NSO ขอศาลสั่งให้ iLaw ลบข้อมูลการไกล่เกลี่ยคดีเพกาซัส ชี้เป็นภัยต่อความปลอดภัยของประเทศ

วันที่ 21 มิถุนายน 2567 ศาลแพ่งนัดไกล่เกลี่ยคดีที่ไผ่-จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นักกิจกรรมเป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัท เอ็นเอสโอ กรุ๊ป ผู้ผลิตสปายแวร์เพกาซัสจากอิสราเอล เรียกค่าเสียหายฐานละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งฝ่ายจำเลยส่งตัวแทนฝ่ายกฎหมายจากอิสรเอลมาขอเจรจา แต่ไม่บรรลุข้อตกลงเนื่องจากฝ่ายจำเลยเสนอจ่ายเพียงเงินบางส่วนโดยไม่ยอมรับข้อเท็จจริงใดๆ และยังตั้งเงื่อนไขห้ามเผยแพร่สัญญาประนีประนอมยอมความ มิเช่นนั้นจะเรียกเงินคืนทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ย 

ไอลอว์ซึ่งติดตามคดีนี้อยู่อย่างใกล้ชิดได้รายงานสรุปความเคลื่อนไหวในการนัดไกล่เกลี่ยดังกล่าว แต่เนื่องจากไอลอว์ไม่ได้เข้าไปร่วมพูดคุยในห้องไกล่เกลี่ยด้วยจึงไม่ทราบรายละเอียดของบทสนทนา และรายงานเพียงข้อสรุปว่าทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้

วันที่ 24 มิถุนายน 2567 ทนายความของบริษัท เอ็นเอสโอ กรุ๊ป ซึ่งเป็นตัวแทนในประเทศไทย ติดต่อมายังทนายความของโจทก์ทางอีเมล์ทำนองว่า การเผยแพร่ข่าวของโจทก์อาจละเมิดข้อกำหนดประธานศาลฎีกาว่าด้วยการไกล่เกลี่ย ต่อมาวันที่ 28 มิถุนายน 2567 ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอให้โจทก์และบุคคลภายนอกยุติการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยในศาล โดยส่งหมายไปยังที่อยู่ของโจทก์ รายละเอียดระบุว่า

“คดีนี้ศาลนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 3 ถึง 6 กันยายน 2567 เวลา 09.30 นาฬิกาและสืบพยานจำเลยในวันที่ 10 กันยายน 2567 เวลา 09.30 นาฬิกา เนื่องด้วยโจทก์และจำเลยมาศาลเพื่อทำการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนวันนัดสืบพยานเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2567 เวลา 09.00 นาฬิกา ซึ่งโจทก์และจำเลยไม่สามารถไกล่เกลี่ยเพื่อยุติข้อพิพาทในคดี

ต่อมาเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2567 โจทก์หรือทีมงานของโจทก์กลับนำความเห็น หรือข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางหรือวิธีการในการระงับข้อพิพาทของจำเลยในการไกล่เกลี่ย ความประสงค์หรือความเต็มใจของคู่ความในการขอเข้าร่วมในการไกล่เกลี่ย และข้อความหรือข้อมูลอื่นใดที่มีการพูดคุยในระหว่างกระบวนการไกล่เกลี่ยดังกล่าวออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนผ่านเว็บไซต์ของโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (www.ilaw.or.th) และเฟสบุ๊คแฟนเพจ iLaw (Facebook page) ซึ่งข้อความและข้อมูลเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นข้อมูลความลับ ซึ่งคู่ความทั้งสองฝ่ายหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องต้องรักษาข้อมูลเหล่านี้เป็นความลับและห้ามมิให้เผยแพร่ต่อบุคคลใดตามข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการไกล่เกลี่ย พ.ศ. 2554 ส่วนที่ 6 ว่าด้วยเรื่องการรักษาความลับของมูลในการไกล่เกลี่ย

การเปิดเผยข้อมูลการไกล่เกลี่ยดังกล่าวซึ่งมีประเด็นเกี่ยวข้องกับความลับสำหรับความปลอดภัยของประเทศ นอกจากจะเป็นการละเมิดข้อกำหนดประธานศาลฎีกาดังกล่าว และยังเป็นภัยต่อความปลอดภัยของประเทศ  จึงถือได้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการเจตนาไม่เคารพต่อกฎหมายและจงใจละเมิดอำนาจศาล…โดยในวันที่จำเลยมาศาลเพื่อทำการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทนั้น ฝ่ายจำเลยมีผู้เข้าร่วมการไกล่เกลี่ยทั้งหมด 4 คน ซึ่งเป็นโจทก์และทนายความของโจทก์ จึงเป็นที่แน่แท้ว่าข้อความหรือข้อมูลอื่นใดที่มีการพูดคุยในระหว่างกระบวนการไกล่เกลี่ยที่ถูกออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนนั้น มาจากผู้เข้าร่วมการไกล่เกลี่ยข้อมูลพิพาทของฝ่ายโจทก์”

จึงขอศาลให้มีคำสั่งถึงบุคคลได้แก่ ไผ่-จตุภัทร์ ผู้เป็นโจทก์ ทนายความโจทก์ และยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน โดยให้ดำเนินการลบข้อความที่เกี่ยวข้องกับการไกล่เกลี่ยในทุกแหล่งที่ลงข้อมูล และยุติการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยในทุกช่องทาง

ข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการไกล่เกลี่ย พ.ศ.2554 มีดังนี้

ข้อ 37 ในกรณีที่คู่ความไม่ได้ตกลงไว้เป็นอย่างอื่นให้รักษาข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเป็นความลับเว้นแต่เป็นการใช้เท่าที่จำเป็นเพื่อปฏิบัติหรือบังคับให้เป็นไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความ

ข้อ 38 ห้ามมิให้คู่ความที่เข้าร่วมในการไกล่เกลี่ยผู้ประนีประนอมหรือบุคคลภายนอกรวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการไกล่เกลี่ยนําความลับไปอ้างอิงหรือนําสืบเป็นพยานหลักฐานในกระบวนการอนุญาโตตุลาการกระบวนพิจารณาของศาลหรือเพื่อดำเนินการอื่นใดไม่ว่าจะนําไปใช้ในรูปแบบใดเกี่ยวกับเรื่องดังต่อไปนี้

(1) ความประสงค์หรือความเต็มใจของคู่ความในการขอเข้าร่วมในการไกล่เกลี่ย

(2) ความเห็นหรือข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางหรือวิธีการในการระงับข้อพิพาทของคู่ความในการไกล่เกลี่ย

(3) การยอมรับหรือข้อความที่กระทำโดยคู่ความในการไกล่เกลี่ย

(4) ข้อเสนอใดๆที่เสนอโดยผู้ประนีประนอม

(5) ข้อเท็จจริงที่ได้แสดงให้เห็นถึงความเต็มใจที่จะยอมรับข้อเสนอในการไกล่เกลี่ย

(6) เอกสารที่จัดทำโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจะใช้หรือใช้ในการไกล่เกลี่ยโดยเฉพาะ

อนึ่งพยานหลักฐานใดที่ใช้ในการไกล่เกลี่ยหากเป็นพยานหลักฐานที่นําสืบได้อยู่แล้วในกระบวนการอนุญาโตตุลาการกระบวนพิจารณาของศาลหรือเพื่อดำเนินการอื่นใดย่อมไม่ต้องห้ามตามความในวรรคหนึ่ง

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage