พรรคเพื่อไทยเคยประเมินว่า ขั้นตอนสู่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะใช้เวลา “ไม่น้อยกว่า 3 ปี” และเคยประกาศไว้ด้วยว่าหากทำรัฐธรรมนูญใหม่เสร็จแล้วจะ “คืนอำนาจให้ประชาชน” แต่เวลาล่วงเข้าเดือนสิงหาคม 2567 แล้วยังไม่ได้เริ่มการทำประชามติหรือกระบวนการใดๆ โดยอายุของรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรจะหมดลงในวันที่ 14 พฤษภาคม 2570 จึงเห็นได้ว่า “รัฐธรรมนูญใหม่” ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ภายใต้รัฐบาลชุดนี้
ชูศักดิ์ ศิรินิล รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงขั้นตอนการจัดการออกเสียงประชามติ และการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2566 ว่า ในขั้นตอนการจัดการออกเสียงประชามติ พรรคเพื่อไทย จะเสนอให้ถามประชาชนว่า เห็นควรให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนหรือไม่ และให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้พิจารณาปรับแก้คำถาม และเมื่อ (ครม.) เห็นชอบให้มีการจัดการออกเสียงประชามติแล้ว กกต.จะต้องดำเนินการจัดการออกเสียงประชามติ ในระยะเวลาไม่น้อยกว่า 90 วัน แต่จะต้องไม่เกิน 120 วัน
ทั้งนี้หากการออกเสียงประชามติ ประชาชนมีมติเสียงข้างมากให้มีการจัดทำรัฐธรรม นูญฉบับใหม่แล้ว รัฐสภาก็จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ในมาตรา 256 โดยเพิ่มหมวดว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยส.ส.ร.ก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง ส.ส.ร. ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คาดว่ากระบวนการทั้งหมด น่าจะต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่าสามปี และเมื่อมีผลประชามติจากประชาชนมาแล้วก็มั่นใจว่ารัฐสภาจะสนับสนุน
โดยพรรคเพื่อไทยก็ยังเคยออกแถลงการณ์ฉบับสำคัญไว้ เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2566 ว่า “เราจะผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันอันเป็นต้นเหตุของความยากลำบากในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ และก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ต่างๆ ของประเทศ โดยกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ โดยเริ่มจากมติ ครม.ในการประชุมครั้งแรก ให้มีการทำประชามติ และจัดตั้ง สสร. ให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริงในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ รัฐบาลจะคืนอำนาจให้ประชาชนได้เลือกตั้งใหม่ภายใต้กรอบกติกาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่”
ซึ่งหากพรรคเพื่อไทยมุ่งมั่นเอาจริงที่จะเดินหน้าสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ให้เสร็จภายในสามปีตามที่วางแผนไว้ ก็ยังอาจเจออุปสรรคได้อีกมาก
กระบวนการยังไม่เริ่ม เพราะเถียงกันว่าจะทำประชามติกี่ครั้ง
แม้พรรคเพื่อไทยเคยแสดงให้เห็นชัดเจนหลายครั้งว่าให้ความสำคัญกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และบรรจุเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของรัฐบาล แต่เมื่อถึงการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งแรกและนำวาระนี้เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีตามที่เคยออกแถลงการณ์ไว้ สิ่งที่ได้มากลับเป็นเพียงมติคณะรัฐมนตรีที่ให้ตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติฯ ขึ้นมาอีกชุดหนึ่ง ที่มีภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งใช้เวลาทำงานอยู่กว่า 3 เดือน ก่อนกลับมาพร้อมกับข้อเสนอกระบวนการที่ต้องทำประชามติสามครั้ง และยังเสนอให้แก้ไขพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 (พ.ร.บ.ประชามติฯ) ด้วย
แต่เมื่อมีข้อเสนอชุดนี้ขึ้นมาแล้ว ก็ยังไม่ใช่ว่าทุกฝ่ายจะเห็นด้วยกัน เพราะสส. ของพรรคเพื่อไทยเองกลับเห็นแตกต่างและเข้าชื่อกันเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เข้าสู่การพิจารณาเลย พร้อมกับคำอธิบายว่าควรทำประชามติ 2 ครั้งก็พอ ทำให้เกิดเป็นประเด็นที่มีความเห็นแตกต่างกัน และสส. พรรคฝ่ายรัฐบาลก็ลงมติให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยอีกครั้งว่า จะต้องทำประชามติสองครั้ง หรือสามครั้ง ซึ่งต้องรอจนเดือนเมษายน 2567 ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยกลับมาว่า “ไม่วินิจฉัย” ประเด็นนี้ เพราะเคยวินิจฉัยไว้แล้ว
ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้ใช้เวลาไป 8 เดือนนับตั้งแต่พรรคเพื่อไทยสามารถตั้งรัฐบาลได้
กระบวนการยังไม่เริ่ม เพราะขอแก้ไขพ.ร.บ.ประชามติฯ ก่อน
แม้นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน จะแถลงต่อสาธารณะในวันที่ 23 เมษายน 2563 ว่า คณะรัฐมนตรีมีมติให้จัดทำประชามติสามครั้งตามแนวทางที่คณะกรรมการดังกล่าวเสนอไว้ โดยเห็นควรให้มีการแก้ไขพ.ร.บ.ประชามติฯ ด้วย และชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงต่อเนื่องว่า การทำประชามติครั้งแรกจะเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 21 กรกฎาคม ถึงวันที่ 21 สิงหาคม 2567 อย่างแน่นอน
แต่เนื้อหาจากเอกสารมติการประชุมของคณะรัฐมนตรีในวันดังกล่าว ไม่มีการลงมติในรายละเอียดว่า จะให้มีการทำประชามติในวันใดหรือช่วงเวลาใด มีเพียงแต่ข้อเสนอให้แก้ไขพ.ร.บ.ประชามติฯ
ซึ่งหลังจากนั้นคณะรัฐมนตรีก็เสนอร่างแก้ไขพ.ร.บ.ประชามติ เข้าสู่การพิจารณาพร้อมกับร่างฉบับอื่นๆ ที่เสนอโดยสส.พรรคเพื่อไทย สส.พรรคก้าวไกล และสส.พรรคภูมิใจไทย รวมสี่ฉบับ ซึ่งเริ่มเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่หนึ่ง วันที่ 18 มิถุนายน 2567 การพิจารณาโดยทั้งสส. และสว. ทั้งสามวาระน่าจะแล้วเสร็จเพื่อให้พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้ได้อย่างเร็วในช่วงปลายปี 2567 จึงจะได้เริ่มการทำประชามติครั้งแรกจากสามครั้งตามแนวทางที่คณะรัฐมนตรีเคยประกาศไว้
สามปีไม่เสร็จ ไม่ทันภายใต้รัฐบาลชุดนี้
กระบวนการเดินหน้าไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามแนวทางของคณะรัฐมนตรีชุดนี้จะต้องประกอบไปด้วยขั้นตอนดังนี้
1. การทำประชามติครั้งที่หนึ่ง เพื่อเปิดทางไปสู่กระบวนการอื่นๆ
2. การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ในรัฐสภา
3. การทำประชามติครั้งที่สอง เพื่อรับรองร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ
4. การเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)
5. การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยกระบวนการของ ส.ส.ร.
6. การทำประชามติครั้งที่สาม เพื่อรับรองร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จากส.ส.ร.
ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้ ชูศักดิ์ ศิรินิล เคยประเมินไว้ตั้งแต่ก่อนทุกอย่างเริ่มต้นขึ้นว่า “น่าจะต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่าสามปี ” ซึ่งหมายถึงสามปีนับตั้งแต่การเริ่มกระบวนการทำประชามติครั้งแรก แต่หากจะสามารถย่นระยะเวลาให้เร็วที่สุดได้โดยการไม่ต้องทำประชามติครั้งแรก เหลือการทำประชามติสองครั้งก็ยังต้องใช้เวลาราวๆ สามปีนับตั้งแต่เริ่มการประชุมของรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 วาระแรก ซึ่งนับถึงเดือนสิงหาคม 2567 แล้วขั้นตอนนี้ก็ยังไม่ได้เริ่ม
ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 99 กำหนดว่า “อายุของสภาผู้แทนราษฎรมีกําหนดคราวละสี่ปีนับแต่วันเลือกตั้ง” หมายความว่า อายุของสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ และอายุของรัฐบาลชุดนี้จะหมดลงในวันที่ 14 พฤษภาคม 2570 ดังนั้นหากเริ่มกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ได้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2567 เป็นต้นไป ก็จะแล้วเสร็จได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้ในเดือนสิงหาคม 2570 เป็นอย่างเร็วที่สุด ไม่มีทางที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะจัดทำเสร็จและประกาศใช้ได้ทันภายในรัฐบาลชุดนี้ ก่อนการเลือกตั้งสส. ที่จะเกิดขึ้นในปี 2570