จับตา #ประชุมสภา พิจารณาร่างกฎหมายยกเลิกประกาศ-คำสั่ง คสช. และแก้พ.ร.บ.ประชามติฯ ต่อวาระสอง-สาม

วันที่ 14 สิงหาคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งปมตั้งพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งส่งผลให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พ้นตำแหน่งไปทั้งคณะ ในวันเดียวกันนั้นเองสภาผู้แทนราษฎรก็มีวาระสำคัญในการพิจารณาร่างกฎหมายยกเลิกประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จำนวนห้าฉบับ แต่ยังไม่ทันที่สภาผู้แทนราษฎรจะมีมติว่าจะรับหลักการร่างกฎหมายทั้ง พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม ก็แจ้งต่อที่ประชุมว่า ขอเชิญวิปรัฐบาล วิปฝ่ายค้าน และตัวแทน ครม. ประชุม เนื่องจากมีประเด็นการพิจารณาร่างกฎหมายว่ารัฐมนตรีรักษาการจะสามารถเป็นกรรมาธิการ (กมธ.) ในชั้นวาระสองได้หรือไม่ และสั่งปิดการประชุมสภาในเวลา 16.17 น.

โดยในวันที่ 21 สิงหาคม 2567 สภาผู้แทนราษฎรมีวาระพิจารณาร่างกฎหมายยกเลิกประกาศ-คำสั่ง คสช. ทั้งห้าฉบับอีกครั้ง เพื่อลงมติรับหลักการในวาระหนึ่ง ประกอบไปด้วย

1) ร่างพระราชบัญญัติยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติบางฉบับที่หมดความจำเป็นและไม่เหมาะสมกับกาลปัจจุบัน พ.ศ. …. เสนอโดย ครม.

2) ร่างพระราชบัญญัติยกเลิกประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย พ.ศ. …. เสนอโดย สส. พรรคภูมิใจไทย

3) ร่างพระราชบัญญัติยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ พ.ศ. …. เสนอโดย สส. พรรคก้าวไกล

4) ร่างพระราชบัญญัติยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 4/2559 เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท ลงวันที่ 20 มกราคม พุทธศักราช 2559 พ.ศ. …. เสนอโดย สส. พรรคก้าวไกล

5) ร่างพระราชบัญญัติยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 98/2557 ลงวันที่ 21 กรกฎาคม พุทธศักราช 2557 คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 14/2559 ลงวันที่ 4 เมษายน พุทธศักราช 2559 และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 57/2559 ลงวันที่ 15 กันยายน พุทธศักราช 2559 พ.ศ. …. เสนอโดย สส. พรรคประชาชาติ เพื่อยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช. ที่เกี่ยวกับการจัดการปัญหาชายแดนใต้

โดยร่างกฎหมายลำดับที่หนึ่งถึงลำดับที่สาม มีเนื้อหายกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช. หลายฉบับในบัญชีแนบท้ายร่างพระราชบัญญัติ ครอบคลุมถึงประกาศ-คำสั่งที่มีเนื้อหาขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนบางฉบับ ตัวอย่างเช่น

  • ประกาศ คสช. (เฉพาะ) ฉบับที่ 25/2557 เรื่อง ให้มารายงานตัว หรือแจ้งเหตุขัดข้อง : กำหนดความผิดและโทษสำหรับบุคคลที่ไม่มารายงานตัวตามคำสั่ง คสช. ภายในวันและเวลาที่กำหนด
  • ประกาศ คสช. ฉบับที่ 26/2557 เรื่อง การดูแล และสอดส่องการใช้สื่อสังคมออนไลน์ : ให้อำนาจปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศตั้งคณะทำงาน มีอำนาจตรวจสอบข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์ สามารถระงับเผยแพร่เว็บไซต์ โซเชียลมีเดียได้
  • ประกาศ คสช. ฉบับที่ 29/2557 เรื่อง ให้บุคคลมารายงานตัวตามคำสั่งของ คสช.  : กำหนดความผิดและโทษสำหรับบุคคลที่ไม่มารายงานตัวตามคำสั่ง คสช. ภายในวันและเวลาที่กำหนด
  • ประกาศ คสช. ฉบับที่ 41/2557 เรื่อง กำหนดให้การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัว เป็นความผิด  : กำหนดความผิดและโทษสำหรับบุคคลที่ไม่มารายงานตัวตามคำสั่ง คสช. ภายในวันและเวลาที่กำหนด
  • ประกาศ คสช. ฉบับที่ 49/2557 เรื่อง ความผิดสำหรับการสนับสนุนการชุมนุมทางการเมือง : กำหนดความผิดสำรับผู้ที่อำนวยความสะดวกผู้ที่ชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป หากกระทำการอันเป็นการช่วยเหลือ เช่น ให้ใช้สถานที่ สนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ อาจถูกดำเนินคดีในฐานะผู้สนับสนุน ต้องระวางโทษสองในสามของผู้กระทำความผิด
  • คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2558 เรื่อง มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายที่คุ้มครองประโยชน์สาธารณะและประชาชนโดยส่วนรวม : ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในปฏิบัติการ “ทวงคืนผืนป่า” สามารถขอความช่วยเหลือจากกำลังทหาร เพื่อจัดการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการบุกรุกพื้นที่สาธารณะ พื้นที่อุทยาน หรือพื้นที่ป่าสงวน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสามารถขอให้หัวหน้า คสช. แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ทหารให้มีอำนาจหน้าที่เทียบเท่าเจ้าพนักงานตามกฎหมายที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในเรื่องนั้นๆได้ รวมทั้งให้ทหารมีอำนาจหน้าที่เสมือนเจ้าพนักงานพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา รวมถึงเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองและตำรวจชั้นผู้ใหญ่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

นอกจากร่างกฎหมายยกเลิกประกาศ-คำสั่ง คสช. ห้าฉบับข้างต้น สภาผู้แทนราษฎรยังมีวาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ร่างพ.ร.บ.ประชามติฯ) เป็นการพิจารณาลงมติรายมาตราในวาระสองและลงมติในวาระสาม มีเนื้อหาแก้ไขพ.ร.บ.ประชามติ พ.ศ.2564 ในหลายประเด็น ดังนี้

  • การเข้าชื่อเสนอคำถามประชามติโดยประชาชน 50,000 ชื่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องเปิดทางให้ทำด้วยวิธีการออนไลน์ได้
  • หากวันออกเสียงประชามติ ใกล้เคียงกับวันเลือกตั้งทั่วไป หรือเลือกตั้งท้องถิ่น ครม. สามารถกำหนดให้วันประชามติเป็นวันเดียวกับวันเลือกตั้งก็ได้
  • การออกเสียงประชามติ จะมีข้อยุติต่อเมื่อได้เสียงข้างมากของผู้มาออกเสียง โดยคะแนนเสียงข้างมากต้องสูงกว่าคะแนนเสียงไม่แสดงความคิดเห็น

หลังจากร่างพ.ร.บ.ประชามติฯ ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระสามแล้ว กระบวนการขั้นตอนต่อไปคือพิจารณาในชั้นวุฒิสภา

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage