การเลือก สว. ในระดับประเทศ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2567 มีผู้ผ่านเข้ารอบ 3,000 คน สำหรับการเลือก สว. ในระดับประเทศยังคงใช้รูปแบบเดียวกับการเลือก สว. ในระดับอำเภอ และระดับจังหวัด คือ มีการเลือกสองขั้นตอน ประกอบด้วย ขั้นตอนแรกคือการเลือกกันเองในกลุ่มอาชีพ และขั้นตอนที่สองคือการเลือกไขว้ข้ามกลุ่ม ทั้งนี้การเลือก สว.ระดับประเทศ จะแตกต่างตรงที่สิทธิในการลงคะแนนของผู้สมัครแต่ละคนมีมากขึ้น โดยผู้สมัครหนึ่งคนมีสิทธิในการลงคะแนนทั้งสองรอบรวมกันสูงสุดถึง 30 คะแนน
เลือกกันเองในกลุ่ม 345 คน ศูนย์คะแนน “ระนอง-อุทัยธานี-ปราจีนบุรี-เพชรบุรี” พลีชีพ
การเลือก สว.ระดับประเทศ ในรอบเลือกกันเองในกลุ่มอาชีพเดียวกัน พบว่าจากผู้สมัคร สว.ที่เข้ารอบระดับประเทศทั้ง 3,000 คน จาก 20 กลุ่มอาชีพ พบว่า มีผู้สมัครถึง 345 คน ที่ได้ศูนย์คะแนน ซึ่งหมายความว่า ผู้สมัครกลุ่มนี้ลงคะแนนให้กับผู้สมัครคนอื่นหมดเลย กล่าวคือ ในรอบเลือกกันเองภายในกลุ่มอาชีพซึ่งผู้สมัครแต่ละคนจะมีคะแนนสูงสุดถึง 10 คะแนน และสามารถเลือกตัวเองได้อีกหนึ่งคะแนนด้วย แต่ผู้สมัครยอมพลีชีพเป็นโหวตเตอร์ส่งคะแนนทั้งหมดของตัวเองให้ผู้สมัครคนอื่นได้เข้ารอบเลือกไขว้
เมื่อดูข้อมูลของผู้สมัคร สว. ที่ได้ศูนย์คะแนนในรอบเลือกกันเอง พบว่า จังหวัดระนองมีผู้สมัคร สว. คะแนนเป็นศูนย์ถึง 22 คน ซึ่งนับเป็นตัวเลขมากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้เข้ารอบในระดับจังหวัดที่จังหวัดหนึ่งจะมีโควตาเข้ารับคัดเลือกระดับประเทศไม่เกิน 40 คน โดยแต่ละกลุ่มอาชีพจะมีผู้ผ่านเข้ารอบระดับประเทศได้ไม่เกินกลุ่มละสองคน จากข้อมูลการละคะแนนในรอบเลือกกันเองพบว่า ตัวแทนกลุ่มอาชีพจากจังหวัดระนองแปดกลุ่มได้คะแนนเป็นศูนย์ทุกคน ทั้งนี้ตัวแทนจังหวัดที่ได้รับคะแนนเป็นศูนย์ในระดับต้นๆ จะพบว่า จังหวัดเหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่การเมืองของพรรคภูมิใจไทยหรือกลุ่มบ้านสีน้ำเงิน เช่น จังหวัดระนอง อุทัยธานี ปราจีนบุรี เพชรบุรี และพิจิตร เป็นต้น
จังหวัดที่มีผู้สมัคร สว.คะแนนศูนย์ในรอบเลือกกันเองภายในกลุ่มอาชีพ ระดับประเทศ
จังหวัด | จำนวนผู้สมัครที่ได้คะแนนศูนย์ (คน) |
---|---|
ระนอง | 22 |
อุทัยธานี | 18 |
ปราจีนบุรี, เพชรบุรี | 16 |
พะเยา, พิจิตร, มุกดาหาร, ราชบุรี | 15 |
สิงห์บุรี | 14 |
กระบี่ | 13 |
สมุทรสาคร, สุโขทัย | 12 |
ชัยภูมิ | 10 |
เชียงราย, ตรัง, นครศรีธรรมราช, นครสวรรค์, ปัตตานี | 8 |
นครพนม, หนองคาย | 7 |
พัทลุง | 6 |
กาฬสินธุ์, นครนายก, นราธิวาส, บึงกาฬ, ศรีษะเกษ | 5 |
ฉะเชิงเทรา, ภูเก็ต, ยะลา, ลำปาง, ลำพูน, สงขลา, อุบลราชธานี | 4 |
ขอนแก่น, ชลบุรี, ประจวบคีรีขันธ์, แม่ฮ่องสอน, ยโสธร | 3 |
จันทบุรี, ระยอง, เลย, หนองบัวลำภู, อำนาจเจริญ | 2 |
กาญจนบุรี, กำแพงเพชร, ตราด, ตาก, นครปฐม, นนทบุรี, น่าน, ปทุมธานี, แพร่, ลพบุรี, สตูล, สมุทรปราการ, อ่างทอง, อุตรดิตถ์ | 1 |
เลือกไขว้ข้ามกลุ่ม 40 คน ศูนย์คะแนน ผู้สมัคร “อ่างทอง-อยุธยา-เลย” ไม่ได้คะแนนมากสุด
การเลือก สว.ระดับประเทศ ในรอบการเลือกไขว้ข้ามกลุ่ม มีผู้สมัคร สว. เข้ารอบ 800 คน จากทั้งหมด 20 กลุ่มอาชีพ ในรอบนี้แต่ละกลุ่มอาชีพจะต้องจับฉลากแบ่งสายออกเป็นสี่สายโดยแต่ละสายมีทั้งหมดห้ากลุ่มอาชีพ ทั้งนี้ในการลงคะแนนผู้สมัครแต่ละคนจะมีสิทธิในการลงคะแนนให้กับแต่ละกลุ่มจำนวนห้าคะแนนต่อกลุ่ม ซึ่งผู้สมัครแต่ละคนต้องลงคะแนนให้กับผู้สมัครสี่กลุ่ม รวมแล้วแต่ละคนจะสามารถลงคะแนนให้กับผู้สมัครกลุ่มอื่นได้ถึง 20 คน (กลุ่มละห้าคน) ซึ่งในรอบนี้ผู้สมัครจะไม่สามารถลงคะแนนให้กับตัวเองหรือผู้สมัครในกลุ่มตัวเองได้ ต้องลงคะแนนข้ามกลุ่มเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม จากผู้สมัคร สว. ทั้งหมด 800 คน ที่ผ่านเข้ามาในรอบไขว้พบว่ามีผู้สมัครที่ได้รับคะแนนเป็นศูนย์รวมทั้งสิ้น 49 คน โดยผู้สมัคร สว.ในกลุ่มที่ได้คะแนนเป็นศูนย์ส่วนใหญ่ มาจากกลุ่มจังหวัดที่เป็นพื้นที่ทางการเมืองของพรรคภูมิใจไทยเกือบทั้งหมด เช่น จังหวัดอ่างทอง พระนครศรีอยุธยา เลย และสตูล เป็นต้น
ทั้งนี้หากย้อนกลับไปดูคะแนนในรอบเลือกกันเองจะพบว่า คะแนนขั้นต่ำที่ปลอดภัยสำหรับการเข้ารอบไขว้ของแต่ละกลุ่มอยู่ที่ประมาณ 15 คะแนน ซึ่งจากผู้สมัคร สว.ที่ได้คะแนนศูนย์รอบไขว้ จะพบว่า ผู้สมัคร สว.ส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้ได้รับคะแนนเสียงในรอบเลือกกันเองมากกว่าคะแนนขั้นต่ำที่ปลอดภัยในการเข้ารอบทั้งสิ้น ซึ่งมีเพียงผู้สมัครหนึ่งคนเท่านั้นที่ต้องจับฉลาก โดยผู้สมัคร 23 คนมีคะแนนในระดับผู้นำของกลุ่ม คือ มีผู้ลงคะแนนให้เกิน 25 คะแนนขึ้นไป แต่เมื่อเข้าสู่รอบสุดท้ายคนกลุ่มนี้กลับไม่มีคะแนนแม้แต่คะแนนเดียว
จังหวัดที่มีผู้สมัคร สว.คะแนนศูนย์ในรอบเลือกไขว้ข้ามกลุ่ม ระดับประเทศ
จังหวัด | จำนวนผู้สมัครที่ได้ คะแนนศูนย์ (คน) |
---|---|
อ่างทอง | 14 |
อยุธยา | 9 |
เลย | 8 |
สตูล | 5 |
นครนายก, บุรีรัมย์, ยโสธร | 3 |
อำนาจเจริญ | 2 |
สิงห์บุรี, สุโขทัย | 1 |
13 จังหวัดไม่มี สว. ส่วนใหญ่ผู้สมัครคะแนนไม่เป็นศูนย์
สำหรับการเลือก สว. แม้จะเป็นการเลือกเพื่อหาตัวแทน 20 กลุ่มอาชีพ จำนวน 200 คน แต่วิธีการเลือกที่กำหนดให้มีการคัดเลือกตั้งแต่รอบอำเภอ รอบจังหวัด ทำให้ฐานที่มาของผู้สมัครแต่ละคนเชื่อมโยงกับพื้นที่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังจะเห็นได้จากกลุ่มจังหวัดที่ได้รับ สว.จำนวนมาก เช่น บุรีรัมย์ (14 คน), อยุธยา (7 คน), สตูล (6 คน) และอ่างทอง (6 คน) มีรูปแบบการเลือกที่ไปในทิศทางเดียวกัน คือ มีการจับมือกันลงคะแนนร่วมกันในกลุ่มจังหวัดเหล่านี้ โดยมีกลุ่มที่เป็นตัวหลักที่ได้เข้ารอบและมีตัวผู้สมัครที่ทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ลงคะแนนเสียงให้ ผลทำให้ในจังหวัดกลุ่มนี้ได้ สว.เข้ามาเป็นจำนวนมาก และมีผู้สมัครที่ได้รับคะแนนเป็นศูนย์ในแต่ละรอบจำนวนมากเช่นกัน
เมื่อดูจังหวัดที่ไม่มีผู้ได้รับเลือกเป็น สว. ทั้งหมด 13 จังหวัด พบว่า ผู้สมัครส่วนใหญ่ในจังหวัดเหล่านี้ผู้สมัครมีคะแนนทั้งในรอบเลือกกันเองและรอบไขว้ จะมีเพียงสามจังหวัด คือ กาฬสินธุ์ นราธิวาส และแม่ฮ่องสอน ที่มีผู้สมัครมีคะแนนเป็นศูนย์ในรอบเลือกกันเองในกลุ่มอาชีพเกินสองคนขึ้นไป ซึ่งผลดังกล่าวทำให้วิเคราะห์ได้ว่า กลุ่มจังหวัดที่ไม่มี สว. ไม่ได้มีการรวมกลุ่มจัดตั้งกันอย่างเข้มแข็งและไม่มีผู้สมัครที่โดดเด่นพอที่จะเป็น สว.ได้
13 จังหวัด ไม่มี สว. ผู้สมัครกี่คนได้ศูนย์คะแนน
จังหวัด | รอบเลือกกันเอง (คน) | รอบเลือกไขว้ (คน) |
---|---|---|
กาฬสินธุ์ | 5 | – |
กำแพงเพชร | 1 | – |
ตาก | 1 | – |
นราธิวาส | 5 | – |
เพชรบูรณ์ | – | – |
มหาสารคาม | – | – |
แม่ฮ่องสอน | 3 | – |
ร้อยเอ็ด | – | – |
ลพบุรี | 1 | – |
สกลนคร | – | – |
สระแก้ว | – | – |
อุตรดิตถ์ | – | – |
อุดรธานี | – | – |