7 สิงหาคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ “เอกฉันท์” สั่งยุบพรรคก้าวไกลพร้อมกับเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรค 10 จากเหตุการเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาในความผิดหมิ่นประมาททั้งระบบ รวมถึงความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ รวมไปถึงการหาเสียง และการกระทำอื่นๆ ของพรรคก้าวไกล เป็นการกระทำการล้มล้างการปกครองฯ และกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองฯ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 (พ.ร.ป. พรรคการเมืองฯ) มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) (2)
โดยในตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเก้าคน มีสองคนที่เคยตัดสินและ “มีมติ” ให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติและพรรคอนาคตใหม่มาแล้ว คือ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และปัญญา อุดชาชน ทั้งสองคนเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มีที่มาตามรัฐธรรมนูญ 2550 และได้รับความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติในช่วงหลังการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
ยุบพรรคไทยรักษาชาติ ปมเสนอชื่อทูลกระหม่อมฯ เป็นแคนดิเดตนายกฯ
คดีดังกล่าวสืบเนื่องจากพรรคไทยรักษาชาติเสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ในบัญชีว่าที่นายกรัฐมนตรีของพรรค แต่ต่อมามีพระราชโองการ ประกาศสถาบันพระมหากษัตริย์ ชี้ว่า เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม เพราะพระราชวงศ์ที่ใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์ไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง
ต่อมา ที่ประชุม คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ยื่นคำร้องขอยุบพรรคไทยรักษาชาติต่อศาลรัฐธรรมนูญเนื่องจากเห็นว่า “กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 (พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ) มาตรา 92 (2) ซึ่งเป็นเหตุในการยุบพรรคได้ และศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องดังกล่าว
คดีนี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 3/2562 เป็นเอกฉันท์ให้ ยุบพรรคไทยรักษาชาติ และมีมติ 6 ต่อ 3 ในการออกคำสั่งเพิกถอนสิทธิทางการเมืองแก่คณะกรรมการบริหารพรรค 10 ปี และมีมติเอกฉันท์ในประเด็นที่ผู้ถูกเพิกถอนสิทธิรับเลือกตั้งห้ามไปจัดตั้งพรรคการเมืองอื่นเป็นเวลา 10 ปี และห้ามใช้ชื่อพรรคเดิมซ้ำ และชื่อย่อเกี่ยวกับพรรคการเมืองนี้ เป็นเวลา 10 ปี
โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่พิจารณาคดีนี้ ประกอบด้วย
- นุรักษ์ มาประณีต ประธานศาลรัฐธรรมนูญ
- จรัญ ภักดีธนากุล
- ชัช ชลวร
- ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ
- นครินทร์ เมฆไตรรัตน์
- บุญส่ง กุลบุปผา
- ปัญญา อุดชาชน
- วรวิทย์ กังศศิเทียม
- อุดมศักดิ์ นิติมนตรี
ยุบพรรคอนาคตใหม่ ปมกู้ยืมเงินธนาธร 191.2 ล้านบาท
เมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดเดียวกันกับชุดที่วินิจฉัยคดียุบพรรคไทยรักษาชาติ มีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ด้วยมติ 7 ต่อ 2 เสียง มูลเหตุของคดีสืบเนื่องมาจาก กกต. ผู้ร้องในคดีนี้ ร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญว่า สัญญากู้เงินทั้งสองฉบับระหว่างธนาธรกับพรรคอนาคตใหม่จำนวน 191.2 ล้านบาทนั้นผิดกฎหมาย เพราะพรรคการเมืองไม่ใช่นิติบุคคล ต้องมีรายได้จากที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น ตา พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 62 และรายได้ต้องนำไปใช้ตามที่กำหนด (มาตรา 87) เท่านั้น ซึ่งไม่มีส่วนระบุถึงเงินกู้หรือชำระเงินหนี้เงินกู้ ทั้งไม่พบว่ามีหลักประกันว่าพรรคอนาคตใหม่จะชำระเงินกู้คืนธนาธรได้ จึงเห็นว่าเป็นการทำนิติกรรมอำพรางจากเงินกู้เป็นเงินบริจาคเข้าพรรค ซึ่งเป็นการขัดต่อ มาตรา 66 ประกอบมาตรา 124, 125 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ นอกจากนี้การรับเงินกู้ยืมดังกล่าวถือว่าเป็นการรับบริจาคเงินหรือประโยชน์อื่นใดโดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการฝ่าฝืน มาตรา 72 ด้วยอีกชั้นหนึ่ง และเป็นเหตุให้ต้องยุบพรรคตาม มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) ประกอบ มาตรา 93
โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อยสองรายที่เห็นว่าไม่มีเหตุให้ยุบพรรค คือ ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ และชัช ชลวร ขณะที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีกเจ็ดคนที่เหลือ รวมถึงนครินทร์และปัญญา มีความเห็นว่ามีเหตุให้ยุบพรรค
ยุบพรรคก้าวไกล ปมเสนอแก้ ม. 112 ล้มล้าง-อาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองฯ
7 สิงหาคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ “เอกฉันท์” สั่งยุบพรรคก้าวไกล เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคที่ดำรงตำแหน่งระหว่างวันที่ 25 มีนาคม 2564 – 31 มกราคม 2567 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการกระทำอันเป็นเหตุให้ยุบพรรคผู้ถูกร้อง โดยเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคเป็นระยะเวลา 10 ปีนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่ง และห้ามมิให้ผู้เคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคที่ถูกยุบและถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ได้จดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคหรือมีส่วนร่วมจัดตั้งพรรคการเมืองอีก ภายในกำหนดระยะเวลา 10 ปีนับแต่วันที่พรรคถูกยุบ ตามพ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 94 วรรคสอง
โดยมูลเหตุของคดีสืบเนื่องมาจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการกระทำของพรรคก้าวไกล ตั้งแต่เสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาในความผิดฐานหมิ่นประมาททั้งระบบ รวมความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามมาตรา 112 การหาเสียง ตลอดจนพฤติการณ์และการแสดงออกที่เกี่ยวข้องกับ มาตรา 112 นั้น เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 49 และมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องทั้งสอง เลิกการกระทำ เลิกการแสดงความความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น เพื่อให้มีการยกเลิก มาตรา 112 อีกทั้งไม่ให้มีการแก้ไข มาตรา 112 ด้วยวิธีการที่ไม่ใช่วิธีการทางกระบวนการนิติบัญญัติโดยชอบที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ต่อมา กกต. ได้ส่งเรื่องมายังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการกระทำของพรรคก้าวไกล เป็นการกระทำการล้มล้างการปกครองฯ และกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองฯ ตามพ.ร.ป. พรรคการเมืองฯ มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) (2)
โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยคดีนี้ ได้แก่
- นครินทร์ เมฆไตรรัตน์
- ปัญญา อุดชาชน
- อุดม สิทธิวิรัชธรรม
- วิรุฬห์ แสงเทียน
- จิรนิติ หะวานนท์
- นภดล เทพพิทักษ์
- บรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์
- อุดม รัฐอมฤต
- สุเมธ รอยกุลเจริญ
คดียุบพรรคก้าวไกล จึงเป็นอีกหนึ่งคดีที่นครินทร์และปัญญามีมติให้ยุบพรรคการเมือง