หลังเศรษฐา-ครม. พ้นตำแหน่ง สส. ต้องโหวตเลือกนายกฯ จากบัญชีพรรคการเมือง

14 สิงหาคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติโดยเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 ให้เศรษฐา ทวีสิน พ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ปมทูลเกล้าฯ แต่งตั้งพิชิต ชื่นบาน อดีตทนายความของทักษิณ ชินวัตร เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีทั้งที่เคยมีต้องคำพิพากษาให้จำคุกมาแล้ว ส่งผลให้ความเป็นรัฐมนตรีของเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) และส่งผลต่อเนื่องให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พ้นตำแหน่งทั้งคณะ ตามมาตรา 167 (1)

โดยเหตุการณ์สำคัญที่จะเกิดขึ้นต่อไปนี้ คือ สภาผู้แทนราษฎรจะต้องเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เพื่อเป็นประมุขฝ่ายบริหารต่อไป โดยใช้เพียงเสียงของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) เลือกนายกรัฐมนตรี ไม่ต้องใช้เสียงสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีอีกต่อไป

ครม. ปฏิบัติหน้าที่ต่อไร้นายกฯ รองนายกฯ ขึ้นรักษาการแทน

ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 168 (1) กำหนดว่า ให้คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ภายใต้เงื่อนไขว่า กรณีพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 167 (1) ให้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ ถ้าเป็นกรณีที่นายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งเพราะขาดคุณสมบัติตามมาตรา 160 (4) หรือ (5) นายกรัฐมนตรีจะอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปไม่ได้

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า เศรษฐา ทวีสิน ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และ (5) ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ทำให้เศรษฐา ทวีสิน ไม่สามารถอยู่ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีต่อไปได้

ระหว่างที่ยังไม่มีการตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ รองนายกรัฐมนตรีจะทำหน้าที่รักษาการแทนนายกรัฐมนตรีไปก่อน (พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 41) โดยในคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 216/2567 ระบุว่า กรณีที่นายกรัฐมนตรีไม่อาจปฏิบัติราชการได้ คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ตามลำดับ ดังนี้

1) ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

2) สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

3) พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

4) อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

5) พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

6) พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

ดังนั้น รองนายกรัฐมนตรีผู้ที่จะทำหน้าที่รักษาการแทนนายกรัฐมนตรี ในสภาวะรอยต่อระหว่างรอการเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่ คือ ภูมิธรรม เวชยชัย

สภาเลือกนายกฯ ใหม่ จากบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองที่มี สส. ในสภา 5% ขึ้นไป

แม้การเลือกนายกรัฐมนตรีหลังจากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2562 ที่ได้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี และหลังการเลือกตั้ง 2566 ที่ได้เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี จะมี สว. ชุดพิเศษร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย แต่หลังจากพ้นระยะเวลาห้าปีที่มีรัฐสภาชุดแรก ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 272 แล้ว และ สว. ชุดพิเศษ ก็พ้นตำแหน่งไปแล้ว กลไกการเลือกนายกรัฐมนตรีจะกลับมาใช้ขั้นตอนปกติตามรัฐธรรมนูญ 2560 คือ เลือกนายกรัฐมนตรีโดยสภาผู้แทนราษฎร

โดยขั้นตอนการเลือกนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 159 มีดังนี้

1) พรรคการเมืองที่มี สส. ในสภา ไม่น้อยกว่า 5% (25 คน) สามารถเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จากบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเคยแจ้งไว้ในการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 88 กำหนดให้พรรคการเมืองส่งบัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีได้ไม่เกินสามชื่อ

โดยการเสนอชื่อผู้สมควรได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี จะต้องเสนอชื่อผู้ที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 ดังนั้น พรรคเพื่อไทยซึ่งมีเศรษฐา ทวีสินอยู่ในบัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จะเสนอชื่อเศรษฐาอีกรอบไม่ได้

การเสนอชื่อแคนดิดเดตนายกรัฐมนตรีเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติเลือก จะต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) รับรองด้วยจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งใน 10 ของ สส. ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร จากข้อมูล ณ วันที่ 14 สิงหาคม 2567 มี สส. ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ 493 คน โดยสส. หกคนที่สมาชิกภาพสิ้นสุดลงเนื่องจากกรณีการยุบพรรคก้าวไกลและถูกตัดสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง และอีกหนึ่งคนมุกดาวรรณ เลื่องศรีนิล สส. พรรคภูมิใจไทย ที่ถูกศาลฎีกาสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้นจำนวนผู้รับรองในการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีไม่น้อยกว่าหนึ่งใน 10 จะอยู่ที่ 50 คน

สำหรับพรรคการเมืองที่มี สส. ไม่น้อยกว่า 5% มีสิทธิเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีให้สภาผู้แทนราษฎรเคาะเลือกได้ ประกอบด้วย

  • พรรคเพื่อไทย มี สส. 141 คน บัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีมีสองคน คือ 1) แพทองธาร ชินวัตร และ 2) ชัยเกษม นิติสิริ
  • พรรคภูมิใจไทย มี สส. 70 คน (ไม่นับรวมผู้ที่ศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่) บัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีมีหนึ่งคน คือ อนุทิน ชาญวีรกูล
  • พรรคพลังประชารัฐ มี สส. 40 คน บัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีมีหนึ่งคน คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
  • พรรครวมไทยสร้างชาติ มี สส. 36 คน บัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีมีสองคน คือ 1) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี โดยปัจจุบันประยุทธ์ดำรงตำแหน่งเป็นองคมนตรี และ 2) พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค
  • พรรคประชาธิปัตย์ มี สส. 25 คน เป็นขั้นต่ำของพรรคที่จะเสนอแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีได้พอดี บัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีมีหนึ่งคน คือ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

2) สภาผู้แทนราษฎรลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี จากผู้ได้รับการเสนอชื่อ โดยขั้นตอนการเลือกนายกรัฐมนตรีจะทำโดยเปิดเผย กล่าวคือ ใช้วิธีการเรียกชื่อ สส. แต่ละคนและให้ สส. ลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรี ผู้ที่ได้รับเลือก จะต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวน สส. ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร เมื่อมี สส. ทั้งหมด 493 คน เท่ากับว่าต้องได้คะแนนเสียงตั้งแต่ 248 เสียงขึ้นไปจึงจะได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี

นายกฯ ตั้ง ครม. ใหม่

หลังจากสภาผู้แทนราษฎรเลือกนายกรัฐมนตรีแล้ว ขั้นตอนต่อมาคือนายกรัฐมนตรีจะต้องนำรายชื่อรัฐมนตรีขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อให้พระมหากษัตริย์โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งต่อไป โดยในขั้นตอนนี้ รัฐธรรมนูญ 260 ไม่ได้กำหนดกรอบเวลาไว้

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage