เดือนกุมภาพันธ์ 2567 เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนเปิดแคมเปญรวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชนต่อสภาผู้แทนราษฎร หลักการสำคัญคือ การนิรโทษกรรมคดีการเมืองทั้งหมดและต้องรวมคดีมาตรา 112 ในเวลาเดียวกันขัตติยา สวัสดิผล พรรคเพื่อไทยเสนอญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม และมีมติตั้งคณะกรรมาธิการ โดยมีรศ.ชูศักดิ์ ศิรินิลเป็นประธาน หลังทำงานหกเดือนเต็ม เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2567 นิกร จำนง เลขานุการของกมธ.นิรโทษกรรม แถลงสรุปผลการทำงานว่า สำหรับคดีมาตรา 112 นั้น “เป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหว”
สถานการณ์อีกด้านหนึ่งคือ ประชาชนก็ยังถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เพิ่มขึ้นและถูกพิพากษาตัดสินลงโทษจำคุกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในเดือนสิงหาคม 2567 มีนัดฟังคำพิพากษาในคดีมาตรา 112 อย่างน้อยเก้าคดี ซึ่งอาจเป็นผลให้มีนักโทษการเมืองที่เป็นผลมาจากมาตรา 112 มากขึ้นในเรือนจำ

14 สิงหาคม 2567
๐ เวลา 09.00 น. ศาลอาญานัดปาฏิหาริย์ฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีหมายเลขดำที่ ดำ อ.428/2565คดีนี้สืบเนื่องมาจากการถูกกล่าวหาว่าโพสต์ภาพและข้อความแสดงความคิดเห็นบนโพสต์เฟซบุ๊ก“Somsak Jeamteerasakul” ซึ่งโพสต์เกี่ยวกับข่าวลือเรื่องการประชวรของรัชกาลที่สิบ เขาถูกจับกุมตามหมายจับของศาลอาญาที่บ้านพักในจังหวัดนนทบุรี ก่อนถูกนำตัวไปดำเนินคดีที่ บก.ปอท. ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่าเคยส่งหมายเรียกปาฏิหาริย์แล้วสองครั้งจึงขอหมายจับที่ออกจากศาลอาญา ทั้งที่เขาไม่เคยได้รับหมายเรียกดังกล่าวมาก่อน อย่างไรก็ตาม ปาฏิหาริย์ได้รับการประกันตัวทั้งในชั้นฝากขังและชั้นพิจารณาของศาล โดยใช้เงินสด 100,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ วางเป็นหลักประกัน
วันที่ 23 พฤษภาคม 2565 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษบทหนักที่สุด คือ มาตรา 112 จำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน เห็นว่าพฤติการณ์ของจำเลยมีความร้ายแรง กระทบต่อประมุขของประเทศ แม้จำเลยประกอบอาชีพสุจริตเลี้ยงดูครอบครัว ไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน และความประพฤติทั่วไปไม่ปรากฏข้อเสียหายร้ายแรงก็ตาม ก็ยังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะรอการลงโทษจำคุกจำเลย ในชั้นอุทธรณ์ปาฏิหาริย์ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว
๐ เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดขอนแก่นนัดทิวากร วิถีตน ชาวจังหวัดขอนแก่น ฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 หมายเลขคดีดำที่ อ.399/2564 จากกรณีโพสต์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับการสวมเสื้อเราหมดศรัทธาในสถาบันกษัตริย์ เขาถูกดำเนินคดีในสามข้อหา ได้แก่ หมิ่นประมาทกษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ยุยงปลุกปั่นหรือมาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 คดีนี้สืบเนื่องมาจากการโพสต์เฟซบุ๊กเรียกร้องให้สถาบันกษัตริย์ยุติการใช้มาตรา 112 และปล่อยสี่แกนนำราษฎร ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 หลังมีการฟ้องอานนท์ พริษฐ์ ปติวัฒน์ และสมยศ ในข้อหามาตรา 112 จากการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร แล้วศาลไม่ให้ประกันตัว ทิวากรยังถูกกล่าวหาจากการสวมเสื้อยืด “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” ถ่ายรูปโพสต์ลงเฟซบุ๊ก โดยเขาให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา ระบุว่า กระทำไปด้วยความบริสุทธิ์ใจ มีเจตนาปกป้องสถาบันกษัตริย์
วันที่ 29 กันยายน 2565 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากการที่จำเลยโพสต์ภาพและข้อความดังกล่าวไม่ได้ระบุถึงบุคคลที่ถูกดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทให้รู้ได้แน่นอนว่าเป็นองค์พระมหากษัตริย์องค์ใดองค์หนึ่งโดยเฉพาะ การเข้าใจข้อความดังกล่าวขึ้นอยู่กับการตีความของแต่ละบุคคล ข้อความดังกล่าวจึงมิใช่การยืนยันข้อเท็จจริงทั้งสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ไม่ใช่องค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 การที่จำเลยลงข้อความและรูปภาพดังกล่าวในเพจเฟซบุ๊กจึงไม่ใช่การดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และไม่ใช่กระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน พยานหลักฐานของโจทก์จึงยังไม่พอรับฟังลงโทษจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวได้
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 112 และมาตรา 116 การที่จำเลยลงข้อความและรูปภาพดังกล่าวในเฟซบุ๊กจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) ตามฟ้องของโจทก์
19 สิงหาคม 2567
๐ เวลา 09.00 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดนิว-จตุพร แซ่อึง นักกิจกรรมจากกลุ่มบุรีรัมย์ปลดแอก ฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หมายเลขคดีดำที่ อ.1265/2564 จากกรณีแต่งชุดไทยร่วมเดินแฟชั่นโชว์ในกิจกรรม #ภาษีกู ที่สีลม จัดโดยแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2563 เพื่อวิพากษ์วิจารณ์การใช้จ่ายงบประมาณของกระทรวงพาณิชย์ นอกจากถูกดำเนินคดีในข้อหามาตรา 112 ยังมีข้อหาที่เกี่ยวกับการชุมนุม ได้แก่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.ชุมนุมฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาด้วยเครื่องขยายเสียงฯ โดยมี วริษนันท์ ศรีบวรธนกิตติ์ แอดมินเพจ #เชียร์ลุง เป็นผู้กล่าวหา
วันที่ 12 กันยายน 2565 ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกสามปีในความผิดฐานร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อกษัตริย์และราชินี ในลักษณะล้อเลียน เสียดสี เชิงตลกขบขัน ไม่ให้ความเคารพ ทว่าการนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง จึงลดโทษให้หนึ่งในสามคงจำคุกสองปี หลังจากนั้นนิว-จตุพรถูกนำตัวไปคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลางก่อนได้รับคำสั่งศาลอุทธรณ์ที่อนุญาตให้ประกันตัวนิว-จตุพรระหว่างอุทธรณ์ โดยใช้วงเงินจำนวน 200,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ และกำหนดเงื่อนไขเดียวกันกับที่ศาลชั้นต้นเคยกำหนดไว้ คือ ห้ามกระทำการในลักษณะหรือทำนองเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหา รวมถึงห้ามร่วมกิจกรรมใดๆ อันอาจก่อให้เกิดความวุ่นวายต่อบ้านเมือง, ห้ามกระทำการที่อาจก่อให้เกิดความเสื่อมเสีย หรือกระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล
27 สิงหาคม 2567
๐ เวลา 9.00 น. ศาลอาญานัด “อาย” กันต์ฤทัย คล้ายอ่อน ฟังคำพิพากษา หมายเลขคดีดำที่ อ.1262/2566 จากกรณีการถูกกล่าวหาว่าใช้เฟซบุ๊กเผยแพร่ข้อความ รูปภาพ และวิดีโอ บิดเบือนให้ร้ายโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ ในช่วงระหว่างวันที่ 8 กุมภาพันธ์ถึงวันที่ 1 เมษายน 2565 รวมจำนวนแปดโพสต์ โดยระบุว่าข้อความและภาพดังกล่าวเป็นกระทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศในหลวงรัชกาลที่สิบบิดเบือนข้อเท็จจริงอันเป็นการให้ร้ายพระมหากษัตริย์อันเป็นสถาบันหลักของชาติที่ประชาชนเคารพเทิดทูน เจ้าพนักงานกองบังคับการตำรวจสันติบาล 2 โดย พ.ต.ท.แทน ไชยแสง ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้สืบสวนและตรวจสอบการกระทำความผิด ก่อนได้แจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน สน.ลาดพร้าว
๐ เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดเชียงใหม่นัดฮ่องเต้-ธนาธร วิทยเบญจางค์ ฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 หมายเลขคดีดำที่ อ.1304/2564 จากกรณีการอ่านแถลงการณ์และปราศรัยในระหว่างกิจกรรมคาร์ม็อบ “ล้านนาต้านศักดินาทัวร์” ที่บริเวณหน้าตำรวจภูธรภาค 5 และลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2564 โดยถูกกล่าวหาว่า เนื้อหาแถลงการณ์และคำปราศรัยทำให้คนฟังเข้าใจได้ว่า กล่าวถึงรัชกาลที่สิบ และมีลักษณะใส่ความ จาบจ้วง ทำให้รัชกาลทีสิบ เสื่อมเสียพระเกียรติ
วันที่ 21 สิงหาคม 2566 ศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยมีความผิดฐานร่วมกันจัดกิจกรรมรวมกลุ่มเกินกว่า 20 คน โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นการกระทำเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้จำคุกหนึ่งเดือน ส่วนข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 จากการอ่านแถลงการณ์บริเวณหน้ากองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 ส่วนหนึ่งในแถลงการณ์ที่ธนาธรอ่านนั้นเป็นการพาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์โดยคำว่า “สถาบันกษัตริย์” ในแถลงการณ์ดังกล่าว ศาลเห็นว่าไม่ได้ระบุเจาะจงถึงตัวบุคคลหรือองค์พระมหากษัตริย์ ยังไม่ชัดเจนว่าจำเลยมีเจตนากล่าวถึงองค์พระมหากษัตริย์หรือไม่ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย พิพากษายกฟ้องในกระทงความผิดนี้
อย่างไรก็ดีศาลเห็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในกระทงที่ให้การรับสารภาพจากการปราศรัย (ฟรีไมค์) ที่ลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ลงโทษจำคุกสามปี จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุให้ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน และฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้จำคุกหนึ่งเดือน รวมจำคุกหนึ่งปี เจ็ดเดือน ไม่รอการลงโทษ ต่อมาในวันเดียวกันนั้นศาลจังหวัดเชียงใหม่มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวธนาธรระหว่างอุทธรณ์ โดยให้วางหลักทรัพย์ 150,000 บาท ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ โดยยังมีเงื่อนไขให้ไปรายงานตัวกับผู้ใหญ่บ้านที่ศาลตั้งเป็นผู้กำกับดูแล โดยก่อนหน้านี้จำเลยได้ยื่นคำร้องขอเปลี่ยนเป็นการรายงานตัวทางอิเล็กทรอนิกส์แทน เนื่องจากเดินทางไปศึกษาต่อในกรุงเทพฯ
28 สิงหาคม 2567
๐ เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดพัทยานัด ‘บุปผา’ ฟังคำพิพากษาศาลฎีกา หมายเลขคดีดำที่ อ.1032/2562 จากกรณีการโพสต์ภาพพร้อมข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัวระหว่างวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2558 – 19 พฤษภาคม 2559 จำนวน 13 โพสต์ ซึ่งมีเนื้อหาพาดพิงถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่เก้าและพระบรมวงศานุวงศ์ โดยที่บุปผามีอาการของโรคจิตเภท คือ หลงผิดว่าตนเองเป็นเชื้อพระวงศ์ เป็นสายลับ และต้องรักษากฎมณเฑียรบาล ทั้งนี้ บุปผาถูกขังอยู่ในทัณฑสถาน รวมทั้งถูกส่งตัวไปรักษาอาการจิตเภท แต่ยังอยู่ในความควบคุมของทัณฑสถาน เป็นเวลาเกือบสองปี ก่อนได้ประกันตัว
วันที่ 18 สิงหาคม 2563 ศาลจังหวัดพัทยาพิพากษายกฟ้อง ข้อหามาตรา 112 เพราะเหตุจำเลยไม่มีเจตนา แต่วางบรรทัดฐานให้พระบรมวงศานุวงศ์ได้รับการคุ้มครอง ให้ลงโทษตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เชื่อว่าขณะกระทำป่วยทางจิตจริงแต่ยังรู้ผิดชอบชั่วดีอยู่บ้าง ให้จำคุกกรรมละหกเดือน รวม 78 เดือน ให้รอลงอาญาและคุมประพฤติ ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) จากเดิมที่ศาลชั้นต้นพิพากษาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) เป็นการปรับบทมาตราที่คลาดเคลื่อนไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงและกฎหมาย คงโทษจำคุกตามมาตรา 14(1) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ข้อความละหกเดือน รวม 78 เดือน โทษจำคุกรอการลงโทษสามปี ตามที่ศาลชั้นพิพากษา
29 สิงหาคม 2567
๐ เวลา 9.00 น. ศาลอาญานัดเก็ท-โสภณ สุรฤทธิ์ธำรงฟังคำพิพากษากรณีปราศรัยวันแรงงาน หมายเลขคดีดำที่ อ.732/2566 จากกรณีการปราศรัยในกิจกรรมวันแรงงานสากล ที่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2565 โดยถูกกล่าวหาว่า คำปราศรัยใช้ถ้อยคำเสียดสี พาดพิง ซึ่งก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์ ทำให้ประชาชนรู้สึกเสื่อมศรัทธาต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมสี่ข้อความ โดยสามข้อความ มีเนื้อหากล่าวพาดพิงถึงเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ และสถาบันกษัตริย์
๐ เวลา 9.30 น. ศาลอาญานัด ทอปัด ศิลปินนักวาดภาพอิสระ ฟังคำพิพากษา หมายเลขคดีดำที่ อ.2366/2565 กรณีถูกกล่าวหาว่าโพสต์ภาพวาดของในหลวงรัชกาลที่สิบ ที่มีลักษณะบิดเบือนให้ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์ เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2564 ผู้กล่าวหาเห็นว่าการเผยแพร่ดังกล่าวเป็นการหมิ่นประมาท ทำให้พระองค์เสื่อมเสียพระเกียรติ เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง โดยจากการสืบสวนสอบสวน “น่าเชื่อว่า” บัญชีอินสตาแกรมดังกล่าวเป็นของผู้ต้องหา พนักงานสอบสวนจึงได้รวบรวมพยานหลักฐานขอศาลอาญาอนุมัติหมายจับและต่อมาศาลอนุญาตให้ฝากขัง ทนายความจึงได้ยื่นประกันตัวผู้ต้องหา
อย่างไรก็ดี ในวันเดียวกันนั้นศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหา โดยอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาระหว่างสอบสวนถึงชั้นพิจารณา เว้นแต่โจทก์ฟ้องผู้ต้องหาในข้อหาที่หนักกว่า โดยมีประกันในวงเงิน 90,000 บาท กำหนดเงื่อนไขห้ามผู้ต้องหากระทำการใดในลักษณะหรือทำนองเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้ในระหว่างการปล่อยชั่วคราว มิฉะนั้นจะถือว่าผิดสัญญาประกัน ให้ตั้งผู้กำกับดูแลผู้ต้องหา โดยให้ผู้ต้องหาไปรายงานตัวต่อผู้กำกับดูแลทุก 15 วัน จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
๐ เวลา 9.30 น. ศาลจังหวัดพิษณุโลกนัด ‘ตี๋’ นักศึกษาปริญญาโท คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวรฟังคำพิพากษา หมายเลขคดีดำที่ อ.748/2566 จากกรณีถูกกล่าาวหาว่า ได้แจกจ่ายหนังสือบทปราศรัยคัดสรรคดี 112 มีข้อความว่า “ประเทศนี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่กษัตริย์ ตามที่เขาหลอกลวง” เล่มสีขาว ให้แก่บุคคลทั่วไป
ภายในคำฟ้องได้ยกข้อความบางส่วนของคำปราศรัยของบุคคลหกคน ที่กล่าวในการชุมนุมครั้งต่างๆ ได้แก่ พริษฐ์ ชิวารักษ์, ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี, จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์, พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ, อานนท์ นำภา รวมทั้งข้อความจากจดหมายเปิดผนึกถึงราษฎรชาวไทยถึงสถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2563
พนักงานอัยการบรรยายต่อไปว่าข้อความดังกล่าวเป็นการโฆษณา ละเมิด หมิ่นพระบรมเดชานุภาพว่าพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชัง จากผู้อื่นหรือประชาชน อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร
RELATED POSTS
No related posts