พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ออกมาใช้ควบคุมการชุมนุมใน “ที่สาธารณะ” โดยกำหนดให้ผู้จัดการชุมนุม และผู้เข้าร่วมการชุมนุมมีหน้าที่เฉพาะที่สำคัญ คือ กำหนดให้ผู้จัดการชุมนุมต้องแจ้งการชุมนุมล่วงหน้าต่อตำรวจในท้องที่ เปิดช่องให้ตำรวจเข้ามาแทรกแซงและกำหนดเงื่อนไขของกิจกรรมได้ แต่กฎหมายนี้ไม่ได้ใช้กับการรวมตัวกันของคนทุกประเภทกิจกรรม และทุกสถานที่เสมอไป
ข้อยกเว้นหลักๆ ของกิจกรรมที่ไม่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ อยู่ในมาตรา 3 ได้แก่
- การชุมนุมเนื่องในงานพระราชพิธีและงานรัฐพิธี
- การชุมนุมเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนาหรือกิจกรรมตามประเพณีหรือตามวัฒนธรรมแห่งท้องถิ่น
- การชุมนุมเพื่อจัดแสดงมหรสพ กีฬา ส่งเสริมการท่องเที่ยว หรือกิจกรรมอื่นเพื่อประโยชน์ทางการค้าของผู้จัดการชุมนุมนั้น
- การชุมนุมภายในสถานศึกษา
- การชุมนุมหรือการประชุมตามกฎหมาย หรือการประชุมสัมมนาทางวิชาการ
- การชุมนุมสาธารณะในการหาเสียงเลือกตั้ง
นอกจากนั้นกิจกรรมใดที่จะเข้าข่ายของกฎหมายนี้ ยังต้องดูในบทนิยามด้วย ซึ่งมาตรา 4 กำหนดว่า
“การชุมนุมสาธารณะ” หมายความว่า การชุมนุมของบุคคลในที่สาธารณะเพื่อเรียกร้อง สนับสนุนคัดค้าน หรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยแสดงออกต่อประชาชนทั่วไป และบุคคลอื่นสามารถร่วมการชุมนุมนั้นได้ ไม่ว่าการชุมนุมนั้นจะมีการเดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายด้วยหรือไม่
“ที่สาธารณะ” หมายความว่า ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินที่ใช้เพื่อสาธารณะประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันหรือที่หน่วยงานของรัฐมิได้เป็นเจ้าของแต่เป็นผู้ครอบครองหรือใช้ประโยชน์ บรรดาซึ่งประชาชนมีความชอบธรรมที่จะเข้าไปได้ รวมตลอดทั้งทางหลวงและทางสาธารณะ
กิจกรรมที่จะเข้านิยามว่าเป็น “การชุมนุมสาธารณะ” มีองค์ประกอบ คือ จะต้องเป็นการชุมนุมกัน
- ใน “ที่สาธารณะ”
- เพื่อเรียกร้อง สนับสนุน คัดค้าน หรือแสดงความคิดเห็นเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
- ต้องแสดงออกต่อประชาชนทั่วไป
- บุคคลอื่นสามารถร่วมการชุมนุมได้
ถ้าหากขาดองค์ประกอบข้อใดข้อหนึ่งก็ไม่ใช่ “การชุมนุมสาธารณะ” และไม่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เช่น การจัดกิจกรรมแม้จะมีคนจำนวนมากมาเดินขบวนร่วมกัน แต่ถ้าหากเดินในสถานที่ปิด เช่น หอประชุม ไม่ใช่ที่สาธารณะก็ไม่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ หรือหากเป็นการจัดกิจกรรมร่วมกันของคนที่นัดหมายกันมา 4-5 คน ไม่ให้คนอื่นเข้าร่วม แม้จะทำในที่สาธารณะก็ไม่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ
เมื่อพิจารณานิยามของคำว่า “ที่สาธารณะ” หมายถึง ที่ดินของรัฐที่ใช้เพื่อสาธารณะประโยชน์ ซึ่งรวมทั้งถนน สวนสาธารณะ สถานที่ราชการ ฯลฯ และรวมทั้งที่ดินที่หน่วยงานรัฐไม่ได้เป็นเจ้าของโดยตรงแต่เป็นผู้ครอบครองใช้ประโยชน์อยู่ โดยประชาชนสามารถเข้าไปได้
ดังนั้น “ที่เอกชน” หรือที่ดินของเอกชนจึงไม่มีลักษณะเป็น “ที่สาธารณะ” ถ้าหากจัดกิจกรรมรวมตัวกันแสดงออกในที่ดินของเอกชน เช่น บ้าน สำนักงาน โรงงาน สถานประกอบการ ไร่ นา สวน หรือที่ดินรกร้างว่างเปล่าที่เอกชนเป็นเจ้าของ จะไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ รวมทั้งสถานที่เอกชนบางแห่งที่มีผู้คนใช้ประโยชน์ร่วมกัน เช่น ห้างสรรพสินค้า สนามกีฬาของเอกชน พื้นที่กลางของหมู่บ้าน หรือคอนโดมิเนียม ก็ไม่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ
อย่างไรก็ดี ที่ดินของเอกชนอยู่ในการดูแลของเจ้าของที่ดินนั้นๆ และเจ้าของที่ดินนั้นๆ เป็นผู้มีสิทธิที่จะอนุญาตให้บุคคลใดใช้ทำกิจกรรมใดหรือไม่ก็ได้ ถ้าหากทำกิจกรรมในสถานที่ที่เจ้าของที่ดินไม่อนุญาต ก็อาจเป็นความผิดฐานบุกรุกได้