วันนี้ (31 มกราคม 2563) หกพรรคฝ่ายค้านยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลต่อ ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีรายชื่อรัฐมนตรีหกคน ได้แก่
- พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม
- พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี
- วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี
- พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย
- ดอน ปรมัติวินัย รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ
- ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
คาดกันว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจจะอยู่ระหว่างวันที่ 19-23 กุมภาพันธ์ 2563
รัฐสภา มีหน้าที่หลักในการตรวจสอบและคานอำนาจกับรัฐบาล ซึ่งขณะที่นายกฯ มีอำนาจในการยุบสภาผู้แทนฯ เพื่อเลือกตั้งใหม่ ส่วน ส.ส.ก็มีสิทธิในการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ รัฐมนตรีคนอื่นๆ หรือทั้งรัฐบาล ซึ่งอาจทำให้พ้นจากตำแหน่งได้
“การอภิปรายไม่ไว้วางใจ” หรือ สิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี บัญญัติอยู่ในรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 151
โดยมีขั้นตอนดังนี้
1) ส.ส. จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของสภา หรือ ส.ส. 100 คน ขอใช้สิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือรายคณะ
2) เมื่ออภิปรายทั่วไปเสร็จแล้ว โดยไม่มีการผ่านระเบียบวาระไปหรือการขอถอนญัตติดังกล่าว ให้มีการลงมติไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจในวันถัดไป
3) มติไม่ไว้วางใจต้องใช้ ส.ส. จำนวนมากกว่ากึ่งหนึ่งของสภา หรือ ส.ส. 251 คน
โดยระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายกรัฐมตรีจะยุบสภาไม่ได้ เว้นแต่มีการถอนญัตติ หรือลงมติไม่ไว้วางใจไม่สำเร็จ และตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (3) เมื่อสภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่ไว้วางใจ ความเป็นรัฐมนตรีจะสิ้นสุดลง
ทั้งนี้ มาตรา 154 ระบุว่า การเสนอญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจทำได้ปีละหนึ่งครั้ง