25 กรกฎาคม 2567 เวลา 13.30 น. ศาลอาญานัดอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชนฟังคำพิพากษาคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการโพสต์ข้อความสองข้อความบนเฟซบุ๊กในวันที่ 11 มกราคม 2564 และ 3 กุมภาพันธ์ 2564 คดีนี้ถือเป็นคดีมาตรา 112 คดีที่สี่จากทั้งหมด 14 คดีของอานนท์ที่ศาลจะมีคำพิพากษา คดีแรก กรณีปราศรัยในการชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 จำคุกสี่ปีตามมาตรา 112 และปรับ 20,000 บาทตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คดีที่สอง กรณีโพสต์ข้อความสามข้อความบนเฟซบุ๊กวิจารณ์การบังคับใช้มาตรา 112 จำคุกสี่ปี และคดีที่สาม กรณีปราศรัยในการชุมนุมแฮร์รี่ พอตเตอร์สอง จำคุกตามมาตรา 112 สามปี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 30 วันและปรับ 150 บาท ลดโทษหนึ่งในสามเหลือจำคุกสองปี 20 วันและปรับ 100 วัน ทุกคดีไม่รอลงอาญารวมโทษจำคุกในคดีมาตรา 112 และที่เกี่ยวข้องคือ สิบปีกับ 20 วัน
คดีนี้อานนท์ถูกกล่าวหารวมสองข้อความ ลองคาดการณ์โทษที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดคือ ข้อความละสี่ปีรวมแปดปี หากเป็นเช่นนี้จะทำให้เขามีโทษจำคุกรวม 18 ปี 20 วัน นับแต่วันที่มีคำพิพากษาคดีมาตรา 112 คดีแรกเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2567 อานนท์ไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเพื่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์เรื่อยมา จนถึงวันที่ 24 กรกฎาคม 2567 เขาถูกคุมขังมาแล้ว 303 วัน
โพสต์วิจารณ์การย้ายตำแหน่งองค์ภา ยันติชมสุจริตไม่เข้าข่ายม.112
คดีนี้พนักงานสอบสวน บก.ปอท.แจ้งข้อกล่าวหาระหว่างที่อานนท์ถูกคุมขังช่วงเดือนกันยายน 2564 ข้อความที่เป็นเหตุในคดีนี้คือข้อความแรกในทำนองที่ว่า รัชกาลที่สิบทรงลงมาบริหารราชการแผ่นดินขัดต่อหลักประชาธิปไตยและข้อความที่สองส่วนหนึ่งคือ “การย้ายลูกจากอัยการไปเป็นทหาร” มีผู้กล่าวหาคือ ร.ต.อ.ณัฐภัทร เรืองศิลป์ประเสริฐ เป็นตำรวจที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ติดตามความเคลื่อนไหวข่าวสารที่ไม่เหมาะสมหรือผิดกฎหมายในสื่อออนไลน์ ขณะเดียวกันสำนักงานกฎหมายและคดี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พิจารณาแล้วเห็นว่าเข้าข่ายมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3)
ในชั้นตำรวจอานนท์ให้การรับว่า เป็นผู้โพสต์ข้อความจริง แต่เป็นการแสดงความคิดเห็นติชมโดยสุจริต และต้องการให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่อย่างสง่างามในระบอบประชาธิปไตย ในชั้นศาลเขายังคงต่อสู้คดีในลักษณะเดียวกันกับในชั้นตำรวจ
ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุถึงคำให้การของอานนท์ในคดีนี้ว่า ในปี 2563 เขาเข้าร่วมการชุมนุมในหลายพื้นที่ เคยแสดงข้อห่วงกังวลต่อบทบาทกษัตริย์ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมือง ใช้พื้นที่การชุมนุมสาธารณะในการสื่อสารถึงเรื่องการดำรงบทบาทของกษัตริย์ที่เหมาะสมตามรัฐธรรมนูญอย่างตรงไปตรงมาและสุภาพ โดยในการเบิกความเขาไล่เรียงตั้งแต่การแก้ไขข้อความรัฐธรรมนูญ 2560 ตามข้อสังเกตพระราชทาน แม้ว่าจะผ่านการทำประชามติมาแล้ว หนึ่งในนั้นคือ มาตรา 16 เรื่องการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์กรณีกษัตริย์ไม่ประทับในราชอาณาจักร เปลี่ยนเป็นให้แต่งตั้งหรือไม่แต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก็ได้ ซึ่งเขามองว่า ขัดต่อเรื่องอำนาจในการสถาปนากฎหมายและ “การกระทำเช่นนี้ไม่มีกษัตริย์พระองค์ไหนเคยทำมาก่อน”
นอกจากนี้ยังกล่าวถึงการออกพระบรมราชโองการที่ไม่มีการลงชื่อผู้รับสนองพระบรมราชโองการ เช่น การโอนย้ายข้าราชการอัยการคือ องค์ภา และการแต่งตั้งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นองคมนตรี อานนท์ยังแสดงความเป็นกังลต่อการแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ทั้งนี้เขายืนยันว่า การพูดของเขาเป็นความจริง มีข้อเท็จจริงกระจ่างชัดตามที่ได้ยกตัวอย่างไว้แล้วในข้างต้นและการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตสามารถทำได้
โทษจำคุกเกินอายุลูกสองคนรวมกัน ศาลปัดตกคำร้องประกันเรียบ 14 ครั้ง
จนถึงวันที่ 24 กรกฎาคม 2567 อานนท์มีโทษจำคุกในสามคดี เป็นความผิดตามมาตรา 112 สิบปีและพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 20 วัน เขาถูกคุมขังมาแล้ว 303 วัน โดยศาลยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวรวม 14 ครั้ง ครั้งที่ 14 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2567 ทนายความยื่นคำร้องขอประกันตัวในคดีมาตรา 112 สามคดีที่มีคำพิพากษาแล้ววางเงินสดคดีละ 500,000 บาท ระบุว่า ภรรยาของอานนท์ต้องรับภาระหนักในการดูแลบุตรทั้งสองคนและลูกชายคนเล็กประสบอุบัติเหตุเป็นผลมาจากการที่จำเลยไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว แต่ศาลยังคงไม่ให้ประกันตัว
ย้อนอ่านจดหมายของอานนท์ในเดือนกรกฎาคม 2567 มีเรื่องราวของวันเกิดของลูกสาวของเขา วันที่ 5 กรกฎาคม 2567 เป็นวันเกิดครบรอบแปดปีของปราณ ลูกสาวคนโต นอกจากเรื่องเล่าการแอบร้องเพลงอวยพรในมุมห้องขังแล้วเขายังเล่าถึงความหวาดกลัวว่า วันที่พ้นโทษเขาอาจจะกลายเป็นคนแปลกหน้าของลูกสาวและลูกชาย เนื่องจากตอนนี้โทษจำคุกของเขาเกินอายุของลูกทั้งสองไปแล้วคือ สิบปีกับ 20 วัน ขณะที่อายุของลูกรวมกันคือ เก้าปีแปดเดือน เราเคยคูณจำนวนปีและโทษจำคุกของอานนท์ไว้อิงตามโทษสูงที่สุดที่เขาเคยได้รับมาในสองคดีแรกคือ สี่ปี รวมแล้ว 14 คดีประมาณ 50 ปี ซึ่งยาวนานพอที่ไม่ว่าใครก็คงรู้สึกหวาดกลัวไม่ต่างกัน
ไม่ใช่ครั้งแรกที่เขาต้องพลาดวันเกิดของลูกเพราะปี 2566 เขาก็พลาดวันเกิดปีแรกของขาล ลูกชายคนเล็ก และวันเกิดไม่ใช่สิ่งเดียวที่เขาพลาด ยังมีฟันหน้าซี่ใหม่ของขาล…ยังมีบาดแผลพองที่ถูกเตารีดของลูกชายเขาที่หากเขาอยู่นอกเรือนขาลคงไม่ต้องได้รับอุบัติเหตุ และเมื่อเกิดขึ้นแล้วเขายังพลาดโอกาสได้ดูแลจนหายดี นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเรื่องราวที่เขา “พลาด” ใน 303 วันของการจำคุก
หากการเป็นทนายความและจำเลยคดีจำนวนมากทำให้ในปี 2567 เขามีนัดออกศาลบ่อยครั้งที่เป็นโอกาส “เติมใจ” ให้เขาได้พบลูกชาย เห็นพัฒนาการ เห็นการเติบโตของผู้เป็นที่รัก และเป็นโอกาสได้รับกำลังใจจากบรรดาลุงป้าน้าอาที่เคยร่วมเรียกร้องประชาธิปไตยด้วยกันมาตลอด
RELATED POSTS
No related posts