ทำอย่างไรหากอยากบอก UN ว่าไทยละเมิดสิทธิมนุษยชน? ชี้ช่องส่งเสียงถึงนานาชาติ

ประเทศไทยภายใต้รัฐบาลของเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กำลังเตรียมตัวขอคะแนนเสียงจากนานาชาติเพื่อชิงตำแหน่งคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือ Human Right Council (HRC) วาระปี 2025-2027 ขณะเดียวกันก็ยังมีข้อครหาด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนภายในประเทศอยู่เป็นจำนวนมาก ในกระบวนการที่แต่ละประเทศจะร่วมกันตัดสินนั้น จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะส่งเสียงไปให้ถึงสหประชาชาติเพื่อให้ช่วย “บอก” กับรัฐบาลไทยให้แก้ไขปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนภายในประเทศให้แล้วเสร็จก่อนชิงตำแหน่ง HRC

อย่างไรก็ตาม การส่งเสียงเรียกร้องลอยๆ ถึงสหประชาชาติ หรือการยื่นหนังสือที่อาคารสำนักงานบริเวณถนนราชดำเนินอาจไม่ได้ทำให้กลไกภายในทำงานได้ตรงเป้า เพราะสหประชาชาติมีกลไกที่เปิดรับเรื่องร้องเรียนและแก้ไขปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนเอาไว้อย่างเป็นทางการแล้วสามช่องทางเท่านั้น หากต้องการที่จะส่งเรื่องร้องเรียนไปให้สหประชาชาติได้ยินและดำเนินการต่อกับรัฐบาลไทย จำเป็นต้องส่งข้อมูลให้ถูกช่องทาง และติดตามการทำงานของกลไกเหล่านั้นอย่างใกล้ชิด

กลไกทั้งสามประกอบไปด้วย 

1) กลไกตามสนธิสัญญา หรือ Treaty Bodies 

2) กลไกการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนระหว่างรัฐบาล หรือ Universal Periodic Review (UPR) 

3) กลไกพิเศษแห่งสหประชาชาติ หรือ Special Procedures 

ทั้งสามช่องทางที่มีระบบการทำงานและมีวิธีการส่งข้อมูลแตกต่างกันออกไป แต่ทุกช่องทางมีจุดเด่นสำคัญ คือ การช่วยให้ประชาชนทั่วไปสามารถมีส่วนร่วมในการส่งเรื่องร้องเรียนด้านสิทธิมนุษยชนไปยังสหประชาชาติ และทำให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวของสามารถดำเนินการต่อตามอำนาจหน้าที่และกฎหมายระหว่างประเทศที่มีอยู่ได้

OHCHR-02

สามกลไกหลักของสหประชาชาติ ทำไมต้องมีถึงสามช่องทาง

การที่สหประชาชาติตั้งกลไกด้านสิทธิมนุษยชนขึ้นมาสามช่องทางเป็นเพราะว่า แต่ละช่องทางมีระยะเวลาในการประเมิน วิธีการตรวจสอบ หรือเงื่อนไขในการเข้าถึงกลไกที่แตกต่างกัน ทำให้ประชาชนที่ต้องการจะส่งเรื่องร้องเรียนไปยังสหประชาชาติต้องศึกษาและเลือกกลไกที่เหมาะสมกับประเด็นที่เตรียมจะร้องเรียน และยื่นเรื่องร้องเรียนไปตามช่องทางอย่างเป็นทางการของสหประชาชาติได้ถูกต้อง

กลไกทั้งสามสามารถถูกแบ่งได้ออกเป็นสองประเภท คือ กลไกที่มีรอบระยะเวลาปฏิบัติงาน ประกอบไปด้วยกลไกตามสนธิสัญญา (Treaty Bodies) กับกลไกการประเมินด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างรัฐบาล (UPR) ทำให้การมีส่วนร่วมกับสองกลไกนี้จำเป็นต้องยื่นข้อร้องเรียนให้ถูกจังหวะเวลา ขณะที่กรณีเร่งด่วนก็ต้องอาศัยกลไกพิเศษ (Special Procedures) สามารถส่งข้อร้องเรียนได้ตลอดเวลา ทำให้เหมาะสมกับการร้องเรียนปัญหาที่หากปล่อยไว้นานจนเกินไปจะนำมาซึ่งความเสียหายด้านสิทธิมนุษยชน จึงควรขอให้สหประชาชาติส่งเสียงมายังรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวในทันที

การเลือกช่องทางส่งข้อร้องเรียนไปให้ถูกกลไกจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เสียงของประชาชนในประเทศสามารถส่งไปถึงสหประชาชาติได้ และทำให้สังคมโลกรับรู้ให้ความสนใจในประเด็นปัญหาที่พยายามนำเสนอมากยิ่งขึ้น หากเลือกกลไกที่ไม่เหมาะสมกับข้อร้องเรียนก็อาจจะทำให้การให้ความสนใจปัญหาดังกล่าวล่าช้าออกไป

สหประชาชาติประกอบไปด้วยประเทศสมาชิกหลายประเทศ เมื่อมีการรวมตัวย่อมตามมาด้วยการทำสนธิสัญญาว่าเราจะอยู่ร่วมกันบนโลกต่อไปภายใต้กฎเกณฑ์แบบใด สนธิสัญญาจำนวนมากจึงถูกร่างขึ้นมาเพื่อให้แต่ละประเทศให้สัตยาบันและลงนามว่าจะปฏิบัติตาม แต่ละสนธิสัญญาจะมีคณะกรรมการของแต่ละสนธิสัญญาคอยดูแล ส่งข้อเสนอแนะ หรือข้อกังวล ไปยังแต่ละประเทศในภาคีของสนธิสัญญานั้นๆ เพื่อให้เนื้อหาในสนธิสัญญาได้รับการเคารพและปฏิบัติตาม โดยปัจจุบันนี้ประเทศไทยลงนามสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนอยู่ทั้งสิ้นแปดฉบับจากเก้าฉบับหลัก ดังนี้

  1. กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ International Covenant on Civil and Political Rights (ICCPR)
  2. กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม หรือ International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights (ICESCR)
  3. อนุสัญญาว่าด้วยการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ หรือ Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination Against Women (CEDAW)
  4. อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก หรือ Convention on the Rights of the Child (CRC)
  5. อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ หรือ Convention on the Elimination of All Forms of Racial Discrimination (CERD) 
  6. อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี หรือ Convention Against Torture and other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment (CAT)
  7. อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ หรือ Convention on the Rights of the Persons with Disabilities (CRPD)
  8. อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ หรือ International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance (CED)

ขณะที่อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของแรงงานโยกย้ายถิ่นฐานและสมาชิกในครอบครัว หรือ Convention on the Protection on the Rights of Migrants Workers and Member of their Families (CMW) ประเทศไทยยังไม่ได้เข้าเป็นภาคี

หากต้องการให้คณะกรรมการที่กำกับดูแลการปฏิบัติตามสนธิสัญญาช่วยตักเตือนหรือทักท้วงการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ขัดต่อสนธิสัญญาต่างๆ ประชาชนทั่วไปสามารถส่งข้อร้องเรียนไปยังองค์กรตามสนธิสัญญาที่ประเทศไทยอยู่ในภาคีได้ คลิกที่นี่  

อย่างไรก็ตาม มีเพียงบางสนธิสัญญาเท่านั้นที่ประเทศไทยยอมรับอำนาจของคณะกรรมการตามสนธิสัญญาที่จะรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนได้ (individual complaints)  คือ อนุสัญญาว่าด้วยการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ หรือ Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination Against Women (CEDAW) อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก หรือ Convention on the Rights of the Child (CRC) และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ หรือ Convention on the Rights of the Persons with Disabilities (CRPD) ส่วนกรณีการละเมิดสิทธิตามสนธิสัญญาอื่นสำหรับกรณีของประเทศไทยประชาชนยังไม่สามารถส่งเรื่องตรงไปยังคณะกรรมการของสนธิสัญญานั้นๆ ได้

กลไกตรวจสอบสิทธิมนุษยชนระหว่างรัฐ หรือ Universal Periodic Review (UPR) เป็นกลไกที่มีน้ำหนักสูงสำหรับการส่งเสียงเตือนให้ทุกประเทศสนใจต่อปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนภายในชาติได้มากขึ้น โดยทุกๆ สี่ปีครึ่งแต่ละประเทศจะต้องเข้าสู่กระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนประเทศละหนึ่งครั้งที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ผู้ที่ร่วมกันทำหน้าที่ตรวจสอบก็คือประเทศอื่นๆ ที่จับตาสถานการณ์อยู่

เมื่อรอบของการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชวนมาถึง ภาคประชาสังคมสามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการนี้ได้ผ่านการเขียนรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนภายในประเทศส่งไปยัง สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ตามกรอบระยะเวลาที่ OHCHR ประกาศ ซึ่งอาจจะส่งข้อร้องเรียนร่วมกันระหว่างหลายองค์กรที่ต้องการจะร้องเรียนในประเด็นเดียวกันก็ได้ โดยผู้ที่ต้องการจะส่งข้อร้องเรียนด้วยกลไกของ UPR นี้จะต้องปฏิบัติตามระเบียบของ OHCHR อย่างเคร่งครัด

ในกระบวนการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนระหว่างรัฐที่ประเทศไทยถูกตรวจสอบ ประเทศไทยจะต้องส่งรายงานเพื่ออธิบายว่ามีพัฒนาการด้านสิทธิมนุษยชนอย่างไรบ้างในแต่ละช่วง สมาชิกจากประเทศอื่นๆ จะนำรายงานไปศึกษาก่อนเล่วงหน้า ขณะเดียวกันก็จะนำไปศึกษาเพิ่มเติมรวมทั้งเปิดรับข้อมูลเพิ่มเติมจากภาคประชาสังคม เมื่อประเทศต่างๆ ได้รับข้อมูลว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นในประเทศไทยก็จะนำมาตั้งคำถามว่า ข้อมูลที่ได้รับมานั้นเป็นความจริงหรือไม่ พร้อมกับมีข้อเสนอแนะให้ประเทศไทยแก้ไขปรับปรุงกฎหมายหรือนโยบายที่เกี่ยวข้อง หรืออาจมีข้อเสนอให้ยุติการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้น โดยประเทศไทยก็จะต้องส่งตัวแทนจากกระทรวงการต่างประเทศเข้าไปนำเสนอรายงานและร่วมตอบคำถามในเวทีการตรวจสอบทุกครั้งด้วย

กระบวนการเช่นนี้จึงคาดหมายว่า ตัวแทนของประเทศไทยจากกระทรวงต่างประเทศก็จะต้องรับฟังและรับข้อเสนอแนะเพื่อกลับมาปรับปรุงกฎหมายภายใน โดยบางประเด็นตัวแทนของประเทศไทยอาจจะยอมรับข้อเสนอแนะ (accept) หรือรับทราบ (note) หรืออาจเพิกเฉยต่อข้อเสนอที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งกระบวนการนี้เป็นเรื่องของการเมืองระหว่างประเทศที่ประเทศไทยก็ไม่ต้องการถูกทำให้เสียหน้าในเวทีของสหประชาชาติ เช่น เมื่อปี 2021 รัฐบาลสหรัฐอเมริกาเสนอให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยยกเลิกอัตราโทษจำคุกขั้นต่ำ สาธารณรัฐไอร์แลนด์แนะนำให้รัฐบาลไทยยุติการจับกุมคุมขังนักกิจกรรมทางการเมือง รัฐบาลญี่ปุ่นแนะนำให้รัฐบาลไทยปรับปรุงสถานการณ์สิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุม เป็นต้น

ปัจจุบันรอบการตรวจสอบ UPR สำหรับประเทศไทย กำลังอยู่ระหว่างรอบที่สี่ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2022 จนถึงปี 2027 ประเทศไทยเข้าร่วมการตรวจสอบครั้งล่าสุดในรอบการตรวจครั้งที่สามระหว่างปี 2017 ถึงปี 2022 ทำให้กว่าจะวนมาถึงรอบการตรวจของประเทศไทยอีกครั้งอาจจะต้องรอในช่วงปี 2027 หากต้องการส่งข้อร้องเรียนปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขเร่งด่วนจึงควรใช้ช่องทางอื่นที่ว่องไวกว่ากลไกของ UPR

สำหรับรอบการตรวจสอบของแต่ละประเทศผ่านกลไก UPR สามารถดูได้ที่ https://upr-info.org/en  

กลไกองค์กรตามสนธิสัญญา (Treaty Bodies) และกลไกตรวจสอบสิทธิมนุษยชนระหว่างรัฐ (UPR) ต่างมีรอบของการประเมินและส่งรายงานที่ใช้เวลานาน ทำให้ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนบางกรณีอาจเกิดความเสียหายไปแล้วโดยไม่ได้รับการแก้ไขที่ทันการ ซึ่งทางสหประชาชาติก็ยังมีช่องทางสำหรับการรับเรื่องร้องเรียนขึ้นมาแบบไม่จำกัดระยะเวลา คือ กลไกพิเศษ (Special Procedures) ที่ดำเนินงานโดยผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ (Special Rapporteurs) หรือคณะทำงาน (Working Group) ในฐานะผู้เชี่ยวชาญประเด็นเฉพาะทางที่ไม่ได้ขึ้นตรงต่อประเทศใด

ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติจะดูแลในแต่ละประเด็น (Mandates) ที่ตัวเองเชี่ยวชาญ คอยเปิดรับเรื่องร้องเรียนเพื่อนำไปทำเป็นรายงานการสื่อสารกับรัฐบาลที่ถูกร้องเรียน หากประชาชนจะส่งเรื่องร้องเรียนไปให้ถึงผู้แทนพิเศษแห่งสหประชาชาติจึงต้องเลือกที่จะส่งข้อร้องเรียนไปสู่ผู้รายงานพิเศษให้ถูกคนและถูกประเด็น โดยปัจจุบัน OHCHR แบ่งประเด็น (Mandates) เอาไว้เป็นประเด็นตามเนื้อหา 46 ประเด็น และประเด็นรายประเทศ 14 ประเทศ

เมื่อผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติได้รับเรื่องและศึกษาดูแล้วเห็นว่ามีมูลของการละเมิดสิทธิมนุษยชนก็จะติดต่อสื่อสารกับรัฐบาลไทย (Communications) เช่น ส่งหนังสือมายังกระทรวงต่างประเทศเพื่อสอบถามข้อเท็จจริง และส่งข้อแนะนำให้ปฏิบัติตามเพื่อให้สอดคล้อง และให้ประเทศไทยตอบกลับ หากผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติได้รับเรื่องร้องเรียนที่เห็นความจำเป็นจำนวนมากจากประเทศใดประเทศหนึ่งก็อาจเรียกร้องไปยังประเทศนั้นๆ เพื่อขอไปตรวจเยี่ยม (Country Visit) เพื่อศึกษารายละเอียดข้อเท็จจริงการละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้นได้

จนถึงปัจจุบัน (กรกฎาคม 2567) มีการส่งรายงานการสื่อสารจากผู้แทนพิเศษแห่งสหประชาชาติสู่รัฐบาลไทยแล้วทั้งสิ้น 121 ฉบับ ซึ่งรัฐบาลไทยมีการตอบกลับ 98 ฉบับ ไม่มีการตอบกลับ 23 ฉบับ โดยประชาชนสามารถเข้าไปค้นหารายงานการสื่อสารเรื่องร้องเรียนระหว่างผู้แทนพิเศษแห่งสหประชาชาติและการตอบกลับของรัฐบาลได้เองบนเว็บไซต์

หากประชาชนต้องการที่จะส่งข้อร้องเรียนเพิ่มเติมไปยังผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติสามารถส่งได้ที่ช่องทางบนเว็บไซต์ ผ่านการคลิกที่ “Make your submission to the Special Procedures” และปฏิบัติตามวิธีการส่งข้อร้องเรียนต่อไปอย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ตามหากเรื่องร้องเรียนเข้าสู่กระบวนการแล้วจะถูกนำมาแสดงผลบนเว็บไซต์สาธารณะ ดังนั้น การประเมินความปลอดภัยของเจ้าของเรื่องร้องเรียนจึงจำเป็นเช่นเดียวกัน

ทำอย่างไรหากอยากบอก UN ว่าไทยละเมิดสิทธิมนุษยชน? ชี้ช่องส่งเสียงถึงนานาชาติ
Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage