สว.67 ระดับประเทศ : “กลุ่มประชาสังคม” เต็มไปด้วย กู้ภัย, อสม. ผู้ใหญ่บ้าน-ครูเกษียณมาเพียบ

ส่องข้อมูลผู้สมัครสว.67 กลุ่มที่ 17 “ประชาสังคม” พบว่า มีเอ็นจีโออาชีพจริงๆ 21 คน โดยอีก 26 คนเขียนประวัติว่า เคยทำกิจกรรม “บำเพ็ญประโยชน์” มีเจ้าหน้าที่อสม. อปพร. ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ มีทั้งอดีตผู้ใหญ่บ้าน 7 คน และข้าราชการครูที่เกษียณแล้ว 12 คน และผู้เคยมีตำแหน่งทางการเมือง 7 คน เมื่อพิจารณาจากข้อมูลประวัติการทำงานในสว.3 มีถึง 41 คนที่คุณสมบัติไม่น่าจะเพียงพอสมัครในกลุ่มนี้ได้

การคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในระบบ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และให้ผู้สมัคร “เลือกกันเอง” ระดับประเทศ หรือ เรียกได้ว่า “รอบสุดท้าย” ในวันที่ 26 มิถุนายน 2567 มีผู้สมัครที่ผ่านการเลือกระดับจังหวัดมารวมกันทั้งหมด 3,000 คน โดยแบ่งเป็นกลุ่มละไม่เกิน 154 คน ซึ่ง 10 คนจากจำนวนนี้จะได้รับการคัดเลือกเป็นสว. ชุดต่อไป และอีก 5 คน จะได้รับคัดเลือกเป็น “ตัวสำรอง” ส่วนคนอีกมากกว่า 90% จะตกรอบ

ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 107 กำหนดให้ สว. มีทั้งหมด 200 คน มาจากการคัดเลือกกันเองของบุคคลซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะ หรือประโยชน์ร่วมกัน หรือทํางาน หรือเคยทํางานด้านต่างๆ ที่หลากหลายของสังคม จึงเกิดระบบการ “แบ่งกลุ่ม” ผู้สมัครขึ้นเป็น 20 กลุ่ม โดยผู้สมัครเลือกได้เองว่าจะสมัครเข้ารับการคัดเลือกในกลุ่มใด ซึ่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (พ.ร.ป.สว.ฯ) มาตรา 13 กำหนดคุณสมบัติว่า ผู้สมัครต้อง “มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือทํางานในด้านที่สมัครไม่น้อยกว่าสิบปี” ยกเว้นกลุ่มที่ 14 และ 15 ไม่ต้องนับเวลาทำงานให้ครบสิบปี

ระบบการแบ่งกลุ่มอาชีพในทางปฏิบัติแล้วมีปัญหาอยู่มาก เพราะวิธีการที่ผู้สมัครจะพิสูจน์คุณสมบัติของตัวเอง คือ อาศัย “ใครก็ได้” หนึ่งคนมาลงชื่อรับรองว่า ผู้สมัครทำงานในด้านนั้นๆ มาเป็นเวลาสิบปีจริง ด้านคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ไม่ได้กำหนดนิยามให้ชัดเจนว่า ผู้สมัครที่จะสมัครในแต่ละกลุ่มอาชีพได้จะต้องทำงานอะไรมาบ้าง ตรงกันข้าม กกต. มีแนวทางที่ “เปิดกว้าง” ให้ผู้สมัครเลือกลงสมัครในกลุ่มต่างๆ ได้โดยไม่มีอุปสรรค รวมถึงขั้นตอนการรับสมัครก็ไม่มีระบบตรวจสอบว่า ผู้สมัครเคยทำงานในด้านนั้นๆ มาจริงหรือไม่ และงานนั้นๆ เข้าข่ายจะสมัครในกลุ่มนั้นได้หรือไม่ แนวปฏิบัติเช่นนี้ทำให้ผู้สมัครแต่ละคนตัดสินใจเลือกกลุ่มที่จะสมัครได้สบายๆ ตาม “โอกาสทางการเมือง” ที่จะได้รับเลือก เช่น เลือกสมัครในกลุ่มที่มีผู้สมัครน้อย หรือเลือกสมัครในกลุ่มที่มีคนรู้จักสมัครเยอะ มากกว่าการสมัครตามความรู้ความเชี่ยวชาญจริงๆ

ในการยื่นใบสมัคร ผู้สมัครทุกคนต้องกรอกเอกสาร สว.3 ซึ่งจะมีพื้นที่ไม่เกิน 5 บรรทัดให้ผู้สมัครเขียนประวัติการทำงาน วัตถุประสงค์ของเอกสาร 5 บรรทัดนี้ไม่ได้มีขึ้นเพื่อตรวจสอบว่า ใครมีคุณสมบัติครบตามกลุ่มที่สมัครหรือไม่ แต่มีไว้เพื่อให้ผู้สมัครทำความรู้จักกันว่า ใครเป็นใคร มาจากไหน และตัดสินใจออกเสียงลงคะแนนให้กันได้ เอกสารสว. 3 ไม่สามารถใช้ตัดสินคุณสมบัติด้านความรู้ความเชี่ยวชาญได้ทั้งหมด แต่ก็พื้นที่สำคัญที่ประชาชนจะสามารถศึกษาข้อมูลเพื่อตรวจสอบว่า ผู้สมัครในแต่ละกลุ่มนั้นมีความรู้ความเชี่ยวชาญเหมาะสมกับกลุ่มอาชีพนั้นๆ จริงหรือไม่ หรือเลือกสมัครในกลุ่มอาชีพนั้นทั้งที่ไม่ได้มีความรู้ความเชี่ยวชาญจริง

“กลุ่มประชาสังคม” เช่น มูลนิธิหรือสมาคม ที่จัดสวัสดิการสังคม

กลุ่มที่ 17 ตามพ.ร.ป.สว.ฯ เขียนว่า “กลุ่มประชาสังคม กลุ่มองค์กรสาธารณประโยชน์ หรืออื่นๆ ในทํานองเดียวกัน” และในประกาศกกต. ยังอธิบายคำว่า “ลักษณะอื่นๆ” เพิ่มเติมว่า เช่น มูลนิธิหรือสมาคม ที่จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือ ตามกฎหมายอื่นโดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดสวัสดิการสังคม องค์กรตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมหรือตำแหน่งหรืออาชีพอื่นที่ผู้สมัครยืนยันและมีผู้รับรอง โดยรวมแล้วกฎหมายเขียนลักษณะของของคนที่จะสมัครในกลุ่มที่ 17 ไว้ค่อนข้างกว้าง เพราะครอบคลุมถึงคนที่ทำงานในองค์กรสาธารณะประโยชน์ และ “การจัดสวิสดิการสังคม” ทั้งหมด

การที่พ.ร.ป.สว.ฯ ออกแบบให้ “กลุ่มประชาสังคม” มีที่นั่งสำหรับวุฒิสภา 10 ตำแหน่ง ถือว่าเยอะมาก เมื่อเทียบกับสัดส่วนของจำนวนคนที่ทำงานด้านสังคมเป็นอาชีพในประเทศนี้ ซึ่งมีไม่ถึง 1 ใน 20 ของประชากรทั้งหมด การกำหนดให้กลุ่มประชาสังคมมีที่นั่งในสภานิติบัญญัติอาจจะมีเหตุผลบ้าง เพราะสภานิติบัญญัติมีหน้าที่ต้องออกกฎหมาย และตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ดังนั้น หากมีคนที่ทำงานทางสังคมจนสะสมความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับประเด็นทางสังคมต่างๆ อยู่ร่วมด้วยก็อาจส่งเสริมประโยชน์ต่อการออกกฎหมายและนโยบายได้บ้าง ดังนั้น คนที่สมัครสว. ในกลุ่มประชาสังคม จึงควรมีประสบการณ์ทำงานทางสังคมที่มีประโยชน์ต่อการออกกฎหมายหรือนโยบายด้วย

เมื่อพิจารณาเอกสาร สว.3. ของผู้เข้าสู่การคัดเลือกระดับประเทศ 154 คนสุดท้ายในกลุ่ม 17 ทั้งหมดแล้วกลับพบว่า มีคนจำนวนมากที่สมัครเข้ารับการคัดเลือกในกลุ่มนี้ และเขียนอธิบายประวัติการทำงานของตัวเองว่า เคยเข้าร่วม “กิจกรรม” ทางสังคมที่เป็นกิจกรรมเชิง “บำเพ็ญประโยชน์” หรืองานสังคมสงเคราะห์ แต่ไม่ใช่งานที่ก่อให้เกิดประสบการณ์หรือความรู้ความเชี่ยวชาญที่จะเป็นประโยชน์ต่องานในสภานิติบัญญัติ เช่น การให้ทุนการศึกษาเด็กยากจน, การบริจาคเครื่องมือแพทย์, การทำกิจกรรมปลูกป่า, การแจกถุงยังชีพให้ผู้ประสบภัย, การทำดอกไม้งานศพ เป็นต้น อย่างน้อย 26 คน ซึ่งเป็นการขยายความของการมีความรู้ความเชี่ยวชาญใน “การจัดสวัสดิการสังคมออกไปกว้างขวางมาก”

โดยจำนวน 26 คนนี้ ยังไม่นับรวมคนที่เขียนประวัติว่า เป็นสมาชิกของสโมสรโรตารี ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อการบำเพ็ญประโยชน์ หรือสโมสรไลออนส์ ซึ่งมีภารกิจเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของอาสาสมัครในการบริการชุมชน ตอบสนองความต้องการด้านมนุษยธรรม เนื่องจากทั้งสองสโมสรก็มีกิจกรรมที่หลากหลาย ซึ่งจาก 154 คน มีคนที่เขียนประวัติว่าเข้าร่วมกับสโมสรโรตารี 4 คน มีคนที่เขียนประวัติว่าเข้าร่วมกับสโมสรไลอ้อน 7 คน

ขณะที่มีผู้สมัครที่เขียนเอกสาร สว.3 อธิบายอาชีพการทำงานของตัวเอง โดยชัดเจนว่า เป็นคนทำงาน “เต็มเวลา” ให้กับองค์กรสาธารณะประโยชน์ หรือเป็นเอ็นจีโอจริงๆ 21 คน จาก 154 คน โดยมีความหลากหลายมีทั้งองค์กรเพื่อผู้บริโภค, องค์กรช่วยเหลือเด็ก, องค์กรด้านประชาธิปไตย, องค์กรด้านสุขภาพ, องค์กรด้านการเกษตร ฯลฯ จำนวนนี้ยังไม่นับรวมอีกหลายคนที่สังกัดในกลุ่มที่ขับเคลื่อนในประเด็นของตัวเองแต่ไม่ได้เป็นองค์กรที่ทำงานเต็มเวลาอีกหลายคน เช่น สหภาพแรงงาน, เครือข่ายสลัมสี่ภาค, คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน, คัดค้านเหมืองแร่ เป็นต้น

ผู้สมัครที่เขียนเอกสารสว.3 แล้วพอทราบได้ว่า เข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมในลักษณะ “งานนอกเวลา” อย่างน้อย 40 คน เพราะล้วนมีตำแหน่งที่ไม่ได้รับค่าตอบแทน จึงคาดหมายว่า จะต้องมีงานหรือกิจการอื่นที่ทำอยู่ด้วย ไม่ได้ทำงานทางสังคมเป็นงานหลัก เช่น ตำแหน่งกรรมการสมาคมศิษย์เก่าของสถานศึกษา, ตำแหน่งกรรมการฌาปนกิจสงเคราะห์ หรืองานที่เขียนไว้ว่าเป็น อาสาสมัครหรือจิตอาสา เป็นต้น

อดีตข้าราชการโผล่กลุ่มประชาสังคมเพียบ ผู้ใหญ่บ้าน-ครูเกษียณ

กิจการของรัฐทั้งหมดเป็นกิจการ “เพื่อประโยชน์สาธารณะ” และประชาชนอยู่แล้ว คนที่ทำงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือข้าราชการ แม้จะทำประโยชน์ให้สังคมในตำแหน่งหน้าที่นั้นมากเพียงใดก็ไม่สามารถนับเป็นความรู้ความเชี่ยวชาญใน “กลุ่มประชาสังคม กลุ่มองค์กรสาธารณประโยชน์” ที่จะสมัครเข้ารับการคัดเลือกในกลุ่มนี้ได้ แต่จากการตรวจสอบเอกสารสว.3 พบว่า มีคนเขียนประวัติการทำงานของตัวเองที่ทำงานในฐานะองค์กรของรัฐมากถึง 59 คน

หลายคนทำงานให้หน่วยงานของรัฐไปพร้อมกับการมีตำแหน่งอื่นๆ ในองค์กรภาคประชาสังคมไปด้วย ซึ่งก็ยังพออธิบายว่ามีความรู้ความเชี่ยวชาญที่จะสมัครในกลุ่มที่ 17 ได้ แต่หลายคนแทบไม่มีบทบาทอื่นเลย มีเพียงบทบาทในตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน เช่น สุนทร อินทร์งาม จากจังหวัดตรัง เขียนเอกสารสว.3 ว่าได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้าน 4 วาระ และเป็นอาสาสมัครคุมประพฤติของกระทรวงยุติธรรม แม้ชื่อเป็น “อาสาสมัคร” แต่ก็ยังเป็นตำแหน่งงานในองค์กรของรัฐที่ใช้อำนาจรัฐและได้รับค่าตอบแทนจากรัฐ หรือกนกวรรณ สาริวาท จากจังหวัดลำปาง เขียนเอกสารสว.3 ว่า เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เป็นประธานกองทุนหมู่บ้าน เป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งล้วนเป็นองค์กรของรัฐทั้งหมด

ผู้สมัครหลายคนเป็นอดีตข้าราชการครู และมีบทบาทกิจกรรมเกี่ยวกับอาชีพครูเท่านั้น โดยไม่ได้เขียนเอกสารสว.3 อธิบายว่า มีประสบการณ์ความรู้ความเชี่ยวชาญในองค์กรประชาสังคมเลย เช่น สมชาย สายเชื้อ จากจังหวัดร้อยเอ็ด เขียนเอกสารสว.3 ว่า เคยปฏิบัติหน้าที่ครู เคยเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน และเป็นสมาชิกสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ครูร้อยเอ็ด หรือวิวัฒน์ กล้าวิจารณ์ จากจังหวัดกาฬสินธุ์ เขียนเอกสารสว.3 ว่า เป็นเคยรองผู้อำนววยการโรงเรียนกมลาไสย และเป็นกรรมการมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาโรงเรียนกมลาไสย เป็นกรรมการสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนกมลาไสย ไม่เขียนประวัติงานทางสังคมด้านอื่นเลย

นอกจากอดีตผู้ใหญ่บ้านและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน 7 คน และอดีตครูอดีตผู้อำนวยการโรงเรียนรวม 12 คนแล้ว ยังมีผู้สมัครที่เขียนเอกสารสว.3 ว่าเคยมีตำแหน่งทางการเมืองอย่างน้อย 7 คน เช่น ชิตสกนธ์ ชีระนังสุ จากจังหวัดปราจีนบุรี เคยเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด, เคยเป็นผู้เชี่ยวชาญประจำตัวสมาชิกวุฒิสภา ไม่ได้เขียนประวัติในองค์กรภาคประชาสังคมเลย หรือนิรุตติ สุทธินนท์ เป็นอดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

กู้ภัย, อปพร., อสม. รวม 29 คน

อสม. หรืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เป็นตำแหน่งที่ดำเนินงานภายใต้กระทรวงสาธารณะสุข ที่มีค่าตอบแทนจากรัฐ  อปพร. หรืออาสาสมัครป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย เป็นตำแหน่งที่ดำเนินงานภายใต้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ที่มีค่าตอบแทนจากรัฐ  สองตำแหน่งนี้ไม่ใช่งานของภาคประชาสังคม แต่หลายคนที่ทำงานอยู่ในภาคประชาสังคมจริงๆ และเป็นคนชอบการทำงานช่วยเหลือผู้อื่นก็อาจจะมีตำแหน่งเหล่านี้ด้วย แต่ผู้สมัครหลายคนไม่มีประวัติการทำงานอื่นๆ เลย เพียงเคยทำงานเป็นอสม. หรืออปพร. ไม่น่าจะเข้านิยามที่จะสมัครสว. ในกลุ่มนี้ได้

ตัวอย่างเช่น มาหรีย๊ะ เอียดวงศ์ จากจังหวัดพัทลุง, จากจังหวัดปัตตานี, สิทธิพงศ์ สีบุรินทร์ จากจังหวัดเลย, ยุพา ไกรวิลาศ จากจังหวัดเพชรบุรี, คนึงนิจ สินธิพงษ์ จากจังหวัดอ่างทอง, สมปอง ศรีชนะ และณภัทร สิริธนาวรากุล จากจังหวัดยโสรธรทั้งสองคน ไม่เขียนประวัติการทำงานอื่นเลยนอกจาก อสม. ส่วนสมจิตร์ บุญตุวงษ์ จากจังหวัดสิงห์บุรี และกัมพล ปัญกุล จากจังหวัดกำแพงเพชร ไม่เขียนประวัติการทำงานอื่นเลยนอกจาก อปพร. 

สำหรับตำแหน่งงานอาสากู้ภัยของมูลนิธิต่างๆ เป็นตำแหน่งที่ไม่ได้จัดตั้งขึ้นโดยหน่วยงานของรัฐและไม่ได้ค่าตอบแทนจากรัฐ คนที่เป็นอาสากู้ภัยจึงทำงานในนามองค์กรเอกชน จึงเป็นงานในฐานะภาคประชาสังคม โดยมีคนที่เขียนประวัติว่า ทำงานเป็นอาสากู้ภัยอย่างเดียวเขียนถึงงานด้านอื่นเลยอีกหลายคน เช่น คุณชิต สายเย็น จากจังหวัดสมุทรสาคร, บรรจบ กาลสัมฤทธิ์ จากจังหวัดกระบี่, จักรณรงค์ นัยโมลี จากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา, อิสรีย์ พงศ์กมลานนท์ จากจังหวัดสระบุรี, ชานน อ้นไชยะ จากจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นต้น

จากจำนวนผู้สมัครสว. ที่จะเข้าสู่การคัดเลือกระดับประเทศในกลุ่ม 17 ทั้ง 154 คน มีคนที่เขียนประวัติตัวเองในเอกสารสว.3 ว่า ทำงานเป็นอาสากู้ภัย เป็นอสม. เป็นอปพร. รวม 29 คน ซึ่งยังไม่นับรวมคนที่เขียนอธิบายงานที่ทำในทำนองเดียวกันแต่ไม่ได้ใช้ถ้อยคำระบุตำแหน่งเหล่านี้

ข้อมูลจากสว.3 หลายคนไม่เข้าข่ายคุณสมบัติที่จะสมัครในกลุ่มประชาสังคม

ผู้สมัครหลายคนอาจจะเคยผ่านประสบการณ์ทำงานมาหลายอย่าง แต่เมื่อมาสมัครสว. ต้องถูกบังคับให้เขียนข้อมูลลงในเอกสารสว.3 ไม่เกิน 5 บรรทัดเท่านั้น จึงต้องเลือกเขียนถึงประสบการณ์แค่เพียงบางส่วนที่อยากบอกผู้สมัครคนอื่น ในความเป็นจริงอาจจะเคยทำงานมาอีกหลายบทบาทหรือหลายตำแหน่งแต่ไม่ได้เขียนมาให้ครบถ้วนในเอกสารสว.3 อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาจากข้อมูลเท่าที่ปรากฏในเอกสารสว.3 ของผู้สมัคร 154 คนในกลุ่ม 17 แล้วพบว่า มีผู้สมัครถึง 41 คนที่ไม่เขียนคุณสมบัติใดๆ ที่แสดงให้เห็นว่าสามารถสมัครในกลุ่มนี้ได้เลย

ตัวอย่างเช่น บุญทวี พรมบาง จากจังหวัดอำนาจเจริญ ไม่เขียนประวัติใดๆ เลย, จิระนันท์ สมหวัง จากจังหวัดเลย เขียนประวัติเพียงว่ามีความรู้ความสามารถในด้านการวิชาชีพนี้ แต่ไม่เขียนว่าเคยทำงานอะไรมา, ชนชัย วงศ์ชัย จากจังหวัดหนองคาย เขียนประวัติเพียงว่าเป็นกลุ่มประชาสังคม และเป็นสมาชิกฌาปนกิจสงเคราะห์อย่างยาวนาน, ทัศนีวรรณ เต๊ะซ่วน จากจังหวัดสตูล เขียนประวัติเพียงว่าสมัครกลุ่มประชาสังคมตั้งแต่ปี 2541 แต่ไม่ได้ระบุว่าทำงานอะไร, แวยูโซ๊ะ แวมะ จากจังหวัดนราธิวาส เขียนประวัติเพียงว่า ทำสวนปลูกพืชไร่ เลี้ยงสัตว์, บัญชา ไพโรจน์ เขียนประวัติเพียงว่า เคยเชิดสิงโตและสอนนักเรียนเชิดสิงโต ฯลฯ

ยังมีผู้สมัครอีกหลายคนที่เขียนประวัติอธิบายตัวเองอย่างตั้งใจในเอกสารสว.3 ซึ่งแสดงถึงความเป็นผู้มีประสบการณ์มีความรู้ความสามารถ แต่ไม่ได้เขียนอธิบายถึงประสบการณ์การทำงานที่จะสมัครสว. ในกลุ่ม 17 ได้ เช่น ชาญชัย ไชยพิศ จากจังหวัดบุรีรัมย์ ที่เคยเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนอย่างยาวนาน และเคยเป็นนายกสมาคมผู้บริหารและครูโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัด (ประเทศไทย) เพียงสองปี, กรรณิกา ขุนเพ็ชร จากจังหวัดบุรีรัมย์ ที่เคยเป็นเจ้าหน้าที่นำชมอุทยานประวัติศาสตร์ เคยเป็นตัวแทนประกันชีวิต และเป็นเจ้าหน้าที่มูลนิธิสงเคราะห์เด็กได้เพียงสองปี, ภาณุพงษ์ เต็งวงษ์วัฒนะ จากจังหวัดสิงห์บุรี ที่เคยเป็นรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด เคยเป็นนักเผยแพร่ธรรมะทางวิทยุแต่ไม่ระบุว่ากี่ปี และที่เหลืออีกมากมายเป็นกิจกรรมของอปพร.

สำหรับผู้สมัครที่ไม่มีคุณสมบัติที่เคยทำงานในด้านที่เกี่ยวข้องมาครบสิบปีนั้น ทางกกต. ไม่ได้ตรวจสอบคุณสมบัติของทุกคนอย่างจริงจัง ซึ่งหากคนที่ไม่มีคุณสมบัติได้รับเลือกเป็นสว. แล้วมีการร้องเรียนให้ตรวจสอบคุณสมบัติภายหลัง ก็จะถูกตัดสิทธิและเลื่อนลำดับตัวสำรองในกลุ่มเดียวกันขึ้นมาแทน แต่หากถูกตัดสิทธิไปเกินห้าคน ก็จะทำให้มีสว. จากกลุ่ม 17 ไม่ครบ 10 คน แม้ว่าผู้สมัครที่ขาดคุณสมบัติอาจจะไม่ได้รับเลือกเป็นสว. แต่ก็ได้มีส่วนร่วมออกเสียงไปแล้วตั้งแต่ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ แม้ภายหลังจะมีการตัดสิทธิผู้ขาดคุณสมบัติการออกเสียงที่เกิดขึ้นไปแล้วก็ยังมีผลนับคะแนนได้อยู่ ไม่ถูกยกเลิกตามไป

RELATED TAGS

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage