14 สิงหาคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัยคดีเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ปม 40 สว. ชุดพิเศษ ชงเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญว่าการที่เศรษฐาเคยตั้งพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งที่พิชิตเคยต้องคำพิพากษาคดีละเมิดอำนาจศาล เป็นพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงตามรัฐธรรมนูญ 2560
นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 บังคับใช้ มีนายกรัฐมนตรีสี่คนที่ชะตากรรมตกอยู่ในมือศาลรัฐธรรมนูญ ในจำนวนนี้มีสองคนที่เคยถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้แก่ สมัคร สุนทรเวช จากกรณีเป็นพิธีกรรายการโทรทัศน์ และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จากกรณีการโยกย้ายเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ โดยเศรษฐา ทวีสิน ถือเป็นคนที่ห้าที่ถูกส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาว่าจะต้องพ้นจากตำแหน่งหรือไม่
ย้อนร้อยคดี ตั้งแต่ทูลฯโปรดเกล้าฯ-พิชิตลาออก
ในการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งแรกของรัฐบาลเศรษฐา เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2567 มีรองนายกฯ หนึ่งคน และรัฐมนตรีอีก 10 คน พ้นจากตำแหน่ง และตั้งรัฐมนตรีแทนที่ผู้ที่พ้นจากตำแหน่งไป 11 คน และรองนายกรัฐมนตรีเพิ่มอีกสองคน หนึ่งในรัฐมนตรีใหม่ที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งคือ “พิชิต ชื่นบาน” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เข้ามาแทนที่พวงเพ็ชร ชุนละเอียด
พิชิต ชื่นบาน เป็นอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคเพื่อไทย และทนายความของทักษิณ ชินวัตร พิชิตเคยถูกจำคุกหกเดือนฐานละเมิดอำนาจศาล เมื่อปี 2551 เนื่องจากกรณีหิ้วถุงขนมใส่เงินสดสองล้านบาทไปมอบให้เจ้าหน้าที่ธุรกาลศาลในช่วงที่มีการพิจารณาคดีที่ดินรัชดา ของทักษิณ ชินวัตร ในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
หนึ่งวันหลังการโปรดเกล้าฯ ครม. ใหม่ 29 เมษายน 2567 วัชระ เพชรทอง อดีต สส. พรรคประชาธิปัตย์ เข้าร้องเรียนกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่าการแต่งตั้งพิชิต ชื่นบานเป็นรัฐมนตรีอาจขัดกับมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระฯ พ.ศ. 2561 หรือไม่ เนื่องจากพิชิตเคยต้องคำพิพากษาว่ามีความผิดในคดีละเมิดอำนาจศาลมาแล้ว และคำตัดสินในคดีดังกล่าวย่อมเห็นได้ว่า พิชิตไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต เป็นที่ประจักษ์
ต่อมาในวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดพิเศษ จำนวน 40 คน ได้ร่วมกันเข้าชื่อต่อประธานวุฒิสภาให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการสิ้นสุดตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของเศรษฐา ทวีสิน และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีพิชิต ชื่นบาน โดยใช้กลไกตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบกับมาตรา 82 ที่เปิดช่องให้ สส. หรือ สว. จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งใน 10 ของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภาสามารถเข้าชื่อร้องต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกเพื่อให้ประธานสภาในสภานั้นส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยสมาชิกภาพรวมถึงความเป็นรัฐมนตรีตามมาตรา 170
ข้อกล่าวหาในคำร้องของ 40 สว. คือ การที่เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้นำคำกราบบังคมทูลฯ เพื่อโปรดเกล้าแต่งตั้ง พิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่หรือควรรู้ว่า พิชิต ชื่นบาน ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเคยถูกศาลฎีกามีคำสั่งจำคุกเป็นเวลาหกเดือน ในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เป็นบุคคลที่กระทำการอันไม่ซื่อสัตย์สุจริต และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 160 (4) (5) ซึ่งกำหนดคุณสมบัติของรัฐมนตรี คือ มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
หลังจาก 40 สว. ยื่นคำร้องส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ พิชิต ชื่นบาน ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยยืนยันว่าตนนั้นมีคุณสมบัติครบถ้วนแต่เนื่องจากไม่อยากให้กระทบกับการบริการราชการแผ่นดินจึงจำเป็นต้องลาออก
วันที่ 23 พฤษภาคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 ให้รับคำร้องของกลุ่ม สว. 40 คน ที่ร้องเศรษฐาและให้ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อ ส่วนคำร้องต่อพิชิต ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 8 ต่อ 1 ให้ไม่รับคำร้อง ส่วนในกรณีที่มีการร้องให้ศาลพิจารณาสั่งให้เศรษฐาหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำนิวิจฉัยนั้น ศาลมีมติ 5 ต่อ 4 ไม่สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่
หลังจากกระบวนการไต่สวนเสร็จสิ้น ศาลรัฐธรรมนูญชี้แจงว่ามีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะวินิจฉัยคดีนี้ได้แล้ว จึงยุติการไต่สวนและนัดแถลงด้วยวาจา ประชุมปรึกษาหารือ และลงมติในวันที่ 14 สิงหาคม 2567 เวลา 09.30 น. และนัดฟังคำวินิจฉัยในเวลา 15.00 น. ณ ห้องพิจารณาคดี ชั้นสาม ศาลรัฐธรรมนูญ ศูนย์ราชการเฉลิมเกียรติ อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ แจ้งวัฒนะ
หากเลือกนายกฯใหม่ จะไม่มี สว. ร่วมลงมติ
ไม่ว่าผลคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไร ระบบการเลือกนายกรัฐมนตรีคนต่อไปตามรัฐธรรมนูญ 2560 จะไม่เหมือนกับการเลือกนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 และปี 2566 กล่าวคือ การเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ จะเป็นการเลือกโดยสภาผู้แทนราษฎร ใช้เพียงเสียง สส. เท่านั้น จะไม่มี สว. มาร่วมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีอีกแล้ว เพราะในรัฐธรรมนูญ 2560 บทเฉพาะกาล มาตรา 272 ที่กำหนดให้ในระยะห้าปีแรกนับแต่ที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ การลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีจะต้องมี สว. มาร่วมลงมติด้วย ซึ่งตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 มีรัฐสภาชุดแรกเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2562 ซึ่งเมื่อครบห้าปีตามที่กำหนดไว้ อำนาจในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีรวมถึงวาระในการดำรงตำแหน่งของ สว. ชุดพิเศษ ก็เป็นอันสิ้นสุดลง
การลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 159 จะต้องดำเนินการโดยเปิดเผย โดยเลือกจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ โดยพรรคการเมืองที่จะเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีได้ ต้องมี สส. ในสภาไม่น้อยกว่า 5% ของจำนวน สส. ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร
ผู้ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี จะต้องได้รับเสียงเห็นชอบเกินกว่ากึ่งหนึ่งของ สส. ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ซึ่งข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2567 มี สส. ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ จำนวน 493 คน เท่ากับว่าคนที่จะได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมตรีจะต้องเป็นแคนดิเดตของพรรคการเมืองที่เคยเสนอไว้และจะต้องได้รับคะแนนเสียงอย่างน้อย 248 เสียง