่มอื่นๆ นั้น เป็นกลุ่มที่ “กวาด” คนจากหลากหลายอาชีพ สาขา ประสบการณ์ สามารถสมัครและเป็น สว. กลุ่มนี้ได้ โดยใน พ.ร.ป. สว. ฯ มาตรา 11 วรรคท้าย ระบุว่า ผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา 13 และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 14 ย่อมมีสิทธิสมัครในกลุ่มอื่น ๆ ตาม (20) ได้ จึงทำให้ สว. ในกลุ่ม 20 มีอาชีพและประสบการณ์หลากหลายกันไป โดยทำงานในภาคเอกชนและภาครัฐอย่างละครึ่งกลุ่ม

สว. กลุ่มที่ 20 ประกอบด้วย

  1. ยุทธนา ไทยภักดี อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 6 อดีต สว. สรรหาตามรัฐธรรมนูญ 2550 สองสมัย ปี 2551 และปี 2554
  2. วิรัตน์ รักษ์พันธ์ อดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง อดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช
  3. อลงกต วรกี อดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี
  4. ณัฐกิตติ์ หนูรอด อดีตปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดพัทลุง ในการเลือกตั้งปี 2566 ณัฐกิตติ์ลงสมัครรับเลือกตั้ง สส. แบบแบ่งเขต จังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคภูมิใจไทย
  5. ภมร เชาว์ศิริกุล ผู้ประกอบกิจการ บริษัท ดนุสิริกำพลการโยธา จำกัด เคยเป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์และประธานหอการค้าจังหวัดมุกดาหาร
  6. พ.ต.อ. กอบ อัจนากิตติ อดีตรองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสตูล
  7. ชูชีพ เอื้อการณ์ รองกรรมการผู้จัดการกลุ่มบริษัท Premier Marketing และรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท พรีเมียร์ มาร์เก็ตติ้ง
  8. วราวุธ ตีระนันทน์ นักวิชาการอิสระ ประธานกรรมการบริหารบริษัท ไบเดอร์ จำกัด ประกอบกิจการ     การขายส่งอุปกรณ์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อดีตประธานที่ปรึกษาสถาบันคุ้มครองสิทธิประโยชน์ผู้บริโภค เคยลงสมัครรับสรรหาเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
  9. วลีรักษ์ พัชระเมธาพัฒน์ ประกอบอาชีพค้าขาย ระบุในเอกสาร สว. 3 ว่า เคยได้รับคัดเลือกเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขดีเด่นระดับจังหวัด สาขานมแม่ สายใยรักแห่งครอบครัว ปี 2554
  10. เอกชัย เรืองรัตน์ ผู้บริหารบริษัทเอกชน เช่น เค อี เอ็น ดีเวลล็อปเมนท์ จำกัด ประกอบธุรกิจซื้อขาย อสังหาริมทรัพย์ และบริษัทบริหารสินทรัพย์ปทุมธานี จำกัด

ผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อสำรองของกลุ่มที่ 20 ห้าคน ได้แก่

  1. ปภัชเดช เกตุพันธ์ ข้าราชการตำรวจบำนาญ ระบุในเอกสาร สว. 3 ว่าทำธุรกิจค้าขายแก๊งหุงต้ม สถานีบริการแก๊สเติมรถยนต์
  2. ภัทราภรณ์ คิดซ้าย ประกอบอาชีพทำนา เลี้ยงโค และเป็นเสมียนทนายความตั้งแต่ปี 2565
  3. ชนัดดา สงพัฒน์แก้ว นักวิชาการอิสระ เคยเป็นรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางเดือน จังหวัดสุราษฎร์ธานี
  4. สุชพงศ์ บุญเสริม ประกอบอาชีพทนายความ
  5. ดิชฐ์พิเชษ  สุวรรณโพธิ์ ประธานบริษัทฟาร์มสุขใจ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด (มหาชน) ประกอบกิจการปลูก วิจัย พัฒนา ผลิต จำหน่ายยา และผลิตภัณฑ์ส่งเสริมสุขภาพจากสมุนไพร
Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage