Stand Together ep.9 : อยากให้เอาความเห็นของคนที่โดนม.112 ไปพิจารณาด้วย

12 สิงหาคม 2567 กลุ่ม ThumbRights จัดงาน Stand Together ร่วมพูดคุยกับผู้ที่กำลังจะไปฟังคำพิพากษาคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 112 สองคน คือ ธนาธร วิทยเบญจางค์ หรือฮ่องเต้ นิสิตปริญญาโท และกันต์ฤทัย คล้ายอ่อน หรืออาย ซึ่งทั้งสองคนมีนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 27 สิงหาคม 2567 ในบรรยากาศที่คดีมาตรา 112 หลายคดีเมื่อศาลมีคำพิพากษาแล้วจำเลยไม่ได้รับประกันตัวต่อในการต่อสู้คดีชั้นต่อไป ซึ่งเดือนสิงหาคม 2567 มีนัดฟังคำพิพากษาถึงเก้าคดี

Stand Together ep.9 : อยากให้เอาความเห็นของคนที่โดนม.112 ไปพิจารณาด้วย

ก่อนเริ่มงานนัสรี พุ่มเกื้อ ผู้จัดงานกล่าวว่า งาน Stand Together นั้นจัดขึ้นเพื่อให้กำลังใจกับผู้ที่กำลังจะรับฟังคำตัดสินใจแต่ละเดือน ซึ่งนี่เป็นงานครั้งที่เก้าแล้ว และถ้าพูดตรงๆ ก็เป็นงานที่ไม่อยากจัดเพราะการมีกิจกรรมนี้แปลว่ามีคนต้องไปฟังคำพิพากษา ซึ่งไม่รู้ว่าจะออกมาดีหรือร้าย เราคาดหวังว่าสักวันหนึ่งจะไม่ต้องจัดกิจกรรมนี้กันแล้ว โดยความเคลื่อนไหวล่าสุด คณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรที่ศึกษาเรื่องการนิรโทษกรรมนั้นแถลงข่าวว่า การทำงานเสร็จสิ้นแล้วได้จัดทำรายงานแล้ว แต่ยังไม่ได้มีข้อสรุปว่าคดีตามมาตรา 112 จะได้รับนิรโทษกรรมด้วยหรือไม่

เตรียมหลักฐานไว้แล้ว เพื่อขอประกันตัวชั้นศาลฎีกา 

ฮ่องเต้ เล่าว่า ตัวของเขาเริ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองตั้งแต่ช่วงปี 2562 ซึ่งขณะนั้นเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตอนที่เริ่มมีโควิดแต่รัฐบาลยังไม่ได้ออกมาตรการควบคุมโรค ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยอะมาก เป็นนักท่องเที่ยวจากประเทศต้นทางของเชื้อโควิดด้วย ตัวเขาจึงเริ่มประท้วงมหาวิทยาลัยและรัฐบาลที่ไม่มีมาตรการควบคุมอะไรเลยแล้วให้นักศึกษาต้องเสี่ยงต่อการติดโรค แต่ต่อมาเมื่อเข้าสู่ปี 2563 รัฐบาลก็รับฟัง คือ ออกกฎหมายมาควบคุมโรค และยังควบคุมการเคลื่อนไหวด้วย คือ การบังคับใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และสั่งห้ามการชุมนุมคนที่ถูกดำเนินคดีก็เป็นคนที่ชุมนุม

ฮ่องเต้ ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ จากการกล่าวปราศรัยในการชุมนุมคาร์ม็อบ “ล้านนาต้านศักดินาทัวร์” ที่บริเวณอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2564 ซึ่งเขาให้การรับสารภาพ แต่ต่อมาเขาถูกดำเนินคดีเพิ่มอีกสองข้อกล่าวหา ได้แก่ ข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยจัดการชุมนุมรวมกลุ่มกันเกินกว่า 20 คน อันเป็นความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโรค และข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อีกหนึ่งกรณีจากการอ่านแถลงการณ์ที่หน้าสำนักงานตำรวจภูธรภาค 5 ซึ่งเขาให้การปฏิเสธ และเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2566 ศาลจังหวัดเชียงใหม่พิพากษา “ยกฟ้อง” ในข้อหาที่เขาให้การปฏิเสธ ส่วนการปราศรัยที่อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ซึ่งเขารับสารภาพ ศาลให้ลงโทษจำคุกสามปี ลดโทษเหลือหนึ่งปีหกเดือน ซึ่งฮ่องเต้ยื่นอุทธรณ์ แสดงความสำนึกผิดและขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้รอลงอาญา

เมื่อถามว่า เตรียมตัวหรือเตรียมใจอย่างไรในการไปฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ฮ่องเต้ กล่าวว่า เราก็เตรียมหลักฐานเกี่ยวกับการเรียนปริญญาโท และการที่ต้องทำงานและต้องหาเงินส่งเลี้ยงครอบครัวด้วย เผื่อจะต้องขอประกันตัวในชั้นศาลฎีกา มันก็แปลกดีที่การประกันตัวยังไม่ใช่สิทธิ แต่เราต้องพยายามที่จะร้องขอเอา ตัวผมเองก็เป็นคนเรียนดีและเป็นความคาดหวังของครอบครัวหากจะต้องเข้าคุกไปจริงๆ ครอบครัวก็จะเสียหายด้วย

“ถ้าผมต้องติดคุก อย่างแรกที่จะหายไปคือการเรียน ตอนนี้กำลังจะขึ้นป.โทชั้นปีที่สอง ถ้าต้องเข้าคุกก็เท่ากับที่เรียนมาหนึ่งปีเสียไปเลย ส่วนการทำงานก็ต้องหยุดไปหนึ่งปีครึ่งตามโทษที่ศาลชั้นต้นเคยลงไว้ ชีวิตที่หายไปหนึ่งปีครึ่งแล้วเมื่อนต้องออกมาเริ่มต้นใหม่ สิ่งที่รัฐทำกับผมเท่ากับทำลายความมั่นคงในชีวิต เขาเอาอนาคตไปจากเรา ถ้าไม่ได้เรียนก็ต้องเอาวุฒิป.ตรี ไปทำงาน และเมื่อโดนคดีมาก็ไม่รู้ใครจะมีผลอะไรต่อการทำงานไหม สำหรับคนที่เขารักของเขาอาจจะสะใจ แต่ถ้าเรามีความเป็นมนุษย์ต่อกันและอยากหาทางออกให้กับประเทศจริงๆ มันไม่ควรจะมีสถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้นในสังคม ชีวิตหนึ่งต้องชิบหายไปแล้วความขัดแย้งก็ไม่ได้ถูกแก้ไข” 

“ไม่อยากให้ศาลตัดสินบนฐานที่คนไม่สามารถกลับตัวกลับใจได้ อยากให้ตัดสินบนฐานที่คนคนหนึ่งสามารถคุยกันได้ สามารถปรับเปลี่ยนแก้ไขได้ ประเทศไทยเรากำลังแก้ไขและจะไปต่อได้ เราไม่จำเป็นจะต้องพยายามฆ่าอีกฝ่ายให้ตาย เพราะความคิดมันไม่มีทางตายไปจากสังคม ต่อให้ผมต้องติดคุกไปความคิดก็ยังอยู่ การที่ผมต้องติดคุกไปสักหนึ่งคนความคิดจะส่งต่อไปสักแค่ไหนว่าความอยุติธรรมมันเกิดขึ้นในสังคมแล้ว เราอย่าก่อให้เกิดความเกลียดชังในสังคมมากไปกว่านี้เลย เรามารักกันดีกว่า ให้ประเทศเดินหน้าต่อ” 

เมื่อถูกถามว่า มีความหวังอย่างไรกับกระบวนการออกกฎหมายนิรโทษกรรมที่กำลังเดินหน้าอยู่ในรัฐภา ฮ่องเต้ตอบว่า ในวันนี้ยังมีคนอีกจำนวนมากที่โดนม.112 อยู่ ถ้าวัตถุประสงค์หลักของการนิรโทษกรรมคือการลดความขัดแย้งในสังคม แต่คนที่โดนคดีมาตรา 112 โดยที่รู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมยังอยู่ ความขัดแย้งก็ไม่จบ ผมก็รักประเทศนี้เหมือนกัน คนที่ออกมาชุมนุมกันทั้งหมดก็รักประเทศไทยที่เป็นแผ่นดินเกิด การมาร่วมกันหาทางออกน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

“อยากเห็นการเอาเรื่อง 112 ไปพูดในสภาได้โดยตรงเลย ไม่ใช่ฝากคนนู้นคนนี้เข้าไป อยากให้เอาความเห็นของคนที่โดนคดีม.112 เข้าไปพิจารณาด้วย ไม่งั้นการนิรโทษกรรมครั้งนี้จะเป็นการนิรโทษกรรมที่ไม่มีประสิทธิภาพและไม่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในประเทศไทยได้จริงๆ” 

ทำใจมาเป็นปีแล้ว วันนี้ความเมตตาไม่มีอยู่แล้ว

อายเล่าว่า เธอเริ่มเคลื่อนไหวมาตั้งแต่ปี 2563 โดยความสนใจส่วนตัวมาจากข้อเรียกร้องข้อที่สามเป็นหลัก ไม่ว่าจะมีคาร์ม็อบหรือมีการชุมนุมรูปแบบไหนก็จะไปร่วม โดยปกติเป็น “แนวหน้า” เป็นสายบู๊ไม่ได้มีบทบาทในการถือไมโครโฟนเพื่อพูดอะไร ซึ่งวันนี้เธอมากับตุ๊กตาแคร์แบร์ เป็นตุ๊กตาหมีสีเขียวหนึ่งตัว เธอเล่าว่า ตุ๊กตาตัวนี้ชื่อว่า กู๊ดลัค มีความหมายถึงความโชคดี ไม่ทิ้งเพื่อน มีช่วงหนึ่งที่เคยรู้สึกท้อกับการเคลื่อนไหวตอนที่ขบวนของเริ่มมีคนน้อยลง โดยเธอไม่สามารถพูดเรื่องนี้กับใครก็ได้ เมื่อต้องการอะไรที่มาฮีลใจบ้างก็เลยเลือกที่จะคุยกับตุ๊กตาดีกว่า “เมื่อพูดไปก็ไม่รู้คนฟังจะลืมตาหรือเปล่า จะไปแหกตาเขาให้ฟังเราก็ไม่ได้  เพราะตุ๊กตามันลืมตาอยู่แล้วมันไม่สามารถหลับตาได้”

อายเล่าประสบการณ์ครั้งหนึ่งที่เคยถูกติดตามคุกคามจากการเคลื่อนไหว ระหว่างที่เธออยู่บ้านในชุดนอน ไม่ได้ใส่ชุดชั้นในก็มีผู้หญิงมาเคาะประตูว่า ขับรถเฉี่ยวกับรถของเธอ แต่เมื่อเธอออกไปดูเหตุการณ์ที่รถก็พบว่า มีผู้ชายอีกเป็นสิบคนมายืนล้อมอยู่ เป็นตำรวจและบอกว่าต้องการพาตัวไปคุยที่สน.ลาดพร้าว เมื่อเธอถามว่ามีหมายจับหรือไม่ ก็ไม่มีหมายจับแต่ยืนยันว่าต้องไปที่สถานีตำรวจ โดยได้รับคำขู่ว่า “ถ้าไม่ไปรอบหน้าหมายจับเลยนะ” เธอจึงแจ้งข่าวกับเพื่อนๆ และขอเวลาที่จะไปเปลี่ยนชุดให้เรียบร้อยก่อน 

หลังจากแจ้งข่าวกับเพื่อนๆ แล้วมีเพื่อนของเธอไปรวมตัวกันรอเธอที่หน้าสน.ลาดพร้าวจำนวนหนึ่ง ขณะที่เธอกำลังขับรถไปเธอก็ไม่อยากเข้าไปที่สน. จึงขับรถวนอยู่ด้านหน้า เมื่อตำรวจเห็นว่ามีคนมารอจำนวนหนึ่งจึงโทรศัพท์มาบอกว่า ไม่ต้องมาแล้วให้รอหมายจับเลย

หลังจากนั้นอายถูกดำเนินคดีจากการโพสข้อความบนเฟซบุ๊ก รวมทั้งรูปภาพและคลิปวิดีโอ รวม 8 โพส และศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาคดีนี้ในวันที่ 27 สิงหาคม 2567 

“คดีของอายมันแปดโพส ถ้าคิดจำนวนโทษขั้นต่ำมาก็คือจำคุก 24 ปี หมอที่รักษาอายมีความเห็นที่ตรงกัน เขียนใบรับรองแพทย์ให้ว่าเราอยู่ในกระบวนการรักษา ก็ใช้เอกสารเหล่านี้ยื่นต่อศาลเพื่อขอประกันตัว อายมีครอบครัวมีลูก ตอนนี้ยังไม่ได้บอกแม่หรือพ่อเลย เพราะกลัวเขารับไม่ได้ อยากให้เขาคิดว่าเราหายไปเลย ล่าสุดเพิ่งตัดสินใจบอกลูกก็ทำใจยากมากๆ กว่าที่จะบอก เขาอยู่แค่วัย 12 อยู่แค่ม.1 กำลังจะเป็นวัยรุ่นแล้วเราเลี้ยงมาแบบเป็นทั้งเพื่อนทั้งแม่ ถ้าเราไม่อยู่เขาจะเป็นยังไง ถ้าเขามองเราจากลูกกรงออกมาเขาจะรู้สึกยังไง เขาจะอายเพื่อนไหมว่าแม่ติดคุก”

“อายทำใจมาเป็นปีแล้วนะคะ ไม่ค่อยหวังกับการที่จะได้ประกันตัว ก็พยายามคิดบวกว่าถ้าเราติดคุกก็จะเข้าไปเปลี่ยนสังคม แต่ถามว่าอยากได้ความเมตตาไหม เราเหมือนคิดว่าทุกวันนี้ไม่ได้ความเมตตาจากใครอยู่แล้ว มันไม่มีความเมตตาอยู่แล้ว” 

📍ร่วมรณรงค์

JOIN : ILAW CLUB

ช่องทางการติดตาม

FACEBOOK PAGE

วิดีโอแนะนำ

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage
Trending post