สว.67: เปิดข้อมูล-ข้อสังเกต ’สว.สีน้ำเงิน’ สายบุรีรัมย์-อ่างทอง

จากผลการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2567 หนึ่งในประเด็นที่สังคมให้ความสนใจเป็นอย่างมาก คือ การที่ สว. จำนวนหนึ่งกระจุกตัวอยู่แค่ไม่กี่จังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดบุรีรัมย์ ที่ได้ สว. มากที่สุด ถึง 14 คน และยังพบด้วยว่าในจังหวัดที่มี สว. ตั้งแต่ 5 คน ขึ้นไป ยังเป็น ‘จังหวัดพื้นที่คะแนนเสียง’ ของพรรคการเมืองอย่างพรรคภูมิใจไทย 

ทั้งนี้ เมื่อลองนำข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่ลงสมัคร ประวัติการทำงาน ประวัติส่วนตัว ของว่าที่ สว. ในจังหวัดพื้นที่คะแนนเสียงของพรรคภูมิใจไทย อาทิ จังหวัดบุรีรัมย์ และอ่างทอง มาวิเคราะห์ เราจะพบข้อมูลและข้อสังเกต อย่างน้อย 3 ข้อ ดังนี้

หนึ่ง สว. บุรีรัมย์-อ่างทอง ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ ‘บ้านใหญ่’ พรรคภูมิใจไทย

จากจำนวน สว. ของบุรีรัมย์และอ่างทองทั้งหมด 20 คน พบว่า เป็น สว. ที่ลงสมัครในพื้นที่คะแนนเสียงของพรรคภูมิใจไทย ดังนี้

จังหวัดบุรีรัมย์ มี สว. 14 คน แบ่งเป็น

  • อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จำนวน 4 คน 
  • อำเภอประโคนชัย จำนวน 3 คน
  • อำเภอสตึก จำนวน 2 คน
  • อำเภอนางรอง จำนวน 2 คน
  • อำเภอละหานทราย หนองหงส์ ห้วยราช อย่างละ 1 คน

โดยอำเภอที่ได้ สว. มากที่สุด 2 อับดับแรก คือ อำเภอเมืองบุรีรัมย์และอำเภอประโคนชัย ซึ่งเป็นพื้นที่ภายใต้อิทธิพลการเมืองตระกูล ‘ชิดชอบ’ ซึ่งมีบุตรชายของ เนวิน ชิดชอบ หรือ ไชยชนก ชิดชอบ เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) และตระกูล ‘ทองศรี’ ที่มี รุ่งโรจน์ ทองศรี เป็น สส. และเป็นน้องชายของ ทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

ถัดมาคืออำเภอนางรองซึ่งเป็นพื้นที่ภายใต้อิทธิพลการเมืองตระกูล ‘งามกมล’ โดยมี อภิชาติ งามกมล อดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจิญ พี่ชายของ ไตรเทพ งามกมล สส. พรรคภูมิใจไทย เป็นผู้ที่ได้รับเลือกให้เป็น สว.

จังหวัดอ่างทอง มี สว. 6 คน แบ่งเป็น

  • อำเภอเมืองอ่างทอง จำนวน 2 คน
  • อำเภอวิเศษชัยชาญ จำนวน 2 คน
  • อำเภอแสวงหา จำนวน 1 คน
  • อำเภอไชโย จำนวน 1 คน

โดยอำเภอที่ได้ สว. มากที่สุด 2 อับดับแรก คือ อำเภอเมืองอ่างทอง และอำเภอวิเศษชัยชาญเป็นป็นพื้นที่ภายใต้อิทธิพลการเมืองตระกูล ‘ปริศนานันทกุล’ โดยมี ภราดร ปริศนานันทกุล รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เป็น สส. และดูแลจังหวัดควบคู่กับน้องชายอย่าง กรวีร์ ปริศนานันทกุล

สอง สว. บุรีรัมย์-อ่างทอง สายข้าราชการอยู่ในสังกัดมหาดไทย-ศึกษาธิการ-สาธารณสุข

เมื่อนำข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มอาชีพหรือความเชี่ยวชาญในการลงสมัคร สว. ของว่าที่ สว. บุรีรัมย์และอ่างทอง มาวิเคราะห์ จะพบว่า มีว่าที่ สว. จำนวน 8 คน ที่เป็นอดีตข้าราชการ ได้แก่

  • มงคล สุระสัจจะ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์และอดีตอธิบดีกรมการปกครอง
  • วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง สมุทรสาคร ศรีสะเกษ พิจิตร
  • อภิชาติ งามกมล อดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ
  • สืบศักดิ์ แววแก้ว ผู้ใหญ่บ้านและกำนัน จังหวัดอ่างทอง 
  • ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข
  • สุเทพ สังข์วิเศษ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนปาโมกข์วิทยาภูมิ
  • ชาญชัย ไชยพิศ ข้าราชการบำนาญ (ครู) และนายกสมาคมผู้บริหารครูโรงเรียนอนุบาล
  • พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร อดีตผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดบุรีรัมย์

จากข้อมูลว่าที่ สว. ทั้ง 8 คน จะพบว่า เป็นอดีตข้าราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นกระทรวงที่เคยอยู่และยังอยู่ภายใต้รัฐมนตรีที่มาจากพรรคภูมิใจไทย ได้แก่

  • อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
  • ชาดา ไทยเศรษฐ์ รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน 
  • ทรงศักดิ์ ทองศรี รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชน และ เศรษฐา ทวีสิน
  • พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ น้องชายของ เนวิน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน
  • สุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน

สว. บุรีรัมย์-อ่างทอง แนะนำตัวไม่เกินสองบรรทัด 7 คน-ประวัติไม่ชัดเจน 1 คน

จากข้อมูลว่าที่ สว. จากจังหวัดบุรีรัมย์และอ่างทอง ทั้ง 20 คน พบว่า มีว่าที่ สว. 7 คน ที่เขียนแนะนำตัวในเอกสารใบ สว.3 ไม่เกินสองบรรทัด ได้แก่ 

  • ปวีณา สาระรัมย์ ว่าที่ สว. กลุ่ม 5 (กลุ่มอาชีพทำนาและปลูกพืชล้มลุก) ระบุอาชีพ เกษตรกรรม เขียนแนะนำตัวแค่ว่า “อาชีพของครอบครัวที่คุ้นเคยกัน คือ การทำนา โดยการเริ่มต้นการเรียนรู้จากพ่อแม่เคยพาทำนามา สมัยก่อนเราใช้แรงงานคนในการปักตำ สมัยนี้ใช้เครื่องจักร”
  • จตุพร เรียงเงิน ว่าที่ สว. กลุ่ม 7 (กลุ่มพนักงาน หรือลูกจ้างของบุคคล ซึ่งไม่ใช่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ) ระบุอาชีพ รับจ้าง เขียนแนะนำตัวว่า “วิ่งน้ำและรับจ้าง“
  • วรรษมนต์ คุณแสน ว่าที่ สว.กลุ่ม 9 (กลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางขนาดย่อม) ระบุอาชีพ ช่างเสริมสวย เขียนแนะนำตัวว่า “ทำอาชีพช่างเสริมสวยประสบการณ์มากกว่า 15 ปี 
  • ปราณีต เกรัมย์ ว่าที่ สว. กลุ่ม 16 (กลุ่มศิลปวัฒนธรรม ดนตรีการแสดง บันเทิง นักกีฬา) ระบุอาชีพ รับจ้าง เขียนแนะตัวว่า “เป็นนักกีฬาฟุตบอล อาวุโส พ.ศ.2527-2547”
  • ศุภชัย กิตติภูติกุล ว่าที่ สว. กลุ่ม 18 (กลุ่มสื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม) ระบุอาชีพ ผู้สื่อข่าว เขียนแนะนำตัวว่า “ทำงานผู้สื่อข่ายไทยรัฐ 35 ปี”
  • คอดียะฮ์ ทรงงาม ว่าที่ สว. กลุ่ม 18 (กลุ่มสื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม) ระบุอาชีพ ช่างตัดเย็บเสื้อผ้า เขียนแนะนำตัวว่า “ประชาสัมพันธ์เสียงตามสายหมู่บ้าน ประชาสัมพันธ์ อำเภอไชโย”
  • วลีรักษ์ พัชระเมธาพัฒน์ ว่าที่ สว. กลุ่ม 20 (กลุ่มอื่นๆ) ระบุอาชีพ ค้าขาย เขียนแนะนำตัวว่า “เคยได้รับคัดเลือกเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขดีเด่น ระดับจังหวัด สาขานมแม่ สายใยรักแห่งครอบครัว ปี 2554”

นอกจากนี้ ยังพบกรณี ประวัติการทำงานไม่สอดคล้องกับกลุ่มอาชีพที่สมัคร เช่น กรณี ชาญชัย ไชยพิศ ว่าที่ สว. กลุ่มที่ 17 (กลุ่มประชาสังคม องค์กรสาธารณประโยชน์) ที่ระบุอาชีพ ข้าราชการบำนาญและแนะนำตัวว่า รองผู้อำนวยการโรงเรียน ผู้อำนวยการโรงเรียนและนายกสมาคมผู้บริหารครูโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัด ปี 2564-2566 

หากพิจารณาตามประกาศ กกต. ระบุว่า กลุ่มดังกล่าวต้องเป็นมูลนิธิหรือสมาคม ที่จดทะเบียนตามกฎหมาย และตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. ยังระบุด้วยว่า ผู้สมัคร สว. จะสมัครได้เฉพาะในกลุ่มที่ตัวเองประกอบอาชีพ หรือความรู้ ความเชี่ยวชาญ ในกลุ่มนั้นๆไม่น้อยกว่า 10 ปี ดังนั้น กรณีของ ชาญชัย ไชยพิศ  ที่แม้จะเป็นนายกสมาคมผู้บริหารครูโรงเรียนอนุบาล แต่จำเป็นต้องพิจารณาว่าสมาคมดังกล่าวเป็นสมาคมตามกฎหมายหรือไม่ และได้ทำงานในลักษณะเดียวกันมาเป็นเวลาถึง 10 ปี หรือไม่

RELATED TAGS

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage