ขั้นตอนเลือกนายกฯ คนใหม่ หลังศาลรัฐธรรมนูญฟันเศรษฐาพ้นตำแหน่ง

แม้การเลือกนายกรัฐมนตรีหลังจากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2562 ที่ได้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี และหลังการเลือกตั้ง 2566 ที่ได้เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี จะมีสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดพิเศษมาร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย แต่หลังจากพ้นระยะเวลาห้าปีที่มีรัฐสภาชุดแรก ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 272 แล้ว และสว. ชุดพิเศษ ก็พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว สว. ชุดใหม่จะไม่มีอำนาจในการร่วมลงมติโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีอีกต่อไป กลไกการเลือกนายกรัฐมนตรีจะกลับมาใช้ขั้นตอนปกติตามรัฐธรรมนูญ 2560 คือ เลือกนายกรัฐมนตรีโดยสภาผู้แทนราษฎร (สส.) เท่านั้น 

เปิดขั้นตอนเลือกนายกฯ ต้องการเสียง สส. เกินครึ่งเคาะเลือก

ขั้นตอนการเลือกนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 159 มีดังนี้

1) พรรคการเมืองที่มี สส. ในสภา ไม่น้อยกว่า 5% (25 คน) สามารถเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จากบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเคยแจ้งไว้ในการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 88 กำหนดให้พรรคการเมืองส่งบัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีได้ไม่เกินสามชื่อ

โดยการเสนอชื่อผู้สมควรได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี จะต้องเสนอชื่อผู้ที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 ดังนั้น พรรคเพื่อไทยซึ่งมีเศรษฐา ทวีสินอยู่ในบัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จะเสนอชื่อเศรษฐาอีกรอบไม่ได้ เพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วว่าเศรษฐาเป็นผู้ที่ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 (4) และ (5)

การเสนอชื่อแคนดิดเดตนายกรัฐมนตรีเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติเลือก จะต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) รับรองด้วยจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งใน 10 ของ สส. ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร จากข้อมูล ณ วันที่ 14 สิงหาคม 2567 มี สส. ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ 493 คน โดยสส. หกคนที่สมาชิกภาพสิ้นสุดลงเนื่องจากกรณีการยุบพรรคก้าวไกลและถูกตัดสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง และอีกหนึ่งคนมุกดาวรรณ เลื่องศรีนิล สส. พรรคภูมิใจไทย ที่ถูกศาลฎีกาสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้นจำนวนผู้รับรองในการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีไม่น้อยกว่าหนึ่งใน 10 จะอยู่ที่ 50 คน

สำหรับพรรคการเมืองที่มี สส. ไม่น้อยกว่า 5% ที่มีสิทธิเสนอชื่อบุคคลให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและมีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีให้สภาผู้แทนราษฎรโหวตเลือกได้ ประกอบไปด้วย

  • พรรคเพื่อไทย มี สส. 141 คน บัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีมีสองคน คือ 1) แพทองธาร ชินวัตร และ 2) ชัยเกษม นิติสิริ
  • พรรคภูมิใจไทย มี สส. 70 คน (ไม่นับรวมผู้ที่ศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่) บัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีมีหนึ่งคน คือ อนุทิน ชาญวีรกูล
  • พรรคพลังประชารัฐ มี สส. 40 คน บัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีมีหนึ่งคน คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
  • พรรครวมไทยสร้างชาติ มี สส. 36 คน บัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีมีสองคน คือ 1) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี โดยปัจจุบันประยุทธ์ดำรงตำแหน่งเป็นองคมนตรี และ 2) พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค
  • พรรคประชาธิปัตย์ มี สส. 25 คน เป็นขั้นต่ำของพรรคที่จะเสนอแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีได้พอดี บัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีมีหนึ่งคน คือ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

2) สภาผู้แทนราษฎรลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี จากผู้ได้รับการเสนอชื่อ โดยขั้นตอนการเลือกนายกรัฐมนตรีจะทำโดยเปิดเผย กล่าวคือ ใช้วิธีการเรียกชื่อ สส. แต่ละคนและให้ สส. ลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรี ผู้ที่ได้รับเลือก จะต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวน สส. ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร เมื่อมี สส. ทั้งหมด 493 คน เท่ากับว่าต้องได้คะแนนเสียงตั้งแต่ 248 เสียงขึ้นไปจึงจะได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี

เช็กเสียง สส. ในสภา ก่อนวันโหวตเลือกนายกฯ คนที่ 31

ภายหลังจากการยุบพรรคก้าวไกลส่งผลให้ สส. จากพรรคก้าวไกลเดิมที่ย้ายมาสังกัดพรรคพรรคประชาชนมีจำนวนน้อยกว่าพรรคก้าวไกลห้าคน เหลือ 143 คน ด้านพรรคเป็นธรรมลดลงหนึ่งคน และพรรคภูมิใจไทยมี สส. ที่ถูกศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่อีกหนึ่งคน และส่งผลให้จำนวนรวมของ สส. ในสภามีจำนวน 493 คน (ข้อมูลเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567)

 สส. ในแต่ละพรรค แบ่งตามฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน มีจำนวนดังนี้ 

พรรคร่วมรัฐบาล 314 คน

  • พรรคเพื่อไทย 141 คน
  • พรรคภูมิใจไทย 70 คน (หยุดปฏิบัติหน้าที่ 1 คน)
  • พรรคพลังประชารัฐ 40 คน
  • พรรครวมไทยสร้างชาติ 36 คน
  • พรรคชาติไทยพัฒนา 10 คน
  • พรรคประชาชาติ 9 คน
  • พรรคเพื่อไทรวมพลัง 2 คน
  • พรรคชาติพัฒนากล้า 3 คน
  • พรรคเสรีรวมไทย 1 คน
  • พรรคพลังสังคมใหม่ 1 คน
  • พรรคท้องที่ไทย 1 คน

พรรคฝ่ายค้าน 179 คน

  • พรรคประชาชน 143 คน
  • พรรคประชาธิปัตย์ 25 คน
  • พรรคไทยสร้างไทย 6 คน
  • พรรคเป็นธรรม 1 คน
  • พรรคใหม่ 1 คน
  • พรรคครูไทยเพื่อประชาชน 1 คน
  • พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า 1 คน
  • พรรคไทยก้าวหน้า 1 คน
Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage