สว. 67 ระดับประเทศ : กลุ่มสี่-การสาธารณสุข ข้าราชการนำโด่ง รองลงมาเป็นพยาบาล-หมอ

การเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดใหม่ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้ผู้สมัคร สว. ต้อง “แบ่งกลุ่ม” และ “เลือกกันเอง” ทั้งภายในกลุ่มของตนเองและต้องแบ่งสายเลือกไขว้ข้ามกลุ่ม ซึ่งจะมีการเลือกทั้งหมด สามระดับ ได้แก่ ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ โดยในแต่ละระดับจะมีการเลือกสองรอบ ได้แก่ การคัดเลือกกันเองภายในกลุ่มและการแบ่งสายเลือกไขว้ข้ามกลุ่ม ซึ่งการเลือกระดับประเทศในวันที่ 26 มิถุนายน 2567 จะถือได้ว่าเป็นรอบสุดท้ายของการเลือก สว. ชุดใหม่ และภายในวันเดียวกันนั้นเองเราจะได้เห็นหน้าค่าตาของ สว. ชุดใหม่ทั้ง 200 คน

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (พ.ร.ป. สว.ฯ) มาตรา 11 กำหนดลักษณะของกลุ่มต่างๆ ทั้ง 20 กลุ่ม ไว้แล้ว ซึ่งนอกจากการกำหนดไว้ใน พ.ร.ป. สว.ฯ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังได้มีการขยายความลักษณะอื่นๆ ในทำนองเดียวกันตาม พ.ร.ป. สว.ฯมาตรา 11 เพื่อขยายความลักษณะของแต่ละกลุ่มเพิ่มขึ้นอีกด้วย 

ชวนดู ชวนดูประกาศ กกต. ขยายความอาชีพ-อัตลักษณ์อื่นๆ https://www.ilaw.or.th/articles/30289 

ภายหลังจากที่ผ่านการเลือกในระดับอำเภอ ในวันที่ 9 มิถุนายน 2567 และระดับจังหวัด ในวันที่ 16 มิถุนายน 2567 โดยจากผู้สมัครทั้งหมดกว่า 46,205 คน ในระดับประเทศที่กำลังจะเลือกในวันที่ 26 มิถุนายน 2567 จะเหลือเพียง 3,000 คน โดยมีผู้เข้ารอบจังหวัดทั้ง 77 จังหวัด 20 กลุ่ม กลุ่มละสองคน ซึ่งหากมีผู้สมัครในแต่ละจังหวัดครบกลุ่มในแต่ละกลุ่ม จะมีผู้สมัครกลุ่มละ 154 คน แต่ปรากฎว่าผู้สมัครที่ผ่านเข้ารอบในระดับจังหวัดเพื่อเข้าสู่ระดับประเทศมีเพียง 3000 คนเท่านั้น โดยมีเหตุมาจากการที่บางจังหวัดอาจมีผู้สมัครไม่ครบทุกกลุ่ม ซึ่งกลุ่มสี่ การสาธารณสุข เป็นหนึ่งในกลุ่มที่มีผู้สมัครในระดับประเทศเพียง 153 คนเท่านั้น โดยจังหวัดตากเป็นจังหวัดที่มีผู้ผ่านเข้ารอบในระดับประเทศในกลุ่มสี่เพียงคนเดียวจึงทำให้จำนวนผู้สมัครลดลงไปหนึ่งคน

เมื่อเข้าสู่การเลือกในระดับประเทศเว็บไซต์ https://senator.ect.go.th/ ของสำนักงาน กกต. ได้เผยแพร่ข้อมูลการแนะนำตัวของผู้สมัครทุกกลุ่ม โดยมีเพียงเอกสาร สว.3 และมีข้อความห้าบรรทัดให้ผู้สมัครได้เขียนบรรยายประวัติการทำงานของตนเองและทำความรู้จักกัน ซึ่งพบว่าในจำนวนผู้เข้ารอบระดับประเทศในกลุ่มสี่ทั้ง 153 คนสามารถจำแนกข้อมูลที่น่าสนใจออกมาได้ในหลายมิติ เช่น เพศ อาชีพ และอายุ ดังนี้

สองในห้าเป็นอดีตข้าราชการสาธารณสุข รองลงมาเป็นพยาบาลและแพทย์

ในบรรดาจำนวนผู้เข้ารอบระดับประเทศในกลุ่มสี่ทั้งหมดพบว่าอาชีพในลักษณะที่เกี่ยวข้องกับการทำงานในด้านการสาธารณสุขที่ไม่ใช่วิชาชีพแพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ เภสัชกร สัตวแพทย์ หรือแพทย์แผนไทย เป็นสัดส่วนจำนวนที่เยอะที่สุด โดยส่วนใหญ่เป็นข้าราชการในสังกัดของหน่วยงานสาธารณสุขท้องถิ่นในแต่ละจังหวัดต่างๆ ซึ่งพบมากสุดถึง 63 คน จาก 154 คน คิดเป็น 41% ของจำนวนผู้เข้ารอบในกลุ่มนี้ทั้งหมด หรือสองในห้าของจำนวนทั้งหมด โดยรองลงมาเป็นอาชีพพยาบาลกว่า 34 คน หรือคิดเป็น 22% และอาชีพแพทย์ 25 คน หรือคิดเป็น 16% 

รองลงมาเป็นอันดับสี่จากอาชีพแพทย์คือเหล่าอดีตนักการเมืองทั้งที่เคยดำรงตำแหน่งทั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) สว. หรือผู้สมัครในตำแหน่งทางการเมืองต่างๆ แปดคน หรือคิดเป็น 5.2% ได้แก่

  1. สังวาลย์ แววนำ อดีตผู้สมัคร สส. พรรคท้องที่ไทย กำแพงเพชร
  2. เปรมศักดิ์ เพียยุระ อดีต สส. พรรคความหวังใหม่ไทยรักไทย จากนั้นย้ายไปพลังท้องถิ่นไทยพลังประชารัฐรวมไทยสร้างชาติ
  3. สมบูรณ์ หนูนวล อดีตผู้สมัคร สส. พรรคพลังประชารัฐ และพรรคภูมิใจไทยในภายหลัง
  4. ปุระพัฒน์ วิเศษจินดาวัฒนา อดีต สส. พรรคเพื่อแผ่นดิน
  5. ประสิทธิ์ พิทูรกิจจา อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, สว., สส.
  6. สุกัญญา ยุซิ อดีตผู้สมัคร สส. พรรคเศรษฐกิจใหม่ ปทุมธานี
  7. อดุลย์ ไชยสุนันท์ อดีตนายก อบจ. มุกดาหาร, อดีตผู้สมัคร สส. ภูมิใจไทย มุกดาหาร, อดีตผู้สมัคร สส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาไท
  8. ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

ถัดมาจากนักการเมืองเป็นเภสัชกรห้าคน แพทย์แผนไทยสี่คน อาจารย์สี่คน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านสามคน สัตวแพทย์สามคน และเทคนิคการแพทย์หนึ่งคน นอกจากนี้ยังพบว่ามีเอกสาร สว. 3 ของผู้สมัครท่านหนึ่งที่ไม่มีข้อความใดๆ เลย มีการกรอกในอาชีพว่าเป็นข้าราชการแต่เพียงเท่านั้น

ผู้สมัครวัยเกษียณเพียบกว่า 73.8% และผู้สมัครเพศชายกว่า 63%

นอกจากสถิติเรื่องจำนวนที่เกี่ยวข้องกับสัดส่วนอาชีพแล้ว ยังพบว่าในจำนวนผู้เข้ารอบกลุ่มสี่ทั้ง 153 คน มีคนที่อายุ 60 ปีขึ้นไปหรือวัยเกษียณกว่า 73.8% หรือกว่า 113 คน ในขณะที่คนที่อายุ ต่ำกว่า 60 ปี (40 – 59 ปี) เพียงแค่ 40 คน หรือเพียง 26.2% เท่านั้น เท่ากับว่าใน สว. กลุ่มสี่ชุดใหม่คนวัยเกษียณเป็นสัดส่วนที่มีโอกาสได้เป็น สว. มากกว่า นอกจากนี้เมื่อสำรวจสัดส่วนเรื่องเพศแล้วยังพบว่า มีผู้สมัครเพศชายกว่า 63.4% หรือ 97 คน ในขณะที่ผู้สมัครเพศหญิงมีเพียง 36.6% หรือเพียง 56 คนเท่านั้น เมื่อดูจากสัดส่วนตัวเลขแล้วจึงมีความเป็นไปได้ว่าในกลุ่มสี่เราอาจจะได้ สว. ผู้มากประสบการณ์ด้านการสาธารณสุขที่เป็นชายวัยเกษียณก็เป็นได้

จากผู้เข้ารอบกว่า 153 คน มีเพียง 18 คนที่ประกาศตัวใน senate67.com

นอกจากการที่ผู้สมัครจะสามารถแนะนำตัวให้รู้จักกันผ่านห้าบรรทัดในเอกสารแนะนำตัว สว. 3 ที่ กกต. เป็นผู้ดำเนินการให้แล้ว อีกหนึ่งช่องทางที่ผู้สมัครจะสามารถแนะนำตัวให้ทั่วกันได้มากกว่า 5 บรรทัด คือ เว็บไซต์ senate67.com 

เว็บไซต์ senate67.com เป็นเว็บไซต์ที่เครือข่ายภาคประชาชนร่วมกันจัดทำเพื่อให้ผู้สมัครตั้งแต่ก่อนรับสมัคร โดยข้อมูลเบื้องต้นของผู้เข้ารอบระดับประเทศในกลุ่มสี่ทั้ง 153 คน มีเพียงแค่ 18 คน หรือราวๆ 11.7% เท่านั้นที่ประกาศตัวในเว็บไซต์ senate67.com ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่น้อยมากที่ผู้สมัครไม่ได้ประกาศจุดยืนทางการเมือง เพราะวาระสำคัญหลังจากที่เริ่มดำรงตำแหน่ง สว. 2567 คือการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นมาแทนที่รัฐธรรมนูญ 2560 ที่มีต้นตอมาจากการรัฐประหารในปี 2557 

นอกจากสถิติทั้งหมดแล้วยังพบว่าในจังหวัดเพชรบุรีมีผู้สมัครที่เข้ารอบจำนวนสองคนมีนามสกุลเดียวกัน ประกอบอาชีพพยาบาลเหมือนกัน อายุเท่ากัน จบการศึกษาปริญญาตรีสาขาพยาบาลเหมือนกัน และเขียน สว.3 ด้วยข้อความว่า “ประกอบอาชีพกลุ่มพยาบาล” เหมือนกัน อย่างไรก็ดี พ.ร.ป. สว.ฯ มาตรา 14 กำหนดลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร สว. ไว้ประการหนึ่งว่า ผู้สมัครต้องไม่เป็นบุพการี คู่สมรส หรือบุตรของผู้สมัครรับเลือก สว. ในคราวเดียวกัน เท่ากับว่านอกจากบุพการีที่หมายถึง ปู่ยา ตายาย บิดามารดา คู่สมรส และบุตร หากเป็นญาติกันในลักษณะอื่นๆ สามารถสมัครในคราวเดียวกันได้

สุดท้ายนี้ ระบบการ “แบ่งกลุ่ม” – “คัดเลือกกันเอง” ที่เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทยและในโลกตามรัฐธรรมนูญ 2560 จะให้กำเนิด สว. ชุดใหม่ ส่วน สว. ชุดใหม่ในกลุ่มสี่จะมีหน้าตาอย่างไร ประกอบอาชีพอะไรมาก่อน เพศ หรืออายุเท่าไหร่ เราจะได้รู้คำตอบกันในวันเลือกระดับประเทศในวันที่ 26 มิถุนายน 2567

RELATED TAGS

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage