4 กรกฎาคม 2567 เวลา 13.00 น. คณะกรรมาธิการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน (กมธ.พัฒนาการเมืองฯ) สภาผู้แทนราษฎร มีวาระประชุมถอดบทเรียนประสบการณ์การจัดการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในระบบ “เลือกกันเอง” โดยเชิญผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รวมถึงภาคประชาชนและสื่อมวลชน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการสังเกตการณ์ ติดตามการเลือก สว. 2567 ร่วมพูดคุยและสอบถามถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในกระบวนการเลือก สว.
อย่างไรก็ตาม ทางสำนักงาน กกต. ไม่ได้ส่งตัวแทนมาร่วมประชุมกมธ. การประชุมในวันนี้จึงดำเนินไปโดยไร้คำชี้แจงถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในกระบวนการเลือก สว.
iLaw ได้ฝากกมธ.พัฒนาการเมืองฯ ติดตามการทำงานหลังจากการเลือกสว. ระดับประเทศจบลง และฝากส่งข้อเรียกร้องไปถึงกกต. ดังนี้
1) กกต. ต้องเปิดเผยคะแนนดิบของผู้สมัครในการเลือกทุกระดับ รวมถึงจำนวนบัตรดีและบัตรเสียของการเลือกแต่ละระดับ
2) กกต. ต้องเปิดเผยบันทึกภาพเคลื่อนไหวและเสียงที่ถูกบันทึกจากการเลือกทุกระดับ ซึ่งเป็นหน้าที่และอำนาจของผู้อำนวยการการเลือกทุกระดับต้องบันทึกเก็บไว้เป็นหลักฐานอยู่แล้วตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 มาตรา 28 (8) มาตรา 29 (6) และมาตรา 30 (6) เพื่อให้ประชาชนที่ไม่มีโอกาสในการเลือก สว. โดยตรง สามารถมีส่วนร่วมตรวจสอบกระบวนการเลือก สว. ที่ผ่านไปแล้วได้
3) กกต. ต้องคงข้อมูลแนะนำตัวของผู้สมัคร (สว.3) ของผู้สมัครทุกรายในการเลือกทุกระดับไว้บนเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน SmartVote ของกกต. เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและตรวจสอบข้อมูลผู้สมัคร รวมถึงผู้ที่ได้เป็น 200 สว. และบัญชีรายชื่อสำรองอีก 100 คนได้ แม้กระบวนการเลือก สว. จะผ่านไปแล้ว
4) กกต. ต้องเปิดเผยรายละเอียดการพิจารณาและข้อวินิจฉัยเรื่องร้องเรียนทั้งหมด รวมถึงประมวลข้อร้องเรียนเหล่านั้นให้สาธารณชนทราบ ว่ามีเรื่องร้องเรียนแต่ละประเภทจำนวนเท่าใด และแต่ละเรื่องร้องเรียนยุติอย่างไร
ทางกมธ.พัฒนาการเมืองฯ รับปากว่าจะนำเสียงสะท้อนและข้อเรียกร้องของทุกภาคส่วนไปติดตามกับกกต. ต่อไป