สว. 67 ระดับประเทศ : ปรากฎการณ์ดาวค้างฟ้า สว.ที่คะแนนท่วมท้น นอนมาตั้งแต่ต้น

การเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในปี 2567 ใช้ระบบการแบ่งกลุ่มอาชีพ-เลือกกันเองในหมู่ผู้สมัคร สว. โดยแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ ระดับละ 2 รอบ ได้แก่ การเลือกกันเองภายในกลุ่ม และการแบ่งสายเลือกไขว้ข้ามกลุ่ม ซึ่งการเลือกกันเองของผู้สมัคร สว. ก็ได้เดินทางมาถึงการเลือกในรอบสุดท้าย คือ การเลือกในระดับประเทศ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2567 เพื่อให้ได้สว. ชุดต่อไป 200 คน และอีก 100 คน เป็นบัญชีรายชื่อสำรอง ผลปรากฎว่าในบรรดาว่าที่ สว. ชุดใหม่ป้ายแดงนั้นมีปรากฎการณ์สำคัญที่น่าสนใจหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น สว.สีน้ำเงิน, รวมกันเราอยู่ แยกหมู่เราเป็น สว. หรือปรากฎการณ์ผู้สมัครจำนวนมากจากจังหวัดสีน้ำเงินได้เพียง 0 คะแนน ให้ติดตาม

แต่นอกจากปรากฎการณ์เหล่านี้ยังพบว่า ในรอบเลือกกลุ่มอื่นในสายเดียวกัน หรือที่เรียกกันว่า “เลือกไขว้” ในระหว่างที่การนับคะแนนยังไม่เสร็จสิ้นครบถ้วนทุกใบ ก็ปรากฎการเรียงคะแนนนำอย่างน่าสนใจ โดยในแต่ละกลุ่มจะมีคะแนน “เท” ไปอยู่ที่ผู้สมัครเพียง 6 คน เท่ากับว่าเมื่อนับคะแนนไปได้ระยะหนึ่ง ก็พอคาดการณ์ได้แล้วว่าใครจะได้เป็น สว. 6 ใน 10 คนแรก ซึ่งมีคะแนนทิ้งห่างไว้อยู่แล้ว เปรียบเสมือน “ดาวค้างฟ้า” ที่นอนมาตั้งแต่ต้นจนจบชนิดไม่ต้องลุ้นอะไรเลย

เมื่อดูจากผลคะแนนการเลือก สว. ระดับประเทศ พบว่ามีแปดจังหวัดที่มีผู้สมัคร สว. ผ่านเข้าสู่รอบเลือกไขว้ได้มากเป็นพิเศษถึง 258 คน หรือ Top8 ลำดับที่ 1 ได้แก่ อยุธยา บุรีรัมย์ และสตูล ซึ่งมีผู้สมัครผ่านเข้าสู่รอบเลือกไขว้เท่ากันจังหวัดละ 38 คน ลำดับ 2 คือ อ่างทองและเลย มีผู้สมัคร สว. ผ่านเข้ารอบเลือกไขว้เท่ากันจังหวัดละ 37 คน ลำดับ 3 อำนาจเจริญ มีผู้ผ่านเข้าสู่รอบเลือกไขว้ 36 คน ตามมาด้วยยโสธร ที่มีผู้ผ่านเข้ารอบเลือกไขว้ 34 คน และสุรินทร์ มีผู้ผ่านเข้ารอบ 28 คน ซึ่งล้วนเป็นจังหวัดที่พรรคภูมิใจไทยครองพื้นที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) เกินครึ่งหรือทั้งจังหวัด

และผลสุดท้ายจำนวนของผู้ได้เป็น สว. จากทั้ง 8 จังหวัด รวมแล้วมี 52 คน หรือคิดเป็น 1 ใน 4 ของวุฒิสภาชุดใหม่ซึ่งมีจำนวน 200 คน

ผู้สมัครส่วนใหญ่จาก 8 จังหวัดนี้มีคะแนนในการเลือกระดับประเทศทั้งรอบเลือกกันเองและรอบเลือกไขว้ที่สูง “ทิ้งโด่ง” จากผู้สมัครคนอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด และเมื่อสืบค้นผลคะแนนย้อนไปจนถึงการเลือกระดับอำเภอและระดับจังหวัด ก็พบว่า มีจำนวนหนึ่งที่ “นอนมาตั้งแต่ต้น” คือ ได้คะแนนสูงลอยลำมาตลอดทุกรอบด้วย เราจึงขอเรียกสว. กลุ่มนี้ว่า “สว. ดาวค้างฟ้า”

เนื่องจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่ได้ประกาศผลคะแนนการเลือกอย่างเป็นทางการในทุกระดับ ข้อมูลคะแนนที่ผู้สมัครสว. แต่ละคนได้รับ จึงมาจากการสังเกตการณ์และบันทึกข้อมูลของผู้สังเกตการณ์เอง และเนื่องจากในบางพื้นที่ไม่ได้มีผู้สังเกตการณ์ติดตามตั้งแต่ระดับอำเภอและระดับจังหวัด หรือบางแห่งไม่อนุญาตให้ผู้สังเกตการณ์เข้าไปดูกระดานที่ติดผลคะแนนได้ จึงทำให้การวิเคราะห์ปรากฏการณ์ “สว.ดาวค้างฟ้า” มีข้อมูลอย่างจำกัดจากเพียงบางพื้นที่เท่านั้น

บุรีรัมย์ สตูล พบสว. ที่นอนมาตั้งแต่ระดับอำเภอ

ในการเลือก สว. ระดับอำเภอ ผู้สมัครทั้งหมดในแต่ละกลุ่มจะต้องทำการเลือกกันเองภายในกลุ่ม โดยจะถือว่าผู้สมัครที่ได้คะแนนสูงสุด 5 ลำดับแรกเป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้น และให้ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นทำการแบ่งสายเพื่อเลือกไขว้ข้ามกลุ่ม โดยผู้สมัครที่ได้รับคะแนนสูงสุด 3 ลำดับแรกจากการเลือกไขว้จะได้ผ่านเข้ารอบไปสู่การเลือก สว. ในระดับจังหวัด ซึ่งหลายอำเภอมีผู้สมัครจำนวนไม่มากและเป็นผู้สมัครอิสระผลการเลือกที่เห็นได้ชัด คือ คะแนนจะเกาะกลุ่มใกล้เคียงกันทุกคนทำให้ต้องใช้วิธีการจับสลากอยู่บ่อยครั้ง 

จากข้อมูลการสังเกตการณ์และเก็บคะแนนดิบจากการเลือกระดับอำเภอ ที่จังหวัดบุรีรัมย์และสตูล พบว่า “สว. ดาวค้างฟ้า” มีคะแนนนำโด่งมาตั้งแต่ระดับอำเภอทั้งในรอบเลือกกันเองและรอบเลือกไขว้ ดังนี้ 


1.    ที่อำเภอนางรอง พบ สว. ดาวค้างฟ้า 2 คน ได้แก่ อภิชาติ งามกมล จากกลุ่ม 1 และ ฉัตรวรรษ แสงเพชร จากกลุ่ม 2 โดยทั้งอภิชาติและฉัตรวรรษ ไม่ต้องเลือกกันเองเพราะมีผู้สมัครไม่ถึง 5 คนในกลุ่ม ส่วนในรอบเลือกไขว้พบว่าทั้ง 2 คนมีคะแนนเป็นลำดับที่หนึ่ง ของกลุ่ม โดยอภิชาติได้ 9 คะแนน ในขณะที่ผู้สมัครคนอื่นได้คะแนนเพียง 3 และ 1 คะแนน ในขณะเดียวกัน ฉัตรวรรษได้ 8 คะแนน ในขณะที่ผู้สมัครท่านอื่นได้เพียง 4 และ 2 คะแนน

2. ที่อำเภอหนองหงส์ พบ สว. ดาวค้างฟ้า 1 คน คือ จตุพร เรียงเงิน จากกลุ่ม 7 โดยจตุพรไม่ต้องเลือกกันเองเพราะมีผู้สมัครไม่ถึง 5 คนในกลุ่ม ส่วนในรอบเลือกไขว้ พบว่าจตุพรมีคะแนนนำมาเป็นลำดับที่หนึ่ง ด้วยคะแนน 5 คะแนน ในขณะที่ผู้สมัครคนอื่นทั้งห้าคนคะแนนเกาะกลุ่มกันอยู่ที่ 2 คะแนน 3 คน และ 1 คะแนน 1 คน

3.  ที่อำเภอเมืองจังหวัดสตูล พบ สว. ดาวค้างฟ้า 1 คน ได้แก่ อารีย์ บรรจงธุรการ จากกลุ่ม 18 โดยในรอบเลือกกันเอง อารีย์ ได้รับคะแนนในรอบเลือกกันเองเป็นลำดับสุดท้ายคือ 5 คะแนน ผู้สมัครคนอื่นมีคะแนนเกาะกลุ่มเท่ากันอยู่ที่ 6 คะแนนทั้งสี่คน ส่วนตอนเลือกไขว้คะแนนของอารีย์กลับพลิกมาเป็นลำดับที่หนึ่ง ได้ 7 คะแนน ขณะที่ผู้สมัครคนอื่นในกลุ่ม 18 ได้รับคะแนนเพียงแค่ 6 และ 5 คะแนน 

พบคะแนนโดดค้างฟ้า 9 คนจากบุรีรัมย์

ในการเลือก สว. ระดับจังหวัดจะมีความคล้ายกับการเลือกในระดับอำเภอ แต่แตกต่างกันตรงที่การเลือกในรอบไขว้จะให้ผู้ที่ได้คะแนนมากที่สุด 2 ลำดับแรกเป็นผู้ได้รับเลือกระดับจังหวัดและจะเข้าสู่การเลือกระดับประเทศต่อไป จากข้อมูลการสังเกตการณ์และเก็บคะแนนดิบเท่าที่ได้รับมาจากการเลือกในระดับจังหวัด พบข้อมูลสี่จังหวัดที่มี สว. ดาวค้างฟ้า เช่น จังหวัดบุรีรัมย์ สตูล พระนครศรีอยุธยา และอำนาจเจริญ 

โดยในการลงคะแนนรอบเลือกกันเอง มี สว. ดาวค้างฟ้า 11 คน ได้รับคะแนนเป็นลำดับที่หนึ่ง อีก 7 คนที่ได้รับคะแนนเป็นลำดับที่สองและในการลงคะแนนรอบเลือกไขว้ข้ามกลุ่มพบว่ามีว่าที่ สว. ดาวค้างฟ้า 17 คนได้คะแนนมาเป็นลำดับ 1 และอีก 8 คนได้คะแนนมาเป็นลำดับที่ 2 ตัวอย่างเช่น

กลุ่มที่ 1 จังหวัดบุรีรัมย์

ในรอบการเลือกกันเองมงคล สุระสัจจะ ได้ 34 คะแนน มาเป็นลำดับที่หนึ่ง ของกลุ่ม 1 โดยมีอภิชาติ งามกมล ได้ 26 คะแนน เป็นลำดับที่สอง  ในขณะที่ผลคะแนนในรอบการเลือกไขว้ข้ามกลุ่ม ทั้งอภิชาติและมงคลได้คะแนนมาเป็นลำดับที่หนึ่งเท่ากัน คือ 9 คะแนน

กลุ่มที่ 2 จังหวัดบุรีรัมย์

ในรอบเลือกกันเอง ฉัตรวรรษ แสงเพชร* ได้ 25 คะแนนมาเป็นลำดับที่สอง ในขณะที่เมื่อเข้าสู่รอบการไขว้ ฉัตรวรรษก็ได้ 12 คะแนน มาเป็นลำดับที่หนึ่ง

กลุ่มที่ 4 จังหวัดบุรีรัมย์

ในรอบเลือกกันเองประพันธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล ได้ 22 คะแนนมาเป็นลำดับที่หนึ่ง ขณะที่ลำดับสอง ฤชุ แก้วลาย ได้เพียง 9 คะแนนมาเป็นลำดับที่สอง และปรากฎว่าในรอบการเลือกไขว้ ลำดับของทั้งสองคนนี้ก็ยังไม่เปลี่ยน โดยประพนธ์ ได้ 12 คะแนนมาเป็นลำดับที่หนึ่ง และฤชุ ได้ 8 คะแนน มาเป็นลำดับที่สอง เช่นเดียวกันกับในรอบเลือกกันเอง

กลุ่มที่ 4 จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

บุญชอบ สระสมทรัพย์ ไม่มีข้อมูลในรอบเลือกกันเอง เมื่อเข้าสู่รอบไขว้ บุญชอบ ได้ 9 คะแนน มาเป็นลำดับที่หนึ่ง

กลุ่มที่ 5 จังหวัดบุรีรัมย์

ในรอบการเลือกกันเอง ปวีณา สาระรัมย์ ได้ 33 คะแนนมาเป็นลำดับที่หนึ่ง เช่นเดียวกับในรอบการเลือกไขว้ ปวีณาก็ยังได้ 10 คะแนนมาเป็นลำดับที่หนึ่งเหมือนเดิม

กลุ่มที่ 10 จังหวัดอำนาจเจริญ

ในรอบเลือกกันเอง ไม่มีข้อมูลของทั้งแดง กองมา และ สมพาน พละศักดิ์ แต่ในรอบเลือกไขว้ ทั้ง 2 คนมีคะแนนนำมาเป็นลำดับที่หนึ่ง โดยมีคะแนนเท่ากันคือ 8 คะแนน

กลุ่มที่ 13 จังหวัดบุรีรัมย์

พรเพิ่ม ทองศรี ได้คะแนนมาเป็นลำดับที่หนึ่ง ทั้งรอบเลือกกันเองและรอบเลือกไขว้ โดยได้ 5 คะแนนเท่ากัน 4 คนกับผู้สมัครท่านอื่น ในขณะที่รอบเลือกไขว้ พรเพิ่มได้  12 คะแนน

กลุ่มที่ 16 จังหวัดบุรีรัมย์

ปราณีต เกรัมย์ ได้คะแนนมาเป็นลำดับที่หนึ่งทั้งรอบเลือกกันเองและรอบเลือกไขว้ โดยได้ 25 คะแนนในรอบเลือกกันเอง และได้ 12 คะแนนในรอบเลือกไขว้

กลุ่มที่ 17 จังหวัดบุรีรัมย์

ชาญชัย ไชยพิศ ได้คะแนนมาเป็นลำดับที่หนึ่งในรอบเลือกกันเอง โดยได้ 35 คะแนน และประไม หอมเทียน ได้ 24 คะแนนมาเป็นลำดับที่สอง  โดยในรอบเลือกไขว้ ลำดับของทั้ง 2 คนนี้ก็ยังไม่เปลี่ยน โดยชาญชัยได้ 10 คะแนนเป็นลำดับที่หนึ่ง ส่วนประไม ได้ 5 คะแนน เป็นลำดับที่สอง

กลุ่มที่ 18 จังหวัดบุรีรัมย์

ศุภชัย กิตติภูติกุล* ได้คะแนนเป็นลำดับที่หนึ่งทั้งในรอบเลือกกันเองและรอบเลือกไขว้ โดยได้ 12 คะแนนในรอบเลือกกันเอง และ 14 คะแนนในรอบเลือกไขว้

กลุ่มที่ 18 จังหวัดสตูล

อารีย์ บรรจงธุรการ* ได้คะแนนนำมาเป็นลำดับที่หนึ่งในรอบการเลือกไขว้ ด้วยคะแนน 7 คะแนน ส่วนในรอบการเลือกกันเอง ไม่มีข้อมูล

กลุ่มที่ 20 จังหวัดบุรีรัมย์

วลีรักษ์ พัชระเมษาพัฒน์ ได้คะแนนมาเป็นลำดับที่หนึ่งทั้งรอบเลือกกันเองและรอบเลือกไขว้ โดยในรอบเลือกกันเองได้ 31 คะแนน ส่วนในรอบเลือกไขว้ ได้ 10 คะแนน 

กลุ่มที่ 20 จังหวัดสตูล

กอบ อัจนากิตติ ได้คะแนนมาเป็นลำดับที่หนึ่งในรอบเลือกไขว้ด้วยคะแนน 8 คะแนน ส่วนในรอบเลือกกันเองปรากฎว่ากอบได้คะแนนเป็นลำดับที่สอง ด้วยคะแนน 8 คะแนน

จากข้อมูลพบว่ามีผู้สมัครสว. 9 คน ที่ได้คะแนนสูงจนเป็นลำดับที่หนึ่งในระดับจังหวัด เป็น “ดาวค้างฟ้า” จนกระทั่งได้รับเลือกเป็น สว. ในท้ายที่สุด และทั้ง 9 คนนี้เป็นผู้สมัครที่ลงสมัครรับเลือกเป็น สว. ในจังหวัดบุรีรัมย์ซึ่งเป็นจังหวัดที่พรรคภูมิใจไทยได้รับเลือกให้เป็น สส. ทั้งจังหวัด โดย 9 คนนี้ ได้แก่ มงคล สุระสัจจะ, ฉัตรวรรษ แสงเพชร*, ประพันธ์ ตั้งศรีนพกุล, ปวีณา สาระรัมย์, พรเพิ่ม ทองศรี, ปราณีต เกรัมย์, ชาญชัย ไชยพิศ, ศุภชัย กิตติภูติกุล* และวลีรักษ์ พัชระเมธาพัฒน์ 

สำหรับผู้สมัครที่มีข้อมูลว่า ได้คะแนนในลักษณะเป็นดาวค้างฟ้าตั้งแต่ระดับอำเภอ ต่อเนื่องมาระดับจังหวัดจะทำเครื่องหมาย * ไว้หลังชื่อผู้สมัครด้วย 

ระดับประเทศ ดาวค้างฟ้าลอยลำ คะแนนนำติดท็อป6 เกือบทั้งหมด

วิธีการเลือก สว. ในระดับประเทศ ทั้งในรอบการเลือกกันเองและการแบ่งสายเลือกไขว้ข้ามกลุ่ม แตกต่างกับระดับอำเภอและระดับจังหวัดตรงที่คะแนนเสียงของผู้สมัครในการลงคะแนน คือ ออกเสียงได้คนละ 10 เสียง และจำนวนของผู้ได้รับเลือกขั้นต้น คือ 40 คน ก่อนเข้าสู่รอบไขว้ที่ออกเสียงได้คนละ 5 เสียงต่อหนึ่งกลุ่ม และสุดท้ายหาผู้ชนะได้เป็นสว. 10 คน 

จากการสังเกตการณ์การนับคะแนนในการลงคะแนนเลือก สว. ระดับประเทศ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2567 พบว่า ผลคะแนนมีปรากฎการณ์ “สว. ดาวค้างฟ้า” อยู่ในทุกกลุ่ม กล่าวคือ ในรอบเลือกกันเองจะมีผู้สมัครจากจังหวัด Top8 ที่คะแนนนำห่างผู้สมัครจากจังหวัดอื่นๆ อยู่มาก และในรอบการเลือกไขว้ข้ามกลุ่มจะพบว่า มีผู้สมัครจำนวน 6 คนของทุกกลุ่มที่มีคะแนนสูงนำเหนือผู้สมัครคนอื่นอย่างขาดลอย โดยเมื่อเทียบข้อมูลจากการเลือกในระดับอำเภอและระดับจังหวัด พบว่าผู้สมัครที่เป็น “ดาวค้างฟ้า” ในการเลือกระดับอำเภอและระดับจังหวัด ก็ยังคงได้รับคะแนนอย่างท่วมท้นในการเลือกระดับประเทศและได้รับเลือกเป็นสว.ในท้ายที่สุด 

จากข้อมูลผลการนับคะแนนการเลือก สว. ระดับประเทศ พบว่า สว. ดาวค้างฟ้า จากจังหวัด Top8  มีคะแนนเป็นลำดับที่ 1-6 ในรอบการเลือกกันเองระดับประเทศไม่น้อยกว่า 23 คน โดยมีเพียง 2 คน ที่ได้ลำดับที่ 7 คือ วลีรักษ์ พัชระเมษาพัฒน์จากกลุ่ม 20 และลำดับที่ 9 คือ อภิชาติ งามกมล* จากกลุ่ม 1 นอกจากนั้นได้คะแนนเกาะกันอยู่ในหกลำดับแรกทั้ง 23 คน ไม่เพียงแค่ในรอบการเลือกกันเองเท่านั้น ในรอบการเลือกไขว้ยังพบว่า สว. ดาวค้างฟ้า เหล่านี้ มีคะแนนเกาะกลุ่มกันไม่เกินลำดับที่หกเช่นเดียวกันกับรอบเลือกกันเอง โดย ว่าที่ สว. ดาวค้างฟ้า นอนมาตั้งแต่ต้น มีรายชื่อดังนี้ 

1.    มงคล สุระสัจจะ จากจังหวัด บุรีรัมย์ กลุ่มที่ 1 รอบเลือกกันเองได้ 34 คะแนน รอบเลือกไขว้ได้ 67 คะแนน ได้รับเลือกเป็นลำดับที่ 3

2.    ฉัตรวรรษ แสงเพชร* จากจังหวัด บุรีรัมย์ กลุ่มที่ 2 รอบเลือกกันเองได้ 30 คะแนน รอบเลือกไขว้ได้ 67 คะแนน ได้รับเลือกเป็นลำดับที่ 2

3.    สุริยา บาราสัน จากจังหวัด สตูล กลุ่มที่ 2 รอบเลือกกันเองได้ 28 คะแนน รอบเลือกไขว้ได้ 61 คะแนน ได้รับเลือกเป็นลำดับที่ 3

4.    สามารถ รังสรรค์ จากจังหวัด สตูล กลุ่มที่ 3 รอบเลือกกันเองได้ 31 คะแนน รอบเลือกไขว้ได้ 59 คะแนน ได้รับเลือกเป็นลำดับที่ 6

5.    ฤชุ แก้วลาย จากจังหวัด บุรีรัมย์ กลุ่มที่ 4 รอบเลือกกันเองได้ 29 คะแนน รอบเลือกไขว้ได้ 54 คะแนน ได้รับเลือกเป็นลำดับที่ 4

6.    ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล จากจังหวัด บุรีรัมย์ กลุ่มที่ 4 รอบเลือกกันเองได้ 34 คะแนน รอบเลือกไขว้ได้ 72 คะแนน ได้รับเลือกเป็นลำดับที่ 1

7.    บุญชอบ สระสมทรัพย์ จากจังหวัด พระนครศรีอยุธยา กลุ่มที่ 4 รอบเลือกกันเองได้ 29 คะแนน รอบเลือกไขว้ได้ 55 คะแนน ได้รับเลือกเป็นลำดับที่ 3

8.    ปวีณา สาระรัมย์ จากจังหวัด บุรีรัมย์ กลุ่มที่ 5 รอบเลือกกันเองได้ 33 คะแนน รอบเลือกไขว้ได้ 58 คะแนน ได้รับเลือกเป็นลำดับที่ 3

9.    จตุพร เรียงเงิน* จากจังหวัด บุรีรัมย์ กลุ่มที่ 7 รอบเลือกกันเองได้ 31 คะแนน รอบเลือกไขว้ได้ 55 คะแนน ได้รับเลือกเป็นลำดับที่ 5

10. ชินโชติ แสงสังข์ จากจังหวัด พระนครศรีอยุธยา กลุ่มที่ 7 รอบเลือกกันเองได้ 35 คะแนน รอบเลือกไขว้ได้ 77 คะแนน ได้รับเลือกเป็นลำดับที่ 1

11. เข็มรัตน์ สุรเมธีมาณพ จากจังหวัด พระนครศรีอยุธยา กลุ่มที่ 7 รอบเลือกกันเองได้ 32 คะแนน รอบเลือกไขว้ได้ 66 คะแนน ได้รับเลือกเป็นลำดับที่ 2

12. วรรษมนต์ คุณแสน* จากจังหวัด บุรีรัมย์ กลุ่มที่ 9 รอบเลือกกันเองได้ 27 คะแนน รอบเลือกไขว้ได้ 61 คะแนน ได้รับเลือกเป็นลำดับที่ 2

13. สมศรี อุรามา จากจังหวัด สตูล กลุ่มที่ 9 รอบเลือกกันเองได้ 27 คะแนน รอบเลือกไขว้ได้ 52 คะแนน ได้รับเลือกเป็นลำดับที่ 5

14. แดง กองมา จากจังหวัด อำนาจเจริญ กลุ่มที่ 10 รอบเลือกกันเองได้ 28 คะแนน รอบเลือกไขว้ได้ 63 คะแนน ได้รับเลือกเป็นลำดับที่ 4

15. สมพาน พละศักดิ์ จากจังหวัด อำนาจเจริญ กลุ่มที่ 10 รอบเลือกกันเองได้ 31 คะแนน รอบเลือกไขว้ได้ 61 คะแนน ได้รับเลือกเป็นลำดับที่ 5

16. สุวิทย์ ขาวดี จากจังหวัด สตูล กลุ่มที่ 11 รอบเลือกกันเองได้ 31 คะแนน รอบเลือกไขว้ได้ 51 คะแนน ได้รับเลือกเป็นลำดับที่ 6

17. พรเพิ่ม ทองศรี จากจังหวัด บุรีรัมย์ กลุ่มที่ 13 รอบเลือกกันเองได้ 24 คะแนน รอบเลือกไขว้ได้ 60 คะแนน ได้รับเลือกเป็นลำดับที่ 2

18. ปราณีต เกรัมย์ จากจังหวัด บุรีรัมย์ กลุ่มที่ 16 รอบเลือกกันเองได้ 31 คะแนน รอบเลือกไขว้ได้ 54 คะแนน ได้รับเลือกเป็นลำดับที่ 5

19. ชาญชัย ไชยพิศ จากจังหวัด บุรีรัมย์ กลุ่มที่ 17 รอบเลือกกันเองได้ 31 คะแนน รอบเลือกไขว้ได้ 56 คะแนน ได้รับเลือกเป็นลำดับที่ 3

20. ประไม หอมเทียน จากจังหวัด บุรีรัมย์ กลุ่มที่ 17 รอบเลือกกันเองได้ 29 คะแนน รอบเลือกไขว้ได้ 57 คะแนน ได้รับเลือกเป็นลำดับที่ 2

21. ศุภชัย กิตติภูติกุล* จากจังหวัด บุรีรัมย์ กลุ่มที่ 18 รอบเลือกกันเองได้ 29 คะแนน รอบเลือกไขว้ได้ 58 คะแนน ได้รับเลือกเป็นลำดับที่ 4

22. อารีย์ บรรจงธุรการ* จากจังหวัด สตูล กลุ่มที่ 18 รอบเลือกกันเองได้ 30 คะแนน รอบเลือกไขว้ได้ 57 คะแนน ได้รับเลือกเป็นลำดับที่ 5

23. กอบ อัจนากิตติ จากจังหวัด สตูล กลุ่มที่ 20 รอบเลือกกันเองได้ 31 คะแนน รอบเลือกไขว้ได้ 61 คะแนน ได้รับเลือกเป็นลำดับที่ 6

ในจำนวนนี้มีข้อมูลว่า มีหนึ่งคนที่ได้รับคะแนนสูงมาเป็นลำดับที่ 1 ตั้งแต่ แม้ว่าจะไม่มีข้อมูลในระดับอำเภอ แต่ในระดับจังหวัดทั้งในรอบเลือกกันเองและรอบเลือกไขว้ข้ามกลุ่ม และยังได้รับคะแนนสูงเป็นลำดับที่หนึ่งอีกครั้งในระดับประเทศทั้งในรอบเลือกกันเองและรอบเลือกไขว้ข้ามกลุ่มในการเลือกระดับประเทศ จนเรียกได้ว่าเป็น “ที่สุดแห่งดาวค้างฟ้า”  คือ ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สมัยที่อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข 

RELATED TAGS

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage