ศาลรัฐธรรมนูญ กลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้งหลังจากมีมติ “เอกฉันท์” สั่งยุบพรรคก้าวไกลและเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคที่ดำรงตำแหน่งระหว่างวันที่ 25 มีนาคม 2564 – 31 มกราคม 2567 เป็นระยะเวลา 10 ปี โดยศาลวินิจฉัยว่าการเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาในความผิดหมิ่นประมาททั้งระบบ รวมถึงความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ รวมไปถึงการหาเสียง และการกระทำอื่นๆ ของพรรคก้าวไกล เป็นการกระทำการล้มล้างการปกครองฯ และกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองฯ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 (พ.ร.ป. พรรคการเมืองฯ) มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) (2)
โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยคดีนี้จำนวนเก้าคน สองคนเป็นตุลาการที่มีที่มาจากรัฐธรรมนูญ 2550 และผ่านความเห็นชอบโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งเป็นสภาแต่งตั้งที่ทำหน้าที่นิติบัญญัติในช่วงเปลี่ยนผ่าน ขณะที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่ อีกเจ็ดคน มีที่มาตามรัฐธรรมนูญ 2560 และผ่านความเห็นชอบโดยสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดพิเศษ 250 คนที่มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
สองตุลาการจากรธน. 50 นั่งบัลลังก์ยาวเก้าปีเพราะบทเฉพาะกาล
แม้รัฐธรรมนูญ 2560 จะกำหนดให้ตุลาการมีวาระการดำรงตำแหน่งเจ็ดปีเท่านั้น แต่ในบรรดาตุลาการทั้งเก้าคน มีสองคน คือ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ และปัญญา อุดชาชน ซึ่งมีที่มาจากระบบการคัดเลือกตามรัฐธรรมนูญ 2550 ที่มีระยะเวลาการดำรงตำแหน่งแตกต่างจากตุลาการคนอื่นๆ เนื่องจาก บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 273 กำหนดให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ (ก่อน 6 เมษายน 2560) ให้ยังคงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป และเมื่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องใช้บังคับแล้ว การดำรงตำแหน่งต่อไปได้เพียงใดให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว
ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 บทเฉพาะกาล มาตรา 79 กำหนดให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งดำรงตำแหน่งยังไม่ครบวาระตามรัฐธรรมนูญ 2550 และดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ (ก่อน 3 มีนาคม 2561) ยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระตามรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งกำหนดไว้ที่เก้าปี (มาตรา 208)
นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2558 และปัญญา อุดชาชน ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2558 ตุลาการทั้งสองคน จึงพ้นจากตำแหน่งในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2567
ตุลาการส่วนใหญ่เคาะโดย สว. ชุดพิเศษ เกินครึ่งอยู่ถึงปี 70
ขณะที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เหลือเจ็ดคน มีที่มาจากรัฐธรรมนูญ 2560 และผ่านความเห็นชอบโดย สว. ชุดพิเศษ
ห้าคน พ้นตำแหน่งในปี 2570 : ในจำนวนนี้ สี่คน ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเข้ามาพร้อมกันและจะหมดวาระพร้อมกัน ได้แก่ 1) อุดม สิทธิวิรัชธรรม 2) วิรุฬห์ แสงเทียน 3) จิรนิติ หะวานนท์ และ 4) นภดล เทพพิทักษ์ ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 และครบวาระการดำรงตำแหน่งในเดือนเมษายน 2570
นอกจากนี้ ภายในปีเดียวกัน จะมีตุลาการอีกหนึ่งคน ซึ่งคือ บรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ ที่ได้รับการโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งในวันที่ 20 สิงหาคม 2563 และจะหมดวาระในช่วงเดือนสิงหาคม 2570
สองคน พ้นบัลลังก์ในปี 2573-2574 : สำหรับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เหลืออีกสองคน ที่ผ่านความเห็นชอบจาก สว. ชุดพิเศษ ได้แก่ อุดม รัฐอมฤต ได้รับโปรดเกล้าฯ เมื่อ 28 มกราคม 2566 วาระการดำรงตำแหน่งเจ็ดปี จะพ้นวาระการดำรงตำแหน่งช่วงเดือนมกราคม 2573 และตุลาการอีกราย สุเมธ รอยกุลเจริญ ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเมื่อ 19 มีนาคม 2567 เท่ากับว่าสุเมธจะดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไปได้อย่างน้อยถึงช่วงเดือนมีนาคม 2574