16 สิงหาคม 2567 สภาผู้แทนราษฎร (สส.) มีมติเห็นชอบ “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ของประเทศไทย แพทองธารถือเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนเดียวที่ถูกเสนอชื่อในการประชุมครั้งนี้ ไม่มีพรรคใดเสนอแคนดิเดตแข่งด้วย
หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติ เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ให้เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย พ้นจากตำแหน่ง ปมแต่งตั้ง “พิชิต ชื่นบาน” อดีตทนายความของทักษิณ ชินวัตร เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งที่รู้ว่าพิชิตขาดคุณสมบัติในการเป็นรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎรนัดประชุมเป็นการด่วนในวันที่ 16 สิงหาคม 2567 เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ในขณะที่พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลมีฉันทามติเสนอแพทองธาร เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 31
โดยองค์ประชุมในการประชุมเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีในวันนี้ (16 สิงหาคม 2567) มีผู้มาประชุม 491 คน จากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ 493 คน ซึ่งผู้ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 159 จะต้องได้รับเสียงเห็นชอบเกินกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ หรือ 248 เสียง ก่อนจะมีการลงมติเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี สรวงศ์ เทียนทอง สส. พรรคเพื่อไทยลุกขึ้นเสนอชื่อ แพทองธาร ชินวัตร เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในการประชุมครั้งนี้ โดยมีผู้รับรอง 291 คน
การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเป็นการด่วนเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ไม่มีสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เข้ามาร่วมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีด้วยเหมือนการเลือกนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2562 หรือ 2566 ที่ผ่านมา เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 บทเฉพาะกาล มาตรา 272 กำหนดกรอบระยะเวลาที่ สว. จะมีส่วนร่วมในการเลือกนายกรัฐมนตรีไว้เพียงแค่ 5 ปี นับแต่ที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งระยะเวลาดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2562 และสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 จึงทำให้อำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีของ สว. สิ้นสุดลงไปพร้อมกับวาระในการดำรงตำแหน่งและ สว. ชุดใหม่จะไม่มีสิทธิในการร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 อีกแล้ว
ก่อนจะมีการลงมติมีการอภิปรายจาก สส. พรรคฝ่ายค้าน โดยณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าและ สส. พรรคประชาชน (พรรคก้าวไกลเดิม) อภิปรายถึงความไม่เห็นด้วยต่อกระบวนการการใช้กฎหมายเพื่อทำลายอำนาจทางการเมืองของประชาชน ไม่ว่าในวันนี้จะมีการลงมติเลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรี สิ่งที่สำคัญคือการจะต้องแก้ปัญหาของประเทศที่ต้นตอ โดยมีข้อเสนอสามข้อ ได้แก่ (1) ปรับปรุงแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือรายมาตราเพื่อปฏิรูปโครงสร้างองค์กรอิสระ (2) เสนอหลักการให้พรรคการเมืองเกิดง่าย ตายยาก (3) เสนอหลักการให้ประชาชนเป็นผู้พิจารณามาตรฐานทางจริยธรรมของนักการเมืองแทนที่จะเป็นศาล
โดยที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติเลือก แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยคะแนนเสียง ดังนี้
- เห็นชอบ 319 เสียง
- ไม่เห็นชอบ 145 เสียง
- งดออกเสียง 27 เสียง
- ไม่มาลงคะแนน 2 คน (ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง และ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ)
โดยแบ่งออกเป็นพรรคร่วมรัฐบาล – ฝ่ายค้าน ดังนี้
พรรคร่วมรัฐบาลเสียงไม่แตก เฉลิม – ประวิตรโดดประชุม
- พรรคเพื่อไทย : เห็นชอบ 139 เสียง ไม่มาลงมติ 1 คน คือ ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง และงดออกเสียง 1 เสียง จาก พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่สอง
- พรรคภูมิใจไทย : เห็นชอบ 70 เสียง
- พรรคพลังประชารัฐ : เห็นชอบ 39 เสียง ไม่มาลงมติ 1 เสียง คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
- พรรครวมไทยสร้างชาติ : เห็นชอบ 36 เสียง
- พรรคชาติไทยพัฒนา : เห็นชอบ 10 เสียง
- พรรคประชาชาติ : เห็นชอบ 8 เสียง และงดออกเสียง 1 เสียงจาก วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร
- พรรคชาติพัฒนา : เห็นชอบ 3 เสียง
- พรรคเพื่อไทรวมพลัง : เห็นชอบ 2 เสียง
- พรรคท้องที่ไทย : เห็นชอบ 1 เสียง
- พรรคเสรีรวมไทย : เห็นชอบ 1 เสียง
- พรรคพลังสังคมใหม่ : เห็นชอบ 1 เสียง
พรรคร่วมฝ่ายค้าน ไทยสร้างไทยโหวตแพทองธาร
- พรรคประชาชน : ไม่เห็นชอบ 143 เสียง
- พรรคประชาธิปัตย์ : งดออกเสียง 25 เสียง
- พรรคไทยสร้างไทย : เห็นชอบ 6 เสียง
- พรรคเป็นธรรม : ไม่เห็นชอบ 1 เสียง
- พรรคไทยก้าวหน้า : ไม่เห็นชอบ 1 เสียง
- พรรคใหม่ : เห็นชอบ 1 เสียง
- พรรคประชาธิปไตยใหม่ : เห็นชอบ 1 เสียง
- พรรคครูไทยเพื่อประชาชน : เห็นชอบ 1 เสียง
ผลการลงมติสรุปว่าสภาผู้แทนราษฎรมีมติแพทองธาร ชินวัตร ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ของประเทศไทยและจากสถิติถือว่าแพทองธารจะเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีอายุน้อยที่สุดเท่าที่เคยมีมาของประเทศไทยและน้อยที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 2 ต่อจากยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และเป็นนายกรัฐมนตรีสกุล “ชินวัตร” คนที่ 3