ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ “เอกฉันท์” สั่งยุบพรรคก้าวไกล แบนกรรมการ 11 คน 10 ปี

7 สิงหาคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีนัดฟังคำวินิจฉัย คดียุบพรรคก้าวไกล สืบเนื่องจากถูกร้องว่ากระทำการล้มล้างการปกครองฯ และกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองฯ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 (พ.ร.ป. พรรคการเมืองฯ) มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) (2)

โดยมูลเหตุของคดีสืบเนื่องมาจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการกระทำของพรรคก้าวไกล ตั้งแต่เสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาในความผิดฐานหมิ่นประมาททั้งระบบ รวมความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามมาตรา 112 การหาเสียง ตลอดจนพฤติการณ์และการแสดงออกที่เกี่ยวข้องกับ มาตรา 112 นั้น เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 49 และมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องทั้งสอง เลิกการกระทำ เลิกการแสดงความความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น เพื่อให้มีการยกเลิก มาตรา 112 อีกทั้งไม่ให้มีการแก้ไข มาตรา 112 ด้วยวิธีการที่ไม่ใช่วิธีการทางกระบวนการนิติบัญญัติโดยชอบที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย

โดยในคดียุบพรรค ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคที่ดำรงตำแหน่งระหว่างวันที่ 25 มีนาคม 2564 – 31 มกราคม 2567 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการกระทำอันเป็นเหตุให้ยุบพรรคผู้ถูกร้อง โดยเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคเป็นระยะเวลา 10 ปีนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่ง และห้ามมิให้ผู้เคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคที่ถูกยุบและถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ได้จดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคหรือมีส่วนร่วมจัดตั้งพรรคการเมืองอีก ภายในกำหนดระยะเวลา 10 ปีนับแต่วันที่พรรคถูกยุบ ตามพ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 94 วรรคสอง

เวลา 15.00 น. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังก์พิจารณา โดยมอบหมายให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญห้าราย ได้แก่ อุดม สิทธิวิรัชธรรม จิรนิติ หะวานนท์ วิรุฬห์ แสงเทียน นภดล เทพพิทักษ์ และปัญญา อุดชาชน อ่านคำวินิจฉัย ใจความว่า

ประเด็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในการพิจารณาคดียุบพรรค ศาลรัฐธรรมนูญยืนยันว่ามีอำนาจในการพิจารณาคดีนี้ แม้รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 210 กำหนดอำนาจหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญไว้ว่า (1) พิจารณาวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายหรือร่างกฎหมาย (2) พิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระ (3) หน้าที่และอำนาจอื่นตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ในมาตรา 210 วรรคท้าย ระบุให้นำความตามมาตรา 188 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งในมาตรา 188 วรรคหนึ่ง ระบุว่า การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นอำนาจของศาล ซึ่งต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย และในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ เจตนารมณ์ในการคุ้มครองและปกป้องระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไม่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับใด ย่อมแสดงออกโดยการรับรองสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญให้กับประชาชนและให้อำนาจศาลสั่งยุบพรรคการเมืองได้หากมีข้อเท็จจริงว่ามีบุคคลหรือพรรคการเมืองจะใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างการปกครองฯ

แม้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 จะไม่ได้ระบุให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคการเมืองได้ แต่ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่และอำนาจตามรัฐธรรมนูญและบทบัญญัติของกฎหมาย เช่น ในพ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 92 ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับคำวินิจฉัยและสั่งยุบพรรคการเมืองได้

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการไต่สวนแล้ว มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองกระทำการตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น

เมื่อข้อเท็จจริงในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 รับฟังได้ว่า พรรคก้าวไกลผู้ถูกร้องกระทำการล้มล้างการปกครองฯ ย่อมเป็นการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองฯ ด้วย เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญ เคยวินิจฉัยไว้แล้วว่า คำว่าเป็นปฏิปักษ์ ไม่จำเป็นต้องรุนแรงถึงขนาดล้มล้างทำลายให้สิ้นไป ทั้งยังไม่จำเป็นต้องถึงขนาดตั้งตนให้เป็นศัตรูหรือฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น เพียงแค่เป็นการกระทำที่มีลักษณะขัดขวาง สกัดกั้นไม่ให้เจริญก้าวหน้า หรือเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดผลเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลาย หรือทำให้อ่อนแอลง ก็เข้าลักษณะการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์แล้ว

การนำสถาบันพระมหากษัตริย์ไปใช้เพื่อความได้เปรียบและมุ่งหวังผลประโยชน์ทางการเมือง จึงเป็นการกระทำที่อาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 3/2567 ว่าการใช้นบายการแก้ไขมาตรา 112 เป็นการทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นคู่ขัดแย้งกับประชาขน ผู้ถูกร้องมีเจตนาเซาะกร่อนบ่อนทำลายหรือทำให้อ่อนแอลง การกระทำของผู้ถูกร้อง จึงเข้าลักษณะเป็นการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

เมื่อพรรคการเมืองเป็นสถาบันทางการเมืองที่มีความสำคัญในระบอบประชาธิปไตย การยุบพรรคการเมืองจึงต้องเคร่งครัด ระมัดระวัง ให้ได้สัดส่วนกับพฤติการณ์ ความรุนแรงของพรรคการเมือง ผู้ถูกร้องมีการกระทำอันฝ่าฝืนต่อฝืนพ.ร.ป. พรรคการเมืองฯ มาตรา 92  วรรคหนึ่ง (1) (2) กฎหมายดังกล่าวต้องใช้กับพรรคการเมืองทุกพรรคไม่ว่าพรรคการเมืองนั้นจะได้รับการเลือกตั้งหรือไม่ก็ตาม แต่ทุกพรรคการเมืองต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายฉบับเดียวกัน อย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน อันเป็นพฤติการณ์และข้อกฎหมายที่ได้สัดส่วนและจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตาม เพื่อหยุดยั้งการทำลายพื้นฐานระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งเป็นไปตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 จึงเป็นเด็ดขาดและมีผลผูกพันตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 211 วรรคสี่ ศาลรัฐธรรมนูญจึงต้องสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้องตามที่กฎหมายบัญญัติให้กระทำโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

แม้นักวิชาการสาขาต่างๆ นักการเมือง หรือนักการทูตต่างประเทศ ต่างก็มีรัฐธรรมนูญ กฎหมายภายในประเทศ ข้อกำหนดที่แตกต่างกันไปตามบริบทของแต่ละประเทศ การแสดงความคิดใดๆ ย่อมต้องมีมารยาททางการทูตและการต่างประเทศที่พึงปฏิบัติต่อกัน

กรณีจึงมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า ผู้ถูกร้องกระทำการตามพ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) (2) อันเป็นเหตุให้ยุบพรรคผู้ถูกร้อง โดยเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคที่ดำรงตำแหน่งระหว่างวันที่ 25 มีนาคม 2564 – 31 มกราคม 2567 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการกระทำอันเป็นเหตุให้ยุบพรรคผู้ถูกร้อง โดยเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคเป็นระยะเวลา 10 ปีนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่ง และห้ามมิให้ผู้เคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคที่ถูกยุบและถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ได้จดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคหรือมีส่วนร่วมจัดตั้งพรรคการเมืองอีก ภายในกำหนดระยะเวลา 10 ปีนับแต่วันที่พรรคถูกยุบ ตามพ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 94 วรรคสอง

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage