ย้อนดู ชะตากรรม 5 นายกฯ ในมือศาลรัฐธรรมนูญ ใครรอด/ไม่รอด

ในวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีนัดชี้ชะตาอนาคตทางการเมืองของเศรษฐา ทวีสิน ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่นายกรัฐมนตรีไทยต้องเผชิญหน้ากับองค์กรที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่กลับมีบทบาทสูงในการชี้ทิศทางการเมืองไทย นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 รัฐธรรมนูญ 2550 และรัฐธรรมนูญ 2560 มีนายกรัฐมนตรีห้าคนรวมเศรษฐา ที่ต้องเข้าสู่การพิจารณาคุณสมบัติโดยศาลรัฐธรรมนูญ

ทักษิณ: รอด “คดีซุกหุ้น” เฉียดฉิว

ศาลรัฐธรรมนูญก่อตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ 2540 และก็เป็นครั้งแรกอีกเช่นกันที่ ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนแรกซึ่งมีที่มาตามรัฐธรรมนูญ 2540 ได้ขึ้นศาลรัฐธรรมนูญในคดีจงใจไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า คดีซุกหุ้น คดีนี้เกิดขึ้นจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปราบการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยปมทักษิณ ชินวัตร ในขณะที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและหัวพรรคไทยรักไทย ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเท็จ 

เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2544 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย มติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 7 เสียง ว่าทักษิณไม่มีความผิดตามรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 295 ว่าด้วยการให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินตามเวลาและวิธีการที่กำหนด

สมัคร: ทำรายการอาหาร ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินขาดคุณสมบัติ

สมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชาชน เป็นพรรคการเมืองที่ต่อเนื่องมาจากพรรคไทยรักไทย สมัครเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกที่ผ่านการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นผลผวงจากการรัฐประหารปี 2549 ในช่วงที่สมัครดำรงตำแหน่งนายกฯ เขาเป็นพิธีกรรายการโทรทัศน์สองรายการ คือ “ชิมไป บ่นไป” และ “ยกโขยง 6 โมงเช้า” ซึ่งเป็นเหตุให้ กลุ่ม สว. 29 คน นำโดยเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สว.สรรหา และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ว่าการกระทำดังกล่าวของสมัครขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 267 เรื่องคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีที่ห้ามนายกฯ เป็นลูกจ้างของบุคคลใดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำที่เกิดการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 เสียง เห็นว่า “สมัคร” กระทำการขัดต่อรัฐธรรมนูญ จึงทำให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีของสมัครสิ้นสุดลง

ยิ่งลักษณ์:  พ้นตำแหน่ง เหตุโยกย้าย เลขาฯ สมช. เอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง

อีกหนึ่งนายกรัฐมนตรีที่มาจากรัฐธรรมนูญ 2550 และพ้นจากตำแหน่งนายกฯ เพราะศาลรัฐธรรมนูญ คือ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในช่วงปี 2554 ยิ่งลักษณ์ โยกย้าย ถวิล เปลี่ยนสี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) มาเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ ขณะเดียวกันก็ได้ย้าย พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผบ.ตร. ณ ขณะนั้นมาดำรงตำแหน่งเลขาฯ สมช. จากนั้นจึงเสนอชื่อ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ เครือญาติของยิ่งลักษณ์ขึ้นเป็น ผบ.ตร.แทน

เหตุการณ์นั้นทำให้ ไพบูลย์ นิติตะวัน สว.สรรหาและคณะรวม 28 คน ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของ ยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) ประกอบมาตรา 268 และมาตรา 266 (2) และ (3) กรณีใช้ตำแหน่งหน้าที่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้าย เพื่อเอื้อประโยชน์ให้เครือญาติ ต่อมาวันที่ 7 พฤษภาคม ศาลรัฐธรรมนูญก็มีมติ 9 ต่อ 0 ให้ยิ่งลักษณ์พ้นจากตำแหน่ง

ประยุทธ์: รอด 3 คดีบ้านพักหลวง-เป็นเจ้าที่รัฐ-นายกฯ เกิน 8 ปี

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีที่ต้องเข้าสู่กระบวนการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญมากที่สุดถึงสี่ครั้ง โดยแต่ละคดีที่เข้าสู่ศาลรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นหลังจากมีการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2562 แล้วทั้งสิ้น ทั้งนี้มีหนึ่งครั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้อง คือ กรณีนายกฯ นำครม. ถวายสัตย์ไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตามมีอีกสามคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยซึ่งผลการพิจารณา พล.อ.ประยุทธ์ พ้นผิดในทุกกรณี ซึ่งส่วนหนึ่งมีปัจจัยจากที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ล้วนมีความเกี่ยวข้องกับกลไกรัฐประหารและรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช. ออกแบบไว้  

1) คดีหัวหน้า คสช.เป็นเจ้าหน้าที่รัฐขาดคุณสมบัติเป็นนายกฯ ข้อกล่าวหานี้ถูกริเริ่มจาก สส.พรรคฝ่ายค้าน จำนวน 110 คน โดยกล่าวหาว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่สามารถเป็นนายกฯ ได้เพราะหัวหน้า คสช. ถือเป็น “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” โดยอ้างถึงรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 160 (6) และมาตรา 98 (15) ที่ระบุว่า รัฐมนตรีต้องไม่เป็น “พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” อย่างไรก็ตามวันที่ 18 กันยายน 2562 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ว่า ตำแหน่ง คสช. ไม่ใช่เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ เนื่องจาก คสช.เป็นอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ เป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ การทำงานของหัวหน้า คสช. เป็นการแต่งตั้งไม่ได้ขึ้นกับกฎหมาย

2) คดี “บ้านพักหลวง” ข้อกล่าวหานี้ถูกตั้งขึ้นโดย สส.พรรคฝ่ายค้าน 55 คน โดยมีการกล่าวหาว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พ้นจากตำแหน่ง ผบ.ทบ. แล้ว แต่ยังพักอาศัยในบ้านพักราชการทหารที่กรมทหารราบที่ 1 (ร.1 รอ.) ซึ่งเป็นการกระทำอันเป็นการขัดผลประโยชน์ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 184 ประกอบมาตรา 186 กรณีรับเงินหรือประโยชน์ใดๆ จากหน่วยงานราชการ หน่วยงานรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเป็นพิเศษ เป็นเหตุทำให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลง สุดท้ายวันที่ 2 ธันวาคม 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมติเอกฉันท์ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่มีความผิด เนื่องจากการอยู่บ้านพักรับรองเป็นไปตามระเบียบของกองทัพบก ไม่ใช่การได้รับเงินหรือประโยชน์ใดๆ จากกองทัพบกเป็นพิเศษ

3) คดีเป็นนายกฯ เกิน 8 ปี ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2560 คดีนี้เริ่มจาก สส. พรรคฝ่ายค้าน 172 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สิ้นสุดลง เนื่องจากดำรงตำแหน่งครบกำหนดเวลา 8 ปี ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดแล้วหรือไม่ เนื่องจาก พลเอกประยุทธ์ เป็นนายกฯ ครบ 8 ปีแล้ว หากนับจากได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกฯ ครั้งแรกเมื่อ 24 สิงหาคม 2557หลังจากนั้น 30 กันยายน 2565 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 เสียง เห็นว่า การดำรงตำแหน่งนายกฯของ พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่สิ้นสุดลง เนื่องจากให้เริ่มนับความเป็นนายกฯ ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้ คือเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 เป็นต้นมา

เศรษฐา: เสนอชื่อรัฐมนตรีขาดคุณสมบัติ

คดีของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย เกิดขึ้นเมื่อเศรษฐาทูลเกล้าฯ พิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จนทำให้ สว.ชุดพิเศษ จำนวน 40 คน นำโดย สมชาย แสวงการ ร่วมกันเข้าชื่อตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 82 ยื่นเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้วินิจฉัยความสิ้นสุดลงของตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ที่ผ่านมามีการยื่นร้องเรียนคุณสมบัตินายกฯ ไปยังศาลรัฐธรรมนูญมาแล้วห้าคน โดยผู้เริ่มต้นร้องเรียนมาจากทั้ง สส. ฝ่ายค้าน สว.สรรหา และองค์กรอิสระ ผลการร้องเรียนที่ผ่านมามีสองครั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่านายกฯ ขาดคุณสมบัติ ซึ่งสองครั้งดังกล่าวเป็นนายกฯ จากพรรคเพื่อไทย และแกนนำผู้ร้องเรียนเป็น สว. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งวันที่ 14 สิงหาคม 2567 เป็นอีกครั้งที่นายกฯ จากพรรคเพื่อไทยจะต้องเผชิญกับศาลรัฐธรรมนูญ แต่เป็นการเผชิญในบริบทการเมืองที่แตกต่างจากสองครั้งก่อนหน้านี้

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage