คุณสมบัติของผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งวุฒิสภา (พ.ร.ป.สว.ฯ) มาตรา 13(3) ผู้สมัครมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือทํางานใน ด้านที่สมัครไม่น้อยกว่าสิบปี ในกลุ่ม 12 “กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม หรืออื่น ๆ ในทํานองเดียวกัน” ไม่ได้มีคำนิยามของกลุ่มนี้ที่ชัดเจนในทางกฎหมาย แต่ก็เข้าใจได้ว่า ผู้สมัครในกลุ่มนี้ต้องเป็นระดับเจ้าของกิจการด้านอุตสาหกรรมมาเป็นเวลาอย่างน้อยสิบปี ไม่ใช่เพียงแค่พนักงานในโรงงานอุตสาหกรรม
กลุ่ม 12 ก็เป็นกลุ่มที่มีจำนวนผู้สมัครน้อยที่สุด คือ 609 คนจากทั้งประเทศ เนื่องจากผู้ประกอบกิจการอุตสาหกรรมจริงๆ มีจำนวนน้อย แต่ถ้าหากนับลูกจ้างหรือคนที่เคยทำงานในภาคอุตสาหกรรมทั้งหมดจะมีจำนวนเยอะมาก และกลุ่มนี้จะมีผู้สมัครมากเป็นอันดับต้นๆ ทันที เช่นเดียวกับกลุ่ม 7 กลุ่มพนักงานหรือลูกจ้างของบุคคลซึ่งมิใช่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ ผู้ใช้แรงงาน ซึ่งมีผู้สมัครถึง 2,440 คน แต่ ข้อเท็จจริงก็กลับพบว่า มีผู้สมัครสว. ในกลุ่ม 12 จำนวนมากที่ไม่ได้เขียนประวัติอธิบายตัวเองว่าเคยเป็นเจ้าของกิจการอุตสาหกรรมมานานถึงสิบปี
หลังทราบผลการเลือกสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมด 200 คนแล้ว มีสว. จากกลุ่ม 12 อุตสาหกรรม ทั้งหมด 10 คน ซึ่งอย่างน้อยหกคนมาจากจังหวัดที่มี สส.จากพรรคภูมิใจไทย หรือจังหวัดกลุ่มบ้านใหญ่สีน้ำเงิน ประกอบด้วย จังหวัดเพชรบุรีหนึ่งคน , อุบลราชธานีหนึ่งคน, พระนครศรีอยุธยาหนึ่งคน, เลยสองคน และศรีสะเกษหนึ่งคน ดังนี้
ลำดับคะแนนของผู้ที่ได้รับเลือกเป็น สว.
ลำดับ | ชื่อ-สกุล | จังหวัด | คะแนน | ประวัติ |
1 | วราภัสร์ ไพพรรณรัตน์ | เพชรบุรี | 61 | – ประธานกรรมการบริษัท พรรณวรา อินเตอร์เเนชั่นแนล จำกัด (ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม) – นายกสมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทยจังหวัดเพชรบุรี |
2 | ธารนี ปรีดาสันติ์ | อุบลราชธานี | 57 | – อดีตรองนายกเทศมนตรีนครอุบลราชธานี – กรรมการบริหารหอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี – เจ้าของกิจการก่อสร้างและเจ้าของกิจการโรงงานผลิตแอสฟัลต์คอนกรีต |
3 | รจนา เพิ่มพูล | อยุธยา | 56 | ประธานกรรมการบริษัทในเครือไทยเอเซีย จำกัด (ขยะรีไซเคิล) |
4 | ปุณณภา จินดาพงษ์ | เลย | 55 | – อดีตสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเลย – รับเหมาก่อสร้าง และทำงานที่โรงโม่สุรัตน์การศิลา |
5 | พละวัต ตันศิริ | เชียงราย | 52 | ประธานกิตติมศักดิ์ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงราย |
6 | ณรงค์ จิตราช | เลย | 46 | พนักงานหน่วยงานเอกชน |
7 | วีรยุทธ สร้อยทอง | ฉะเชิงเทรา | 25 | – วิศวกรในอุตสาหกรรมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และรถไฟฟ้าเอนกประสงค์ – เคยเป็นนักนโยบายน้ำประปาดื่มได้ |
8 | ธนชัย แซ่จึง | ศรีสะเกษ | 25 | รับเหมาก่อสร้าง และขายผลิตภัณฑ์ปูนสำเร็จและดูดทราย |
9 | พงษ์ศักดิ์ เกิดวงศ์บัณฑิต | ภูเก็ต | 19 | – นายกกิตติมศักดิ์สมาคมยางพาราไทย – ประธานกิตติมศักดิ์สภาอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต |
10 | ตวงคุณ ทรงธรรมวัฒน์ | สมุทรสงคราม | 19 | – กรรมการผู้จัดการโรงงานแปรรูปอาหารทะเล – อดีตประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสงคราม |
โดยในจำนวน สว.ทั้งหมดมีอยู่หนึ่งคนที่คุณสมบัติและความเชี่ยวชาญตามที่ผู้สมัครเขียนอธิบายไว้ใน เอกสารสว.3 ในวันสมัคร อาจไม่มีคุณสมบัติที่สามารถสมัครในกลุ่มอุตสาหกรรมได้ คือ ณรงค์ จิตราช สว.ตัวแทนจังหวัดเลย ที่ระบุในเอกสารแนะนำตัว (สว.3) ว่ามีอาชีพ พนักงานหน่วยงานเอกชน ด้านปุณณภา จินดาพงษ์ ผู้สมัครจากจังหวัดเลยอีกคนก็เขียนว่าเคยทำงานโรงโม่สุรัตน์การศิลา โดยไม่ได้เป็นเจ้าของกิจการ และไม่ชัดเจนว่าทำงานอยู่ในภาคอุตสาหกรรมเป็นเวลานานเท่าใด
ก่อนที่คนเหล่านี้จะมาเป็นสว. หรือมาถึงการเลือกระดับประเทศได้ จะต้องได้รับคะแนนจากการ “เลือกกันเอง” ของผู้สมัครกลุ่มเดียวกันในระดับอำเภอและระดับจังหวัดมาก่อน ซึ่งระบบการเลือกสว. เช่นนี้ คาดหมายให้ผู้สมัครที่ทำอาชีพเดียวกันหรือใกล้เคียงกันมาก่อนสามารถออกเสียงเลือกคนที่เหมาะสมสำหรับกลุ่มนั้นๆ ได้ หรือหากใครไม่ได้ทำอาชีพที่เกี่ยวข้องมาก็จะไม่ได้รับเลือก แต่เมื่อพิจารณาข้อมูลของผู้สมัครสว. คนอื่นๆ ในกลุ่ม 12 จากสี่จังหวัดข้างต้น พบว่ามีผู้สมัครที่เข้าสู่การคัดเลือกในระดับจังหวัดอีกอย่างน้อย 33 คน อาจความเชี่ยวชาญไม่ตรงกับกลุ่มที่สมัคร ดังนี้
พนักงานเอกชนและโรงงาน 7 คน ลงสมัครกลุ่มอุตสาหกรรม
ชื่อ | จังหวัด | อาชีพและประสบการณ์ ในสว.3 |
ชัยณรงค์ ผาคำ | เพชรบุรี | ปลูกหญ้าเนเปียร์เข้าโรงงานอุตสาหกรรม |
พนมเกียรติ คำปิน | เพชรบุรี | พนักงานโรงงานไฟฟ้า |
นรา โพธิ์สิงห์ | ศรีสะเกษ | พนักงานเอกชน |
สมคิด พลซา | เลย | พนักงานโรงโม่ |
สุรีมาศ ฤกษ์นิธี | อยุธยา | พนักงานโรงงาน |
วิรัตน์ เกตุฐิน | อยุธยา | พนักงานบริษัทเอกชน, ซ่อมเครื่องจักรโรงงาน |
วันเพ็ญ มงคลคูณ | อยุธยา | พนักงานแปรรูปไม้ |
เจ้าของกิจการ 5 คน ลงสมัครกลุ่มอุตสาหกรรม
ชื่อ | จังหวัด | อาชีพและประสบการณ์ ในสว.3 |
วิชิต เหลืองดี | เพชรบุรี | เจ้าของร้านขายยางรถยนต์ |
สมลักษณ์ทกฤด อริยเกรียงไกร | เพชรบุรี | เจ้าของธุรกิจตัดเหล็ก อู่ซ่อมรถ |
สุทัศน์ ตันติพงษ์วัฒนา | เลย | เจ้าของกิจการ |
สวัสดิ์ กาวน | เลย | ธุรกิจเกษตร |
คณิตดา กรรณสูต | เลย | ธุรกิจเกษตร |
เกษตรกร เจ้าของโรงสีข้าว 9 คน ลงสมัครกลุ่มอุตสาหกรรม
ชื่อ | จังหวัด | อาชีพและประสบการณ์ ในสว.3 |
สังคม น้อยสงวน | ศรีสะเกษ | เกษตรกร |
สมหวัง เกษศิริ | ศรีสะเกษ | ประกอบกิจการโรงสี, ทำสวน, เลี้ยงสัตว์, อสม. |
สมจิตร บุญขาว | ศรีสะเกษ | ทำนา |
ลำไพ โยธี | ศรีสะเกษ | ทำสวน |
บุญรัตน์ บุญงาม | ศรีสะเกษ | เจ้าของกิจการโรงสี |
ฉลวย บัวลา | ศรีสะเกษ | เจ้าของกิจการโรงสี |
จำรัตน์ บังเอิญ | ศรีสะเกษ | เกษตรกร |
ขาว โยธี | ศรีสะเกษ | ทำนา |
ทองคำ วรรณชัย | เลย | เกษตรกร |
งานช่างและรับจ้างทั่วไป 6 คน ลงสมัครกลุ่มอุตสาหกรรม
ชื่อ | จังหวัด | อาชีพและประสบการณ์ ในสว.3 |
สนธยา ก่ออำไพ | ศรีสะเกษ | พนักงานขับรถส่งของ |
ปรีชา ตะวัน | ศรีสะเกษ | รับจ้าง, ทำนา |
สุนิสา ขันธชัย | อยุธยา | รับจ้าง |
เยาวลักษณ์ ดีประสิทธิ์ | อยุธยา | รับจ้างเย็บผ้า |
ยูซุบ บังกะยอ | อยุธยา | รับจ้าง |
โชคชัย สีนาคล้วน | อยุธยา | ช่างกลึงไม้ |
จากข้อมูลข้างต้นพบว่า ผู้สมัคร สว. ที่ผ่านเข้ารอบระดับจังหวัดทั้ง 33 คน ของจังหวัดเพชรบุรี สี่คน, จังหวัดศรีสะเกษ 17 คน, จังหวัดเลยห้าคน และจังหวัดอยุธยาเจ็ดคน อาจมีคุณสมบัติ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ที่ไม่ตรงกับกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น มีจำนวนผู้สมัคร สว. ถึง แปดคนที่ประกอบอาชีพเกษตรกร ขณะที่บางคนประกอบอาชีพเจ้าของกิจการขายยางรถยนต์ และอู่ซ่อมรถ บางคนทำอาชีพรับจ้างเย็บผ้าและเป็นพนักงานขับรถส่งของ ทั้งนี้อาชีพและประสบการณ์ของพวกเขาไม่มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มอุตสาหกรรมเลย
ผู้สมัครเหล่านี้แม้ว่าจะเคยทำหรือไม่เคยทำอาชีพในกลุ่มที่สมัครมาก่อน ก็จะมีสิทธิออกเสียงลงคะแนน ส่งผลให้ใครเข้ารอบหรือไม่เข้ารอบ หากภายหลังกกต. ตรวจสอบพบว่า ผู้สมัครคนใดไม่มีคุณสมบัติพอ ที่จะสมัครในกลุ่ม 12 ได้ก็ไม่สามารถยกเลิกการลงคะแนนที่เกิดขึ้นไปแล้วได้