กลุ่ม 15 ของคนมีอายุ-ข้าราชการ

 ในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) 2567 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 (พ.ร.ป. สว.ฯ) กำหนดให้มีกลุ่มอาชีพ 20 กลุ่มที่ผู้สมัครเลือกลงสมัครได้ตามประสบการณ์และความเชี่ยวชาญที่ตนมี และหนึ่งในนั้นคือกลุ่ม 15 กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และกลุ่มอัตลักษณ์อื่น ๆ ซึ่งในการเลือกสว. ระดับประเทศนี้ กลุ่ม 15 มีผู้เข้าสู่รอบประเทศทั้งหมด 154 คน ประกอบขึ้นจากตัวแทนระดับจังหวัด จังหวัดละสองคน แต่การกำหนดให้กลุ่ม 15 มีทั้งผู้สูงอายุ ผู้พิการ และอัตลักษณ์อื่น ๆ นั้นเหมือนการ “ขยำรวม” ความหลากหลายต่าง ๆ ที่ท้ายที่สุดแล้วอาจจะทำให้บางกลุ่มไม่ได้มีตัวแทนใน สว. เลย 

จากการตรวจสอบใบ สว.3 ซึ่งเป็นใบแนะนำตัวของผู้สมัคร จากผู้สมัครที่ผ่านเข้าสู่รอบประเทศทั้ง 154 คน มีเพียง 10 คนที่ระบุว่าตนเองเป็นผู้พิการหรือผู้ที่ทำงานเพื่อคนพิการ ในขณะที่เจ็ดคนระบุว่ากลุ่มชาติพันธุ์ และหนึ่งคนระบุว่ากลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศหรือ LGBTQIA+ รวมทั้งสามกลุ่มแล้วเป็นเพียง 11.69% ของคนทั้งกลุ่ม

ในส่วนที่เหลือ 136 คนคาดว่าลงสมัครในฐานะเป็นผู้สูงอายุเนื่องจากไม่ได้เขียนแนะนำตัวไว้อย่างชัดเจนว่าลงสมัครเพื่อเป็นตัวแทนของคนอัตลักษณ์ใด มีผู้ที่ระบุในสว. 3 ว่าเคยทำงานเพื่อกลุ่มผู้สูงอายุและผู้พิการ 14 คน  โดยอายุเฉลี่ยของผู้สมัครในกลุ่มนี้คือ 65 ปี 

นอกจากนี้ ในเชิงของประสบการณ์ผู้สมัครส่วนมากระบุว่ามีอาชีพข้าราชการ 65 คน ซึ่งในนี้ประกอบไปด้วยครูอย่างน้อย 28 คนและตำรวจหรือทหารอีกอย่างน้อย 11 คน ส่วนอาชีพอื่นที่รองลงมาคือเกษตรกร 18 คนและค้าขายเก้าคน  อีกทั้งยังพบอดีตนักการเมืองที่เคยดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผู้ใหญ่บ้านเก้าคน ซึ่งรวมถึงอดีตสส. และสว. สามคน ได้แก่

  1. สหรัฐ กุลศรี อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุพรรณบุรี เขต 5 พ.ศ. 2554 สังกัดพรรคเพื่อไทย
  2. ยุคล ชนะวัฒน์ปัญญา อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดจันทบุรี พ.ศ. 2549
  3. มานพ จรัสดำรงนิตย์ อดีตสมาชิกผู้แทนราษฎรจังหวัดศรีสะเกษ พ.ศ. 2536-2556 

ทั้งนี้ยังพบ นายสกล ก๊กผล ซึ่งเขียนแนะนำตัวในใบ สว.3 ว่าตนเองเป็นบุตรชายของ นายเจี่ย ก๊กผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ภายใต้นายกรัฐมนตรี พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ 

ระบบการเลือก สว. แบบแบ่งกลุ่มอาชีพที่ผสมรวมผู้ที่มีอัตลักษณ์หลากหลายไว้ด้วยกันทำให้ต้องมีบางกลุ่มที่อาจจะไม่มีตัวแทนเลยเนื่องจากมรจำนวนน้อยกว่า ในกรณีของกลุ่ม 15 เป็นที่ชัดเจนว่าจำนวนของผู้สมัครที่เห็นอายุของตนเองแล้วพบว่ามากประมาณหนึ่งมีจำนวนมากกว่ากลุ่มอัตลักษณ์อื่น ๆ อย่างมาก การเลือกที่จะใช้อัตลักษณ์ก็ยังเป็นปัญหา เพราะประสบการณ์หรือความรู้ความเชี่ยวชาญของแต่ละคนมีความหลากหลายแม้จะมีอัตลักษณ์เดียวกัน ภาพของกลุ่ม 15 นอกจากจะเป็นของผู้สูงอายุแล้วยังเป็นของข้าราชการที่แท้จริงแล้วควรจะไปสมัครกลุ่มอื่นมากกว่า ท้ายที่สุด ผู้ที่ได้รับเลือกเป็น สว. ก็จะเป็นเพียงตัวแทนของผู้สูงอายุแค่ที่อายุเท่านั้น ไม่ได้มีการทำงานหรือความรู้ในการเป็นตัวแทนทางผลประโยชน์ของผู้สูงอายุได้

RELATED TAGS

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage