มีคนเข้าชื่อออนไลน์แล้ว 9,733 คน (อัพเดทวันที่ 12 สิงหาคม 2567)
ข้อเรียกร้องการ “ปฏิรูปตำรวจ” มีมากอย่างต่อเนื่องยาวนานมากกว่า 10 ปี แต่แม้ในยุครัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จะเกิดการแก้ไขกฎหมายและแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจจำนวนมาก รวมทั้งกระบวนการปฏิรูปภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ก็ไม่ได้ทำให้เกิดรูปธรรมขึ้น โครงการสร้างการบริหารของสำนักงานตำรวจที่มีทั้งฝ่ายข้าราชการตำรวจ ฝ่ายการเมือง และฝ่ายอื่นๆ เข้าร่วมกัน กับกระบวนการแต่งตั้งโยกย้ายที่ไม่โปร่งใส ส่งผลให้วงการตำรวจเป็นพื้นที่มืดดำเต็มไปด้วยผลประโยชน์และทำให้ประชาชนรู้สึกไม่ไว้วางใจ กระทบต่อการอำนวยความยุติธรรมในสังคม
ในปี 2567 ตำรวจและอดีตตำรวจที่มีตำแหน่งระดับสูงหลายนาย เรียกได้ว่าเป็น “คนใน” ของวงการตำรวจมารวมกลุ่มกันเพื่อเสนอแนวคิดอยากปฏิรูปองค์กรของตัวเอง นำโดย พล.ต.อ.วินัย ทองสอง นายกสมาคมตำรวจ, พล.ต.อ.วุฑฒิชัย ศรีรัตนวุฑฒิ ประธานชมรมพนักงานสอบสวนตำรวจ, พล.ต.อ.ศักดา เตชะเกรียงไกร นายกสมาคมโรงเรียนนายร้อยตำรวจ, พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ ฯลฯ และได้ยกร่างแก้ไขพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติขึ้น โดยมุ่งจะใช้กลไกการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย รวบรวมรายชื่อประชาชนให้ได้ครบ 10,000 คน เพื่อเสนอร่างพ.ร.บ. ตำรวจ ฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา
เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2567 พ.ต.ท.ภูมิรพี ผลาภูมิ เป็นตัวแทนนำร่างแก้ไขพ.ร.บ.ตำรวจ ไปยื่นต่อประธานรัฐสภาเพื่อริเริ่มการเสนอกฎหมายแล้ว และกำลังอยู่ระหว่างกระบวนการรวบรวมรายชื่อให้ครบ ซึ่งตำรวจในราชการก็ใช้สิทธิในฐานะประชาชนเข้าชื่อเสนอกฎหมายฉบับนี้ได้ หรือประชาชนทั่วไปที่เห็นด้วยก็สามารถลงชื่อสนับสนุนได้ โดยสาระสำคัญของร่างแก้ไขพ.ร.บ.ตำรวจ มีดังนี้
- ให้ตำรวจเลือกตั้งประธานกรรมการข้าราชการตำรวจ โดยร่างฉบับนี้เสนอแก้ไขมาตรา 22 จากเดิมที่ให้นายกรัฐมนตรีจากฝ่ายการเมืองเป็นประธานกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เปลี่ยนเป็นให้ตำแหน่งมีมาจากอดีตตำรวจที่มีตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) มาจากการเลือกตั้งของนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรตั้งแต่ระดับรองผู้กำกับการขึ้นไป จากเดิมที่ให้รอง ผบ.ตร. ห้าคนเป็นกรรมการ ก็เปลี่ยนเป็น ให้จเรตํารวจแห่งชาติ และรองผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ ที่มีอาวุโสสูงสุดสองอันดับแรกรวมกันไม่เกินสามคนเป็นกรรมการ
- จัดตั้งสํานักงานคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตํารวจ จากเดิมที่มีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจอยู่แล้วในมาตรา 33 ก็ให้เพิ่มหน่วยงานที่เป็นสำนักงานขึ้นมามีเจ้าหน้าที่มาทําหน้าที่รับผิดชอบงานธุรการ บริหารงบประมาณ สนับสนุนด้านวิชาการและเทคโนโลยี
- เปลี่ยนที่มาของคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตํารวจ จากเดิมที่คณะกรรมการนี้มีที่มาจากฝ่ายอื่น โดยนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งจากบุคคลที่เสนอโดยผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมการตุลาการ คณะกรรมการอัยการ สภาทนายความ รวมทั้งอดีตตำรวจ และตัวแทนสภาองค์กรชุมชน เปลี่ยนเป็นวิธีการคัดเลือกแบบเดียวกันกับคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ ซึ่งมาจากการคัดเลือกของคณะกรรมการที่มีประธานศาลปกครองสูงสุดเป็นประธาน มีรองประธานศาลฎีกา มีผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ และเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน
- คืนแท่งพนักงานสอบสวน คือการปรับปรุงระบบการเลื่อนขั้นของตำรวจในตำแหน่งพนักงานสอบสวนให้เลื่อนไหลเจริญเติบโตในระบบงานสืบสวนสอบสวนไปจนถึงระดับผู้บังคับการ ในการประเมินพิจารณาเลื่อนตําแหน่งพนักงานสอบสวนตามวรรคหนึ่ง ให้นําปริมาณและคุณภาพของสํานวนการสอบสวนมาประกอบการพิจารณาด้วย
- คุ้มครองความเป็นอิสระของตำรวจ โดยเพิ่มมาตรา 150/1 ว่า ให้ ก.ตร. ออกมาตรการคุ้มครองข้าราชการตํารวจซึ่งปฏิบัติหน้าที่ เกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวนคดีอาญา ให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้โดยเคร่งครัด ปราศจากการแทรกแซงหรือ ครอบงําใดๆ
สามารถศึกษาร่างแก้ไขพ.ร.บ.ตำรวจเพิ่มเติมได้ตามไฟล์แนบ และสำหรับคนที่เห็นด้วยกับข้อเสนอการปฏิรูปนี้สามารถร่วมลงชื่อเพื่อเสนอร่างกฎหมายได้ทางช่องทางด้านล่าง
ไอลอว์สร้างเว็บไซต์ที่เป็นพื้นที่กลางสำหรับการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการออกกฎหมาย และมีความตั้งใจจะจัดสร้างพื้นที่อำนวยความสะดวกให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถใช้สิทธิเข้าชื่อเสนอกฎหมายได้โดยไม่มีอุปสรรคขัดขวางในทางเทคนิค ไอลอว์ไม่ได้เป็นผู้จัดทำร่างแก้ไขพ.ร.บ.ตำรวจ ฉบับนี้ และไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะผลักดันหรือสนับสนุนเนื้อหาในร่างฉบับนี้เป็นพิเศษ