ไร้เสียงค้าน! สภารับหลักการร่างกฎหมายยกเลิกประกาศ-คำสั่ง คสช. ที่ขัดสิทธิมนุษยชนและหมดความจำเป็น

21 สิงหาคม 2567 สภาผู้แทนราษฎรมีมติ “รับหลักการ” ร่างกฎหมายยกเลิกประกาศ-คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ห้าฉบับ ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย 405 เสียง ไม่เห็นด้วย 0 เสียง งดออกเสียง 0 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 3 เสียง

โดยร่างพระราชบัญญัติที่มีเนื้อหายกเลิกประกาศ-คำสั่ง คสช. ห้าฉบับ ที่สภาผู้แทนราษฎรรับหลักการ ได้แก่

  1. ร่างพระราชบัญญัติยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติบางฉบับที่หมดความจำเป็นและไม่เหมาะสมกับกาลปัจจุบัน พ.ศ. …. เสนอโดย ครม.
  2. ร่างพระราชบัญญัติยกเลิกประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย พ.ศ. …. เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคภูมิใจไทย
  3. ร่างพระราชบัญญัติยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ พ.ศ. …. เสนอโดย สส. พรรคก้าวไกล
  4. ร่างพระราชบัญญัติยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 4/2559 เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท ลงวันที่ 20 มกราคม พุทธศักราช 2559 พ.ศ. …. เสนอโดย สส. พรรคก้าวไกล
  5. ร่างพระราชบัญญัติยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 98/2557 ลงวันที่ 21 กรกฎาคม พุทธศักราช 2557 คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 14/2559 ลงวันที่ 4 เมษายน พุทธศักราช 2559 และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 57/2559 ลงวันที่ 15 กันยายน พุทธศักราช 2559 พ.ศ. …. เสนอโดย สส. พรรคประชาชาติ เพื่อยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช. ที่เกี่ยวกับการจัดการปัญหาชายแดนใต้

รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 279 กำหนดหลักเกณฑ์ว่า หากประกาศหรือคำสั่งนั้นมีลักษณะเป็นการใช้อำนาจบริหาร วิธีการยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมสามารถทำเป็นคำสั่งนายกรัฐมนตรีหรือมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เลย แต่หากเป็นการใช้อำนาจนิติบัญญัติหรือการใช้อำนาจตุลาการ จะต้องทำเป็นพระราชบัญญัติเสนอให้รัฐสภาพิจารณา โดยเหตุนี้การยกเลิกประกาศหรือคำสั่ง คสช. จึงต้องเสนอร่างกฎหมายให้สภาพิจารณา

ย้อนกลับไปในสมัยของสภาผู้แทนราษฎรชุดที่แล้ว ที่มาจากการเลือกตั้งในปี 2562 ในสมัยของสภาที่มาจากการเลือกตั้ง 2562 ภาคประชาชน รวมถึง สส. พรรคอนาคตใหม่ เคยเสนอร่างกฎหมายยกเลิกประกาศ-คำสั่ง คสช. ต่อสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว แต่สภาปัดตก “ไม่รับหลักการ” ร่างกฎหมายทั้งสอง โดยเสียงไม่เห็นด้วยมาจากพรรคร่วมรัฐบาลถึงรวมถึงพรรคภูมิใจไทย พร้อมใจโหวต “ไม่เห็นด้วย” แต่ก็กลับมาเสนอร่างกฎหมายเองในสภาชุดนี้

โดยร่างพ.ร.บ.ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2559 ที่เสนอโดยสส. พรรคก้าวไกล และร่างพ.ร.บ.ยกเลิกประกาศ-คำสั่ง คสช. ที่เสนอโดยสส. พรรคประชาชาติ มีลักษณะเป็นการยกเลิกประกาศ-คำสั่ง คสช. รายฉบับ ขณะที่ร่างอีกสามฉบับที่เสนอโดย ครม. สส. พรรคก้าวไกล และสส.พรรคประชาชาติ เสนอยกเลิกประกาศ-คำสั่ง คสช. หลายฉบับ ตามบัญชีแนบท้ายร่างพระราชบัญญัติ โดยร่างที่สส. พรรคภูมิใจไทยเสนอ ยกเลิกประกาศ-คำสั่ง คสช. มากสุดที่ 71 ฉบับ ด้านร่างฉบับที่สส. พรรคก้าวไกลเสนอนั้น มีเนื้อหาเหมือนร่างที่สส. พรรคอนาคตใหม่เคยเสนอไว้ ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การยกเลิกประกาศ-คำสั่ง คสช. ที่ขัดหลักสิทธิมนุษยชน

เนื่องจากมีร่างแต่ละฉบับมีเนื้อหาเสนอยกเลิกประกาศ-คำสั่ง คสช. แต่ละฉบับแตกต่างกัน สส.พรรคเพื่อไทย เสนอให้ใช้ร่างที่เสนอโดย ครม. เป็นร่างหลักในการพิจารณาชั้นกรรมาธิการ (กมธ.) วาระสอง ขณะที่ฝั่ง สส.พรรคประชาชน เสนอให้ใช้ร่างที่ สส.พรรคภูมิใจไทยเสนอ เป็นร่างหลักในการพิจารณาชั้นกมธ. เนื่องจากร่างที่พรรคภูมิใจไทยเสนอนั้น เสนอยกเลิกประกาศ-คำสั่ง คสช. จำนวนมากที่สุด คือ 71 ฉบับ แต่สุดท้ายที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติให้ใช้ร่างที่เสนอโดย ครม. เป็นร่างหลักในการพิจารณาชั้นกมธ.

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage