ผู้สมัคร สว. 67 ระดับประเทศ พบเห็นการเลือกไม่สุจริต รีบร้อง กกต. ภายใน 29 มิถุนายน 2567

ผ่านไปแล้วกับการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดใหม่ในระดับประเทศ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2567 ที่จัด ณ อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี โดยกระบวนการเลือก สว. ระดับประเทศ ใช้เวลา “ข้ามวันข้ามคืน” ถึงแล้วเสร็จ เริ่มต้นจากช่วงลงทะเบียน 08.00 น. ปิดท้ายในการนับคะแนนรอบเลือกไขว้ แต่ละสายนับคะแนนแล้วเสร็จไม่พร้อมกัน โดยสาย ง. เป็นสายสุดท้ายที่นับคะแนนเสร็จในเวลาประมาณ 04.52 น. ของวันที่ 27 มิถุนายน 2567 สิริรวมแล้วกินเวลาประมาณ 21 ชั่วโมง

ระบบ “เลือกกันเอง” ที่ออกแบบโดยกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้ผู้สมัคร สว. เป็นทั้งผู้เล่นในสนามการเลือกและผู้สังเกตการณ์ที่มีโอกาสเห็นความผิดปกติในกระบวนการเลือกและการนับคะแนนได้อย่างใกล้ชิดที่สุด ซึ่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 (พ.ร.ป.สว. ฯ) ก็เปิดช่องให้ผู้สมัคร สว. ที่ผ่านเข้าสู่รอบระดับประเทศ สามารถยื่นคัดค้านการเลือก สว. ได้หากเห็นว่าการเลือกนั้นไม่ได้เป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรม อย่างไรก็ดี กฎหมายก็กำหนดกรอบเวลาเอาไว้ หากผู้สมัคร สว. จะคัดค้าน ต้องรีบทำภายในสามวันนับแต่วันเลือกระดับประเทศ

ผู้สมัคร สว. พบเห็นการเลือกไม่สุจริต รีบยื่นคัดค้านต่อ กกต. ภายในสามวัน

กรณีที่ผู้สมัคร สว. ที่เข้าสู่รอบระดับประเทศเห็นว่าการเลือก สว. ในระดับประเทศ ไม่ได้เป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรม หรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย สามารถยื่นคัดค้านต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ภายในสามวันนับแต่วันเลือกระดับประเทศ (ภายใน 29 มิถุนายน 2567) โดยกฎหมายให้อำนาจ กกต. หากเห็นว่ามีหลักฐานที่เชื่อได้ว่าการเลือก สว. เป็นไปโดยไม่สุจริตหรือไม่เที่ยงธรรม หรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย กกต. สามารถสั่งสั่งระงับ ยับยั้ง แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกการเลือก และสั่งให้ดำเนินการเลือกใหม่ หรือนับคะแนนใหม่ได้ แต่ต้องดำเนินการก่อนประกาศผลการเลือก สว. (พ.ร.ป.สว. ฯ มาตรา 64 ประกอบมาตรา 59 วรรคหนึ่ง)

หากผู้อำนวยการเลือก สว. พบการเลือกไม่สุจริต ส่งเรื่องให้ กกต. เคาะสั่งเลือกใหม่ได้

นอกจากนี้ ในระเบียบ กกต. ว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 (ระเบียบ กกต. การเลือกสว. ฯ) ข้อ 159 ยังกำหนดว่า กรณีการเลือกระดับประเทศ หากผู้ตรวจการเลือกหรือผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศ ซึ่งก็คือเลขาธิการ กกต. เห็นว่าการเลือกของกลุ่มใดหรือของสายใดหรือของสถานที่เลือกใด ไม่ได้เป็นไปโดยสุจริต หรือเที่ยงธรรม ให้ส่งเรื่องไปยัง เลขาธิการ กกต. เพื่อรายงานให้ กกต. ทราบ และให้กกต. มีอำนาจสั่งระงับ ยับยั้ง แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกการเลือก และสั่งให้เลือกใหม่ ทั้งนี้ กกต. ต้องพิจารณาสั่งให้มีการเลือกใหม่ภายในสองวันนับแต่ที่ได้รับรายงาน

กกต. มีอำนาจสอยผู้สมัคร ส่งเรื่องไปศาลฎีกาเพิกสิทธิรับเลือกตั้งได้ หากทำ-รู้เห็นกับการเลือกไม่สุจริต

 พ.ร.ป.สว. ฯ มาตรา 60 กำหนดว่า ก่อนประกาศผลการเลือก ถ้ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครกระทำการใดหรือรู้เห็นกับการกระทำใดของบุคคลอื่น อันทำให้การเลือกไม่ได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ให้กกต. สั่งระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครนั้นไว้ชั่วคราวเป็นระยะเวลาไม่เกินหนึ่งปี

นอกจากนี้ ในมาตรา 62 ยังกำหนดว่าหาก กกต. ประกาศผลการเลือก สว. แล้ว แล้ว ถ้ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครหรือผู้ใด ซึ่งไม่ใช่ผู้สมัคร กระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกหรือรู้เห็นกับการกระทำของบุคคลอื่น อันทำให้การเลือกไม่ได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม กกต. สามารถยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นได้

กรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็น สว. ให้ผู้นั้นหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลฎีกาจะพิพากษาว่าไม่ได้กระทำความผิด ถ้าศาลฎีกามีคำพิพากษาว่าผู้นั้นกระทำความผิดให้สมาชิกภาพของ สว. รายนั้นสิ้นสุดลงนับแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่ถ้าอยู่ในบัญชีสำรอง (ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดเป็นลำดับที่ 11 ถึงลำดับที่ 15 ของแต่ละกลุ่ม) หากศาลฎีกาพิพากษาว่าผู้นั้นกระทำความผิด ให้ กกต. สั่งลบรายชื่อออกจากบัญชีสำรองด้วย

เส้นทางเศรษฐี ประชาชนพบเห็นเหตุการณ์ส่อเลือก สว. ไม่สุจริต เก็บหลักฐานร้องเรียน กกต. อาจได้รางวัลหลักแสน

สำหรับประชาชนทั่วไปที่ไม่ใช่ผู้สมัคร สว. หากมีหลักฐานที่เกี่ยวกับการกระที่ทำให้การเลือก สว. ไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรม สามารถชี้เบาะแสได้โดยไปที่สำนักงาน กกต. หรือสำนักงาน กกต. ประจำจังหวัด โดยในระเบียบ กกต. ว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการแสวงหาข้อมูลข่าวสารและการให้รางวัลแก่ผู้ชี้เบาะแสการกระทำการอันไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรมในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2562 ข้อ 22 (1) และ (2) กำหนดว่า หากข้อมูลหรือข้อเท็จจริงที่ผู้ชี้เบาะแสนำมาแจ้ง ช่วยเป็นเบาะแสที่ทำให้ กกต. สามารถสั่งให้มีการเลือกใหม่ หรือสั่งระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัคร สว. หรือศาลฎีกามีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหรือสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัคร ผู้ชี้เบาะแสที่เป็นประชาชนทั่วไป ไม่ใช่ผู้ตรวจการเลือกตั้ง ไม่ใช่เจ้าหน้าที่สำนักงาน กกต. ไม่ใช่ผู้สมัคร หรือพรรคการเมือง มีสิทธิได้รับเงินรางวัลตามอัตราที่กำหนด ดังนี้

 อัตราเงินรางวัลสำหรับผู้ชี้เบาะแส
กรณี กกต. สั่งให้เลือกใหม่100,000 – 200,000 บาท
กรณี กกต. สั่งระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งชั่วคราว100,000 – 300,000 บาท
กรณีศาลฎีกาสั่งเพิกถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้งหรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้สมัคร100,000 – 1,000,000 บาท

RELATED TAGS

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage