สว. 67: ปรากฏการณ์ สว. หกอันดับแรกคะแนนล้นกระดานในระดับประเทศ

การเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ระดับประเทศรอบเลือกไขว้เกิดปรากฏการณ์ผู้สมัคร “คะแนนล้น” จนเจ้าหน้าที่ประจำสถานที่เลือก (กปล.) ต้องต่อกระดาษนับคะแนน จากการตรวจสอบคะแนนผู้สมัครพบว่า แต่ละกลุ่มจะมีผู้สมัครหกคนที่ได้คะแนนโดดนำผู้สมัครคนอื่นๆ อย่างชัดเจน โดยจังหวัดที่มีผู้สมัครได้คะแนนท่วมท้นเกาะอยู่ในอันดับหนึ่งถึงหกของตาราง เช่น บุรีรัมย์ พระนครศรีอยุธยาและอ่างทอง ชวนย้อนดูปรากฏการณ์ สว. หกอันดับแรกแต่ละกลุ่มคะแนนล้น

สว. 67: ปรากฏการณ์ สว. หกอันดับแรกคะแนนล้นกระดานในระดับประเทศ

หกอันดับแรกรอบเลือกกันเองการันตีเก้าอี้สว. ผู้สมัครจากบุรีรัมย์คะแนนเพิ่มจาก 14 เป็น 60 คะแนน

ในรอบเลือกไขว้ข้ามกลุ่มในสายทั้งสี่สายตั้งแต่สาย ก ไปจนถึง สาย ง พบว่า คะแนนของผู้สมัครที่ได้รับเลือกเป็นสว. แบ่งเป็นสองกลุ่มอย่างชัดเจนคือ หกอันดับแรกจะมีคะแนนมากที่สุดตั้งแต่ 79 คะแนนลดหลั่นไปจนถึง 45 คะแนน รวมกันมากถึง 120 คน แบ่งเป็น

·      71-79 คะแนน แปดคน

·      61-70 คะแนน 46 คน 

·      51-60 คะแนน 57 คน

·      45-50 คะแนน เก้าคน

มากไปกว่านั้น ผู้สมัครอันดับหกมีคะแนนทิ้งห่างอันดับเจ็ดอย่างชัดเจน โดยมีค่าเฉลี่ยของคะแนนความแตกต่างของคะแนนจากทั้ง 20 กลุ่มอยู่ที่ 23.5 คะแนน ยกตัวอย่างเช่น

·      กลุ่มที่ 19 อันดับหก ทิ้งห่างมากที่สุด อเนก วีระพจนานันท์ ได้คะแนน 59 คะแนนห่างอันดับเจ็ด 36 คะแนน

·      กลุ่มที่ 3 อันดับหก สามารถ รังสรรค์ ได้คะแนน 59 คะแนนทิ้งห่างอันดับเจ็ด 32 คะแนน

·      กลุ่มที่ 10 อันดับหก สุนทร เชาว์การค้า ได้คะแนน 60 คะแนนทิ้งห่างอันดับเจ็ด 32 คะแนน

·      กลุ่ม 9 ทิ้งห่างน้อยที่สุดคือ 10 คะแนน อันดับหก เบ็ญจมาศ อภัยทอง ได้คะแนน 45 คะแนน 

หากเปรียบเทียบผู้ที่ได้คะแนนหกอันดับแรกในรอบเลือกกันเองและรอบเลือกไขว้พบว่า อันดับแทบไม่เปลี่ยนแปลง ในบรรดา 120 ผู้ที่มีคะแนนเป็นหกอันดับแรกในรอบเลือกกันเอง 91 คนสามารถกวาดคะแนนจนอยู่ในหกอันดับแรกในรอบเลือกไขว้และได้เป็น สว. และมีเพียง 24 คนเท่านั้นที่ไปไม่ถึงฝัน (สามคนได้เก้าอี้สำรอง) ส่วนผู้สมัครที่ไม่ได้มีคะแนนอยู่ในหกอันดับแรกในรอบเลือกกันเองและในรอบไขว้ติดหกอันดับแรกนั้น คะแนนในรอบเลือกไขว้แทบทั้งหมดไม่ได้มีลักษณะพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน กล่าวคือ ผู้สมัครที่ขึ้นไปแทนที่ก็ล้วนได้คะแนนอยู่ในต้นตารางอยู่แล้วในรอบเลือกกันเอง เช่น กลุ่มที่ 1 วร หินดี จากจังหวัดเลย ในรอบเลือกกันเองได้คะแนน 31 คะแนน เป็นอันดับเจ็ด และในรอบเลือกไขว้ได้คะแนน 60 คะแนนขึ้นไปเป็นอันดับที่ห้า และกลุ่มที่ 18 สุพรรณ์ ศรชัย จากจังหวัดสุรินทร์ ในรอบเลือกกันเองได้คะแนน 26 คะแนน เป็นอันดับที่ 12 และในรอบเลือกไขว้ได้คะแนน 61 คะแนนขึ้นไปเป็นอันดับที่สอง

ทั้งนี้ มีผู้ที่มีคะแนนเพิ่มขึ้นอย่างมากคือ กลุ่มที่ 9 วรรษมน คุณแสน จากจังหวัดบุรีรัมย์ ในรอบเลือกกันเองได้คะแนน 14 คะแนน เป็นอันดับที่ 34 และในรอบเลือกไขว้ ได้คะแนน 60 คะแนนพลิกขึ้นไปเป็นสว. โดยได้อันดับที่สองของผู้สมัครกลุ่มที่ 9 หากเทียบกับบรรดาผู้สมัครที่ในรอบเลือกกันเองได้คะแนนอยู่ท้ายตารางอันดับ 31-40 และในรอบเลือกไขว้ได้รับเลือกเป็นสว. จำนวน 32 คน พบว่า วรรษมนมีอัตราการเพิ่มคะแนนสูงที่สุดคือ ประมาณ 4.36 เท่าของคะแนนที่ได้รับในรอบเลือกกันเอง ขณะที่ผู้สมัครคนอื่นๆ มีอัตราการเพิ่มของคะแนนมากที่สุด 2.3 เท่าและค่าเฉลี่ยการเพิ่มคะแนนของผู้สมัครกลุ่มนี้ทั้งหมดอยู่ที่ 1.72 เท่า

สูตรสำเร็จต้องแยกกันเดินร่วมกันเทคะแนน บุรีรัมย์ครองแชมป์ 12 ที่นั่ง

หากนำข้อมูลมาประมวลแบ่งเป็นจังหวัดพบว่า มี 47 จังหวัดที่มีสว.ครองหกอันดับบนตาราง โดยสิบอันดับแรก ได้แก่ บุรีรัมย์ 12 คน (จาก 14 คน) พระนครศรีอยุธยา 7 คน (จากทั้งหมด 7 คน) สุรินทร์ 7 คน (จากทั้งหมด 7 คน) สตูล 6 คน (จากทั้งหมด 6 คน) เลย 5 คน (จากทั้งหมด 5 คน) อ่างทอง 5 คน (จากทั้งหมด 6 คน) อำนาจเจริญ 5 คน (จากทั้งหมด 5 คน) สงขลา 4 คน (จากทั้งหมด 6 คน) อุทัยธานี 4 คน (จากทั้งหมด 5 คน) และกระบี่ 3 คน (จากทั้งหมด 4 คน) ในภาพรวมการกระจายของคะแนนในสิบจังหวัดดังกล่าวมีลักษณะร่วมคือ ผู้สมัครสว. ที่ได้ตำแหน่งจะมีคะแนนจำนวนมากเทไปยังปลายยอดทางขวาของแผนภูมิ ขณะที่ผู้สมัครที่ตกรอบจะมีคะแนนกระจุกอยู่ที่ฐานและได้คะแนนน้อยหรือแทบไม่ได้คะแนนจึงแบ่งเป็นสองกลุ่มอย่างชัดเจน

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage