เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2565 เวลา 17.00 น. มีการชุมนุมบริเวณหน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ภายใต้ชื่อ “ยืนบอกเจ้าว่าเราโดนรังแก” เพื่อเรียกร้องให้ศาลปล่อยตัวชั่วคราวบุ้ง-เนติพร เสน่ห์สังคม ใบปอ-ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ และผู้ต้องขังทางการเมืองคนอื่นๆ อีกกว่า 30 ชีวิต ซึ่งถูกดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และอดอาหารประท้วงขณะถูกคุมขังในเรือนจำ การชุมนุมครั้งนี้ทำให้ เงินตา คำแสน หรือ มานี , เชน ชีวอบัญชา หรือ ขุนแผน และชินวัตร จันทร์กระจ่าง หรือ ไบรท์ ถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และข้อหาดูหมิ่นศาลตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 198
เชน ชีวอบัญชา สื่ออิสระเพจ “ขุนแผน แสนสะท้าน” และเงินตา คำแสน ถูกตำรวจจับกุมบริเวณหน้าศาลอาญา รัชดา เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2566 โดยเจ้าหน้าที่ได้แสดงหมายจับของศาลอาญากรุงเทพใต้ ซึ่งทั้งสองยืนยันว่าพวกเขาไม่เคยได้รับหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหามาก่อน โดยพวกเขาถูกหมายจับด้วยข้อหาสี่ข้อหา คือ ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ร่วมกันดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาคดี ร่วมกันหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต
ทั้งนี้ ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 198 หรือข้อหาดูหมิ่นศาลฯ และการใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต สำนักงานศาลยุติธรรมได้มอบหมายให้สุรศักดิ์ กิจชาลารัตน์ เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ ขณะที่ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ระพีพงษ์ ชัยยารัตน์ สมาชิกกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ เนื่องจากกล่าวหาว่าจำเลยได้ร้องเพลง “โชคดีที่มีคนไทย” ของวงไฟเย็น ซึ่งทั้งสองให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา แต่ต่อมาก่อนการเริ่มสืบพยานเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2567 ทั้งสองแถลงขอกลับคำให้การเดิมเป็นรับสารภาพ เนื่องจากมีความหวังว่าเมื่อมีคำสั่งพิพากษาจะได้รับการการลงโทษไว้ก่อน ศาลจึงให้งดการสืบสวนและมีคำสั่งให้สืบเสาะและพินิจพฤติการณ์เพิ่มเติมก่อนนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 18 กรกฎาคม 2567
ขณะเดียวกัน ไบร์ท-ชินวัตร จันทร์กระจ่าง ถูกจับกุมตัวเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2565 ข้อกล่าวหาต่อไบรท์มาจากการกล่าวปราศรัยในประเด็นที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงนามโอนย้ายทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไปเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ ซึ่งมีอานนท์ กลิ่นแก้ว ประธาน ศปปส. เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษเขาด้วยข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) และพ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ
ศาลมีคำสั่งรับฝากขังชินวัตรโดยที่เขาได้แถลงปฏิเสธจะเข้าร่วมกระบวนการพิจารณาคดี ต่อมาชินวัตรแถลงต่อศาลว่าการกระทำที่เป็นเหตุแห่งคดีนี้เขาเพียงมีเจตนาเรียกร้องสิทธิการปล่อยตัวชั่วคราวให้ผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 คือเนติพรและใบปอเท่านั้น ส่วนการโกนหัวต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์เขาก็เพียงต้องการแสดงออกว่ามีพสกนิกรถูกรังแก ส่วนที่ก่อนหน้านี้เขาเคยแถลงไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรมชินวัตรแถลงว่าเขาเพียงต้องการประท้วงต่อความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น เมื่อเนติพรและใบปอได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวแล้วเขาก็กลับมาเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมและจึงยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวในวันที่ 26 สิงหาคม 2565 ด้วยหลักทรัพย์ 150,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามกระทำการในลักษณะเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหาและห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร
ด้านเชนและเงินตาถูกฝากขังระหว่างชั้นสอบสวน เบื้องต้นศาลอาญากรุงเทพใต้ศาลปฏิเสธไม่ให้ประกันตัว ทนายความยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันตัวและศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ประกันตัวเชนและเงินตาในวันที่ 15 มีนาคม 2566 ด้วยเงินประกันคนละ 150,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์
พรุ่งนี้ (18 กรกฎาคม 2567) เวลา 9.00 ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดฟังคำพิพากษาคดีนี้ที่ห้อง 601 โดยประชาชนที่สนใจสามารถเข้ารับสังเกตการณ์และรับฟังคำพิพากษาได้ โดยสามารถตรวจสอบห้องพิจารณาคดีอีกครั้งในช่วงเช้าได้ทาง: https://cios.coj.go.th/tracking/index.html?page=form&host=crimsb