(บทความนี้มีการแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหา วันที่ 22 ตุลาคม 2567)
การทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณากฎหมาย การพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ การตั้งกระทู้ถามเพื่อตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาล รวมถึงการให้ความเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ต้องทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร หรือที่ประชุมวุฒิสภา แล้วแต่กรณีว่าเรื่องนั้นถูกกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสภาใด อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสภาใด
โดยทั่วไปแล้วการลงมติของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) และสมาชิกวุฒิสภา (สว.) จะทำโดย “เปิดเผย” เว้นแต่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายกำหนดให้ลงมติ “โดยลับ” หมายความว่า หากสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาพิจารณากฎหมายใด ประชาชนจะสามารถเข้าไปดูได้ว่า สส. สว. แต่ละคนลงมติอย่างไรบ้าง แต่กรณีการลงมติของ สว. ในการประชุมวุฒิสภาครั้งต่างๆ กลับไม่มีผลการลงมติรายบุคคลของ สว. บนเว็บไซต์ของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเลย ซึ่งต่างจากการลงมติของ สส. ที่มีผลการลงมติเผยแพร่บนเว็บไซต์ รวมถึงการประชุมรัฐสภา ที่มีผลลงมติเวลา สส. สว. ประชุมร่วมกัน
ปัญหาดังกล่าวสืบเนื่องมาจาก “ข้อบังคับการประชุม” ของแต่ละฉบับกำหนดรายละเอียดเรื่องนี้ไว้แตกต่างกัน โดยข้อบังคับการประชุมของวุฒิสภา “ไม่เปิดช่อง” ให้มีการเผยแพร่ผลการลงมติ สว. รายบุคคล ผ่านทางเว็บไซต์
ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2562 ข้อ 76 กำหนดไว้ว่า “ให้เลขาธิการวุฒิสภาจัดทำบันทึกการลงมติการออกเสียงลงคะแนนของสมาชิกแต่ละคน และเปิดเผยบันทึกการลงมติดังกล่าวไว้ ณ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เพื่อให้ประชาชนทราบได้ทั่วไป เว้นแต่กรณีการออกเสียงลงคะแนนเป็นการลับ”
ขณะที่ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อ 89 ระบุว่า “ให้เลขาธิการจัดทำบันทึกการออกเสียงลงคะแนนของสมาชิกแต่ละคนและเปิดเผยบันทึกดังกล่าวไว้ ณ บริเวณสภา รวมทั้งสื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศประเภทอื่นเพื่อให้ประชาชนทราบได้ทั่วไป เว้นแต่การออกเสียงลงคะแนนเป็นการลับตามข้อ 84”
ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 62 ระบุว่า “ให้เลขาธิการรัฐสภาจัดทำบันทึกการออกเสียงลงคะแนนของสมาชิกรัฐสภาแต่ละคนและเปิดเผยบันทึกดังกล่าวไว้ ณ บริเวณรัฐสภา รวมทั้งสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ประชาชนทราบได้ทั่วไป เว้นแต่การออกเสียงลงคะแนนเป็นการลับตามข้อ 57”
เมื่อข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา กำหนดให้เปิดเผยที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ในทางปฏิบัติจึงมีการนำแผ่นกระดาษไปติดบอร์ดไว้ให้ประชาชนสามารถไปตรวจสอบดูได้เอง แต่ก็ต้องผ่านการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยก่อนจึงเข้าไปได้ และข้อบังคับข้อ 76 นี้เองเป็นเหตุผลที่ทำให้ไม่มีการเปิดเผยใบประมวลผลการลงคะแนนของ สว. แต่ละคนบนเว็บไซต์ของรัฐสภา
การเขียนข้อบังคับข้อ 76 เช่นนี้ แตกต่างจากกรณีขอดูบันทึกการลงคะแนนของ สส. ที่สามารถค้นหาได้จาก ระบบฐานข้อมูลรายงานและและบันทึกการประชุมบนเว็บไซต์ของรัฐสภาโดยตรง ซึ่งจะแสดงทั้งบันทึกการประชุม บันทึกการออกเสียงและการลงคะแนน ซึ่งของ สส. เปิดเผยใบประมวลผลการลงมติเป็นรายบุคคลอีกด้วย
อย่างไรก็ดี มี สว. ที่เสนอแก้ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา ข้อ 76 เพื่อให้เปิดเผยผลการลงมติของ สว. รายบุคคลผ่านทางเว็บไซต์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปรับทราบ แต่ในการประชุมวุฒิสภา เมื่อ 5 สิงหาคม 2567 ที่ประชุมวุฒิสภามีมติ “ไม่เห็นด้วย” กับข้อเสนอแก้ไขข้อบังคับดังกล่าว ด้วยคะแนนเสียงไม่เห็นด้วย 147 เสียง เห็นด้วย 38 เสียง งดออกเสียง 12 เสียง และไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง ส่งผลให้ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา ข้อ 76 ยังมีเนื้อหาเดิม ที่ไม่เปิดช่องให้เผยแพร่ผลการลงมติของ สว. รายบุคคลผ่านทางเว็บไซต์ หากประชาชนอยากรู้ก็ต้องไปดูที่สภาเอง