ทราบผลการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) อย่างไม่เป็นทางการกันเรียบร้อยแล้ว หลังจากกระบวนการเลือกระดับประเทศอย่างยาวนานเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2567 โดยได้เห็นรายชื่อผู้ได้รับเลือก 200 คน และรายชื่อของบัญชีสำรองอีก 100 คน ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ใช่คนที่มีชื่อเสียงหรือเป็นที่รู้จักกันในสังคมมาก่อน ทำให้การตรวจสอบประวัติหรือที่มาของพวกเขาต้องพิจารณาจากเอกสารสว.3 ที่ผู้สมัครแต่ละคนเขียนแนะนำประวัติของตัวเองไว้ไม่เกินคนละห้าบรรทัด
สำหรับคุณสมบัติของผู้สมัครตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งวุฒิสภา (พ.ร.ป.สว.ฯ) มาตรา 13(3) ผู้สมัครมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือทํางานในด้านที่สมัครไม่น้อยกว่าสิบปี โดยในการสมัครผู้สมัครไม่ต้องแสดงเอกสารับรองการทำงาน หรือเอกสารประกอบวิชาชีพ แต่ผู้สมัครมีหน้าที่ต้องหาบุคคลมารับรอง 1 คนเท่านั้น
ในทางปฏิบัติระหว่างการรับสมัครเจ้าหน้าที่จะไม่ได้ตรวจสอบรายละเอียดประสบการณ์การทำงานก่อนวันเลือกทำให้มีผู้สมัครจำนวนมาที่เข้าสู่กระบวนการออกเสียงเลือกกันเองที่ถูกตั้งคำถามว่า อาจไม่มีคุณสมบัติให้สมัครได้ หรือ “สมัครผิดกลุ่ม” เพราะไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญที่จะสมัครในกลุ่มอาชีพนั้นๆ ได้ หลังการเลือกเสร็จสิ้นแล้วคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ยังมีหน้าที่ที่จะต้องตรวจสอบคุณสมบัติย้อนหลัง ทั้งผู้สมัครที่ได้รับเลือกและไม่ได้รับเลือก
หากพบข้อเท็จจริงว่า ผู้ใดสมัครสว. โดยรู้อยู่แล้วว่าตัวเองไม่มีสิทธิสมัครได้ แม้จะไม่ได้รับเลือกแต่เมื่อตรวจสอบพบก็อาจถูกดำเนินคดีตามพ.ร.ป.สว.ฯ มาตรา 74 ซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 – 200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้น 20 ปี หากผู้ที่ได้รับเลือกขาดคุณสมบัติก็ต้องถูกตัดสิทธิและไม่ได้รับการรับรองให้ดำรงตำแหน่ง พร้อมถูกดำเนินคดีได้เช่นกัน
ต่อไปนี้ คือ ตัวอย่างของผู้ได้รับเลือกเป็นสว. ที่เมื่อพิจารณาจากเอกสารสว.3 ที่ผู้สมัครเขียนขึ้นเองแล้ว อาจจะไม่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ หรือประสบการณ์ ที่สามารถสมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็นสว. ที่เป็นตัวแทนของอาชีพนั้นๆ ได้
ค้าขายขนาดเล็ก แต่สมัครกลุ่มกิจการขนาดใหญ่
ในกลุ่ม 10 ผู้ประกอบกิจการอื่นนอกจากกิจการตาม (9) มีผู้ที่ผ่านการคัดเลือกสองคนจากจังหวัดอำนาจเจริญทั้งคู่ คือ สมพาน พละศักดิ์ มีอาชีพค้าขายก๋วยเตี๋ยวไก่มะระ และแดง กองมา มีอาชีพขายหมูและร่วมพัฒนาตลาด ตามที่ปรากฏในเอกสารสว.3 ของทั้งสองคน

การแบ่งกลุ่มอาชีพตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งวุฒิสภา (พ.ร.ป.สว.ฯ) แบ่งดังนี้
(๙) กลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อมตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น หรืออื่นๆในทํานองเดียวกัน
(๑๐) กลุ่มผ้ประกอบกิจการอื่นนอกจากกิจการตาม (๙)
ในกลุ่มที่ 9 เรียกกันสั้นๆว่า กลุ่ม SMEs เป็นที่เข้าใจกันว่า เป็นกิจการค้าขายหรือให้บริการขนาดไม่ใหญ่มาก ซึ่งมีคำนิยามอยู่ตามกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ.2562 โดยกฎกระทรวงกำหนดว่า วิสาหกิจขนาดย่อม ได้แก่ กิจการผลิตสินค้าที่มีจำนวนการจ้างงานไม่เกิน 50 คน หรือมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 100 ล้านบาท กิจการให้บริการ ค้าส่ง ค้าปลีก ที่มีจำนวนการจ้างงานไม่เกิน 30 คน หรือมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 50 ล้านบาท วิสาหกิจขนาดกลาง ได้แก่ กิจการผลิตสินค้าที่มีจำนวนการจ้างงาน 50-200 คน หรือมีรายได้ต่อปี 100-500 ล้านบาท กิจการให้บริการ ค้าส่ง ค้าปลีก ที่มีจำนวนการจ้างงาน 30-100 คน หรือมีรายได้ต่อปี 50-300 ล้านบาท สำหรับกิจการที่ไม่มีลูกจ้างเลยมีเจ้าของทำงานของตัวเองก็ยังอยู่ในขอบข่ายจำนวนการจ้างงาน “ไม่เกิน” 50 คน และถือเป็น SMEs
ดังนั้นผู้ที่จะสมัครในกลุ่มที่ 10 ได้ จึงต้องเป็นผู้ประกอบกิจการที่ “ใหญ่” กว่า SMEs อันได้แก่ กิจการผลิตสินค้าที่มีจำนวนการจ้างงานเกิน 200 คน หรือมีรายได้ต่อปีเกิน 500 ล้านบาท กิจการให้บริการ ค้าส่ง ค้าปลีก ที่มีจำนวนการจ้างงานเกิน 100 คน หรือมีรายได้ต่อปีเกิน 300 ล้านบาท
การขายก๋วยเตี๋ยวไก่มะระ และการขายหมูในตลาด โดยปกติแล้วไม่ได้มีการจ้างงานมากขนาดเกิน 200 คน และไม่ได้มีรายได้ต่อปีเกิน 300 ล้านบาท แต่อย่างไรก็ดี สมพาน พละศักดิ์ และแดง กองมา อาจมีอาชีพหรือกิจการอื่น หรือทำกิจการนี้ในลักษณะพิเศษที่เข้าข่ายกิจการที่ใหญ่กว่า SMEs ก็ได้ จึงมาสมัครเป็นสว. ในกลุ่ม 10 ซึ่งกกต. มีหน้าที่ตรวจสอบและทั้งสองมีหน้าที่ต้องชี้แจงแสดงพยานหลักฐานว่า เป็นผู้ประกอบกิจการที่เข้าข่ายสมัครในกลุ่มที่ 10 ได้
ลูกจ้างมาสมัครในกลุ่มเจ้าของโรงงานอุตสาหกรรม
ในกลุ่ม 12 “กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม หรืออื่น ๆ ในทํานองเดียวกัน” ไม่ได้มีคำนิยามของกลุ่มนี้ที่ชัดเจนในทางกฎหมาย แต่ก็เข้าใจได้ว่าต้องเป็นระดับเจ้าของกิจการด้านอุตสาหกรรมไม่ใช่เพียงแค่พนักงานในโรงงานอุตสาหกรรม หนึ่งในผู้ได้รับเลือก คือ ณรงค์ จิตราช จากจังหวัดเลย เขียนเอกสารสว.3 เพียงว่า มีอาชีพพนักงานหน่วยงานเอกชน ส่วนประวัติการทำงานไม่ได้อธิบายให้เข้าใจได้ว่ามีประสบการณ์ หรือความรู้ความเชี่ยวชาญอย่างไรที่จะสมัครในกลุ่มอาชีพนี้

ผู้สมัครกลุ่ม 12 จากจังหวัดเลยอีกหนึ่งคนก็ได้รับเลือกเช่นกัน คือ ปุณณภา จินดาพงษ์ ซึ่งเขียนเอกสารส.3ว่า เคยทำงานบริษัทสุรัตน์การสุรา เป็นตัวแทนขายสุรา และต่อมาได้ไปทำงานโรงโม่สุรัตน์การค้า ผลิตหิน ขายหิน ซึ่งก็ยังไม่ได้ชัดเจนว่าเป็นผู้ประกอบกิจการอุตสาหกรรมตามความหมายที่จะสมัครในกลุ่มนี้ได้หรือไม่ แม้ก่อนหน้านี้กกต. ไม่เคยกำหนดนิยามที่ชัดเจนมาก่อน แต่ในการตรวจสอบคุณสมบัติ กกต. ก็ต้องมีคำอธิบายที่ชัดเจนว่า พนักงานที่เคยทำงานในโรงงานนั้นสมัครกลุ่ม 12 ได้หรือไม่
ด้านธนชัย แซ่จึง ซึ่งเป็นผู้ได้รับเลือกจากจังหวัดศรีสะเกษ เขียนอาชีพของตัวเองว่า รับเหมาก่อสร้าง ทำท่าทจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปูนสำเร็จ ดูดทราย และอื่นๆ ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่าเป็นการประกอบอุตสาหกรรมหรือไม่ เพียงการแนะนำตัวอาจตีความได้ว่าเป็นกิจการค้าขายหรือบริการ ซึ่งควรสมัครในกลุ่ม 9 หรือกลุ่ม 10 มากกว่ากลุ่ม 12
สำหรับความไม่ชัดเจนในนิยามของกลุ่ม 12 ทำให้มีผู้สมัครอีกหลายคนที่เข้ารอบระดับประเทศ แม้จะไม่ได้รับเลือกแต่จากเอกสารสว.3 ก็ตั้งข้อสงสัยได้ว่าอาจขาดคุณสมบัติที่จะสมัครในกลุ่มนี้ เช่น จิดาภา หนูยศ จากจังหวัดนครศรีธรรมราช เขียนอาชีพว่า ค้าขาย และเขียนประวัติว่า เป็นอาสาสมัครสาธารณสุข อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน ผู้นำกลุ่มวิสหากิจชุมชน (กลุ่มเครื่องแกง) หรือกรณีของจิราพร คงชุม จากจังหวัดสตูล เขียนประวัติว่า จัดตั้งกลุ่มแปรรูปน้ำยางและเศษยางเพื่อเอามาทำยางเครป หรือกรณีของวัชระ มากระจัน จากจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเขียนอาชีพตัวเองว่า เจ้าของกิจการปั๊มน้ำมัน และเขียนประวัติการทำงานเป็นผู้จัดการปั๊มน้ำมันมาจนกระทั่งปี 2566 ก็เป็นเจ้าของปั๊มน้ำมัน ซึ่งควรสมัครในกลุ่ม 7 มากกว่ากลุ่ม 12
ผู้อำนวยการโรงเรียน สมัครในกลุ่ม “ประชาสังคม”
ในกลุ่ม 17 “กลุ่มประชาสังคม กลุ่มองค์กรสาธารณประโยชน์ หรืออื่นๆ ในทํานองเดียวกัน” มีผู้หนึ่งที่ผ่านการคัดเลือก คือ ชาญชัย ไชยพิศ จากจังหวัดบุรีรัมย์ ที่เขียนแนะนำตัวในเอกสารสว.3 ว่า เป็นข้าราชการบำนาญ และเป็นอดีตผู้อำนวยการโรงเรียน ซึ่งเป็นตำแหน่งงานราชการไม่ใช่งานภาคประชาสังคม

แม้ชาญชัยจะแนะนำตัวด้วยว่า เป็นนายกสมาคมผู้บริหารและครูโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัด (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นตำแหน่งงานเอกชน แต่ก็ทำอยู่เพียงสามปีระหว่างปี 2564-2566 จึงยังไม่ปรากฏว่ามีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ หรือทำงานในด้านที่สมัครอย่างน้อยสิบปีหรือไม่ ซึ่งเป็นคุณสมบัติของผู้สมัครสว. ตามมาตรา 13(3)
โดยกฎหมายไทยไม่เคยมีคำนิยามของ “กลุ่มประชาสังคม” อย่างชัดเจน แต่องค์การสหประชาชาติเคยให้นิยามของ Civil Society Organisation (CSOs) ไว้ว่า A civil society organization (CSO) or non-governmental organizaiton (NGO) is any non-profit, voluntary citizens’ group which is organized on a local, national or international level. Task-oriented and driven by people with a common interest, civil society organisations (CSOs) perform a variety of services and humanitarian functions, bring citizens’ concerns to Governments, monitor policies, and encourage political participation at the community level.
แปลสรุปได้ว่า องค์กรภาคประชาสังคม คือ กลุ่ม “พลเมือง” ที่ไม่แสวงหากำไร จัดตั้งในระดับท้องถิ่นหรือระดับชาติ หรือระดับนานาชาติ องค์กรภาคประชาสังคมทำงานบริการและงานด้านมนุษยธรรมที่หลากลาย เช่น นำความต้องการของประชาชนไปสู่รัฐบาล, จับตานโยบาย, สร้างการมีส่วนร่วมทางการเมืองในระดับชุมชน ฯลฯ ซึ่งตำแหน่งการทำงานในฐานะข้าราชการครูไม่เข้าลักษณะของ CSOs ตามนิยามนี้
หากดูประวัติของชาญชัยตามเอกสารสว.3 ก็ไม่มีคุณสมบัติที่จะสมัครสว.ในกลุ่ม 17 ได้ อย่างไรก็ดี ชาญชัย อาจจะมีกิจกรรมหรือมีงานอื่นที่เข้าร่วมอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาครบสิบปี จนมีความรู้ความเชี่ยวชาญในฐานะภาคประชาสังคม แต่ไม่ได้เขียนอธิบายไว้ก็ได้ ซึ่งกกต. ควรตรวจสอบให้แน่ชัดว่า ผู้ได้รับเลือกคนนี้มีคุณสมบัติครบถ้วน สามารถเป็นสว.ในกลุ่มประชาสังคมได้ และชาญชัยมีหน้าที่ต้องแสดงหลักฐานให้ปรากฏว่าตัวเองมีคุณสมบัติ มีความรู้ความเชี่ยวชาญหรือประสบการณ์ทำงานอย่างไร หากแสดงหลักฐานไม่ได้แล้วก็จะต้องถูกตัดสิทธิ
นอกจากชาญชัยแล้ว ในกลุ่ม 17 ภาคประชาสังคมยังมีผู้สมัครอีกหลายคนที่เขียนแนะนำตัวในเอกสารสว.3 ไม่ได้ครบองค์ประกอบตามคุณสมบัติที่จะสมัครสว. ในกลุ่มนี้ได้ หรือเขียนไม่เพียงพอให้ประชาชนเข้าใจได้ เช่น คนที่เขียนอธิบายว่าเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) หรือเป็นผู้ใหญ่บ้าน หรือไม่เขียนแนะนำตัวเลย
กลุ่มสื่อสารมวลชน มีประสบการณ์งานเสียงตามสายและพิธีกรงานแต่ง
ในกลุ่ม 18 “กลุ่มสื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม หรืออื่น ๆ ในทํานองเดียวกัน” ไม่มีการให้นิยามงานด้านสื่อสารมวลชนไว้ชัดเจน แต่อย่างน้อยผู้สมัครก็ต้องทำงานในด้านนี้เป็นอาชีพ ทำให้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์ต่อเนื่องกันเป็นเวลา 10 ปี จึงจะมีคุณสมบัติสมัครเข้ารับการคัดเลือกในกลุ่มนี้ได้

จากผลการคัดเลือกพบว่า คอดียะห์ ทรงงาม จากจังหวัดอ่างทอง เขียนแนะนำตัวในเอกสารสว.3 ว่า ประชาสัมพันธ์เสียงตามสายหมู่บ้าน เป็นประชาสัมพันธ์อำเภอไชโย อารีย์ บรรจงธุรการ จากจังหวัดสตูล เขียนแนะนำตัวในเอกสารสว.3 ว่า เป็นพยาบาลนานถึง 40 ปี เป็นวิทยากรด้านแม่และเด็ก เป็นพิธีกรงานแต่งและงานเลี้ยงทั่วไป เป็นวิทยากรพิเศษให้ความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งทั้งสองคนได้รับเลือกเป็นสว. ทั้งที่ข้อมูลประวัติการทำงานที่บรรยายมาไม่น่าเข้าข่ายอาชีพสื่อมวลชน
นอกจากนี้ในกลุ่มสื่อมวลชนยังพบผู้สมัครที่เข้ารอบระดับประเทศอีกจำนวนมาก ที่เขียนประวัติการทำงานในเอกสารสว.3 ไม่ครอบคลุมที่จะทำให้มีคุณสมบัติสมัครในกลุ่มนี้ได้ เช่น ปรีดา จันทร์อุดร จากจังหวัดสตูล เขียนว่าอาชีพทำสวน มีประสบการณ์งานเสียงตามสาย พิธีกรทางศาสนา ไวยาวัจกรวัด หรือผจงจิตต์ อินทราชา จากจังหวัดบุรีรัมย์ เขียนอาชีพว่า ข้าราชการบำนาญ เคยเป็นวิทยากรลูกเสือชาวบ้าน วิทยากรงานต่างๆ พิธีกรในงานราชการ ซึ่งบทบาทหน้าที่ในการถือไมโครโฟนในกิจกรรมต่างๆ ไม่จำเป็นต้องเป็นอาชีพสื่อสารมวลชน
ทำนา ทำสวน เกษตรกรรมสลับกลุ่ม
ในกลุ่ม 5 และกลุ่ม 6 คือ กลุ่มของผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งหลายคนทำเกษตรหลายอย่างไปพร้อมกันได้ แต่กฎหมายก็ได้แยกออกเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่ม 5 กลุ่มอาชีพทํานา ปลูกพืชล้มลุก หรืออื่นๆ ในทํานองเดียวกัน และ กลุ่ม 6 กลุ่มอาชีพทําสวน ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง หรืออื่นๆ ในทํานองเดียวกัน สำหรับคนที่ทำกิจการหลายอย่าง เช่น ทำนาข้าวด้วย เลี้ยงสัตว์ไปด้วย ก็สามารถสมัครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งก็ได้ แต่เมื่อสมัครในกลุ่มใดแล้วก็ควรจะต้องเขียนแนะนำตัวและประวัติการทำงานให้เข้ากับหลักเกณฑ์ของกลุ่มนั้นๆ
ในกลุ่ม 5 มีจิรวุธ บุญรินทร์ จากจังหวัดสตูล เขียนอาชีพว่า ทำสวน และแนะนำประวัติการทำงานว่า ทำสวนมาตั้งแต่ปี 2537 และยังมีสมพร ชำนาญดง จากจังหวัดสตูลเช่นกัน ที่เขียนประวัติว่า ปลูกผักกินเองและจำหน่ายเป็นหลัก
ในกลุ่ม 6 มีคำพอง พิลาทอง จากจังหวัดอำนาจเจริญ เขียนอาชีพว่าทำสวน แต่เขียนประวัติการทำงานว่า ปลูกอ้อยตั้งแต่ปี 2555 และมีวิชิต สุขกำเนิด จากจังหวัดยโสธรที่เขียนประวัติการทำงานว่า เป็นผู้บริหารท้องถิ่น และเป็นผู้ใหญ่บ้าน ไม่ชัดเจนว่ามีประสบการณ์ทำสวน ประมง หรือเลี้ยงสัตว์ด้วยหรือไม่
